21 ก.ย. 2022 เวลา 07:55 • ไลฟ์สไตล์
Super Hero ตัวละครภาพยนตร์ที่ผู้สร้างมักจะสร้างให้มีคาแรกเตอร์ให้มีจิตใจดีและ คอยช่วยเหลือผู้อื่นโดยไม่หวังสิ่งตอบแทน แต่จะเป็นยังไงถ้าตัวละครนี้หลุดออกมาจากโลกของจอหนังมาสู่โลกของความเป็นจริง
เอพพิซเต้ ชวนพูดคุยกับคุณคอฟฟี่ - ณัฐนนท์ เมตุลา นักกู้ภัยประจำศูนย์ อปพร.เทศบาลนครเชียงใหม่ พิงค์นคร ที่เริ่มต้นการเป็นอาสาสมัครกู้ภัยตั้งแต่อายุ 17 ปี
ความฝันวัยเด็กที่เรามักจินตนาการว่าถ้าโตขึ้นอยากจะเป็นหมอ พยาบาล ตำรวจ ทหารหรือแม้กระทั่งนักแสดง แต่สำหรับคุณคอฟฟี่แล้วมันไม่ใช่แบบนั้นเลย คุณคอฟฟี่เล่าว่า “ผมอยากเป็นกู้ภัยตั้งแต่ยังเป็นเด็ก เพราะว่าเราอยากออกเหตุและ ช่วยคนที่ได้รับอุบัติเหตุ พออายุได้ 17 ปี ผมก็เริ่มเข้าร่วมเป็นอาสากู้ภัยใกล้ๆ บ้าน เป็นทีมของสันป่าตอง ตอนที่เข้าไปแรกๆ ก็มีพี่ๆ คอยช่วยแนะนำพาเราไปอบรมวิชาต่างๆ ” ตอนนี้ผมก็เป็นกู้ภัยมาได้ประมาณ12 ปี และทำงานประจำที่ อปพร.เทศบาลนครเชียงใหม่ พิงค์นคร
ด้วยความตั้งใจแรกที่ผมอยากเข้าทำงานตรงนี้ก็เพราะอยากช่วยเหลือคน แต่พอเวลาผ่านมาก็มีอะไรเข้ามาเยอะเช่นประสบการณ์ต่างๆ กลายเป็นแรงบันดาลใจที่ทำให้ผมอยากเป็นอาสา
  • งานที่เลือกเวลาและหน้าที่ไม่ได้
ก่อนที่เราจะสมัครเข้าทำงานแต่ละครั้งเราต้องออกรายละเอียดว่างานนี้ตรงต่อความต้องการไหม ถ้าไม่เราก็หาที่อื่นแทน แต่การเป็นอาสาตรงกันข้ามกัน เพราะอาสาทำงานเพื่อทุกคน คุณคอฟฟี่บอกว่า “หน้าที่หลักๆ ของเราคือต้องช่วยเหลือผู้ประสบภัย ไม่ว่าเราจะอยู่ที่ไหน ทำอะไร เราก็ต้องมีจิตวิญญาณของกู้ภัย ซึ่งจะเป็นการช่วยเหลือผู้ประสบภัยทุกรูปแบบ อย่างผมจะอยู่ฝ่ายออกเหตุ เคสอะไรที่แปลกๆ อยู่ไกล อยู่บนดอย เราก็ต้องไป คือเราจะเลือกเคสอุบัติเหตุไม่ได้
แต่ด้วยความที่เราเป็นอาสาเวลาในการทำงานอาจจะไม่ตรงบ้าง เพราะว่าเราก็มีงานอื่นที่ต้องทำ ดังนั้นก็จะมีคนอื่นไปแทนแต่สำหรับผม ผมจะอยู่กับรถกู้ภัยตลอด มีอุปกรณ์พร้อม พอมีเหตุผมก็พร้อมออก”
  • เป็นอะไรที่ถือว่าสุดๆ สำหรับการเป็นกู้ภัย
“การเก็บศพถือว่าเป็นเรื่องที่สุดๆ ของผม” คุณคอฟฟี่เล่าว่า เมื่อก่อนผมเคยอยู่หน่วยที่สันป่าตองเราเจอเกือบทุกรูปแบบหมายถึงศพนะ ถ้ากู้ภัยคือสุดๆ ก็คือการเก็บศพ แต่รุ่นพี่พวกเขาสอนเรามาดีมากในเรื่องของจิตใจที่ทำให้เราเข้มแข็งจะบอกว่าไม่มีเคสที่ทำให้เราจดจำแต่จะเรียกว่าสุดๆ ของนักกู้ภัย อย่างเคสที่ดอยหล่อ ซึ่งทั้งตัวจะเหลือแค่ข้อขาด้านซ้ายที่รู้ว่าเป็นคน นอกนั้นก็คือเละหมดอันนี้เป็นแค่ตัวอย่างการทำงานของคุณคอฟฟี่ ฟังดูแค่นี้ก็สะอึกไปหลายครั้งเหมือนกัน…..
  • ทีมดีมีชัยไปกว่าครึ่ง
ในบางครั้งการทำงานที่มีความกดดันหรือเครียดเกินไปอาจส่งผลกระทบทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ และส่งผลเสียมากมายหากเราไม่สามารถจัดการกับปัญหานี้ได้ คุณคอฟฟี่บอกว่า การเป็นกู้ภัยมักเจอเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันและ ไม่สามารถรู้ได้เลยว่าจะเจอเคสแบบไหน อย่างเวลาเคสคนโดนรถชนแล้วมีญาติมาหาศพ ผมก็รู้สึกไม่ค่อยโอเคเราเท่าไหร่ “
ไม่มีคำว่าชินหรอกนะกับการที่เห็นคนร้องไห้” และทีมคือสิ่งสำคัญถ้าเรามีทีมดีเราจะไม่รู้สึกอะไรนอกจากอยากจะช่วยเขา เช่น เวลาเก็บศพเราต้องให้เกียรติศพ แต่สังคมกู้ภัยก็คนหลายๆ คนมาอยู่ด้วยกัน มีพูดเล่นกันบ้างเวลาทำงานแต่เราจะไม่มีการลบหลู่ศพเราพยายามจะทำงานให้ไม่เครียด ไม่กดดันกัน แต่พอทางญาติของผู้ประสบภัยมาเราก็จะให้เกียรติ ญาติเขาก็เข้าใจเพราะว่าถ้าไม่มีกู้ภัยก็ไม่มีใครทำหน้าที่ตรงนี้ ผมมีความสุขที่ได้ทำงานแต่ไม่ได้หมายความว่ามีความสุขที่เห็นเขาเสียชีวิตนะ
  • วัยรุ่นกู้ภัย
เชื่อว่าหลายคนเคยได้ยินคำว่า วัยรุ่นกู้ภัย ที่เคยเป็นคลิปโด่งดังบนโซเชียลมีเดีย คุณคอฟฟี่เล่าว่า “เมื่อก่อนเฟซบุ๊กกำลังมา เราก็อัปคลิปไปไม่ได้คิดอะไรมากก็มีคนมาคอมเมนต์ว่าในทีมมีแต่เด็กแต่ทำงานกันได้ออกมาดี” และวัยรุ่นกู้ภัยก็คือทีมที่มีแต่เด็ก เพราะว่าทีมเดิมที่ผมทำที่สันป่าตองผมทำตั้งแต่เด็ก ตอนอายุ 17 ก็คือเด็กทั้งนั้นที่ทำในทีม แต่ว่าเราทำงานกันอย่างมืออาชีพ ลุยกันทุกงานไม่ว่าจะไกลหรือมีเหตุที่ไหนทีมสันป่าตองก็เราไปช่วยเหลือตลอด มันก็เลยเป็นที่ประจักษ์ว่าเป็นวัยรุ่นกู้ภัย
  • ประสบการณ์ที่หาจากที่ไหนไม่ได้
เงินคือสิ่งที่สามารถซื้อได้ทุกอย่าง อาหาร เสื้อผ้า หน้าตาในสังคม แต่มีสิ่งหนึ่งที่เงินไม่สามารถซื้อได้ นั่นคือประสบการณ์ เพราะการจะมีประสบการณ์เราต้องเป็นคนลงมือทำเอง เงินพันล้านก็คงช่วยไม่ได้ คุณคอฟฟี่เล่าว่า “ตอนนี้ผมอายุ 26 มองเด็กอายุ 17 ก็คือเด็ก แต่17 ของผมตอนนั้นผมคิดว่าผมเป็นกู้ภัยได้
เพราะในทีมมีความคิดเดียวกันที่ว่า อยากมาเป็นกู้ภัย อยากช่วยเหลือผู้ประสบภัย เมื่อก่อนคนอื่นก็ไม่เข้าใจว่าทำไมเราต้องทำอะไรแบบนี้ ซึ่งผมโตมากับกู้ภัยและ กู้ภัยก็สอนประสบการณ์ดีๆ ให้กับผมในด้านสังคมการเป็นกู้ภัยทำให้ได้เห็นสังคมทุกระดับชั้น เพราะว่าเราไม่รู้เราไปเจอเหตุเขาเป็นคนรวยหรือคนจน สังคมมีทุกรูปแบบ เราไปในฐานะช่วยเหลือเขาจะไม่ปฏิเสธเราสักอย่าง”
  • เราสมัครใจที่มาเป็นอาสาเราก็ต้องยอมรับในหน้าที่
คุณคอฟฟี่บอกว่า “นักกู้ภัยทุกคนมีงานประจำกันหมด อยู่ที่ความสมัครใจในเมื่อคุณอาสาจะมาทำงานตรงนี้ เมื่อมีเหตุเราก็จะพร้อมที่จะทำในหน้าที่ส่วนนี้ บางคนเขาก็ไม่เข้าใจเราหรอกว่าเรากำลังทำอะไร อาสามันรวมทุกสังคมยากดีมีจนก็รวมอยู่ด้วยกันเราก็ปฏิบัติตามกฎ การอยู่รวมกันในคนหมู่มากมันก็ต้องมีกฎและทุกคนก็ไม่แหกเพราะทุกคนเคารพในสิ่งที่ได้มาเป็นอาสา สำหรับผม ผมจะพกเสื้อกับรถกู้ภัยไปตลอด มันทำให้เราอุ่นใจเพราะถ้าเกิดเหตุฉุกเฉินเราจะได้ช่วยเขาได้เลย ไม่ใช่แค่ไปยืนดูเฉยๆ”
การเป็นกู้ภัยทำให้เราได้ช่วยคนให้มีชีวิตรอด สำหรับผมการเป็นกู้ภัยทุกอย่างคือการช่วยเหลือ สิ่งที่ประทับใจในการเป็นกู้ภัยไม่สามารถบรรยายออกมาเป็นคำพูดได้หมด แค่เราได้ช่วยแค่นี้ก็มีความสุขละ ได้เห็นอะไรที่ไม่เคยเห็นตอนกลางคืน กลางคืนมีแบบนี้ด้วยหรอก การได้มาเจอกัน หลายๆ สังคมมาเจอกัน อย่างบางคนชอบรถ ชอบกีฬา เขาก็จะเอาความรู้มาแชร์กัน บางคนเป็นครู เป็นทหาร แต่เราก็มาเป็นอาสาร่วมกัน
  • การเตรียมตัวสำหรับมือใหม่ที่อยากเป็นกู้ภัย
ถ้าใครสนใจในอาชีพนักกู้ภัย วันนี้เอพพิซเต้ได้รวบรวมข้อตอนการเตรียมจากคุณคอฟฟี่มาให้แล้ว
คุณคอฟฟี่บอกว่า “ถ้าพูดสำหรับการเป็นอาสากู้ภัย คนที่เป็นมือใหม่ไม่มีความรู้อะไรเลย สามารถเข้ามาเก็บความรู้จากพี่ๆ ในทีม แล้วจะมีการอบรมของเอกชนหรือของรัฐเปิดอบรมสายต่างๆ ถ้าใครสนใจสายไหนก็เลือกเรียนสายนั้น ทางรัฐจะเปิดอบรมตลอดไม่ว่าจะเป็นทางด้านการแพทย์หรืออบรมพิเศษ ถ้าเป็นศูนย์อบรมจะอยู่ที่ ป่าแดด
เขาจะเปิดอบรมให้กู้ภัยและผู้ที่สนใจเข้ามาเรียนรู้ ถ้าเป็นหน่วยงานของรัฐก็จะเป็นพวก อบจ. ที่เปิดอบรม แล้วก็ทีมประดาน้ำภาค 5 เขาทำทีมมาเพื่อสนับสนุนทีมประดาน้ำค้นหาใต้น้ำภาคเหนือในจังหวัดเชียงใหม่และ ก็ภาคอื่นๆ และเชียงใหม่โชคดีตรงที่ว่า เรามีอุปกรณ์ มีสถานที่อบรมให้นักกู้ภัยซึ่งมันแตกต่างกับที่ผมเป็นกู้ภัยเมื่อ 4 ปี มันต่างกันมาก ปัจจุบันเทคโนโลยีและสภาพกำลังของกู้ภัยมันมีความพร้อมเยอะกว่าเมื่อก่อน แล้วก็อาสาที่มีความรู้ในหลายๆ ด้านมารวมกันเจอหน้างานมันก็แก้ไขสถานการณ์ได้เร็ว”
สุดท้ายนี้คุณคอฟฟี่ได้ฝากข้อคิดดีๆให้พวกเราชาวเอพพิซเต้ว่า “อยากให้ทุกคนมีจิตสาธารณะ ช่วยเหลือสังคมร่วมกัน และอีกอย่างการทำ CPR การปั๊มหัวใจ มันเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ผมอย่างจะฝากบอกทุกคนว่าให้ศึกษาเรียนรู้กันการทำ CPR เพราะมันจะดีกว่ายืนดูแล้วก็ทำอะไรไม่ได้ โทรศัพท์ก็ช่วยอะไรไม่ได้หรอกครับ สังคมต้องมีจิตสำนึกแล้วทุกอย่างมันดีขึ้นเอง”
อยากฝากอาชีพกู้ภัยไว้นะครับ เดี๋ยวนี้สังคมเปลี่ยนไปเมื่อก่อนภาพพจน์ของกู้ภัยก็ไม่ค่อยดี แต่ตอนนี้สื่อเริ่มสื่อถึงการทำงานของกู้ภัยทำให้เห็นว่ากู้ภัยสำคัญแล้วประเทศไทยโชคดีที่มีหน่วยอาสาเยอะ ทำให้เวลาเกิดเหตุสามารถเข้าช่วยได้เร็วและ ช่วยเป็นกำลังใจให้กู้ภัยทุกพื้นที่นะครับ
เราทุกคนสามารถเป็น Super Hero ได้ เพียงแค่เรามองถึงความเดือดร้อนของคนที่อยู่รอบตัวเราบ้าง ยื่นมือให้ช่วยเหลือคนแปลกหน้า หรือแค่การยิ้มเล็กๆ อาจจะเป็นพลังที่ทำให้คนคนหนึ่งมีกำลังใจที่ต่อสู้กับปัญหาที่มีอยู่ก็ได้
“หากเกิดเหตุด่วนเหตุร้ายสามารถ ติดต่อเบอร์โทรฉุกเฉิน 191 หรือ 1669 เบอร์จะเชื่อมกันทุกพื้นที่แค่แจ้งที่อยู่ให้เจ้าหน้าที่ให้ชัดเจน”
ขอบคุณเรื่องราวดีๆ จากคุณคอฟฟี่- ณัฐนนท์ เมตุลา นักกู้ภัยประจำศูนย์ อปพร.เทศบาลนครเชียงใหม่พิงค์นคร
สามารถติดตามคุณคอฟฟี่ได้ที่:
IG: rescue_fee
โฆษณา