15 ก.ย. 2022 เวลา 01:51 • ความคิดเห็น
วิถีการทำงานที่เปลี่ยนไป
โดย
นิติภูมิธณัฐ
มิ่งรุจิราลัย
จำได้ว่าสมัยก่อนตอนแปดโมงครึ่ง ผมต้องรีบไปลงชื่อทำงานที่กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน
อีก 10 ปีต่อมา หลังจากที่ลาออกจากราชการมาเป็นนักเขียนประจำคอลัมน์เปิดฟ้าส่องโลก หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ผมสามารถตระเวนไปอยู่ที่ไหนก็ได้ในโลกที่มีแฟกซ์หรือโทรสาร
แต่ถ้าจะเดินทางเข้าป่าหรือไปต่างเมืองที่ไม่มีบริการส่งแฟกซ์ ก็จะต้องเขียนคอลัมน์ล่วงหน้าไว้นาน 5-10 วัน บางครั้งส่งแฟกซ์ไม่ได้ถึงขนาดต้องโทรศัพท์ทางไกลมาบอกให้ทางโรงพิมพ์จด ตามคำบอก เสียค่าโทรศัพท์ทางไกลกันบานเบอะเยอะแยะ
เปิดฟ้าส่องโลกส่งต้นฉบับทางอีเมลครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2548 จากกรุงทบิลิซี สาธารณรัฐจอร์เจีย หลังจากนั้นเราก็ไม่เคยส่งแฟกซ์อีกเลย เกือบ 20 ปีแล้วที่การส่งต้นฉบับเปลี่ยนไป
วิถีชีวิตของมนุษย์เปลี่ยนไปอย่างมาก ประเทศที่เฝ้าดูการเปลี่ยนแปลงนี้ต่างปรับตัวกันอย่างเต็มที่ มนุษย์ยุคใหม่ไม่สนใจงานประจำ ดูประเทศที่ใกล้บ้านเราอย่างมาเลเซีย ที่นักเรียนมัธยมปลายกว่าครึ่งตอบแบบสอบถามว่า จะไม่เรียนต่อในชั้นปริญญาตรี แต่จะออกมาหางานอิสระทำ
เดิมที่ญี่ปุ่น พนักงานมีความจงรักภักดีต่อบริษัท ทำงานกันจนเกษียณ ไม่โยกย้ายงานกันเลยแม้แต่ครั้งเดียว ทว่าวันนี้ไม่ใช่แล้วครับ แม้แต่บ้านช่องห้องหอก็ไม่อยากจะมีกันเพราะเป็นภาระ
สมัยก่อนต้องอวดกันที่บ้านใหญ่โตมโหฬาร
ทัศนคติของคนในหลายประเทศสมัยนี้ เช่าบ้านดีกว่าซื้อบ้าน เพราะไม่ต้องหาเงินมาซื้อและซ่อมบำรุงรักษา
นิเคอิเอเชียรายงานจำนวนบ้านร้างในญี่ปุ่นว่าจะแตะ 10 ล้านหลังใน ค.ศ.2023 แนวโน้มนี้มีมาตั้งแต่ ค.ศ.2018 ซึ่งขณะนั้นมีบ้านร้างท้ังญี่ปุ่น 8.49 ล้านหลัง ส่วนหนึ่งมาจากประชากรญี่ปุ่นลดลง อย่างที่สองคือคนไม่นิยมมีบ้าน
เรื่องประชาชนคนญี่ปุ่นทิ้งบ้านนี้ รัฐบาลญี่ปุ่นพยายามแก้ไขด้วยการกดดันให้รื้อถอนบ้านทิ้ง แต่การรื้อบ้านก็คล้ายกับการสร้างบ้านที่ต้องใช้เวลาและมีค่าใช้จ่ายสูง  เป็นเรื่องยุ่งยาก
รัฐบาลญี่ปุ่นคาดการณ์ว่าใน ค.ศ.2038 จะมีบ้านร้างมากถึง 23.03 ล้านหลัง ขณะนี้รัฐบาลญี่ปุ่นมีมาตรการส่งเสริมบริษัทการรื้อถอนบ้าน มีการอบรมสัมมนาเพื่อเพิ่มความเชี่ยวชาญให้กับผู้คนในอุตสาหกรรมการรื้อถอนบ้าน
ญี่ปุ่นมีปัญหาประชากรทิ้งบ้าน รัฐบาลจึงเสนอสิ่งจูงใจในด้านภาษีให้กับเจ้าของบ้านให้รื้ออย่างเป็นระบบ ไม่เช่นนั้นเจ้าของบ้านก็จะทิ้งบ้านโดยที่ไม่สนใจใยดี ซึ่งในไม่ช้าก็กลายเป็นบ้านร้างในแหล่งเสื่อมโทรม
1
20 ปีที่ผ่านมา ประเทศที่มีประชากรมากอย่างจีนและอินเดียกลายเป็นตลาดใหญ่ที่ผู้คนสนใจ เศรษฐกิจเติบโตได้อย่างไว หลังจากที่โลกเชื่อมกันได้อย่างสนิทจาก Internet of Things และเทคโนโลยีใหม่ๆ ทำให้เรื่องของจำนวนประชากรมีความสำคัญน้อยลง ส่วนเรื่องคุณภาพของประชากรกลับมีความสำคัญมากขึ้น
รัฐบาลแต่ละประเทศจึงมองหาประชากรที่มีคุณภาพจากทั่วโลกเข้ามาอยู่ในประเทศของตัวเอง และมีข้อเสนอซึ่งเป็นแรงจูงใจมากมาย ทั้งให้โอนสัญชาติ ให้วีซ่าระยะยาว ลดภาษีเงินได้ ฯลฯ ที่เห็นเด่นชัดใกล้บ้านเราคือสิงคโปร์
สิงคโปร์วางแผนแม่บท Forward Singapore ดึงพวก Gig Economy Workers หรือกลุ่มคนทำงานอิสระเข้ามาอยู่ในสิงคโปร์
1
เมื่อก่อนตอนเมื่อ 20 ปีที่แล้ว สิงคโปร์ดึงบริษัทระดับโลกให้มาตั้งสำนักงานใหญ่ในสิงคโปร์เพื่อดึงลูกจ้างที่มีความสามารถขั้นสูงเข้ามาทำงาน แต่นั่นเป็นเรื่องที่สิงคโปร์ไม่ได้เน้นแล้ว ที่สิงคโปร์กำลังมุ่งมั่นอยู่ก็คือดึงพวก Own-account Workers หรือพวกที่เป็นนายตัวเองซึ่งเป็นอาชีพใหม่ที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็วทั่วโลก
1
Gig Workers เป็นพวกที่มีทักษะสูงในการพัฒนาซอฟต์แวร์และเทคโนโลยี การสร้างสรรค์และมัลติมีเดีย การป้อนข้อมูลและธุรการ การเขียนและการแปล การสนับสนุนการขายและการตลาด รวมทั้งการบริการระดับมืออาชีพในด้านต่างๆ
นอกจากดึงทรัพยากรมนุษย์จากประเทศอื่นเข้ามาอยู่ในสิงคโปร์แล้ว MOM หรือกระทรวงแรงงานสิงคโปร์ยังทุ่มเต็มที่ที่ส่งเสริมให้คนสิงคโปร์เป็น Gig Economy Workers ทั้งด้านทักษะ เส้นทางอาชีพ และการเรียนรู้ตลอดชีวิต.
โฆษณา