16 ก.ย. 2022 เวลา 11:31 • การศึกษา
ทำไมประเทศเยอรมนีจึงมีประชากรเชื้อสายตุรกีจำนวนมาก?
นอกจากประเทศเยอรมนีจะขึ้นชื่อเรื่องเทคโนโลยียานยนต์ และสถานที่ท่องเที่ยวที่สวยงามแล้ว ประเทศนี้ยังเป็นประเทศที่มีจำนวนประชากรที่เป็นผู้อพยพจำนวนมาก ซึ่งผู้อพยพจำนวนมากเดินทางมาเข้าสู่เยอรมนีในช่วงสงครามและในช่วงที่ประเทศเกิดวิกฤตด้านเศรษฐกิจ
อ้างอิงจากสำนักสำมะโนครัวประชากร ประเทศเยอรมนีมีประชากรที่เป็นผู้อพยพมากถึง 27% ของประชากรเยอรมันทั้งหมด โดยผู้อพยพ 3 สัญชาติที่อพยพเข้ามาในเยอรมนีมากที่สุด ได้แก่ ตุรกี โปแลนด์ และรัสเซีย ซึ่งในปี 2013 มีผู้อพยพชาวตุรกีอยู่ในเยอรมันมากถึง 7 ล้านคน
หากจะทราบถึงบทบาทของผู้อพยพชาวตุรกีและสาเหตุที่คนเหล่านั้นอพยพเข้าสู่เยอรมนี ก็คงต้องย้อนกลับไปในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 [1] ผลจากสงครามครั้งนั้นทำให้จำนวนประชากรในประเทศตอนเหนือของทวีปยุโรป รวมถึงเยอรมนีลดลงไปจำนวนมาก ประกอบกับประเทศทางตอนใต้ของยุโรปรวมถึงตุรกีก็ประสบปัญหาอัตราการว่างงานสูง
ด้วยเหตุนี้ประเทศเยอรมนีที่ขาดแคลนแรงงานอยู่จึงต้อนรับแรงงานจากประเทศต่างๆ รวมถึงตุรกีเข้าไปเป็นแรงงานสร้างชาติ หลังจากที่สภาพบ้านเมืองของเยอรมนีย่อยยับจากสงคราม จนเกิดปาฏิหาริย์ทางเศรษฐกิจที่เยอรมนีพัฒนาอย่างรวดเร็วจนมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับต้นๆ ของโลกภายในเวลาไม่กี่ปี
อย่างไรก็ตามในช่วงสงครามเย็น [2] กำแพงเบอร์ลินได้ถูกสร้างขึ้นในเดือนสิงหาคม 1961 [3] จึงทำให้ปัญหาขาดแคลนแรงงานรุนแรงขึ้นไปอีก เพราะแรงงานจากเยอรมันตะวันออกไม่สามารถข้ามไปทำงานในเยอรมันตะวันตกได้
ทางเยอรมันตะวันตกในขณะนั้นจึงแก้ปัญหาโดยการทำข้อตกลงด้านแรงงานกับประเทศอย่างอิตาลี สเปน กรีซ โมร็อกโก และตุรกี นักประวัติศาสตร์เยอรมันบางรายเห็นว่าการที่เยอรมนีทำข้อตกลงดังกล่าวเป็นหนึ่งเครื่องมือในการพัฒนา กล่าวคือการที่แรงงานต่างชาติเข้ามาทำงานในเยอรมนี พวกเขาจะได้เรียนรู้ทักษะที่มีประโยชน์และเมื่อกลับประเทศตัวเองไปก็จะสามารถใช้ทักษะในการพัฒนาประเทศได้
อย่างไรก็ตามหลังจากปี 1961 ชาวตุรกีถือเป็นแรงงานต่างชาติจำนวนมากที่สุดในบรรดาแรงงานต่างชาติที่อยู่ในเยอรมนีตะวันตก ในช่วงเวลานี้ประเทศต่างๆ ก็คาดว่าแรงงานของตนจะอยู่ในเยอรมนีเพียงชั่วคราวเท่านั้น เพราะตามข้อตกลงได้อนุญาตให้ชาวต่างชาติเข้าไปเพื่อทำงานในเยอรมันได้เพียง 2 ปีเท่านั้นก่อนที่จะกลับไปยังประเทศของตน
แต่ทว่าชาวตุรกีจำนวนมากในเยอรมนีได้ผสานตัวเองเข้ากับสังคมเยอรมันแล้ว และเลือกที่จะอยู่ในเยอรมนีต่อไป แม้ว่าจะเกินเวลาที่กำหนดไว้ในช่วงต้นของทศวรรษ 70s แล้วก็ตาม
ในปัจจุบันแทบไม่มีการใช้คำว่า แรงงานผู้อพยพแล้วในประเทศเยอรมนี เพราะชาวต่างชาติที่อพยพเข้ามาทำงานในช่วงแรกนั้น เมื่อเวลาผ่านไปคนเหล่านั้นไม่กลับประเทศตัวเอง ก็ได้รับสัญชาติเยอรมันจนกลายเป็นคนท้องถิ่นไปแล้ว
ชาวเยอรมันเชื้อชาติตุรกีในปัจจุบันแม้จะได้รับสัญชาติเยอรมันแล้ว แต่ทว่าส่วนใหญ่พวกเขาก็ยังคงรักษาและปฏิบัติตามวัฒนธรรมของบรรบุรุษตัวเองอยู่ และแม้ว่าคนเหล่านั้นจะผสานตัวเองเข้ากับสังคมเยอรมันแล้ว แต่ก็ยังคงพบปัญหาความยากในการเข้าสังคม
รายงานจากศูนย์ตุรกีศึกษาจากมหาวิทยาลัย Universität Duisburg-Essen ระบุว่า แม้ว่า Mesut Özil จะเป็นนักฟุตบอลชื่อดังที่เป็นคนเชื้อชาติตุรกีที่เกิดในเยอรมนี แต่เจ้าตัวก็ประกาศถอนตัวจากการเล่นให้ทีมชาติเยอรมนีเมื่อไม่กี่ปีก่อน หลังจากที่เขากล่าวหาว่าทีมเลือกปฏิบัติต่อเขาด้วยสาเหตุด้านเชื้อชาติ และออกมาเผยความรู้สึกไม่ถูกยอมรับอย่างเต็มที่จากสังคมเยอรมัน
อย่างไรก็ดีประชากรลูกหลานชาวตุรกีผู้อพยพที่เป็นรุ่นที่สองและรุ่นที่สามที่เกิดในเยอรมนีก็รู้สึกถึงความขัดแย้งในลักษณะไม่แตกต่างกับที่ Özil พบเจอ โดยข้อมูลจาก Human Rights Watch ก็แสดงถึงความกังวลเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน เนื่องจากอาชญากรรมต่อลูกหลานผู้อพยพในเยอรมนีเพิ่มขึ้นถึง 72% ในปี 2019
ด้วยเหตุนี้เองการอพยพไปใช้ชีวิตในต่างแดนในประเทศที่พัฒนาแล้ว แม้ว่าจะทำให้เข้าถึงโอกาสและความก้าวหน้าในชีวิตได้มากกว่าการอยู่ในประเทศที่กำลังพัฒนา แต่ปัญหาการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาตินั้นก็เป็นสิ่งที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้เช่นกัน ในทุกๆ สังคมจึงควรส่งเสริมการเรียนรู้ด้านความหลากหลายในทุกๆ ด้านเพื่อสร้างสังคมที่ดีและสงบสุขสำหรับทุกคนอย่างไม่แบ่งแยกนั่นเอง
[1] สงครามที่เกิดขึ้นระหว่างค.ศ. 1939-1945 ที่ฝ่ายสัมพันธมิตรที่นำโดยอังกฤษ สหรัฐฯ สหภาพโซเวียต สู้รบกับฝ่ายอักษะที่นำโดยนาซีเยอรมัน อิตาลี ญี่ปุ่น
[2] สงครามเชิงอุดมการณ์ที่ค่ายทุนนิยมนำโดยสหรัฐฯ รบกับค่ายคอมมิวนิสต์ที่นำโดยสหภาพโซเวียตที่ส่งผลให้เยอรมนีถูกแบ่งเป็นสองประเทศคือเยอรมันตะวันออกและเยอรมันตะวันตก
[3] เนื่องจากเบอร์ลินซึ่งเป็นเมืองหลวงของเยอรมนีตั้งอยู่ในฝั่งตะวันออกซึ่งเป็นเขตอิทธิพลของโซเวียตตัวเมืองจึงถูกแบ่งเป็นสองฝั่ง โดยให้เบอร์ลินตะวันตกอยู่ใต้อิทธิพลของสหรัฐฯ และพันธมิตร ตัวกำแพงจึงป้องกันไม่ให้คนจากเยอรมันตะวันออกหนีเข้าสู่เยอรมันตะวันตกโดยการใช้เบอร์ลินตะวันตกเป็นทางผ่าน
แปลและสรุปมาจาก
لماذا يعيش الكثير من الأتراك في ألمانيا؟ -
โฆษณา