24 ก.ย. 2022 เวลา 07:00 • ธุรกิจ
บริษัทกู้เงินกรรมการแล้วเจออะไร ?
คิดดอกเบี้ยได้ไหม ? มีประเด็นอะไรที่ต้องระวังบ้าง ?
เห็นพรี่หนอมบอกว่า
ถ้าเปิดบริษัทแล้วอย่าไปดึงเงินมาใช้ส่วนตัว
แต่ถ้าเงินบริษัทไม่พอ
แบบนี้ขอยืมกรรมการได้ไหมครับ ?
คำตอบ คือ ได้ครับ
แต่มีประเด็นสำคัญที่ต้องรู้ตามนี้ครับผม
ก่อนอื่นทวนอีกที การเปิดบริษัทขึ้นมา
ถือเป็นการแยกธุรกิจออกจากตัวเราอย่างเด็ดขาด
ตัวเรา (บุคคล) ที่เป็น ผู้ถือหุ้น, กรรมการ
บริษัท (นิติบุคคล) = ธุรกิจที่แยกออกมาต่างหาก
ถ้าหากเงินในธุรกิจ (บริษัท) ไม่พอ จะทำยังไง
เจ้าของส่วนใหญ่ที่บริหารธุรกิจก็คงทนไม่ไหว
เอาเงินตัวเองใส่เข้าไปเพื่อช่วยเหลือให้ไปต่อได้
โดยการทำแบบนี้ มันก็คือการยืมเงินระหว่างกัน
เพราะมันคือการที่คนๆหนึ่งให้เงินอีกคนไปใช้
ทางฝั่งกรรมการที่ให้ยืมจะเป็น “เจ้าหนี้” บริษัท
และบริษัทจะกลายเป็น “ลูกหนี้” ของกรรมการ
ในงบการเงินของบริษัท (ทางบัญชี)
มักเรียกว่าเป็น “เจ้าหนี้กรรมการ” นั่นเอง
ถ้าหากถามว่ามีปัญหาอะไรบ้างไหม
ต้องบอกว่าคล้ายกับเราไปดึงเงินบริษัทออกมา
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการบริหารเงินไม่ดี (ขาดสภาพคล่อง)
ไปจนถึงเรื่องของความน่าเชื่อถือทางด้านการเงินของธุรกิจ
แต่สิ่งน่ากลัวและให้ความสำคัญจริง ๆ คือ 2 เรื่องนี้
ประเด็นแรก ถ้าหากถูกตรวจสอบโดยสรรพากร ก็จะเป็นที่น่าสงสัยว่า เจ้าเงินกู้ยืมกรรมการ (หรือ เจ้าหนี้กรรมการ) ที่ว่านี้ มันเป็นเงินกู้จริงหรือเปล่า มีหลักฐานชัดเจนไหม ไม่ว่าจะเป็นมติที่ประชุม สัญญากู้เงินที่น่าเชื่อถือ การรับเงิน (กู้) ในรูปแบบการโอนแทนเงินสด รวมถึงรายการบันทึกบัญชีและการคำนวณดอกเบี้ย (ถ้ามี) เพื่อยืนยันที่มาที่ถูกต้องของรายการ เพราะมันอาจจะเป็นรายการอื่นที่ไม่ใช่ก็ได้แต่มาใส่ไว้ เช่น
- เป็นรายได้ที่ไม่อยากลงบัญชี แต่ทำเนียนเป็นเจ้าหนี้ไว้ก่อน พอเงินเข้ามาก็เอาออกไป
- เงินเข้าบัญชีโดยไม่ทราบสาเหตุ เลยเนียนว่าเป็นเงินยืมจากกรรมการ
- ปิดบัญชีไม่ลงตัว ปรับปรุงไปมาแบบงงๆ แล้วค่อยทำเงินสดจ่ายคืนออกไป
และอีกประเด็นที่น่าสงสัย คือ ถ้าบริษัทขาดทุนติดต่อกันต่อเนื่อง แล้วกรรมการยังคงให้ยืมเงิน (เติมเงิน) เข้าไปเรื่อย ๆ ก็จะมีคำถามตามมาว่า เอ๊ะ แล้วกรรมการเอาเงินมาจากไหน ถ้าหากตัวกรรมการไม่มีรายได้ทางอื่นหรือร่ำรวยจัด ๆ ก็มักจะเกิดความสงสัยต่อว่า หรือจะมีการหลบเลี่ยงภาษีอยู่หรือเปล่านะ ?
ส่วนเรื่องของการคิดดอกเบี้ย ต้องบอกว่า ในทางภาษีกฎหมายไม่ได้กำหนดว่าต้องคิดดอกเบี้ยในกรณีที่กรรมการให้บริษัทกู้เงิน ดังนั้นจะคิดหรือไม่คิดก็ได้ครับ แต่ถ้าคิดแล้วล่ะก็ต้องทำตามนี้ต่อ
ดอกเบี้ยที่จ่ายให้กรรมการ = รายจ่ายของบริษัท
แต่ต้องมีการหักภาษี ณ ที่จ่าย 15% ไว้เมื่อมีการจ่าย
โดยกรรมการสามารถเลือกได้ว่าดอกเบี้ยนี้
จะหักภาษีแล้วจบ (Final TAX) ไม่นำมาคิดภาษี
หรือจะนำมาคำนวณและยื่นภาษีเงินได้ประจำปีก็ได้เช่นกัน
สุดท้ายสรุปตรงนี้ครับ
ในฝั่งของการกู้ยืมเงินจากกรรมการนั้น มันคือตัวสะท้อนว่าธุรกิจบริหารจัดการเงินได้ดีแค่ไหน มีอะไรที่หมกเม็ดไว้อยู่หรือเปล่าจนน่าสงสัย ถ้าหากกู้กันจริง หลักฐานก็ควรครบและพิสูจน์ แต่ถ้ากู้กันแบบหลอก ๆ แบบนี้ก็อาจจะเจอตรวจสอบได้ครับผม
#TAXBugnoms #การเงิน #ธุรกิจ #บริษัท
#รายได้ #เจ้าหนี้ #ภาษี #บัญชี #สรรพากร
โฆษณา