18 ก.ย. 2022 เวลา 14:18 • ข่าวรอบโลก
#แอดชวนคิด
รู้หรือไม่? รถไฟมาเลเซียทุกชั้นเป็นรถแอร์ 100%
ไร้รถร้อนมาเกือบ 20 ปี แอร์ไม่ใช่ Option ที่ต้องจ่ายเงินเพิ่ม
แต่เป็นความสบายขั้นพื้นฐานของขนส่งมวลชนที่ทุกคนเข้าถึง
ไม่ได้เขียนเรื่องรถไฟมานาน จนลืมไปแล้วเราผมก็เป็นคนหนึ่งที่สนใจเรื่องการขนส่งมวลชนระบบราง เพราะว่ามีเรื่องอื่นๆ ให้โฟกัสเยอะไปหมดในช่วงที่ผ่านมา
แต่ที่กลับมาเขียนเรื่องรถไฟอีกครั้งก็เนื่องมาจากการเดินทางมาของขบวนรถไฟ KTM ย่อมาจาก Keretapi Tanah Melayu Berhad หรือ การรถไฟมาลายา ประเทศมาเลเซียที่จัดขบวนรถไฟเที่ยวพิเศษ ซึ่งเป็นขบวนรถนำเที่ยววิ่งตรงจากสถานีรถไฟ KL Sentral กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย มายังปลายทางที่สถานีรถไฟชุมทางหาดใหญ่ จ.สงขลา โดยไม่ต้องมีการเปลี่ยนรถที่สถานีรถไฟปาดังเบซาร์ อ.สะเดา จ.สงขลา เหมือนขบวนรถไฟปกติที่วิ่งแค่สถานีปาดังเบซาร์
แน่นอนว่าขบวนรถไฟสายดังกล่าวไม่ใช่ระบบรถไฟฟ้า เพราะไม่สามารถวิ่งเข้ามาถึงประเทศไทยได้เพราะไทยไม่มีระบบรถไฟทางไกลที่ติดตั้งระบบไฟฟ้า แต่ก็เป็นรถที่วิ่งมาบนเส้นทางเดียวกับรถไฟ KTM Electric Train Service (ETS) ซึ่งเป็นเส้นทางรถไฟฟ้าระหว่างเมือง ที่เดินทางมาถึงชายแดนประเทศไทย ณ สถานีรถไฟปาดังเบซาร์ ด้วยความเร็ว 140 กิโลเมตร/ชั่วโมง ซึ่งถ้าใครเคยเห็นภาพที่มีการนำหัวรถจักรของไทยหน้าตาโทรมๆ มาเทียบกับหัวรถจักร KTM ETS ที่หน้าแหลมจมูกเหลือง ก็คือรุ่นนั้นนั่นเอง
แต่สำหรับขบวนรถไฟเที่ยวพิเศษที่เดินทางมาถึงหาดใหญ่เมื่อวันที่ 16 กันยายนนั้นก็เป็นรถไฟดีเซลทั่วไป แต่ด้วยการเป็นรถดีเซลทั่วไปนี่แหละที่กลายเป็นประเด็นให้ถกเถียงกัน เพราะว่าขบวนรถไฟมาเลเซียเป็นแบบปรับอากาศ รวมทั้งนักการเมืองจากฝั่งประเทศไทยก็ได้ทำคลิปเปรียบเทียบการนั่งรถไฟจากหาดใหญ่ไปมาเลเซีย ซึ่งชาวโซเชียลก็มีการออกมาบอกว่า จะเทียบกันได้อย่างไรเอารถไฟร้อนที่ไม่มีแอร์ เทียบกับบรถไฟมาเลเซียที่มีแอร์ ทำไมไม่เทียบรถร้อนด้วยกัน
ในฐานะที่ผมเดินทางไปมาเลเซียบ่อยทั้งทางรถ รถไฟ และเครื่องบิน รวมทั้งมีเพื่อนเป็นชาวมาเลเซียที่มีความรู้ ข้อมูลที่ผมได้รับมาคือ ประเทศมาเลเซียไม่มีรถไฟร้อนมาตั้งแต่ปี 2007 ทุกขบวน ทุกชั้น ทุกคลาสถูกเปลี่ยนเป็นขบวนรถปรับอากาศทั้งหมด แม้ในคลาสที่ล่างที่สุด ซึ่งเทียบกับรถไฟธรรมดาหวานเย็นชั้น 3 ของไทย ก็ยังเป็นรถปรับอากาศ
แม้กระทั่งระบบรถไฟชานเมืองหรือ Komuter ที่วิ่งออกจากเมืองสำคัญของรัฐต่างๆ ในมาเลเซียที่ไม่ใช่เพียงแค่เมืองหลวงของประเทศอย่างกรุงกัวลาลัมเปอร์ ก็เป็นระบบปรับอากาศทั้งหมด ที่ใกล้กับไทยที่สุดคือสาย KTM บัตเตอร์เวิร์ธ – ปาดังเบซาร์ ซึ่งเป็นจุดเชื่อมต่อเข้าสู่เกาะปีนังทั้งทางท่าเรือ และรถบัส ก็เป็นระบบปรับอากาศที่มีทั้งระบบไฟฟ้าและดีเซลราง และยังเป็นขบวนรถปรับอากาศทั้งหมด
หากเป็น KTM Platinum ซึ่งเป็นระบบรถด่วนจากปาดังเบซาร์ อ.สะเดา จ.สงขลา – เมืองสุไหงปัตตานี รัฐเคดะห์ ระยะทาง 150 กิโลเมตร ค่าตั๋วอยู่ที่ประมาณ 30 ริงกิต หรือ 245 บาท ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง
แต่ถ้าเป็นรถไฟชานเมือง Komuter จะมีค่าโดยสารประมาณ 8 ริงกิต หรือ 65 บาท ซึ่งจอดทุกสถานี ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง แต่ก็ยังเป็นระบบปรับอากาศทุกตู้เช่นกัน
ส่วนรถไฟจากปาดังเบซา – บัตเตอร์เวอร์ธ ราคาค่าโดยสารอยู่ที่ 11.6 ริงกิต หรือ 94 บาท กับระยะทาง 170 กิโลเมตร
ฉะนั้นรถไฟมาเลเซียที่เป็นรถท้องถิ่นซึ่งเป็นคลาสต่ำที่สุดเทียบได้กับรถไฟชั้น 3 ของประเทศไทย ก็ยังเป็นรถแอร์ทั้งหมดแล้ว อีกทั้งค่าโดยสารถือว่าถูกมากเมื่อเทียบกับรายได้ของคนมาเลเซียที่ราวๆ เกือบ 30,000 บาทต่อเดือน
ความน่าแปลกใจก็คือ ประเทศไทยยังคงแบ่งคลาสของรถไฟ หรือรถเมล์โดยสาร โดยใช้คำว่า “รถปรับอากาศ” มาแบ่งแยกราคา ทั้งๆ ที่แอร์ไม่ใช่ของใหม่สำหรับประเทศไทย เพราะรถยนต์ หรือบ้านเรือนที่ทุกวันนี้ คนในชุมชนแออัดบ้านยังติดแอร์กันได้แล้ว คนไทยรู้จักแอร์มานานมากกว่า 30 ปี และแอร์ก็เข้าไปอยู่ในบ้านเรือน อาคารต่างๆ แบบที่คนทั่วไปเข้าถึงมานานกว่า 20 ปี
แต่แปลกที่ว่าระบบขนสงมวลชนของไทยยังคงใช้การติดตั้งระบบปรับอากาศทำความเย็นมาเป็นตัวแบ่งการบริการ ซึ่งในประเทศที่เรามองเขาเป็นคู่แข่งนั้น แอร์เย็นๆ ฉ่ำๆ ในรถสาธารณะเป็นสิ่งพื้นฐานที่ทุกคนต้องเข้าถึงได้ และเป็นความสะดวกสบายที่เบสิคที่สุดที่จะให้บริการกับประชาชน มันไม่ควร หรือไม่ใช่ Option พิเศษที่ต้องจ่ายแพงกว่าเพื่อที่จะได้นั่งสบายๆ ไม่ต้องทนร้อน ทนดมฝุ่นควันระหว่างทาง ท่ามกลางอุณหภูมิประเทศเมืองร้อนที่เราต้องเผชิญอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน
นี่แค่เรื่องของรถไฟติดแอร์ไม่ติดแอร์นะ ยังไม่ได้พูดถึงในมิติอื่นๆ ทั้งเรื่องการออกแบบสถานี ความสะอาด การอำนวยความสะดวกในการจองตั๋ว หรือเรื่องอื่นๆ ของบริการรถไฟไทยที่มีให้พูดให้เปรียบเทียบได้อีกเพียบ เพราะหลายอย่างยังต้องปรับปรุงอีกมาก ซึ่งจริงๆ มันควรจะทำได้ดีกว่านี้มาตั้งนานแล้ว ไม่ใช่เพิ่งจะมาทำทีละนิดทีละหน่อย
ยังไม่ได้พูดถึงระบบรถเมล์มาเลเซียอย่าง rapidKL ที่ก็ไม่มีรถร้อนให้บริการมา 20 ปีแล้ว ซึ่งราคารถเมล์ใน KL เริ่มต้นที่ 1 ริงกิต หรือ 8 บาท และเป็นขนส่งมวลชนพื้นฐานที่สะดวกสบาย
ระบบตั๋วร่วมแบบบัตร Touch N' Go ที่บัตรเดียวใช้จ่ายได้ทั้งรถเมล์ รถไฟฟ้า รถไฟ ทางด่วน และร้านสะดวกซื้อ ซึ่งมีมาเป็น 20 ปีแล้วเช่นกัน แต่บัตรเดียวใช้ได้ทุกระบบนั้นในกรุงเทพก็พูดกันมาเป็น 10 ปียังไม่สามารถทำได้จริง จนตอนนี้เทคโนโลยีเปลี่ยนไปไกลแล้วก็ยังไม่สามารถทำสิ่งพื้นฐานนี้ได้เลย
หลายคนคงกร่นด่าผมว่า ไปเทียบกับประเทศอื่นทำไม ประเทศเราก็ดีอยู่แล้ว ดีกว่าอีกหลายๆ ประเทศเสียอีก ผมก็อยากถามกลับว่า ถ้าดีจริงเราคงไม่ต้องมีการพัฒนาที่ดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่หรอก และไทยคงเข้าสู่ประเทศพัฒนาแล้ว
แต่เพราะประเทศเรายังมีปัญหาที่ต้องการการพัฒนาอีกมากมายในทุกๆ มิติ ฉะนั้นการมองเป้าหมายไปข้างหน้า เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตประชากร หรือการพัฒนาประเทศให้สูงขึ้นยังคงต้องพยายามให้ดีกว่าที่เป็นอยู่ แม้แต่ประเทศพัฒนาแล้วหัวแถวของโลกยังไม่หยุดพัฒนาสิ่งต่างๆ เพื่อตอบสนองความต้องการที่ดีกว่าไปเรื่อยๆ ของผู้คนในชาติที่ไม่มีที่สิ้นสุด แล้วไทยในฐานะประเทศกำลังพัฒนามายาวนาน จะต้องพึงพอใจแค่นี้จริงๆ หรือ?
1
ฉะนั้นการเปรียบเทียบให้เห็นว่าประเทศอื่นๆ เขามีตรงไหนที่ดีที่เราควรเอาเป็นแบบอย่าง ไม่ใช่บอกว่าเรายกชาติไปเทียบแล้วเหยียดชาติตัวเองว่าด้อยกว่า แต่มันทำให้เรารู้ว่าเราต้องเร่งสปีดตัวเองอย่างไรให้ทันกับชาติที่อยู่ระดับสูงกว่าเรา เพราะโลกนี้ขับเคลื่อนด้วยการแข่งขันอยู่ตลอดเวลา ถ้าเราไม่เร่งตัวเอง สุดท้ายเรานี่แหละจะถูกโลกทิ้งไว้ข้างหลัง และลำดับความสำคัญของไทยในเวทีนานาชาติจะค่อยๆ ลดลง และจะส่งผลต่ออำนาจต่อรอง อัตราการแข่งขันทางการค้า การลงทุน หรือแม้แต่เศรษฐกิจของประเทศได้อีกด้วย
การเปรียบเทียบสิ่งที่ดีกว่าของประเทศอื่นๆ ให้เห็นไม่ใช้การเหยียบย่ำประเทศตัวเอง แต่เป็นการทำให้เราตระหนักว่าเราเองก็ต้องพัฒนาให้ทันให้ดีเท่าเขา ไม่ใช่เพื่อหน้าตาประเทศ แต่มันคือคุณภาพชีวิตโดยรวมของพลเมืองที่จะได้รับบริการที่ดีและสะดวกสบาย อันมาจากเงินภาษีของเรานั่นเอง
6
╔═══════════╗
ไม่พลาดบทความสาระดีๆ ที่ Reporter Journey ตั้งใจสร้างสรรเพื่อผู้ติดตามทุกท่าน อย่าลืมกดติดตามเพจ ติดตาม Reporter Journey ได้ทุกช่องทางที่
╚═══════════╝
.
ติดตาม Reporter Journey ได้ทุกช่องทางที่
Line : @reporterjourney
โฆษณา