20 ก.ย. 2022 เวลา 05:57 • หุ้น & เศรษฐกิจ
✨ มัดรวมรูปแบบกราฟราคา สายเทคนิคต้องรู้
การวิเคราะห์รูปแบบกราฟราคาเป็นการวิเคราะห์เชิงเทคนิควิธีหนึ่งที่ใช้หาจังหวะการซื้อขาย ด้วยวิธีการหารูปแบบกราฟที่เกิดขึ้นซ้ำ ๆ ในอดีต เพื่อใช้ทำนายทิศทางราคาในอนาคต
ทั้งหมดนี้ตั้งอยู่บนความเชื่อที่ว่า ประวัติศาสตร์เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นซ้ำ ๆ การวิเคราะห์รูปแบบกราฟราคาจึงเกิดขึ้นมา แต่ทุกอย่างไม่มีอะไรแน่นอน สิ่งที่เคยเกิดขึ้นในอดีต ไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นซ้ำในอนาคตเสมอไป
🚨 **ย้ำ !! อีกที ว่าผลลัพธ์อาจจะเกิดขึ้นหรือไม่เกิดขึ้นตามนี้ก็ได้ มันยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่ต้องดูประกอบด้วย เช่น ปริมาณการซื้อขายหุ้น (Volume), เส้นค่าเฉลี่ย และเครื่องมือวิเคราะห์ทางเทคนิคอื่น ๆ
แม้ว่ามันจะมีความไม่แน่นอนอยู่บ้าง แต่อย่างน้อยการมีเครื่องมือหลายอย่างติดตัวเอาไว้ เมื่อถึงเวลาจำเป็นต้องใช้จะได้หยิบขึ้นมาใช้ได้เลย และการลงสนามเทรดโดยมีความรู้เรื่องนี้ติดตัวเอาไว้ย่อมดีกว่าไม่มีความรู้เลยอย่างแน่นอน
✨ โดยทั่วไปรูปแบบกราฟราคาจะแบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่ม คือ
1. รูปแบบกลับตัว (Reversal Pattern) คือ รูปแบบที่ราคาหุ้นมีโอกาสเปลี่ยนทิศทาง มักจะเกิดเมื่อราคาหุ้นเริ่มพักตัวเพื่อสะสมกำลังและขวางแนวโน้มเดิม สุดท้ายทิศทางราคาจึงกลับด้านเป็นทิศตรงข้ามกับแนวโน้มเดิม
2. รูปแบบต่อเนื่อง (Continuous Pattern) คือ รูปแบบที่ราคาหุ้นมีโอกาสไปต่อในทิศทางเดิม มักจะเกิดเมื่อราคาหุ้นเคลื่อนที่เป็นแนวโน้มนึงแล้วมีการพักตัวอ่อน ๆ ทำให้ราคาหุ้นยังเคลื่อนที่ไปตามแนวโน้มเดิม
3. รูปแบบเป็นไปได้ทั้ง 2 ทิศทาง (Bilateral Pattern) คือ รูปแบบกราฟราคาที่เอาแน่เอานอนไม่ได้เลย มีโอกาสออกหัวหรือก้อยก็ได้ จนกว่าทุกอย่างจะเฉลยด้วยตัวของมันเอง ดังนั้นราคาหุ้นจึงมีโอกาสทั้งไปต่อทิศเดิม หรือเปลี่ยนทิศทางก็ได้
ว่าแต่ สรุปแล้วมันมีรูปแบบกราฟราคาอะไรบ้าง ? แต่ละรูปแบบมีความหมายว่าอะไร ? ถ้าพร้อมแล้วไปดูกันเลย
𝗗𝗼𝘂𝗯𝗹𝗲 𝗕𝗼𝘁𝘁𝗼𝗺 คือ รูปแบบกราฟราคาที่บอกว่าราคาหุ้นอาจกลับตัวเป็นขาขึ้น หลังราคาหุ้นลงมาทดสอบแนวรับถึง 2 ครั้ง แต่สุดท้ายก็ยังไม่หลุดลงไป ราคาหุ้นบริเวณจุด Bottom จึงถือเป็นแนวรับสำคัญที่แข็งแรง
สะท้อนว่าที่ระดับราคาบริเวณจุด Bottom จะมีแรงซื้อเข้ามาประคองไม่ให้ราคาหุ้นหลุดลงไป ทำให้ราคาหุ้นมีโอกาสปรับตัวขึ้นเท่ากับความสูงระหว่าง Neckline และ Bottom
รูปแบบกราฟราคามีลักษณะคล้ายตัวอักษร “W”
𝗧𝗿𝗶𝗽𝗹𝗲 𝗕𝗼𝘁𝘁𝗼𝗺 เป็นรูปแบบกราฟราคาที่คล้ายกับ Double Bottom ด้วยการที่ราคาหุ้นลงมาทดสอบแนวรับถึง 3 ครั้ง แต่ก็ทะลุลงไปไม่ได้ซักที ยิ่งยืนยันว่าราคาหุ้นบริเวณจุด Bottom เป็นแนวรับที่แข็งแกร่งและสำคัญมาก
สุดท้ายราคาหุ้นจึงมีโอกาสสูงที่จะกลับตัวเป็นขาขึ้น หลังมีแรงซื้อเข้ามาประคองบริเวณจุด Bottom อยู่ตลอด ทำให้ราคาหุ้นอาจปรับตัวขึ้นมาเท่ากับความสูงระหว่าง Neckline และ Bottom
ข้อควรระวัง คือ ก่อนที่ราคาหุ้นจะทะลุ Neckline ขึ้นไป รูปแบบกราฟราคาอาจถูกตีความเป็นแบบอื่น ๆ ได้ เช่น Double Bottom, Descending Triangle และ Horizontal Channel เราจึงควรอดทนรอจนกว่าราคาหุ้นจะทะลุแนวต้านขึ้นไปเพื่อเป็นการยืนยันรูปแบบ Triple Bottom
𝗗𝗼𝘂𝗯𝗹𝗲 𝗧𝗼𝗽 คือ รูปแบบกราฟราคาที่บอกว่าราคาหุ้นอาจกลับตัวเป็นขาลง หลังราคาหุ้นพยายามผ่านแนวต้านถึง 2 ครั้ง แต่ผ่านไปไม่ได้ซักที ราคาหุ้นบริเวณจุด Top จึงถือเป็นแนวต้านสำคัญที่แข็งแกร่ง
สุดท้ายราคาหุ้นจึงอาจหมดแรงส่งและมีโอกาสปรับตัวลงมาเท่ากับความสูงระหว่าง Neckline และ Top
ดังนั้นเมื่อราคาหุ้นหลุดแนวรับ Neckline เมื่อไหร่ เราจึงควรตัดขาดทุน (Cut Loss) หุ้นตัวนั้นออกไปก่อน
รูปแบบกราฟราคามีลักษณะคล้ายตัวอักษร “M”
𝗧𝗿𝗶𝗽𝗹𝗲 𝗧𝗼𝗽 เป็นรูปแบบกราฟราคาที่คล้ายกับ Double Top ด้วยการที่ราคาหุ้นพยายามจะผ่านแนวต้านถึง 3 ครั้ง แต่ก็ผ่านไปไม่ได้ซักที ยิ่งยืนยันว่าราคาหุ้นบริเวณจุด Top เป็นแนวต้านที่แข็งแกร่งและสำคัญมาก
สุดท้ายราคาหุ้นจึงมีโอกาสสูงที่จะกลับตัวเป็นขาลง หลังจากหมดแรงส่ง โดยอาจปรับตัวลงมาเท่ากับความสูงระหว่าง Neckline และ Top
ดังนั้นเมื่อราคาหุ้นหลุดแนวรับ Neckline เมื่อไหร่ เราจึงควรตัดขาดทุน (Cut Loss) หุ้นตัวนั้นออกไปก่อน
ข้อควรระวัง คือ ก่อนที่ราคาหุ้นจะทะลุ Neckline ลงมา รูปแบบกราฟราคาอาจถูกตีความเป็นแบบอื่น ๆ ได้ เช่น Double Top, Ascending Triangle และ Horizontal Channel เราจึงควรอดทนรอจนกว่าราคาหุ้นจะทะลุแนวรับลงมาเพื่อเป็นการยืนยันรูปแบบ Triple Top
บอกก่อนว่า 𝗛𝗲𝗮𝗱 & 𝗦𝗵𝗼𝘂𝗹𝗱𝗲𝗿𝘀 ไม่ใช่ยาสระผมนะครับ (แม้ชื่อจะคล้ายกันก็เถอะ) แต่นี่คือรูปแบบกราฟราคาที่นักวิเคราะห์และนักลงทุนส่วนมากพูดเป็นเสียงเดียวกันว่ามีความน่าเชื่อถือสูงมาก
ดังนั้นเมื่อไหร่ที่เห็นรูปแบบกราฟราคาลักษณะนี้ จึงควรระวังไว้ให้ดี เพราะราคาหุ้นมีแนวโน้มสูงที่จะเปลี่ยนเป็นขาลงในทันที ซึ่งอาจปรับตัวลงมาเท่ากับความสูงระหว่าง Neckline และ Head
ลักษณะของรูปแบบกราฟราคาจะคล้ายกับ หัวคน และ ไหล่ 2 ข้าง ตีความหมายว่าราคาหุ้นพยายามปรับตัวสูงขึ้น (ไล่จากไหล่ข้างซ้ายขึ้นไปที่หัว) แต่ไม่สำเร็จจึงเกิดเป็นไหล่ข้างขวาลงมานั่นเอง
บอกอีกทีว่า 𝗜𝗻𝘃𝗲𝗿𝘀𝗲 𝗛𝗲𝗮𝗱 & 𝗦𝗵𝗼𝘂𝗹𝗱𝗲𝗿𝘀 ก็ไม่ใช่ยาสระผมนะครับ (แม้ชื่อจะคล้ายกันก็เถอะ) ซึ่งวิธีการดูจะเหมือนกับรูปแบบ Head & Shoulders เลย เพียงแค่กลับด้านกัน
ตีความรูปแบบลักษณะกราฟได้ว่าราคาหุ้นพยายามทำจุดต่ำสุดอันใหม่ (ไล่จากไหล่ข้างซ้ายลงมาที่หัว) แต่ไม่สำเร็จ จึงเกิดเป็นไหล่ข้างขวาที่จุดต่ำสุดอยู่สูงกว่าส่วนหัวนั่นเอง
ดังนั้นเมื่อไหร่ที่ราคาหุ้นปรับตัวขึ้นทะลุ Neckline อาจเป็นสัญญาณว่าราคาหุ้นพร้อมจะเปลี่ยนเป็นขาขึ้นแล้ว ซึ่งอาจปรับตัวขึ้นเท่ากับความสูงระหว่าง Neckline และ Head
𝗥𝗶𝘀𝗶𝗻𝗴 𝗪𝗲𝗱𝗴𝗲 เป็นรูปแบบกราฟราคาที่มีรูปร่างเหมือน “ลิ่ม” ซึ่งเกิดจากการสู้กันระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายหุ้น
โดยผู้ซื้อพยายามเข้ามาพยุงราคาหุ้น สังเกตจากจุดต่ำสุดของราคาที่ยกตัวสูงขึ้นกว่าเดิมมาก เกิดเป็นแนวรับที่มีความสูงชัน แต่ในฝั่งผู้ขายทำกำไรออกมาเร็วกว่ามาก ทำให้จุดสูงสุดของราคาหุ้นปรับตัวขึ้นได้เล็กน้อย เกิดเป็นแนวต้านที่แข็งแกร่ง แต่ยังมีความชันน้อยกว่าแนวรับ
สุดท้ายเมื่อแนวต้านแข็งแรงกว่าแนวรับ ราคาหุ้นจึงเกิดการกลับตัวลงมาเปลี่ยนเป็นขาลง โดยราคาหุ้นอาจปรับตัวลงมาเท่ากับความสูงของลิ่ม
ข้อสังเกต คือ ระหว่างที่ราคาหุ้นกำลังสร้างรูปแบบ Rising Wedge ปริมาณการซื้อขายหุ้น (Volume) จะลดลงต่อเนื่อง จนกว่าราคาหุ้นจะหลุดแนวรับลงมา ซึ่งมักจะมาพร้อมกับปริมาณการซื้อขายที่มากกว่าเดิมอย่างรวดเร็ว
𝗙𝗮𝗹𝗹𝗶𝗻𝗴 𝗪𝗲𝗱𝗴𝗲 เป็นรูปแบบกราฟราคาที่มีรูปร่างเหมือน “ลิ่ม” ซึ่งเกิดจากการสู้กันระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายหุ้น โดยเป็นรูปแบบตรงกันข้ามกับ Rising Wedge
โดยผู้ซื้อไม่มีใครอยากซื้อหุ้นในราคาสูงขึ้นเท่าไหร่แล้ว สังเกตจากจุดสูงสุดที่ลดต่ำลงกว่าเดิมมาก เกิดเป็นแนวต้านที่มีความชันสูง ส่วนผู้ขายแม้จะพยายามกดราคาหุ้นลงมา แต่ผู้ซื้อยังประคองราคาเอาไว้อยู่ เกิดเป็นแนวรับที่แข็งแกร่ง แต่มีความชันน้อยกว่าแนวต้าน
สุดท้ายเมื่อแนวรับแข็งแรงกว่าแนวต้าน ราคาหุ้นจึงเกิดการกลับตัวและเปลี่ยนเป็นขาขึ้น โดยราคาหุ้นอาจปรับตัวขึ้นไปเท่ากับความสูงของลิ่ม
ข้อสังเกต คือ ระหว่างที่ราคาหุ้นกำลังสร้างรูปแบบ Falling Wedge ปริมาณการซื้อขายหุ้น (Volume) จะลดลงต่อเนื่อง จนกว่าราคาหุ้นจะทะลุแนวต้านขึ้นไป ซึ่งมักจะมาพร้อมกับปริมาณการซื้อขายที่มากกว่าเดิมอย่างรวดเร็ว
𝗔𝘀𝗰𝗲𝗻𝗱𝗶𝗻𝗴 𝗖𝗵𝗮𝗻𝗻𝗲𝗹 จัดอยู่ในรูปแบบสัญญาณขาขึ้น (Bullish Pattern) ประกอบด้วยเส้นแนวรับขาขึ้นเรียกว่า Trend Line และเส้นแนวต้านขนานเรียกว่า Channel Line
เมื่อราคาอยู่ที่เส้นแนวรับถือเป็นโอกาสในการซื้อ และตราบใดที่ราคาหุ้นยังไม่ทะลุกรอบราคา การขึ้นของราคาหุ้นก็จะดำเนินต่อไปเรื่อย ๆ
แต่ถ้าราคาหุ้นหลุด Trend Line ลงมา จะเป็นสัญญาณการเปลี่ยนแนวโน้มเป็นขาลง และถ้าราคาหุ้นทะลุ Channel Line ขึ้นไป จะเป็นสัญญาณว่าแนวโน้มขาขึ้นได้เร่งตัวขึ้นแล้ว
โดย Ascending Channel ยังเป็นที่รู้จักกันในชื่อ Rising Channel หรือ Channel Up
𝗗𝗲𝘀𝗰𝗲𝗻𝗱𝗶𝗻𝗴 𝗖𝗵𝗮𝗻𝗻𝗲𝗹 จัดอยู่ในรูปแบบสัญญาณขาลง (Bearish Pattern) ประกอบด้วยเส้นแนวต้านขาลงเรียกว่า Trend Line และเส้นแนวรับขนานเรียกว่า Channel Line
ตราบใดที่ราคาหุ้นยังไม่ทะลุกรอบราคา การลงของราคาหุ้นก็จะดำเนินต่อไปเรื่อย ๆ
แต่ถ้าราคาหุ้นทะลุ Trend Line ขึ้นไป จะเป็นสัญญาณการเปลี่ยนแนวโน้มเป็นขาขึ้น และถ้าราคาหุ้นหลุด Channel Line ลงมา จะเป็นสัญญาณว่าแนวโน้มขาลงได้เร่งตัวขึ้นแล้ว
โดย Descending Channel ยังเป็นที่รู้จักกันในชื่อ Falling Channel หรือ Channel Down
𝗛𝗼𝗿𝗶𝘇𝗼𝗻𝘁𝗮𝗹 𝗖𝗵𝗮𝗻𝗻𝗲𝗹 จัดอยู่ในรูปแบบกราฟราคาที่ยังไม่มีสัญญาณชัดเจน ตราบใดที่ราคาหุ้นยังไม่ทะลุกรอบราคา ราคาหุ้นก็จะแกว่งตัวออกด้านข้างไปเรื่อย ๆ
กราฟราคารูปแบบนี้ เกิดจากนักลงทุนส่วนใหญ่กำลังรอความชัดเจนบางอย่าง ในเชิงทฤษฎีเมื่อราคาหุ้นทะลุแนวต้านขึ้นไป ให้ถือเป็นสัญญาณซื้อ และถ้าราคาหุ้นหลุดแนวรับลงมา ให้ถือเป็นสัญญาณขาย
𝗔𝘀𝗰𝗲𝗻𝗱𝗶𝗻𝗴 𝗧𝗿𝗶𝗮𝗻𝗴𝗹𝗲 เป็นรูปแบบกราฟราคาที่แนวต้านเป็นเส้นตรงแนวนอน ขณะที่เส้นแนวรับเป็นขาขึ้น ทำให้ราคาหุ้นเคลื่อนไหวคล้ายอยู่ในกรอบสามเหลี่ยม ถือเป็นการสะสมแรงก่อนที่จะทะลุด้านใดด้านหนึ่งไป
รูปแบบกราฟราคานี้เกิดจากที่นักลงทุนกำลังรอความคืบหน้าของปัจจัยในตลาด เพื่อเป็นตัวกำหนดให้ราคาไปทิศทางใดทางหนึ่ง
จริงอยู่ว่าทฤษฎีบางแห่งบอกว่า ถ้าเจอกราฟราคารูปแบบนี้ ราคาหุ้นมักจะปรับตัว “ขึ้น” แต่การเกิด Ascending Triangle ไม่สามารถยืนยันได้ว่าราคาหุ้นจะพุ่งขึ้นเสมอไป เพราะบางครั้งราคาหุ้นอาจเปลี่ยนรูปแบบ (Pattern) กลายเป็น Triple Top แล้วกลับตัวลงได้เลยเหมือนกัน
𝗗𝗲𝘀𝗰𝗲𝗻𝗱𝗶𝗻𝗴 𝗧𝗿𝗶𝗮𝗻𝗴𝗹𝗲 เป็นรูปแบบกราฟราคาที่แนวรับเป็นเส้นตรงแนวนอน ขณะที่เส้นแนวต้านเป็นขาลง ทำให้ราคาหุ้นเคลื่อนไหวคล้ายอยู่ในกรอบสามเหลี่ยม ถือเป็นการสะสมแรงก่อนที่จะทะลุด้านใดด้านหนึ่งไป
รูปแบบกราฟราคานี้เกิดจากที่นักลงทุนกำลังรอความคืบหน้าของปัจจัยในตลาด เพื่อเป็นตัวกำหนดให้ราคาไปทิศทางใดทางหนึ่ง เหมือนกับรูปแบบ Ascending Triangle
จริงอยู่ว่าทฤษฎีบางแห่งบอกว่า ถ้าเจอกราฟราคารูปแบบนี้ ราคาหุ้นมักจะปรับตัว “ลง” แต่การเกิด Descending Triangle ไม่สามารถยืนยันได้ว่าราคาหุ้นจะทิ้งดิ่งเสมอไป เพราะบางครั้งราคาหุ้นอาจเปลี่ยนรูปแบบ (Pattern) กลายเป็น Triple Bottom แล้วกลับตัวขึ้นได้เลยเหมือนกัน
𝗦𝘆𝗺𝗺𝗲𝘁𝗿𝗶𝗰𝗮𝗹 𝗧𝗿𝗶𝗮𝗻𝗴𝗹𝗲 เป็นรูปแบบกราฟราคาที่ไม่มีทิศทางชัดเจนมากที่สุด การเทรดในกราฟรูปแบบนี้จึงควรมีความระมัดระวังมากที่สุด
รูปแบบกราฟราคานี้อาจเกิดในช่วงก่อนที่จะประกาศข่าวสำคัญ ทำให้นักลงทุนในตลาดรอข้อมูลก่อนตัดสินใจซื้อหรือขายหุ้นออกมา จึงมีความคล้ายกับรูปแบบ Ascending และ Descending Triangle
เนื่องจากราคาหุ้นมีโอกาสทั้งดีดตัวขึ้นและทิ้งตัวลง การเทรดจึงควรรอให้ราคาหุ้นทะลุไปด้านใดด้านหนึ่งก่อน แล้วจึงเข้าทำกำไรตาม
"เพราะการเงินเป็นเรื่องของทุกคน"
Dime! ครบเครื่องเรื่องการเงิน แอปพลิเคชันที่ทุกคนสามารถเข้าถึงการลงทุนได้อย่างเท่าเทียม
บริษัทหลักทรัพย์ เคเคพี ไดม์ ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์จากสำนักงาน ก.ล.ต. เป็นผู้ให้บริการแอปพลิเคชัน Dime! และให้บริการบัญชีออมทรัพย์จากธนาคารเกียรตินาคินภัทร
ติดตามเราหรือศึกษาเพิ่มเติมได้ที่ https://linktr.ee/dime.finance
โฆษณา