20 ก.ย. 2022 เวลา 13:00 • การตลาด
⚽️วัฒนธรรมกีฬาอเมริกัน
(อาจ)เข้ามาปฏิวัติ “พรีเมียร์ลีก”⚽️
เรียกทั้งเสียงฮือฮาและเฮฮากับข่าวท็อดด์ โบห์ลีย์ เจ้าของสโมสรเชลซีชาวอเมริกัน เสนอไอเดียให้พรีเมียร์ลีกจัดแมตช์ออล-สตาร์ภาคเหนือเตะกับภาคใต้ ซึ่งเป็นวัฒนธรรมปกติของกีฬาในอเมริกาทั้งระดับอาชีพ มหาวิทยาลัยและมัธยม ที่จะนำทีมรวมดารามาแข่งขันสร้างสีสันให้แฟนๆไม่ว่าจะเป็นอเมริกันฟุตบอล บาสเกตบอล เบสบอส ฮ็อกกีน้ำแข็ง หรือฟุตบอลที่อเมริกันชนเรียกว่าซอคเกอร์
มีวลีหนึ่งที่มักเอ่ยขึ้นเพื่อเตือนกันว่า Never say never เพราะอะไรก็เกิดขึ้นหรือเปลี่ยนแปลงได้ในอนาคต
ทศวรรษ 1990 เดวิด เดน รองประธานสโมสรอาร์เซนอล (ขณะนั้น) เคยเสนอให้พิมพ์ชื่อนักเตะหลังเสื้อแข่ง มีเจ้าของทีมคนหนึ่งไม่เห็นด้วยและให้เหตุผลแบบติดตลกว่าห้องซักรีดของเขาใหญ่ไม่พอ (ฮา) สมัยนั้นผู้เล่นหยิบเสื้อตัวไหนมาใส่ก็ได้เพราะมีแต่หมายเลข หากเป็นชื่อก็ไม่สามารถทำแบบนั้นได้
วันหนึ่ง เดนเดินเข้าห้องประชุมพร้อมเสื้อทีมแมนฯยูไนเต็ด, แบล็คเบิร์น และอาร์เซนอล ที่เขาสั่งทำขึ้นพิเศษโดยหลังเสื้อสกรีนชื่อและเบอร์ GIGGS 11, SHEARER 9 และ ADAMS 6 ซึ่งนั่นนำไปสู่ชื่อนักเตะปรากฏบนหลังเสื้อแข่งพรีเมียร์ลีกเป็นครั้งแรกในซีซัน 1993-94 ที่ต่อมาช่วยสร้างรายได้มหาศาลให้กับวงการฟุตบอลอังกฤษ และทุกคนทราบดีว่าเดนได้ไอเดียนี้มาจากสหรัฐอเมริกา
การแข่งขันกีฬาอาชีพและสมัครเล่นในอเมริกาไม่ใช่แค่เรื่อง “กีฬา” แต่อบอวลไปด้วย “ความบันเทิง” และ “ธุรกิจ” ซึ่งกฎกติกาหลายข้อถูกกำหนดไม่ใช่เพียงภายใต้เหตุผลความยุติธรรม แต่ยังช่วยเพิ่มความสนุกสนานของคนดูและรายได้ของทีมอย่างเช่น การแนะนำตัวผู้เล่นที่จัดเต็มแสงสีเสียงราวกับมินิคอนเสิร์ต, ปอมปอมเกิร์ลส์หรือเชียร์ลีดเดอร์สาวเซ็กซี่ที่ออกมาเต้นช่วงขอเวลานอก หรือการแข่งขันที่มีเบรกสั้นๆบ่อยครั้งระหว่างแมตช์เพื่อสอดแทรกโฆษณาขณะถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ ฯลฯ
สักวันหนึ่ง กีฬาผสมบันเทิงและธุรกิจใน “อเมริกัน สไตล์” อาจเข้ามาเปลี่ยนแปลงวงการฟุตบอลในประเทศอนุรักษ์นิยมอย่างอังกฤษก็เป็นได้ ทั้งนี้เพราะการเติบโตอย่างรวดเร็วของพรีเมียร์ลีกในตลาดโลก บวกกระแสเงินมหาศาลผ่านลิขสิทธิ์ทีวี ได้ดึงดูดนักธุรกิจและนักลงทุนจากอเมริกาให้เดินทางมายังเมืองผู้ดีอย่างมีนัยยะ
ในช่วงไม่กี่ทศวรรษ เพื่อมองหาโอกาสครอบครองสโมสรในฐานะแบรนด์ที่มีชื่อเสียงและฐานแฟนคลับหนาแน่น โดยพวกเขามองว่าพรีเมียร์ลีกยังมีศักยภาพที่หลบซ่อนอยู่อีกมาก และสามารถนำความรู้จากกีฬาอเมริกันมาประยุกต์ใช้กับการดำเนินงานของสโมสรและฟุตบอลลีก
ปัจจุบันมี 9 สโมสรพรีเมียร์ลีกที่มีเจ้าของหรือครอบครองหุ้นใหญ่โดยคนอเมริกันหรือบริษัทจากอเมริกาได้แก่ อาร์เซนอล, แอสตัน วิลลา, คริสตัล พาเลซ, ฟูแลม, ลีดส์, ลิเวอร์พูล, แมนฯ ซิตี, แมนฯ ยูไนเต็ด และล่าสุด เชลซี ที่โบห์ลีย์และบริษัทลงทุน เคลียร์เลค แคปปิตัล เทคโอเวอร์สโมสรต่อจากโรมัน อบราโมวิช มหาเศรษฐีชาวรัสเซีย ด้วยจำนวนเงินที่รายงานระบุว่าสูงถึง 4.25 พันล้านปอนด์
กลางสัปดาห์ที่ผ่านมามีรายงานข่าวว่า บิลล์ โฟลีย์ อดีตทนายความและนักธุรกิจวัย 77 ปี ชาวอเมริกัน เสนอขอซื้อสโมสรบอร์นมัธ โดยโฟลีย์เป็นเจ้าของ ลาส เวกัส โกลเดน ไนท์ส ทีมฮอกกีน้ำแข็งในลีกอาชีพ เอ็นเอชแอล และประธานบริษัทประกันที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในอเมริกา ฟิเดลิตี เนชันแนล ไฟแนลเชียล ซึ่งมีมูลค่าราว 1.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ
ปัจจุบัน คนที่ครอบครอง “เดอะ เชอร์รีส์” คือ แม็กซิม เดมิน นักธุรกิจสัญชาติอังกฤษที่เกิดในรัสเซีย เขา “พร้อมขาย” สโมสรโดยมอบหมายบริษัท มอนต์มินีย์ แอนด์ โค ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ในอเมริกา คัดกรองผู้ซื้อที่มีศักยภาพเพียงพอ ซึ่งจากรายงานของสื่อในอังกฤษ เดมินประเมินค่าสโมสรบอร์นมัธไว้ที่ 150 ล้านปอนด์เป็นอย่างต่ำ
หากเดมินกับโฟลีย์ปิดดีลได้สำเร็จเท่ากับว่า บอร์นมัธจะเป็นสโมสรที่ 10 ในพรีเมียร์ลีกที่มีเจ้าของเป็นอเมริกัน และอเมริกันจะครอบครองสโมสรถึงครึ่งหนึ่งของพรีเมียร์ลีก
Never say never เนื่องจากไม่ช้าไม่นาน กลิ่นไอกีฬาผสมบันเทิงและธุรกิจใน “อเมริกัน สไตล์” อาจเปลี่ยนโฉมหน้าใหม่ให้กับวงการลูกหนังอังกฤษก็เป็นได้
.
✒️KMD Content Team
📷90MIN ENGLAND
#ไข่มุกดำ
#KMDCoffeeBreak
#PremierLeagueNEWS
#บริษัทอเมริกาซื้อสโมสรพรีเมียร์ลีก
#เทคโอเวอร์สโมสรพรีเมียร์ลีก
โฆษณา