18 ก.ย. 2022 เวลา 21:43 • ความคิดเห็น
แก่นสารของวัยเยาว์ คือ ‘การเรียนรู้ เพื่อเติบโต ไม่ใช่เพื่อทำทุกอย่างได้อย่างสมบูรณ์แบบ’
เมริษา ยอดมณฑป แห่งเพจ ตามใจนักจิตวิทยา ยกตัวอย่างเคสของเด็กหญิงวัย 5 ขวบ ที่คาดหวังความสมบูรณ์แบบเพราะการเลี้ยงดูของพ่อแม่
เด็กหญิงเรียนรู้มาโดยตลอดว่า เธอต้องเป็นระเบียบ ทุกอย่างต้องเรียบร้อย สะอาด และดูดีเสมอ นานวันเข้าจากแค่เรื่องความสะอาด และความเป็นระเบียบของข้าวของเครื่องใช้ในบ้านเธอ ตอนนี้ได้ลามมาถึงชิ้นงานทุกชิ้นที่เธอทำ
เมื่อเด็กหญิงทำผิดพลาด หรือทำชิ้นงานไม่ได้เป๊ะอย่างที่ใจเธอคิด เธอจะทำลายชิ้นงานนั้นทันที และอาจจะไม่กลับไปทำใหม่อีกแล้ว เธอให้คุณค่ากับภายนอกที่ตาเห็นมากกว่าภายในที่ใจรู้สึก ความตั้งใจและความพยายามของเธอจะหมดค่าทันที เมื่อผลงานออกมาไม่เป็นดังหวัง
ย้อนมาดูเบื้องหลัง ก่อนจะเป็นเด็กหญิงในวันนี้ พ่อแม่ของเธอรักความสะอาด ชอบให้ทุกอย่างอยู่ถูกที่ถูกทาง เป็นระเบียบอยู่เสมอ เด็กหญิงเติบโตมาท่ามกลาง ‘สายตาไม้บรรทัด’ ของพ่อแม่
ในวัยของเด็กหญิงที่ควรจะวิ่งเล่น เล่นดิน เล่นทราย อย่างสบายใจ ระบายสีเลอะเทอะ ตามแต่จินตนาการจะนำพา ทุกวันนี้เธอกังวลว่าเสื้อผ้าของเธอจะเลอะเทอะ เท้าของเธอจะเปรอะเปื้อน มากกว่าความสนุกที่เธอควรจะได้รับ และเธอกังวลทุกครั้งที่ทำชิ้นงานศิลปะ เพราะเมื่อใดที่ระบายออกนอกกรอบ เมื่อนั้นคือการเริ่มทำแผ่นใหม่ทันที ไม่มีการอ่อนข้อให้กับความผิดพลาดเล็กๆ น้อยๆ ทั้งนั้น
แต่ยิ่งเด็กหญิงเข้าใกล้การเป็นเด็กที่สมบูรณ์แบบเท่าไหร่ รอยยิ้มความสดใสของวัยเยาว์ค่อยๆ เลือนหายไปเท่านั้น จุดเปลี่ยนสำคัญที่พ่อแม่เริ่มตระหนักว่า ‘ลูกกำลังจะไม่เป็นเด็กอีกต่อไปแล้ว’
พ่อกับแม่เล่าว่า พาเด็กหญิงไปซื้อของเล่นเป็นของขวัญที่เธอเรียนดี พ่อแม่ให้เด็กหญิงเข้าไปเลือกของเล่นที่เธอถูกใจ แต่สิ่งที่เด็กหญิงทำคือ เธอเดินไปรอบๆ แล้วกลับมาหาพ่อกับแม่พร้อมบอกพวกเขาว่า
“หนูไม่อยากได้ของเล่น เพราะเล่นแล้วก็ต้องมาเก็บ หนูไม่อยากเล่นด้วย ไม่รู้ของเล่นสนุกยังไง”
เด็กหญิงไม่มีความสุขกับวัยเยาว์ของเธอ เพราะตอนนี้เธอใช้ชีวิตไม่ต่างอะไรกับ ‘มนุษย์ไม้บรรทัด’ ทุกอย่างต้องสมบูรณ์แบบจึงจะดีพอ แต่โลกของเราไม่มีอะไรที่สมบูรณ์แบบหรอก ทุกอย่างมีส่วนบิดเบี้ยว ดีบ้าง แย่บ้าง ปะปนกันไป ไม่มีใครทำทุกอย่างได้ดีพร้อมตลอดเวลา
กว่าเด็กคนหนึ่งจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ระหว่างทางเขาต้องผ่านอะไรมามากมาย ทั้งทำผิด ทำพลาด ทั้งล้ม แล้วต้องลุก แต่ทุกๆ ก้าวคือการเรียนรู้
ดังนั้น ‘อย่าให้ความสมบูรณ์แบบสำคัญกว่าการเรียนรู้เพื่อเติบโต’
อ่านบทความ เข้าใจลูกในวันที่เขาเปลี่ยนไป EP.8 ‘Perfectionism’ เมื่อลูกคาดหวังว่าตัวเองต้องสมบูรณ์แบบ https://thepotential.org/family/perfectionism/
Illustration : ninaiscat
โฆษณา