23 ก.ย. 2022 เวลา 13:42 • ประวัติศาสตร์
นิยามความงามของสาวแดนซากุระ (2)
เครดิตภาพ : https://aucview.com/yahoo/s814963982/
ความงามในยุคก่อน อาจเรียกได้ว่าเป็นความงามแบบออริจินอล ทั้งรูปร่าง หน้าตา เสื้อผ้าอาภรณ์ และเครื่องประดับที่สวมใส่ ทว่าเมื่อเข้าสู่ยุคเมจิ โดยเฉพาะหลังจากผ่านพ้นการปฏิรูปเมจิ (Meiji Restoration, 1868) ที่เรียกได้ว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงญี่ปุ่นแบบพลิกเสื่อทาตามิกันเลยก็ว่าได้
รัฐบาลเมจิตัดสินใจเปิดประเทศ เพื่อเปลี่ยนแปลงญี่ปุ่นให้ทันสมัยและหลีกเลี่ยงความเสี่ยงจากการล่าอาณานิคมของประเทศตะวันตก หลังจากที่รัฐบาลโชกุนในยุคเอโดะดำเนินนโยบายปิดประเทศไป 214 ปี (ค.ศ. 1639 – 1853) มีการเจริญสัมพันธไมตรีกับชาติตะวันตก และส่งผู้มีความรู้ความสามาถออกไปศึกษาวิทยาการแขนงใหม่ ๆ ทั่วโลก
ชายหญิงยุคเมจิ หน้าสถานีรถไฟในโตเกียว เครดิตภาพ : https://mag.japaaan.com/archives/105465
นอกจากนี้ยังรับเอาวัฒนธรรม โดยเฉพาะฝั่งตะวันตกเข้ามาปรับใช้ อาทิเช่น เสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย จากอดีตที่ผู้หญิงใส่กิโมโนผ้าญี่ปุ่น เริ่มมีการแซมผ้าลูกไม้หรือแม้แต่ใช้ผ้าลายดอกไม้จากต่างประเทศตัดชุดกิโมโน หากเป็นสาวสังคมชั้นสูงหรือภรรยาข้าราชการก็มักนิยมสวมใส่เดรสเฉกเช่นสาวยุโรป
1
ค่านิยมที่เกี่ยวกับความสวยงามก็เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก อันเนื่องมาจากการรับเอาวัฒนธรรมตะวันตกเข้ามา ผู้หญิงสวยในอุดมคติแห่งยุคเมจิจึงต้องเป็นผู้หญิง “หน้าคม ดวงตากลมโต” ซึ่งหญิงสาวที่ถูกกล่าวขวัญถึงและขนานนามให้เป็นสาวงามแห่งเมจิก็คือ มุตสึ เรียวโกะ (陸奥亮子) นามสกุลเก่า “ซูซูกิ” เดิมทีเรียวโกะเป็นเกอิชาเลื่องชื่อย่านชิมบาชิ ต่อมาได้แต่งงานเป็นภริยาของเอกอัคราชทูต มุตสึ มุเนมิตสึ (陸奥宗光)
1
มุตสึ เรียวโกะ ในวัย 33 ปี เครดิตภาพ : https://ja.wikipedia.org/wiki/%E9%99%B8%E5%A5%A5%E4%BA%AE%E5%AD%90
นอกจากใบหน้าที่งดงามราวกับหลุดออกมาจากภาพวาดแล้ว ว่ากันว่า มุตสึ เรียวโกะ ยังมีไหวพริบและเฉลียวฉลาดเป็นอย่างมาก แม้ขณะติดตามสามีนักการทูตไปประจำการ ณ สหรัฐอเมริกา ยังได้รับการขนานนามว่าเป็น “ดอกไม้แห่งสถานทูตญี่ปุ่น” เมื่อกลับมายังบ้านเกิดเมืองนอนเธอก็ยังอุทิศชีวิตให้กับการทำหน้าที่ในสภากาชาดจนวาระสุดท้ายของชีวิต
1
นาเบชิมะ นางาโกะ เครดิตภาพ : https://tripeditor.com/9961/3
อีกหนึ่งหญิงงามแห่งยุคที่ถูกล่าวขวัญถึงก็คือ นาเบชิมะ นางาโกะ (鍋島榮子) สาวชนชั้นสูงที่รูปสวย รวยทรัพย์ และพรั่งพร้อมไปด้วยความรู้ทางวิชาการ นอกจากใบหน้าที่งดงามแล้ว นางาโกะ ยังมีกิริยามารยาทที่งามสง่า เคยทำงานในสำนักพระราชวัง
1
โรคุเมคัง สถานที่ที่ใช้รับรองแขกบ้านแขกเมืองยุคเมจิ เครดิตภาพ : https://ja.wikipedia.org/wiki/%E9%B9%BF%E9%B3%B4%E9%A4%A8
หลังจากแต่งงานกับขุนนางเก่า นาเบชิมะ นาโอฮิโระ (鍋島直人) ได้มาช่วยงานสามี ณ ตำหนักรับรองแขกบ้านแขกเมือง “โรคุเมคัง – 鹿鳴館” จนได้รับการยกย่องให้เป็น ดอกไม้แห่งโรคุเมคัง
มังริว เกอิชาชื่อดัง ปลายยุคเมจิ เครดิตภาพ : https://mag.japaaan.com/archives/179967
และสาวงามคนสุดท้ายแห่งเมจิที่ได้รับการโหวตให้เป็น “ผู้หญิงที่สวยที่สุดในญี่ปุ่น” ก็คือ เกอิชาที่มีนามว่า มังริว (萬龍) ในช่วงปลายยุคเมจิมีสำนักพิมพ์หนังสือจัดงานโหวตลงคะแนนให้กับหญิงสาวที่สวยที่สุด โดยในครั้งนั้น มังริว ชนะผลโหวตแบบขาดลอยได้มาถึง 90,000 คะแนนเสียง จากที่มีชื่อเสียงอยู่แล้ว ก็ยิ่งกลายเป็นซุปเปอร์สตาร์แห่งยุค และเป็นหญิงสาวคนแรกที่มีรูปขึ้นป้ายโฆษณาขนาดยักษ์ในนามของห้างสรรพสินค้าสุดหรูมิตสึโคชิ
1
เอกลักษณ์สำคัญของสาวงามแห่งยุคเมจิ นอกจากจะมีใบหน้าคมคาย สวยงามแล้ว เห็นได้ว่าผู้หญิงที่ได้รับการยกย่องทุกคนยังมีความสามารถในการทำงาน และมีความเฉลียวฉลาดแต่ก็ไม่ทำตัวโดดเด่นอยู่เหนือผู้ชาย ซึ่ง ณ เวลานั้นยังเป็นสังคมแบบปิตาธิปไตย ตอนต่อไปจะพาทุกท่านไปรู้จักกับสาวงามแห่งไทโชและโชวะ ซึ่งมีความงดงามและเสน่ห์ที่แตกต่างกันไปอีก
1
โฆษณา