28 ก.ย. 2022 เวลา 00:00 • ประวัติศาสตร์
จารึกเสาธรรมจักร เมืองโบราณซับจำปา ท่าหลวง ลพบุรี
หลักฐานสำคัญพุทธศาสนาเถรวาทจากอินเดียลงปักหลัก
จังหวัดลพบุรีพบหลักฐานชิ้นส่วนธรรมจักรที่มีจารึกอักษรปัลลวะหลายชิ้น เช่น จารึกบนซี่ล้อธรรมจักร จารึกบนวงล้อธรรมจักร และจารึกบนชิ้นส่วนเสาธรรมจักร เป็นต้น ปัจจุบันทั้งหมดจัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สมเด็จพระนารายณ์ โดยชิ้นที่มีความสำคัญและโดดเด่นคือเสาธรรมจักรแปดเหลี่ยมที่มีจารึกอักษรปัลลวะ ภาษาบาลี
เนื้อความกล่าวถึงหลักธรรม เช่น อริยสัจ ปฏิจจสมุปบาท ปฐมพุทธอุทาน และพระพุทธอุทาน ซึ่งค้นพบที่เมืองโบราณซับจำปา อันเป็นเมืองโบราณยุคทวารวดี จากร่องรอยคูน้ำคันดินและหลักฐานโบราณวัตถุที่พบทั่วไปในแถบอำเภอท่าหลวง จังหวัดลพบุรี ถือว่าเป็นอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่อีกแห่งของยุคทวารวดี
จารึกเสาธรรมจักรต้นนี้มีขนาดสูง ๒๐๒ เซนติเมตร มีเส้นผ่านศูนย์กลาง ๓๐ เซนติเมตร วัสดุทำด้วยศิลา สันนิษฐานอายุอยู่ในช่วงราวยุคทวารวดี (ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๓) ข้อมูลของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สมเด็จพระนารายณ์ อรรถาธิบายว่า
ลักษณะของจารึกสลักลงบนเสาหินแปดเหลี่ยม มีฐานขนาดใหญ่ ทำเป็นรูปดอกบัว ประดับด้วยลวดลายคล้ายพวงอุบะ สภาพเสาแตกเป็นชิ้นเล็กๆ ขนาดสูง ๒๒๗ เซนติเมตร หัวเสาสูง ๖๑ เซนติเมตร ฐาน ๑๖ เซนติเมตร เส้นผ่าศูนย์กลาง ๒๙ เซนติเมตร
สันนิษฐานว่าเป็นเสาหินวงธรรมจักรในยุคนั้น และมีภาพถ่ายทางอากาศของเมืองโบราณซับจำปา ที่บอกถึงจุดสำคัญๆ ของเมืองไว้อย่าง เช่น แนวคูเมือง กำแพงเมือง เนินโบราณสถานในเมือง ลำธารที่ไหลผ่านตัวเมือง
จำรึกที่พบในเมืองโบราณซับจำปา เมืองโบราณซับจำปา เป็นเมืองโบราณสาคัญแห่งหนึ่งในลุ่มแม่น้าป่าสัก ตั้งอยู่ในเขต หมู่ที่ 7 ตำบลซับจำปา อำเภอท่าหลวง จังหวัดลพบุรี ที่ตั้งของเมืองโบราณตั้งอยู่บนเนินดินสูงของขอบที่ราบภาคกลางที่ต่อกับที่ราบสูงภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ลักษณะผังเมืองมีรูปร่างคล้ายรูปไข่ ขนาดกว้างประมาณ ๗๐๔ เมตร ยาวประมาณ ๘๓๔ เมตร ล้อมรอบด้วยคูน้ำ ๑ ชั้น (กว้างประมาณ ๑๖ เมตร) และคันดินชั้น ๒ ชั้น ขนาบคูน้ำ ภายในตัวเมืองมีลำธารที่เกิดจากน้ำซับไหลผ่านเมืองจากทิศตะวันออกไปยังทิศตะวันตก ส่วนทางด้านตะวันตกของเมืองมีสระน้ำอยู่นอกเมือง และห่างออกไปราว ๑๕ กิโลเมตรมีแม่น้าป่าสักไหลผ่าน เมืองโบราณซับจำปา
... สำหรับประวัติเป็นมาการค้นพบเมืองโบราณซับจำปานี้ เจ้าหน้าที่หน่วยปราบศัตรูพืช กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พบแล้วแจ้งให้ อาจารย์คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร และหน่วยศิลปากรที่ ๑ จังหวัดลพบุรีทราบในปี พ.ศ. ๒๕๑๔
จากการขุดค้นโดยคณะนักศึกษาคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร นำโดยอาจารย์วีรพันธ์ มาไลยพันธุ์ ได้สรุปว่า ที่เมืองโบราณซับจำปาและบริเวณใกล้เคียงมีการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์มาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติ ศาสตร์ ร่วมสมัยกับแหล่งโบราณคดีบ้านท่าแคสมัยที่ ๑ ซึ่งเป็นชุมชนเกษตรกรรมมีอายุในช่วง ๓,๐๐๐-๒,๕๐๐ ปีมาแล้ว และมีการอยู่อาศัยต่อเนื่องมาจนถึงยุคโลหะ (ยุคสำริดและเหล็ก)
... หนังสือ ‘สุวรรณภูมิ: จากหลักฐานโบราณคดี’ ภาควิชาโบราณคดี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ปีพ.ศ.๒๕๔๘ ศาสตราจารย์ เกียรติคุณ ดร.ผาสุก อินทราวุธ สันนิษฐานว่า ต่อมาในช่วง ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๓ อิทธิพลวัฒนธรรมอินเดียที่แผ่เข้ามายังเมืองโบราณซับจำปานี้ น่าจะมาจาก ๒ ทาง คือ
๑. ส่งผ่านมาจากกลุ่มเมืองโบราณร่วมสมัยในบริเวณลุ่มแม่น้ำแม่กลอง-ท่าจีน (ด้านตะวันตกของแม่น้าเจ้าพระยา) และ
๒. ผ่านทางการติดต่อกับพ่อค้าอินเดีย ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๖ – ๑๓ เนื่องจากได้พบตราประทับดินเผาจำนวนมากและหลายรูปแบบ ซึ่งตราประทับเหล่านี้คงติดตัวพ่อค้าชาว อินเดียเข้ามาในช่วงระยะเวลาดังกล่าว
ในส่วนหลักฐานด้านจารึกนั้น บริเวณแหล่งโบราณคดีบ้านซับจำปาเอง นอกจากจารึกหลักนี้แล้ว แต่เดิมจารึกที่พบและลงทะเบียนไว้มีอีก ๓ หลัก คือ ๑. จารึกเสาแปดเหลี่ยม ๑ / ๒. จารึกซับจำปา ๒ / ๓. จารึกซับจำปา ๔
บรรดาจารึกเหล่านี้ จารึกที่เป็นภาษาบาลีและมีเนื้อหาเหมือนกัน คือ จารึกเสาแปดเหลี่ยม ๑ (ซับจำปา) และจารึกซับจาปา ๔ ซึ่งประกอบด้วยข้อความจากพระไตรปิฎกที่สาคัญ ๔ ข้อ คือ (๑) คาถาเย ธมฺมาฯ (๒) คาพรรณนาถึงพระอริยสัจ ๔ (๓) พุทธอุทาน
... ข้อมูลสูจิบัตร ‘จำรึกโบราณรุ่นแรกพบที่ลพบุรีและใกล้เคียง’ ของกรมศิลปากร พิมพ์ในโอกาสเปิดห้องนิทรรศการเรื่อง จารึก ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ลพบุรี สรุปการตีความใหม่จารึกเสาแปดเหลี่ยม ซับจำปา ทำให้ทราบว่า
จารึกหลักดังกล่าวแต่เดิมคง เป็นเสาแปดเหลี่ยมที่ใช้รองธรรมจักร และมีการจารึกข้อความตอนต้นของธัมมจักกัปปวัตนสูตร และอาจสันนิษฐานได้อีกว่า คำจารึกบนตัวธรรมจักรคงเป็นเนื้อหาจากพระสูตรเดียวกัน ในตอนที่กล่าวถึงมรรคมีองค์ ๘ และอริยสัจ ๔
นอกจากนี้ยังทำให้เห็นภาพรวมของจารึกส่วนใหญ่ที่พบที่เมืองโบราณซับจำปาว่า ภาษาบาลี ซึ่งเป็นภาษาสำคัญของพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท ได้แพร่หลายไปทั่วในบริเวณเมืองโบราณซับจำปา และแสดงให้เห็นความสำคัญของธัมมจักกัปวัตตนสูตรในวัฒนธรรมทวารวดี ซึ่งสอดคล้องกับโบราณวัตถุที่พบทั้งที่เป็นชิ้นส่วนธรรมจักรรวมถึงกวางหมอบ
.. .อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ ได้ลงพื้นที่สำรวจแหล่งก่อนประวัติศาสตร์และประวัติศาสตร์ในเขตจังหวัดลพบุรี จังหวัดเพชรบูรณ์ และเขตอำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมาเมื่อวันที่ ๘ -๑๑ มีนาคม พ.ศ.๒๕๕๒ ได้สาธยายถึงสภาพภูมิศาสตร์เมืองโบรารซับจำปาไว้ว่า
‘ …เขาสมโภชน์เป็นเทือกเขาใหญ่ ที่ร่มรื่นด้วยพรรณไม้นานาชนิด มีแหล่งน้ำซับกระจายทั้งภายในเขตและโดยรอบ มีน้ำไหลตลอดปี เป็นแหล่งน้ำให้ชาวบ้านได้ดื่มกินและใช้สอยตลอด นับว่าที่แห่งนี้เป็นป่าซับน้ำและป่าต้นน้ำ ที่มีความสำคัญต่อพื้นที่และผู้คนที่นี่อย่างมาก และยังเป็นแหล่งที่อยู่อาศัย และแหล่งหากินของสัตว์ป่านานาชนิด มีหน่วยงานในสังกัดกรมป่าไม้ ทำหน้าที่ปกป้องพิทักษ์สัตว์ป่า เรียกว่า สำนักงานห้ามล่าสัตว์ป่าเขาสมโภชน์ตั้งอยู่ด้วย
รัศมีโดยรอบของเทือกเขายังเป็นแหล่งโบราณคดีที่สำคัญมาก ห่างจากเทือกเขาไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ประมาณ ๑๐ กิโลเมตร จะเป็นที่ตั้งของเมืองโบราณซับจำปา ที่มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๓-๑๖ และในพื้นที่ตอนเหนือห่างออกไปประมาณ ๒๕ กิโลเมตร ก็คือเมืองโบราณศรีเทพ... ‘
การเข้าชมศูนย์ข้อมูลเมืองโบราณซับจำปาและป่าจำปีสิรินธร ภายในโรงเรียนท่าหลวงวิทยาคม อ.ท่าหลวง จ.ลพบุรี ดูโบราณวัตถุที่ขุดพบจากเมืองโบราณซับจำปาแล้ว อาจารย์ศรีศักร ยังได้เสนอแนะเรื่องข้อมูลในการตั้งถิ่นฐานและเดินทางของผู้คนในแถบลพบุรี ปากช่องแก่เจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑ์อีกด้วย เหตุที่เรียกว่าเมืองซับจำปา เพราะพื้นที่ดังกล่าวเป็นแหล่งน้ำซับ คือมีน้ำในดินมากจนเกิดเป็นความอุดมสมบูรณ์
ส่วนเมืองโบราณซับจำปา หรืออาณาจักรซับจำปา จากหลักฐานต่างๆ ที่พบไม่ว่าจะเป็นลักษณะของเมือง เศียรพระพุทธรูป ชิ้นส่วนธรรมจักรหินสลัก ตุ๊กตาดินเผา ขวานหินขัด ฯลฯ แสดงให้เห็นว่าเมืองนี้เป็นชุมชนที่มีผู้อาศัย สืบต่อกันจนถึงราวพุทธศตวรรษที่ ๑๕ แล้วถูกทิ้งร้างไป
เหตุเพราะไม่สามารถพบเอกสารหรือหลักฐานที่มีอายุหลังพุทธศตวรรษที่ ๑๕ เลย ทั้งนี้ต้องทำการศึกษาและค้นคว้ากันต่อไป
ทั้งพื้นที่เขาสมโภชน์ เมืองโบราณซับจำปา เรื่อยไปจนถึงเขตโป่งมะนาว ล้วนแต่เป็นพื้นที่ต่อเนื่องของความเป็นโบราณคดีทั้งสิ้น
... ส่วนบทความ ‘จาก ละโว้” ถึง ลพบุรี’ ของ อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม ได้กล่าวถึงเมืองโบราณซับจำปาไว้เช่นกัน
‘ …บรรดาเมืองโบราณในประเทศไทยที่มีอายุแต่สมัยทวารวดีประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๒ ลงมา จนถึงสมัยลพบุรี อยุธยา และกรุงเทพฯ ในทุกวันนี้ เมืองที่ยังรักษาชื่อบ้านนามเมืองแต่เดิมไว้อย่างสืบเนื่องมีอยู่ ๓ เมือง คือ เมืองละโว้ ในลุ่มน้ำลพบุรีของภาคกลาง
อีกเส้นทางหนึ่งไปทางใต้ตามลำพญากลางเลียบเขาพญาฝ่อหรือพญาไฟไปยังปากช่อง เส้นทางนี้ผ่านแหล่งชุมชนโบราณก่อนประวัติศาสตร์บนที่ลาดสูงทางฝั่งตะวันตกของลำพญากลางมากมาย หนึ่งในชุมชนดังกล่าวคือ ‘เมืองซับจำปา’ ที่พัฒนาเป็นเมืองในสมัยทวารวดี ซึ่งบรรดาโบราณสถานวัตถุที่ขุดพบมีความสัมพันธ์กับเมืองละโว้และเมืองสมัยทวารวดีอื่นๆ ในลุ่มน้ำเจ้าพระยา
ตามลำพญากลางไปจนถึงปากช่อง ผ่านตำบล จันทึก จังหวัดนครราชสีมา มีชุมชนโบราณสมัยทวารวดีที่พบจารึกบนฐานพระพุทธรูป ซึ่งกล่าวถึงการสร้างพระพุทธรูปอุทิศเป็นการบุญของพระราชเทวีแห่งศรีทวารวดี ตรงปากช่องเป็นรอยต่อระหว่างลำพญากลางกับลำตะคองที่ไหลลงมาจากต้นน้ำบนเขาใหญ่ทางตะวันออกเฉียงใต้มาลงหนองใหญ่ ที่ปัจจุบันกลายเป็นเขื่อนลำตะคอง
ผ่านช่องเขาพญาฝ่อหรือพญาไฟซึ่งเปลี่ยนมาเป็นดงพญาเย็นเมื่อมีการสร้างทางรถไฟผ่านช่องเขาตามลำตะคองไปยังอำเภอสีคิ้วและสูงเนิน อันเป็นที่ตั้งของ ‘เมืองเสมา’ เมืองสมัยทวารวดีที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในภาคอีสานและเป็นเมืองคู่แฝดกับ ‘เมืองศรีเทพ’ ใน ‘มณฑลศรีจนาศะ’
การที่เมืองละโว้มีเครือข่ายของเส้นทางคมนาคมขึ้นไปทั้งทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตามที่กล่าวมา สะท้อนให้เห็นการมีพื้นที่ติดต่อกับบ้านเมืองต่างๆ ที่กว้างขวางกว่าเมืองนครชัยศรีหรือนครปฐมโบราณ
นครชัยศรี แม้จะเป็นเมืองทางน้ำที่มีขนาดใหญ่และเจริญกว่าด้วยแหล่งศาสนสถานและศิลปวัฒนธรรมในสมัยทวารวดีก็ตาม แต่ก็ต้องโรยร้างและเปลี่ยนสภาพเล็กลง อันเนื่องจากเส้นทางคมนาคมทางน้ำเปลี่ยน ชุมชนบ้านเมืองจึงเปลี่ยนตำแหน่งที่ตั้งตามไป ต่างกันกับเมืองละโว้ที่เส้นทางคมนาคมทั้งทางน้ำ ทางบกและเครือข่ายของบ้านเมืองยังดำรงอยู่อย่างไม่เปลี่ยนแปลงไปมาก… ‘
ที่มาภาพ: finearts.go.th
... พรเทพ เฮง: เรียบเรียง
#สยามเทศะโดยมูลนิธิเล็กประไพวิริยะพันธุ์
โฆษณา