26 ก.ย. 2022 เวลา 09:18 • หุ้น & เศรษฐกิจ
กางข้อมูล ทำไมค่าไฟแพง แค่ราคาก๊าซพุ่ง จริงหรือ?
รายการเช้านี้ที่หมอชิต - ตีตรงจุด ชวนคิดค่าไฟฟ้าในปัจจุบัน แพงเกินไปหรือไม่ แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย หรือ พีดีพี ที่วางยาวตั้งแต่ปี 2561-2580 มีอะไรที่ต้องปรับปรุงหรือไม่ ปัจจุบันบทบาทของ กฟผ.เป็นอย่างไร ส่งผลกระทบแบบไหนกับประชาชน
ค่าเอฟทีย้อนหลัง 10 ปี นับตั้งแต่ปี 2554-ปัจจุบัน เป็นอย่างไร
กราฟ ปี 2554 ติดลบอยู่ 6 สตางค์ ก่อนจะขึ้นแบบกราฟชันเลย ในปี 2555 แล้วก็ค่อย ๆ ไต่ระดับไปอยู่ที่ 69 สตางค์ต่อหน่วยในช่วงปี 57-58 และค่อย ๆ ดิ่งลงมาจนเริ่มติดลบในช่วงปลายปี 2558 จนถึงปี 2564 เริ่มทะยานขึ้นอีกครั้ง ถึงปัจจุบันที่ 93.43 สตางค์ต่อหน่วย ซึ่งเรียกว่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์เลยทีเดียว
โดยเหตุผลที่ภาครัฐอธิบายต่อสาธารณะ คือ สาเหตุที่ค่าเอฟทีพุ่งพรวด เกิดจากราคาก๊าซธรรมชาติที่แพงขึ้น ซึ่งในมุมของผู้ที่ศึกษาเรื่องนี้เห็นว่า เป็นการให้ความจริงเพียงส่วนเดียวเท่านั้น เป็นยอดภูเขาน้ำแข็ง แต่แท้จริงแล้วยังมีปัญหาที่ซ่อนอยู่ใต้น้ำ ที่คนทั่วไปยังมองไม่เห็น คืออะไร ไปฟังกัน
กฟผ.ลดกำลังผลิตเหลือแค่ 32 % ส่งผลต่อราคาค่าไฟฟ้า?
จากข้อมูลในเว็บไซต์ กฟผ. ระบุถึงโครงสร้างกำลังผลิตไฟฟ้าในปัจจุบันว่า การไฟฟ้าฝ่ายผลิต มีส่วนแบ่งการผลิตราว 1 ใน 3 นอกนั้นรับซื้อจากเอกชน จนเกิดข้อกังขาว่า แม้ไม่มีการแปรรูป กฟผ. แต่ในทางปฏิบัติ กฟผ.ถูกแปรรูปไปแล้ว โดยให้เอกชนมาผลิตแทน ล้วงรายได้จาก กฟผ. ขณะที่ประชาชนจ่ายแพงขึ้น จากนโยบายด้านพลังงานที่เอื้อต่อเอกชนใช่หรือไม่
สำรองไฟฟ้าเกิน ทำประชาชนแบกภาระ 48,929 ล้านต่อปี
มีข้อมูลจากสภาองค์กรของผู้บริโภคด้วยว่า ในแต่ละปีรัฐวางแผนสำรองการผลิตไฟฟ้าที่สูงเกินไป ทำให้คนไทยต้องแบกรับภาระมากถึง 48,929 ล้านบาทต่อปี เท่ากับโดยเฉลี่ยแล้วผู้ใช้ไฟฟ้าจะเสียเงินโดยสูญเปล่า รายละ 2,039 บาทต่อปี แต่เรื่องนี้ก็มีคำอธิบายจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ว่ามีความจำเป็นต้องสำรองการผลิตไฟฟ้า เพื่อความมั่นคงทางด้านพลังงาน
ขณะเดียวกันยังมีประเด็นที่ภาคประชาชนตั้งคำถาม และอยากได้คำตอบจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ นอกจากภาระเรื่องราคาก๊าซธรรมชาติที่แพงขึ้นแล้ว ค่าเอฟทียังผันแปรตามต้นทุนสามส่วนนี้ด้วยหรือไม่ ตั้งแต่ส่วนต่างของค่าไฟฟ้าที่ กฟผ.ซื้อจากเอกชน แพงกว่าราคาค่าไฟฐาน, ค่าใช้จ่ายจากการสำรองไฟฟ้าที่มากกว่า 50 % ทั้ง ๆ ที่มาตรฐานไม่ควรเกิน 15 % และค่าความพร้อมจ่ายไฟฟ้า ซึ่งถือเป็นเงินกินเปล่าที่ต้องจ่ายให้เอกชน คือ ต้นทุนหลักด้วยใช่หรือไม่
นอกเหนือจากข้ออ้างเรื่องราคาพลังงานที่พุ่งสูงขึ้น จึงอยากให้มีการลงรายละเอียด ชี้แจงกับประชาชน แทนการโทษไปที่ราคาพลังงานเพียงอย่างเดียว
กมธ.พลังงาน บี้ กฟผ.เจรจา เอกชน ลดค่าไฟฟ้าส่วนเกิน
ซึ่งเรื่องนี้เคยมีคำชี้แจงจากผู้บริหาร กฟผ. ยืนยัน ไม่มีการเอื้อประโยชน์ให้บริษัทเอกชนรายใด แต่เป็นไปตามนโยบายภาครัฐ โดย กฟผ.เป็นเพียงผู้รับซื้อไฟฟ้าตามราคาที่รัฐกำหนด ส่งเสริมให้เอกชนมาลงทุนในการผลิตไฟฟ้า เพื่อลดภาระการลงทุนของภาครัฐ อีกทั้งการเดินเครื่องโรงไฟฟ้าทั้งหมด ก็ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ประกอบกิจการพลังงานปี 2550 แต่ในมุมมองของกรรมาธิการพลังงาน สภาผู้แทนราษฎร ยังเห็นว่าควรมีการต่อรองกับภาคเอกชน เพื่อลดราคาค่าไฟฟ้าที่ผลิตเกิน
เปิด 3 อาณาจักรธุรกิจไฟฟ้าใหญ่สุดในไทย
ทีนี้เรามาดูผลกำไรสุทธิของธุรกิจผลิตไฟฟ้า 3 ลำดับแรกของไทยกันบ้างว่าเป็นอย่างไร เริ่มกันที่ เครือบริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งมีกำลังผลิตทั้งแบบ IPP และ SPP หลายบริษัทด้วยกันที่ทำสัญญาขายไฟฟ้าให้กับ กฟผ. รวมกำลังผลิต 6,543 เมะวัตต์ เฉพาะในส่วนของ IPP และยังมีการผลิตในสัดส่วนของ SPP อีก 1,840.82 เมกกะวัตต์ รวม 8,383.82 เมกะวัตต์
โดยธุรกิจไฟฟ้าในเครือนี้ มีการแจ้งผลกำไรสุทธิ ปี 2564 ไว้ที่ 8,812 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2563 96.8 % กำไรส่วนใหญ่มาจากยอดขายของโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ
ขณะที่บิ๊กบอส สารัชถ์ รัตนาวะดี เจ้าของฉายาเจ้าพ่อพลังงาน ผงาดขึ้นเป็นเศรษฐีที่รวยที่สุดในไทย แซงหน้าเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี และเจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ ที่หล่นไปอยู่อันดับ 3 จากการจัดอันดับมหาเศรษฐีแบบเรียลไทม์ของฟอร์บส์ เมื่อวันที่ 18 สิงหาคมที่ผ่านมา
ส่วนบริษัทผลิตไฟฟ้าอันดับ 2 คือ เครือบริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ส่วนใหญ่จะผลิตไฟฟ้าในกลุ่มของ IPP มีกำลังผลิตอยู่ที่ 3,481 เมกะวัตต์ และ SPP อีก 360 เมกะวัตต์ รวม 3,841 เมกะวัตต์ มีการแจ้งผลกำไรสุทธิในปี 2564 ไว้ที่ 7,772 ล้านบาท โตขึ้น 23.6 %
อันดับ 3 เป็นของเครือบริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) มี 4 บริษัทผลิตไฟฟ้ารายใหญ่ รวมกำลังผลิต 3,473 เมกะวัตต์ แจ้งผลกำไรสุทธิในปี 2564 อยู่ที่ 7,319 ล้านบาท ลดลง 3 % เกิดคำถามว่า ที่รัฐอ้างเรื่องการให้เอกชนลงทุน เป็นการลดภาระงบประมาณของรัฐบาล
สุดท้ายนอกจากลดภาระไม่ได้ เพราะต้องใช้เงินไปช่วยประชาชนเพื่อลดค่าไฟฟ้า จนเพิ่งจะมีมติ ครม. เมื่อวันที่ 6 กันยายนที่ผ่านมา ให้ กฟผ.กู้เงินเพื่อบริหารภาระค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ หรือ เอฟที ประจำปีงบประมาณ 2566 วงเงินไม่เกิน 85,000 ล้านบาทแล้ว ยังกลายเป็นการยกกำไรที่ควรเข้ารัฐ ไปเป็นของเอกชนหรือไม่
จับตา ศาล รธน.วินิจฉัย ปม กฟผ. ผลิตไฟฟ้าไม่ถึง 51 %
จากโครงสร้างการผลิตไฟฟ้าที่เต็มไปด้วยคำถามเหล่านี้ นำไปสู่การส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ยุทธศาสตร์กระทรวงพลังงาน (พ.ศ.2559-2563) และแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย หรือ พีดีพี พ.ศ.2561-2580 ที่ทำให้สัดส่วนกำลังการผลิตไฟฟ้าของรัฐ ลดลงต่ำกว่า 51 % เหลือแค่ 32 %
ในปัจจุบัน ขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 56 วรรคสอง ที่บัญญัติว่า โครงสร้างหรือโครงข่ายขั้นพื้นฐานของกิจการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานของรัฐ อันจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของประชาชน หรือเพื่อความมั่นคงของรัฐ จะกระทำด้วยประการใด ให้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของเอกชน หรือทำให้รัฐเป็นเจ้าของน้อยกว่าร้อยละ 51 มิได้ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องไว้วินิจฉัยแล้ว
ก็เป็นความหวังของภาคประชาชน ที่อยากให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า กฟผ. ต้องผลิตไฟฟ้าไม่ต่ำกว่า 51% เพื่อนำไปสู่การรื้อโครงสร้างไฟฟ้าในปัจจุบัน เพราะเชื่อว่าเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ค่าไฟฟ้า โดยไม่เป็นธรรมกับประชาชน ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งประเด็นที่สังคมร่วมคิดด้วยว่า ถึงเวลาต้องทบทวน หรือปรับปรุงแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย หรือ พีดีพี
โฆษณา