26 ก.ย. 2022 เวลา 10:20 • ประวัติศาสตร์
วันก่อนเขียนเรื่องม.ทับแก้ว เราเลยนึกถึงพื้นที่ใกล้เคียงที่วิวสวยเช่นกัน เป็นพื้นที่เดิมซึ่งคือ พระราชวังสนามจันทร์ ล่าสุดที่เราไปที่นั่นไม่ได้เปิดให้ชมภายในแล้ว สามารถเดินชมได้เพียงแต่ภายนอก สามารถเข้าไปออกกำลังกายได้ แต่ต้องแต่งกายสุภาพ เราเคยเข้าไปชม 2 ครั้งที่สามารถไปชมภายในได้ แต่ไม่สามารถถ่ายภาพได้ ถ่ายได้แต่ด้านนอก
ประวัติคร่าวๆมีอยู่ว่า รัชกาลที่ 6 ขณะนั้นทรงดำรงพระราชอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ได้ทรงรับพระราชภาระจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ในการปูกระเบื้องประดับองค์พระปฐมเจดีย์ ทำให้ทรงมีความคุ้นเคยกับภูมิประเทศแถบนี้ และทรงตระหนักถึงคุณค่าทางประวัติศาสตร์และศิลปวัฒนธรรมของเมืองนครปฐม
พระองค์จึงมีพระราชประสงค์ที่จะสร้างพระราชวังที่ประทับในการแปรพระราชฐานมายังเมืองนครปฐม จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ จึงขอซื้อที่ดินจากราษฎร และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยาวิศุกรรมศิลปประสิทธิ์(น้อย ศิลปี) เป็นผู้ออกแบบและดำเนินการก่อสร้าง โดยได้พระราชทานนามพระราชวังแห่งนี้ว่า "พระราชวังสนามจันทร์"
ด้วยเนื่องจากทำเลที่มีธรรมชาติเหมาะ ยากที่ข้าศึกจะติดตามไปได้ และได้ทรงใช้พระราชวังสนามจันทร์เป็นที่ซ้อมรบเสือป่า และพักพลเสือป่า เพื่อเตรียมพร้อม สำหรับป้องกันประเทศในยามคับขัน มีผู้สันนิษฐานว่า ตั้งอยู่บนพื้นที่ที่เรียกว่าเนินปราสาท ซึ่งเคยเป็น พระราชวังที่มีกษัตริย์ปกครอง มีโบสถ์พราหมณ์ และมีสระน้ำที่เรียกว่า สระน้ำจันทร์ อยู่ด้านหน้า
โดยดัดแปลงจากพระตำหนักที่ประทับ ก่อนขึ้นเสวยราชย์ และสร้างพระที่นั่งองค์อื่นๆ ขึ้นตามหลัง ในพื้นที่ที่ทรงซื้อไว้ ๘๘๘ ไร่ ๓ งาน ๒๔ วา และพระราชทานนามให้คล้องจองกัน มีดังนี้คือ
พระที่นั่งวัชรีรมยาและพระที่นั่งสามัคคีมุขมาตย์ เป็นพระที่นั่งสำคัญของพระราชวัง สร้างขึ้นเป็นอาคารทรงไทย ๒ หลังต่อเนื่องกันโดยพระที่นั่งวัชรีรมยาสูง ๒ ชั้น ใช้เป็นที่ประทับ ทรงพระอักษร และพระที่นั่งสามัคคีมุขมาตย์ สูงชั้นเดียว ใช้เป็นท้องพระโรงเสด็จออกสำหรับประกอบพระราชพิธี เป็นที่ประชุมเสือป่า รวมทั้งซ้อมและเล่นโขน ละคร เป็นต้น หรือเรียกอีกชื่อว่า "โรงโขน"
พระที่นั่งวัชรีรมยา
พระที่นั่งวัชรีรมยา
พระที่นั่งพิมานปฐมและพระที่นั่งอภิรมย์ฤดี เป็นพระที่นั่งที่สร้างขึ้น ก่อนขึ้นเสวยราชย์ ใช้ เป็นห้องบรรทม ห้องสรง ห้องเสวย และหอพระ เป็นต้น ในส่วนพระที่นั่งพิมานปฐมเป็นพระที่นั่งองค์แรกที่โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น สร้างแบบตะวันตก แบบเรือนขนมปังขิง
นอกจากนี้ยังมี ห้องพระเจ้า อันเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปางปฐมเทศนา และเป็นห้องพระประจำพระราชวังสนามจันทร์
พระที่นั่งอภิรมย์ฤดี สร้างเชื่อมต่อกับพระที่นั่งพิมานปฐมไปทางทิศใต้ ลักษณะทางสถาปัตยกรรมเหมือนกับพระที่นั่งพิมานปฐมแต่มีขนาดเล็กกว่า ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ใช้พระที่นั่งเป็นที่ประทับของพระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายใน
ปัจจุบันทั้ง 2 พระที่นั่งได้จัดแสดงนิทรรศการถาวรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี
พระที่นั่งพิมานปฐมและพระที่นั่งอภิรมย์ฤดี
พระตำหนักชาลีมงคลอาส์นและพระตำหนักมารีราชรัตบัลลังก์ เป็นพระตำหนักขนาดเล็ก ๒ หลัง เชื่อมต่อถึงกันด้วยสะพานไม้ มีฝา มีหลังคาคลุม มีลักษณะคล้ายปราสาทขนาดย่อม ลักษณะสถาปัตยกรรมแบบเรเนอซองส์ (Renaissance) ของฝรั่งเศส กับอาคารแบบฮาล์ฟ ทิมเบอร์ (Half Timbered) ของอังกฤษ แต่ดัดแปลงให้เหมาะสมกับสภาพดินฟ้าอากาศในประเทศไทย ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของสนามใหญ่
พระตำหนักชาลีมงคลอาส์น
ส่วนพระตำหนักมารีราชรัตบัลลังก์เป็นตำหนักไม้ ทาสีแดง มีลักษณะทางสถาปัตยกรรมแบบนีโอคลาสสิก ของประเทศทางตะวันตก พระตำหนักองค์นี้สร้างขึ้นคู่กับพระตำหนักชาลีมงคลอาสน์ โดยมีฉนวนทางเดินทำเป็นสะพาน จากชั้นบนด้านหลังของพระตำหนักชาลีฯ ข้ามคูน้ำเชื่อมกับชั้นบนด้านหน้าของพระตำหนักมารีฯ สะพานดังกล่าวหลังคามุงกระเบื้อง และติดหน้าต่างกระจกทั้งสองด้าน ตลอดความยาวของสะพานที่เชื่อมติดต่อถึงกัน
พระตำหนักมารีราชรัตบัลลังก์
พระตับหนักทับขวัญ เป็นพระตำหนักแบบเรือนไทยหมู่ใหญ่ ประกอบด้วยเรือน ๔ หลัง หันหน้าเข้าสู่ลานกลาง เรือนต่างๆ ประกอบด้วย หอนอน ๒ หอ หันหน้าเข้าหากัน อีก ๒ หอเป็น เรือนโถง และหอนั่ง นอกจากนั้นยังมีเรือนเล็กๆ อีก ๔ หลัง ตั้งอยู่ตอนมุมทั้งสี่มุม มุมละ ๑ หลัง เป็นเรือนครัว และเรือนที่พักของข้าราชบริพารที่ตามเสด็จ พระตำหนักทับขวัญนี้เป็นแบบอย่างของเรือนไทย ที่งดงามหมู่หนึ่ง ที่ได้รับการบูรณะไว้เป็นอย่างดี บริเวณกลางชานเรือนปลูกต้นจันไว้ให้ร่มเงา
พระตำหนักทับขวัญเป็นเรือนไม้กระดาน ฝาเรือนทำเป็นฝาปะกนกรอบลูกฟัก ฝีมือประณีต เชิงชายและไม้ค้ำยันสลักเสลาสวยงาม หลังคาแต่เดิมมุงด้วยจาก หลบหลังคาด้วยกระเบื้องดินเผา ตัวเรือนทุกหลังรวมทั้งพื้นนอกชานทำด้วยไม้สักล้วน ใช้วิธีเข้าไม้ตามแบบฉบับของชาวไทยโบราณ รอบ ๆ บริเวณปลูกไม้ไทยชนิดต่างๆ นับเป็นเรือนที่อยู่ในประเภทเรือนคหบดี และมีส่วนประกอบครบ
พระตับหนักทับขวัญ
ศาลากลางน้ำ ใกล้ๆ พระที่นั่งสามัคคีมุขมาตย์ จะมีศาลาเล็กๆ ริมคูน้ำ เป็นสถานที่ที่นักท่องเที่ยวมักจะไปนั่งพักผ่อนจากการเดินชมบริเวณที่กว้างขวางของพระราชวันสนามจันทร์
ศาลากลางน้ำ ใกล้ๆ พระที่นั่งสามัคคีมุขมาตย์
อนุสาวรีย์ย่าเหล "ย่าเหล่" เป็นสุนัขทรงเลี้ยงของรัชกาลที่ 6 เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2456 พระองค์ได้เสด็จไปประทับเสวย ณ พระราชวังสราญรมย์ ย่าเหล่ได้หนีเล็ดลอดออกไปเที่นวนอกพระราชฐาน และมีผู้ยิงด้วยปืนลูกกรดตาย การสูญเสียสุนัขที่โปรดปรานทำให้ รัชกาลที่ 6 ทรงเศร้าสลดพระราชหฤทัย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สร้างอนุสาวรีย์ย่าเหล่ หล่อด้วยโลหะทองแดงรมดำ และได้ทรงพระราชนิพนธ์คำไว้อาลัยจารึกไว้บนแผ่นทองแดงรมดำ ณ ฐานที่ตั้ง
อนุสาวรีย์ย่าเหล
สะพานต่างๆ
ถนนในพระราชวัง พร้อมน้องไก่
ดอกไม้สวยๆ
หน้าประตูหลัก
นี่แค่ข้อมูลเบื้องต้นของพระราชวังสนามจันทร์ ที่เราขอแชร์ไว้ จริงๆมีรูปมากกว่านี้ แต่หาเจอแค่นี้เท่านั้น 5555 สำหรับที่นี่สามารถไปเช้าเย็นกลับได้ ถ้ามาจากกรุงเทพฯ สามารถเดินทางได้ทั้ง รถตู้(ศิลปากร)ใกล้สุด รถส่วนตัว และรถไฟ และสามารถแวะเที่ยวเป็นทางผ่านไปราชบุรี หรือเพชรบุรี ก็ได้เช่นกัน
ที่อยู่และเบอร์ติดต่อ
ตำบลสนามจันทร์ อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม 73000
โทรศัพท์ : 034-310 431-2
อีเมล : pr.sanamchan@gmail.com
วันและเวลาทำการ
เปิดทำการทุกวัน เวลา 09.00 - 16.00 น.
มีลานจอดรถ อำนวยความสะดวก
** โปรดแต่งกายสุภาพ ห้ามสวใเสื้อแขนกุด กางเกงขาสั้นและกระโปรงสั้นเหนือเข่า **
อ้างอิง
โฆษณา