26 ก.ย. 2022 เวลา 10:01 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
ยีสต์ทนร้อนคืออะไร? และมีประโยชน์อย่างไร?
ยีสต์หลายคนคงจะรู้จักในฐานะ ตัวช่วยที่ทำให้ขนมปังขึ้นฟู แต่จะรู้หรือไม่ ในกระบวนการผลิตเอทานอลก็ใช้ยีสต์ในการหมักด้วยเช่นกัน ซึ่งปัจจุบันการผลิตเอทานอลเพื่อเป็นเชื้อเพลิงในประเทศไทยมักใช้เทคโนโลยีและยีสต์ที่นำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งมักประสบปัญหาเนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนตลอดปีของประเทศไทย โดยเฉพาะในฤดูร้อน
ทั้งนี้ อุณหภูมิภายนอกมีผลต่ออุณหภูมิในถังหมัก โดยเมื่ออุณหภูมิสูงเกินไปจะทำให้ยีสต์ผลิตเอทานอลได้ต่ำลง นอกจากอุณหภูมิจากสภาวะแวดล้อมภายนอกแล้ว ในการหมักเพื่อผลิตเอทานอล หากใช้ยีสต์ที่ให้อัตราการผลิตเอทานอลสูง จะมีความร้อนเกิดขึ้นในอัตราที่สูงด้วย เมื่ออุณหภูมิในถังหมักสูงขึ้น การผลิตเอทานอลจึงมีอัตราต่ำลงหากหมักด้วยยีสต์สายพันธุ์ทั่วไป ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสายพันธุ์ที่ชอบอุณหภูมิปานกลาง (mesophilic strain) การแก้ปัญหาของโรงงานอุตสาหกรรมโดยทั่วไป คือ การใช้ระบบหล่อเย็น
แนวทางอื่นที่อาจช่วยแก้ปัญหาดังกล่าวข้างต้นได้ คือ การใช้ยีสต์สายพันธุ์ทนร้อน (thermotolerant yeast) ซึ่งนอกจากสามารถเจริญและหมักเอทานอลได้ดีที่อุณหภูมิปานกลางแล้ว ยังคงเจริญและหมักเอทานอลได้ถึงแม้อุณหภูมิจะสูงขึ้น ซึ่งจะช่วยลดการใช้ระบบหล่อเย็น ทำให้ต้นทุนการผลิตลดลง นอกจากนั้น การหมักที่อุณหภูมิสูง ยีสต์มีอัตราการหมักสูงจึงผลิตเอทานอลได้เร็ว และช่วยลดปัญหาการปะปนของจุลินทรีย์อื่นในระหว่างการหมัก
ซึ่งปัจจุบันไทยเราเองได้มีการวิจัยโดยสถาบันนวัตกรรม บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ในการใช้เทคโนโลยียีสต์ InnoTherm-380GA ในกระบวนการผลิตเอทานอลเชิงพาณิชย์ เป็นการนำเทคโนโลยีชีวภาพขั้นสูงที่ผ่านการวิจัย มาพัฒนาสายพันธุ์ยีสต์ทนร้อนเพื่อช่วยลดปริมาณการใช้เอนไซม์ย่อยแป้งในกระบวนการผลิตเอทานอลจากมันสำปะหลัง
ส่งผลให้สามารถลดต้นทุนค่าใช้จ่ายด้านเอนไซม์ย่อยแป้งลง แต่ไม่ลดประสิทธิภาพการผลิต โดยร่วมกับ บริษัท อุบล ไบโอ เอทานอล จำกัด (มหาชน) เพื่อสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีสต์ทนความร้อนที่พัฒนาขึ้นโดยนักวิจัยไทย ลดการพึ่งพาการนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศ ซึ่งส่งผลดีต่อเทคโนโลยีและการใช้งานในประเทศ
ขอบคุณข้อมูล การพัฒนาการผลิตเอทานอลโดยยีสต์ทนร้อน
โฆษณา