26 ก.ย. 2022 เวลา 10:41 • หุ้น & เศรษฐกิจ
คริปโตเคอร์เรนซีนำมาใช้แทนเงินได้จริงหรือ?
หนึ่งในปรากฏการณ์ที่ผู้คนมากมายต่างให้ความสนใจอย่างมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา และมีความสำคัญต่อพัฒนาการของระบบการเงินโลก คือการเติบโตของคริปโตเคอร์เรนซี (cryptocurrencies)
โดยเฉพาะอย่างยิ่งบิตคอยน์ (Bitcoin) ในทางทฤษฎีลักษณะการทำงานของบิตคอยน์มีคุณสมบัติที่ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาตัวกลาง โปร่งใส ไม่ระบุตัวตน รวดเร็ว แบ่งเป็นหน่วยย่อยได้และมีปริมาณที่จำกัด ด้วยคุณสมบัติเหล่านี้ทำให้หลายคนมองว่าบิตคอยน์สามารถเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนได้ดีกว่าสกุลเงินในปัจจุบันที่ถูกควบคุมโดยธนาคารกลาง ซึ่งสามารถเพิ่มจำนวนได้ตามการควบคุมของธนาคารกลางและมีความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดปัญหาเงินเฟ้อจนด้อยค่า และบั่นทอนกำลังซื้อของผู้ถือเงิน
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าบิตคอยน์อาจดูเหมือนเงินแห่งอนาคตแต่ในทางเศรษฐศาสตร์ยังมีคำถามสำคัญอีกมากสำหรับบิตคอยน์และคริปโตเคอร์เรนซีที่ยังไม่มีคำตอบและยังมีอีกหลายเหตุผลที่ทำให้ไม่สามารถสรุปได้อย่างแน่นอนว่าสินทรัพย์เหล่านี้จะสามารถเข้ามาทำหน้าแทนที่สกุลเงินในปัจจุบันได้ทั้งหมด
KKP Research ประเมินว่าแม้มีการนำคริปโตเคอร์เรนซีมาใช้เป็นสินทรัพย์ที่มีการซื้อขายทำกำไร และมีความพยายามนำมาใช้งานด้านอื่นๆ แต่การทดแทนระบบเงินที่ออกโดยธนาคารกลางทั้งหมดโดยคริปโตเคอร์เรนซีเป็นไปได้ยากมากในระยะยาวจากข้อจำกัดสำคัญ 3 ด้าน คือ
1) คุณสมบัติของคริปโตเคอร์เรนซีที่ไม่ตรงกับคุณสมบัติที่จะใช้แทนเงินได้
2) การเปลี่ยนไปใช้คริปโตเคอร์เรนซีจะทำให้เศรษฐกิจมีความผันผวนมากขึ้นจากความสามารถในการใช้นโยบายการเงินเพื่อดูแลเศรษฐกิจที่หายไป
3) มีอุปสรรคหลายอย่างที่ทำให้การเปลี่ยนไปใช้คริปโตเคอร์เรนซีโดยประชาชนทั่วไปทั้งหมดจะเกิดขึ้นได้ยากมาก
บิตคอยน์และคริปโตเคอร์เรนซียังขาดคุณสมบัติของเงิน
ในทางทฤษฎี “เงิน” ทำหน้าที่สำคัญสามประการได้แก่ 1) สื่อกลางในการแลกเปลี่ยน (Medium of Exchange) 2) เป็นมาตรฐานในการใช้วัดมูลค่า (Unit of Account) และ 3) เป็นเครื่องรักษามูลค่า (Store of Value) โดยงานศึกษาหลายชิ้นในปัจจุบันยังตั้งคำถามว่าบิตคอยน์อาจไม่สามารถทำหน้าที่ทั้ง 3 ข้อที่กล่าวมาได้ในหลายมิติจาก
a) สื่อกลางในการแลกเปลี่ยน (Medium of Exchange) บิตคอยน์จะเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนได้จะต้องเกิดจากการยอมรับของคนในวงกว้าง อย่างไรก็ตามการที่ทุกคนจะยอมรับบิตคอยน์จำเป็นต้องเห็นจำนวนผู้ใช้งานบิตคอยน์เพื่อซื้อสินค้าและบริการสูงมากพอที่จะทำให้เกิด network effect และดึงดูดคนอื่นเข้ามาใช้บิตคอยน์
ซึ่งในปัจจุบันจำนวนผู้ใช้งานของบิตคอยน์ยังถือว่าเล็กมากเมื่อเทียบกับจำนวนประชากร ยิ่งไปกว่านั้น อีกหนึ่งอุปสรรคในปัจจุบันคือระยะเวลาในการทำธุรกรรมบนบล็อกเชน สำหรับการโอนเงินจำนวนมากหรือการโอนเงินระหว่างประเทศอาจเป็นเวลาที่เร็วมากเมื่อเทียบกับการโอนเงินผ่านระบบธนาคารปัจจุบัน แต่ยังเป็นไปได้ยากที่จะนำมาใช้แทนการทำธุรกรรมเพื่อซื้อสินค้าเนื่องจากมีความล่าช้ากว่ามาก
โดยระยะเวลาในการทำธุรกรรมบนบล็อกเชนของบิตคอยน์จะใช้เวลานานถึงประมาณ 10 นาที และขึ้นอยู่กับความหนาแน่นของเครือข่าย หากลองเปรียบเทียบกับระบบการชำระเงินในปัจจุบันจะพบว่าบิทคอยน์สามารถทำธุรกรรมได้เพียง 3-7 ธุรกรรมต่อหนึ่งวินาที
ในขณะที่วีซ่าสามารถทำได้มากกว่า 24,000 ธุรกรรมต่อวินาที ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงต้นทุนของการใช้ระบบแบบกระจายอำนาจ (Decentralization) ซึ่งทำให้เกิดความปลอดภัยสูง (Security) แต่ต้องแลกมาด้วยความสามารถในการทำธุรกรรม (Scalability) ที่น้อยลง ซึ่งยังเป็นข้อจำกัดสำคัญ แม้มีความพยายามใช้เทคโนโลยีใหม่หรือบล็อกเชนอื่น แต่ก็ยังไม่สามารถบรรลุเป้าหมายในการกระจายอำนาจ ความปลอดภัย และจำนวนธุรกรรมได้พร้อมๆ กัน
b) มาตรฐานในการใช้วัดมูลค่า (Unit of Account) การทำหน้าที่เป็นมาตรฐานในการวัดมูลค่า หมายถึงผู้บริโภคต้องใช้สกุลเงินนั้นเป็นฐานเปรียบเทียบ (Numeraire) เพื่อเปรียบเทียบราคาของสินค้า ตัวอย่างเช่น ผู้บริโภคสามารถเปรียบเทียบได้ว่าปากกาแท่งละ 40 บาทแพงกว่าปากกาแท่งละ 10 บาท
ในกรณีนี้เงินบาทถูกใช้เป็นฐานเปรียบเทียบในการเปรียบมูลค่าของสินค้า ในปัจจุบันยังมีประเทศหรือกลุ่มเศรษฐกิจจำนวนน้อยที่ใช้คริปโตเคอเรนซี หรือ บิตคอยน์มาเป็นฐานเปรียบเทียบมูลค่าของสินค้าและบริการ
ในงานศึกษาของ Yermack (2015) ชี้ให้เห็นว่าสาเหตุสำคัญ เกิดจากการที่บิตคอยน์มีความผันผวนเทียบกับเงินสกุลอื่นสูงทำให้ผู้ขายจำเป็นต้องปรับราคาถี่ขึ้นซึ่งเป็นการเพิ่มต้นทุนต่อเศรษฐกิจจากทั้งผู้ขายและผู้บริโภค
ถ้าหากบิตคอยน์ถูกยอมรับในวงกว้างให้เป็นมาตรฐานในการชี้วัดมูลค่าก็อาจบรรเทาปัญหาในการกำหนดราคาไปได้ แต่ความผันผวนและต้นทุนในการกำหนดราคาจะเป็นอุปสรรคสำคัญที่จำกัดการยอมรับในบิตคอยน์
c) เครื่องรักษามูลค่า (Store of Value) “เงิน” ที่ดีจะต้องทำให้ผู้ใช้มั่นใจว่าจะสามารถคงมูลค่าไว้เพื่อซื้อสินค้าและบริการในอนาคตในมูลค่าที่ใกล้เคียงกัน สำหรับบิตคอยน์ยังคงเป็นคำถามที่ยังถกเถียงกันอย่างแพร่หลายว่าบิตคอยน์เป็นเครื่องรักษามูลค่าได้จริงหรือไม่ โดยปัจจัยสำคัญที่สามารถใช้พิจารณามีดังต่อไปนี้
a. มูลค่าพื้นฐานของบิตคอยน์ ปริมาณของบิตคอยน์ที่จำกัดโดยที่ไม่มีใครคนใดคนหนึ่งสามารถเพิ่มปริมาณของบิตคอยน์จากโปรแกรมที่ถูกตั้งไว้ได้เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้หลายคนเชื่อว่าบิตคอยน์สามารถทำหน้าที่เป็นเครื่องรักษามูลค่าได้
อย่างไรก็ตามแม้ว่าปริมาณที่จำกัดสามารถรับประกันได้ระดับหนึ่งว่าจะไม่ถูกด้อยค่าด้วยการเพิ่มอุปทาน แต่มูลค่าพื้นฐานยังขึ้นอยู่กับความต้องการของคนและประโยชน์ที่ได้จากการถือเงินสกุลนั้น ๆ ไว้ด้วย
มูลค่าบิตคอยน์จะยังคงอยู่ได้ในช่วงที่คนยังมีความเชื่อมั่นสูง แต่ในอนาคตยังไม่สามารถมั่นใจได้อย่างแน่นอนว่าผู้คนจะยังเชื่อมั่นในบิตคอยน์ตลอดไป ลักษณะดังกล่าวทำให้คุณสมบัติด้านมูลค่าของบิตคอยน์มีลักษณะคล้ายหรือแทบจะเหมือนกับเงินแบบปัจจุบัน (Fiat Currency)
โดยมูลค่าของบิตคอยน์ขึ้นอยู่กับความเชื่อมั่นของสังคมด้วย และยังเสียเปรียบเงินสกุลปัจจุบันอยู่ในแง่ของประโยชน์ที่ได้จากการถือเงิน ตัวอย่างเช่น เมื่อเปรียบเทียบกับเงินสกุลดอลลาร์ ที่มีลักษณะเป็นตราสารหนี้ที่ไม่มีการจ่ายดอกเบี้ยแต่ก็ทำหน้าที่เป็นเครื่องมือในการชำระภาระภาษีได้ และเป็นยอมรับทั่วโลกเนื่องจากทั่วโลกค้าขายกับผู้ที่ต้องชำระภาษีสหรัฐฯในปริมาณสูง (Fernandez-Villaverde, 2018)
b. ความปลอดภัย ในระบบของบิตคอยน์มีการใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนมาใช้ซึ่งมีความโปร่งใสในการกระจายธุรกรรมทั้งหมดให้แก่สาธารณะชนได้รับรู้แต่ยังคงความปลอดภัยไม่ให้ใครคนใดคนหนึ่งสามารถเปลี่ยนบันทึกธุรกรรมนี้ได้
หากผู้ใช้งานทำธุรกรรมบนบล็อกเชนและมีการเก็บ private key ไว้ใน wallet ที่มีความน่าเชื่อถือก็สามารถป้องกันความเสี่ยงในการสูญหายได้ระดับหนึ่งซึ่งนับเป็นจุดแข็งสำคัญของระบบ แต่ยังต้องระวังความเสี่ยงจากการถูกแฮ็ค private key หรือหากฝากไว้กับบริษัทที่ทำหน้าที่เป็นผู้ดูแลรับฝากทรัพย์สินก็อาจเผชิญกับความเสี่ยงทางไซเบอร์ได้เช่นเดียวกัน
c. ความผันผวน มูลค่าที่ผันผวนของบิตคอยน์เทียบกับเงินสกุลอื่นทำให้ไม่สามารถทำหน้าที่เป็นเครื่องรักษามูลค่าที่ดีในปัจจุบันที่บิตคอยน์ยังไม่ได้ถูกยอมรับให้เป็นสกุลเงินฐาน ด้วยความที่ราคาของบิตคอยน์อ้างอิงกับเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ
ทำให้เกิดข้อสงสัยว่าความผันผวนของบิตคอยน์อาจเป็นเพราะความผันผวนของเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ หรือไม่ ในงานศึกษาของ Bystrom และ Krygier (2018) ชี้ให้เห็นว่าจำนวนการค้นหาคำว่า “bitcoin” ใน google search และความผันผวนของเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ มีความเกี่ยวข้องในเชิงบวกกับความผันผวนของบิตคอยน์
และจำนวนการค้นหาคำว่า “bitcoin” นั้นมีความเกี่ยวข้องกับนักลงทุนรายย่อยมากกว่านักลงทุนสถาบัน สะท้อนให้เห็นว่าความผันผวนของบิตคอยน์มาจากทั้งปัจจัยเฉพาะและการคาดการณ์ของนักลงทุนรายย่อยเกี่ยวกับมูลค่าของบิตคอยน์ในอนาคต
ทั้งนี้ บทความวิชาการอื่น ๆ หลายชิ้นยังสรุปว่าบิตคอยน์และคริปโตเคอร์เรนซีไม่ใช่ สกุลเงิน (currency) ตัวอย่างเช่น
ในบทความของ Baur และ Dimpfl (2021) ชี้ให้เห็นว่าความผันผวนของบิตคอยน์ทำให้ต้นทุนต่อผู้ประกอบการสูงมากในการยอมรับบิตคอยน์ให้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนแม้มูลค่าระยะยาวอาจมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
และในงานศึกษาของ Auer และ Tercero-Lucas (2021) ชี้ว่านักลงทุนคริปโตเคอร์เรนซี ไม่ได้มีความกังวลต่อระบบการเงินแบบปัจจุบัน (Fiat Money) แตกต่างจากประชากรทั่วไป ซึ่งสะท้อนว่านักลงทุนจำนวนมากถือบิตคอยน์และคริปโตเคอร์เรนซี เพื่อวัตถุประสงค์ที่คล้ายกับสินทรัพย์ที่ใช้เก็งกำไร (speculative asset) มากกว่า
โดยมีจุดเริ่มต้นจากการพูดคุยเรื่องเทคโนโลยีใหม่ที่จะมาล้มล้างระบบการเป็นเงินในปัจจุบันทำให้มูลค่าเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก เมื่อราคาเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดดจึงทำให้สื่อและงานวิจัยตีพิมพ์บทความเกี่ยวกับความน่าสนใจของ บิตคอยน์ และดึงดูดนักลงทุนรายย่อยให้เข้าไปลงทุนเพิ่มเติมและดันให้ราคาสูงขึ้นไปอย่างต่อเนื่อง (Shiller, 2019)
ผลกระทบต่อเศรษฐกิจจากนโยบายการเงินที่หายไป
การเปลี่ยนระบบการเงินจากยุคปัจจุบันไปสู่คริปโตเคอร์เรนซีแม้จะดูเป็นเรื่องที่สวยหรูและมีการใช้เทคโนโลยีที่อาจเพิ่มประสิทธิภาพในระบบการเงิน แต่ในความเป็นจริงแล้วการให้เอกชนเป็นคนออกสกุลเงินและจำกัดปริมาณเงินให้คงที่เพื่อรักษามูลค่าเป็นระบบที่มีความไม่มั่นคงสูงและขาดกลไกในการรองรับความเสี่ยงหากเศรษฐกิจเจอกับปัจจัยภายนอกที่ไม่ได้คาดคิด
แม้คนกลุ่มหนึ่งจะคาดหวังว่าระบบการเงินที่ใช้คริปโตเคอร์เรนซีเป็นตัวกลางจะช่วยให้เศรษฐกิจเติบโตได้ดีขึ้น แต่ในความเป็นจริงแล้วการเปลี่ยนไปใช้คริปโตเคอร์เรนซีในระบบการเงินสร้างข้อจำกัดอย่างมากกับนโยบายจัดการเศรษฐกิจจาก 3 เหตุผล คือ
1) ปริมาณเงินที่ถูกกำหนดไว้อย่างจำกัด จะทำให้ไม่สอดคล้องกับการเติบโตของเศรษฐกิจระยะยาว เหตุผลสำคัญที่ปริมาณเงินต้องสามารถปรับเปลี่ยนได้ในระบบเศรษฐกิจ คือ การรักษาเสถียรภาพราคาในระยะยาว ระบบการเงินที่ปริมาณเงินจำกัดและไม่สามารถเพิ่มได้จะสร้างความเสี่ยงสำคัญต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจ
โดยในกรณีที่เศรษฐกิจและความต้องการใช้เงินมีการเติบโตเร็วกว่าการเพิ่มขึ้นของปริมาณเงินในระยะยาวจะทำให้เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะเงินฝืด (Deflation) หรือภาวะที่ราคาสินค้าลดลงต่อเนื่องจากปริมาณเงินที่เพิ่มขึ้นไม่ทัน เช่นเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในอดีตในช่วงที่เศรษฐกิจโลกใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนโดยตรึงค่าเงินไว้กับปริมาณทองคำซึ่งไม่สามารถเพิ่มจำนวนได้
เศรษฐกิจที่เข้าสู่ภาวะเงินฝืด จะทำให้คนในระบบเศรษฐกิจคาดการณ์ว่าสินค้าจะมาราคาถูกลงไปอีก และชะลอการซื้อสินค้าและบริการลง ท้ายที่สุดแล้วจะทำให้ไปสู่ภาวะที่เรียกว่า Deflationary Spiral หรือเศรษฐกิจและราคาสินค้าจะตกต่ำลงต่อเนื่องและส่งผลสำคัญต่อการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะยาวได้
2) การกำหนดให้ปริมาณเงินมีปริมาณคงที่ ทำให้ไม่มีลักษณะที่สามารถปรับปริมาณเงินให้เหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจได้ แม้การกำหนดให้ปริมาณเงินคงที่และไม่ถูกกำหนดโดยธนาคารกลางเป็นคุณสมบัติสำคัญของผู้สนับสนุนคริปโตเคอร์เรนซี่แต่การปรับปริมาณเงินให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจเป็นเรื่องสำคัญในการรักษาเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจ
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดมากทีสุด คือ การระบาดของโควิด -19 ที่เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยไม่คาดคิด และสร้างผลกระทบทางลบต่ออุปสงค์รวมของประเทศอย่างมหาศาล
นโยบายการเงินในช่วงนั้นจำเป็นต้องมีบทบาทสำคัญในการบรรเทาผลกระทบโดยการพิมพ์เงินในปริมาณมากขึ้นเพื่อประครองไม่ให้เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอยรุนแรง การเปลี่ยนไปให้เอกชนเป็นผู้พิมพ์เงินจะทำให้เศรษฐกิจขาดความสามารถในการรองรับ Shocks ที่ไม่คาดคิด และสร้างความเสี่ยงต่อผู้เล่นในระบบเศรษฐกิจที่ถือสกุลเงินที่แตกต่างกันได้
3) ระบบที่ไม่มีผู้ดูแลเสถียรภาพทางการเงินจะไม่สามารถสร้างความมั่นใจในระบบการเงินในยามวิกฤตได้ หนึ่งในบทบาทที่สำคัญที่สุดของธนาคารกลางคือการเป็นผู้ดูแลเสถียรภาพของระบบการเงินในฐานะผู้ให้กู้แหล่งสุดท้าย (Lender of Last Resort)
ในยามที่สถาบันการเงินจำเป็นต้องหาสภาพคล่องแต่ไม่มีใครคนใดยินดีที่จะจัดหาให้ สถาบันการเงินสามารถเข้าไปหาธนาคารกลางเพื่อขอกู้ยืมได้ ในระบบที่ไม่มีผู้ให้กู้แหล่งสุดท้าย สถาบันการเงินที่ขาดสภาพคล่องจะไม่สามารถกู้ยืมจากใครได้และนำไปสู่การแห่ถอนเงินหรือการล้มละลาย ความมั่นใจและความเชื่อมั่นที่หายไปจะยิ่งทำให้การให้สินเชื่อไม่สามารถเกิดขึ้นได้และยิ่งทำให้ปัญหาสภาพคล่องแย่ลงไปอีกซึ่งเกิดขึ้นให้เห็นบ่อยครั้งในอดีต
นโยบายการเงินที่เหมาะสม มีอีกหลายทางเลือกแต่ไม่ใช่การจำกัดอุปทานเงิน
มีข้อโต้แย้งต่อนโยบายการเงินในยุคปัจจุบันว่าเป็นการให้อำนาจธนาคารกลางมากเกินไป และท้ายที่สุดการดำเนินนโยบายที่ผิดพลาดเองที่กลับส่งผลเสียต่อระบบเศรษฐกิจ
ในความเป็นจริงแล้ววิวัฒนาการของนโยบายการเงินเกิดขึ้นมาเป็นเวลานานและถูกพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่การใช้ระบบการเงินแบบตรึงมูลค่าของเงินไว้กับทองคำ (Gold Standard) การใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่ (Fixed exchange rate)
การใช้กฎการเพิ่มปริมาณเงินแบบคงที่ จนถึงนโยบายการเงินสมัยใหม่ที่การกำหนดเป้าหมายนโยบายการเงินโดยใช้อัตราเงินเฟ้อ (Inflation targeting) พร้อมกับการใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนลอยตัวและการเปิดเสรีทางการเงิน
แน่นอนว่าวิธีดำเนินนโยบายการเงินในอดีตมีข้อบกพร่องและข้อจำกัดที่ทำให้นักเศรษฐศาสตร์ต้องหาวิธีการและเป้าหมายดำเนินนโยบายการเงินใหม่ ๆ ที่จะช่วยเพิ่มเสถียรภาพให้กับเศรษฐกิจมากที่สุด
แม้ว่าเป้าหมายที่เหมาะสมยังเป็นที่ถกเถียงกันในกลุ่มนักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำ แต่วิธีการดำเนินนโยบายการเงินที่เหมาะสมที่ถูกพัฒนามาอย่างต่อเนื่องน่าจะช่วยตอบโจทย์ทั้งในเรื่องของประสิทธิภาพของนโยบายการเงินในการจัดการอุปสงค์ การให้น้ำหนักกับแต่ละเป้าหมาย ความน่าเชื่อถือของนโยบายการเงิน และแนวทางในการดำเนินนโยบายการเงิน ได้ดีกว่าการย้อนกลับไปใช้การจำกัดปริมาณเงินให้คงที่ซึ่งจะสร้างความเสี่ยงภาวะเงินฝืดในระยะยาว ซึ่งความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงินขึ้นอยู่กับ
1) ประสิทธิภาพในการจัดการอุปสงค์ นโยบายการเงินจะมีประสิทธิภาพในการจัดการเศรษฐกิจและเงินเฟ้อก็ต่อเมื่อมีการปรับปริมาณเงินและอัตราดอกเบี้ยในขนาดที่เหมาะสม
อย่างไรก็ตามนโยบายการเงินในอดีตรวมถึงนโยบายการเงินแบบปริมาณเงินคงที่ (Fixed money supply) มีการเปลี่ยนแปลงปริมาณเงินที่น้อยเกินไปเพื่อตอบสนองต่อเศรษฐกิจ
ข้อเสนอของ John Taylor ชี้ให้เห็นว่าการดำเนินนโยบายการเงินในยุคก่อนมีการปรับดอกเบี้ยที่น้อยกว่าเงินเฟ้อ ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงไม่เปลี่ยนแปลงไปตามทิศทางดอกเบี้ยนโยบายที่เป็นตัวเงิน และทำให้นโยบายการเงินมีประสิทธิภาพต่ำ
2) การยึดเหนี่ยวการคาดการณ์ด้านเงินเฟ้อ บทบาทสำคัญของนโยบายการเงินไม่ใช่เฉพาะการปรับนโยบายการเงินให้เหมาะสมกับเศรษฐกิจ แต่เป็นการสื่อสารเพื่อยึดเหนี่ยวการคาดการณ์เงินเฟ้อในระยะยาวและป้องกันไม่ให้เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะเงินเฟ้อหรือภาวะเงินฝืดซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการเติบโตระยะยาวของเศรษฐกิจ การใช้เป้าหมายเงินเฟ้อจึงช่วยรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจระยะยาวได้ดีกว่า
3) การให้น้ำหนักกับเป้าหมายของนโยบายการเงินที่เหมาะสม การถกเถียงในระยะหลัง คือ ขนาดในการปรับอัตราดอกเบี้ยให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจ โดยนักเศรษฐศาสตร์มีการพัฒนาแบบจำลองเศรษฐศาสตร์มหภาคเพื่อจำลองเหตุการณ์
จากการปรับอัตราดอกเบี้ยอย่างเป็นระบบ และหาน้ำหนักที่เหมาะสมที่นโยบายการเงินควรตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของตัวแปรทางเศรษฐกิจ หรือเรียกว่า Targeting rule ซึ่งส่งผลให้เสถียรภาพทางเศรษฐกิจเพิ่มสูงขึ้น อย่างไรก็ตามการดำเนินนโยบายการเงินในลักษณะนี้จะไม่สามารถทำได้ภายใต้ระบบ Gold standard หรือ Fixed exchange rate regime
จะสังเกตได้ว่าการดำเนินนโยบายการเงินในอดีตเจอปัญหาแบบเดียวกันกับที่ข้อโต้แย้งต่อระบบการเงินในปัจจุบัน คือ การตัดสินใจที่ผิดพลาดซึ่งเป็นข้อด้อยของระบบการจัดการโดยส่วนกลาง โดยเกิดขึ้นทั้งในรูปแบบที่เมื่อเศรษฐกิจเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อธนาคารกลางปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นน้อยเกินไปทำให้เงินเฟ้อค้างอยู่ในระดับสูง หรือกรณีที่ปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นมากเกินไปทำให้เกิดวิกฤติในตลาดการเงินและนำไปสู่ภาวเศรษฐกิจถดถอย ทำให้เกิดข้อถกเถียงว่าการดำเนินนโยบายการเงินควรเป็น กฎ (Rule) หรือดุลยพินิจ (Discretion)
อย่างไรก็ตามปฏิเสธไม่ได้ว่านโยบายการเงินยังมีบทบาทสำคัญในการดูแลเศรษฐกิจ จึงมีผู้เสนอทางออกที่ป้องการการตัดสินใจผิดพลาด เช่น การกำหนดกฎในการดำเนนโยบายการเงินแบบยืดหยุ่น
เช่น Taylor rule ที่เป็นข้อเสนอของกฎในการดำเนินนโยบายการเงินโดยให้อัตราดอกเบี้ยตอบสนองต่อส่วนต่างระหว่างอัตราเงินเฟ้อและอัตราเงินเฟ้อเป้าหมายของธนาคารกลาง และ Output gap (ส่วนต่างระหว่างผลผลิตที่แท้จริงกับผลผลิตศักยภาพ) ซึ่งเป็นการลดอำนาจในการตัดสินใจของผู้ดำเนินนโยบายลงในขณะเดียวกันยังสามารถรักษาบทบาทของนโยบายการเงินในการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจไว้ได้
แม้จะมีข้อวิจารณ์ต่อการทำหน้าที่ของธนาคารกลาง แต่การคงเครื่องมือนโยบายการเงินไว้ยังดีกว่าการละทิ้งไปใช้ระบบที่ยืดหยุ่นน้อยกว่าโดยการทำให้ปริมาณเงินคงที่โดยเฉพาะเมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดขึ้น
ทำไมการยอมรับของบิตคอยน์อาจเกิดขึ้นได้ยาก
ในทางทฤษฎี หากทุกคนยอมรับให้บิตคอยน์ เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน ก็มีความเป็นไปได้ที่บิตคอยน์จะมีความผันผวนลดลงและสามารถทำหน้าที่เป็นเครื่องรักษามูลค่าได้ และอาจพาเศรษฐกิจเข้าสู่จุดดุลยภาพที่มีบิตคอยน์เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน อย่างไรก็ตามการเปลี่ยนผ่านจากภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันไปสู่จุดนั้นยังต้องเจอกับอุปสรรคจำนวนมาก ดังต่อไปนี้
1) ต้นทุนธุรกรรมที่เพิ่มขึ้นเมื่อขนาดของระบบใหญ่ขึ้น ในปัจจุบันที่บิตคอยน์ ยังไม่เป็นที่ยอมรับในวงกว้าง ทำให้เกิดคำถามว่า การที่บิตคอยน์ยังไม่เป็นที่ยอมรับเกิดจากปัญหาในช่วงแรกที่ผู้คนยังได้รับข้อมูลน้อยเกินไปหรือมีอุปสรรคอื่นที่ใหญ่กว่าหรือไม่
ในงานศึกษาของ Hinzen, John และ Saleh (2022) ชี้ว่าหากความต้องการในการทำธุรกรรมเพิ่มสูงขึ้นในระบบบิตคอยน์จะทำให้ network มีความแออัดและค่าธรรมเนียมในการทำธุรกรรมเพิ่มขึ้นซึ่งจะดึงดูดให้จำนวนนักขุดเข้ามาในระบบมากขึ้นแต่จะทำให้ความล่าช้าในระบบเพิ่มขึ้นแทนซึ่งจะทำให้อัตราการใช้บิตคอยน์ (adoption rate) ลดลง
ซึ่งสะท้อนว่าการยอมรับบิตคอยน์ที่ยังจำกัดอยู่ส่วนหนึ่งอาจเกิดจากปัญหาเชิงโครงสร้างของระบบบิตคอยน์ มากกว่าปัญหาการเปลี่ยนผ่านในระยะสั้น อย่างไรก็ตามผลลัพธ์ในงานวิจัยนี้อาจไม่สามารถประยุกต์ใช้ได้กับบล็อกเชนอื่นที่มีคุณสมบัติแตกต่างจากบิตคอยน์ อย่างชัดเจน เช่น Proof-of-stake protocol
2) ต้นทุนในการเปลี่ยนไปใช้สกุลเงินใหม่ เสถียรภาพของสกุลเงินและกำลังซื้อถือได้ว่าเป็นลักษณะสำคัญที่ดึงดูดให้ผู้คนตัดสินใจใช้สกุลเงินนั้นในการเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน แต่นอกจากเสถียรภาพของกำลังซื้อแล้วผู้ใช้งานสกุลเงินยังคำนึงถึง network effect และ switching cost ของการเปลี่ยนไปใช้สกุลเงินอื่น
ในบทความของ Friedman และ Schwartz (1986) ชี้ว่า ผู้คนในระบบเศรษฐกิจจะยังยอมให้รัฐบาลได้กำไรบางส่วนจากเงินเฟียตถ้าหากยังสามารถคงให้สกุลเงินที่ถูกใช้อยู่เป็นประจำยังคงเป็นมาตรฐานในการใช้วัดมูลค่าและสื่อกลางในแลกเปลี่ยน
อย่างไรก็ตาม กรณีที่ผู้คนจะเปลี่ยนไปใช้สิ่งอื่น คือเมื่อสกุลเงินปัจจุบันสูญเสียกำลังการซื้ออย่างรุนแรง เฉกเช่นที่เกิดขึ้นในหลายประเทศแถบละตินอเมริกาหรือแอฟริกา ดังนั้น ถ้าหากธนาคารกลางยังสามารถควบคุมอัตราเงินเฟ้อไว้ได้และไม่บั่นทอนกำลังในการซื้อของสกุลเงินนั้น จะทำให้โอกาสที่บิตคอยน์หรือคริปโตเคอร์เรนซี อื่นขยับขึ้นมาเป็นสกุลเงินใหม่แทนเกิดขึ้นได้น้อย
3) แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นจะทำให้มูลค่าของบิตคอยน์ลดลง หนึ่งในปัจจัยที่ทำให้บิตคอยน์และคริปโตเคอรเรนซี่เติบโตในทศววรรษที่ผ่านมาคือ แนวโน้มดอกเบี้ยต่ำและนโยบาย QE ของธนาคารกลาง อัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำและการพิมพ์เงินของธนาคารกลางจนทำให้สภาพคล่องล้นในระบบการเงินทำให้ต้นทุนค่าเสียโอกาสในการครอบครองสินทรัพย์ที่ไม่ผลิตกระแสเงินสดลดลง สภาพคล่องที่ล้นดึงดูดให้เกิดการเก็งกำไรมากขึ้นในตลาดคริปโต
อย่างไรก็ตามในปัจจุบันที่เศรษฐกิจโลกกำลังเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อในระดับสูงจนทำให้ธนาคารกลางทั่วโลกจำเป็นจะต้องเหยียบเบรกโดยการขึ้นอัตราดอกเบี้ยและลดขนาดของงบดุล แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่จะเพิ่มขึ้นและสภาพคล่องที่ถูกดูดออกจะกดดันราคาของบิตคอยน์และเหรียญคริปโตอื่นๆและทำให้ความผันผวนของบิตคอยน์เพิ่มขึ้น ซึ่งจะทำให้การยอมรับในบิตคอยน์ลดลง
4) การแข่งขันในตลาดของสกุลเงินอาจไม่ก่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ความกังวลว่าธนาคารกลางและภาครัฐจะเพิ่มปริมาณเงินและไม่ยอมจัดการกับปัญหาเงินเฟ้อนั้นมีมาตั้งแต่อดีตโดยเฉพาะในยุค 70s ที่ธนาคารกลางยังไม่ได้มีความเป็นอิสระจากภาครัฐ (central bank independence)
ในช่วงนั้นเอง นักเศรษฐศาสตร์หลายคนโดยเฉพาะกลุ่มแนวคิดออสเตรียนก็ได้เล็งเห็นถึงปัญหานี้และเชื่อว่าในการที่จะนำมาซึ่งสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนที่ยังคงมูลค่าไว้ได้ภาครัฐควรเลิกผูกขาดการออกสกุลเงินและปล่อยให้เป็นหน้าที่ของกลไกตลาดเสรีแทน (Hayek, 1999)
เมื่อเวลาผ่านไปพัฒนาการของเทคโนโลยีนำมาซึ่งคริปโตเคอร์เรนซีและบิตคอยน์ทำให้แนวคิดตลาดเสรีของสกุลเงินมีความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตามแนวคิดนี้ก็ยังเป็นที่ถกเถียงในหมู่นักเศรษฐศาสตร์ ว่าตลาดเสรีของสกุลเงินจะนำมาซึ่งเสถียรภาพทางด้านราคาและก่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดเหมือนกับตลาดเสรีของสินค้าและบริการอื่นๆหรือไม่
ในบทความของ Fernandez-Villarverde และ Sanchez (2016) ชี้ให้เห็นถึงความเป็นไปได้ที่การแข่งขันของสกุลเงินเอกชนอาจไม่ก่อให้เกิดเสถียรภาพทางด้านราคาเนื่องจากผู้ประกอบการอาจยังมีแรงจูงใจในการสร้างสกุลเงินเพิ่มเติมเพื่อเพิ่มกำไรจากการสร้างเหรียญมากขึ้น และถึงแม้ว่าจะมีความเป็นไปได้ที่การแข่งขันระหว่างสกุลเงินเอกชนจะนำไปสู่เสถียรภาพทางด้านราคา แต่ก็มีความเป็นไปได้ที่มูลค่าของสกุลเงินเอกชนจะเหลือศูนย์เช่นเดียวกันกับสกุลเงินภาครัฐ ที่มีความเป็นไปได้นี้เหมือนกัน
จากการคาดการณ์เงินเฟ้อจนทำให้อัตราเงินเฟ้อเป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ (Self-fulfilling inflation) ซึ่งเป็นผลมาจากการใช้ token ที่ไม่ได้มีประโยชน์หรือมูลค่าที่แท้จริง
5) รัฐบาลหลายประเทศในโลกยังไม่ยอมรับให้คริปโตเคอร์เรนซี่เป็นเงินตราที่ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย หนึ่งในอุปสรรคที่สำคัญที่สุดต่อการยอมรับในตัวบิตคอยน์ หรือคริปโตเคอร์เรนซี อื่นในการเป็นตัวกลางในการแลกเปลี่ยนหรือชำระหนี้ได้ตามกฎหมายคือการไม่ยอมรับจากภาครัฐ
ในช่วงที่ผ่านมา ธนาคารกลางและผู้กำหนดนโยบายในหลายประเทศทั้ง สหรัฐฯ จีน ยุโรป รวมถึงไทยต่างทยอยกันออกมาให้ความเห็นถึงผลกระทบต่อเสถียรภาพทางการเงินและความจำเป็นที่จะต้องมีการกำกับดูแล
สำหรับประเทศไทย คณิสร์ แสงโชติ (2565) ชี้ว่า ในปัจจุบันกฎหมายไทยห้ามไม่ให้มีการสร้างเงินนอกใหม่ (เงินนอกคือ สื่อกลางในการแลกเปลี่ยนที่ไม่มีพันธะสัญญาหนี้สินในขณะที่เงินในคือเงินที่มาจากการนำกำลังซื้อในอนาคตมาแปรเปลี่ยนเป็นเงินในปัจจุบัน) และยังกำหนดให้มีเพียงเหรียญกษาปณ์และธนบัตรเท่านั้นที่สามารถใช้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย
โดยการสร้างเงินนอกใหม่เปรียบเสมือนการสร้างกำลังซื้อใหม่โดยที่ไม่เป็นภาระหนี้สินของผู้ผลิตหรือไม่ได้รองรับด้วยผลิตภาพการผลิต (Productivity) นั่นเอง
ความเสี่ยงของคริปโตเคอร์เรนซีกับการลงทุนระยะยาว
หากเรายอมรับร่วมกันว่าคริปโตเคอร์เรนซีไม่สามารถใช้แทนสกุลเงินในอนาคตได้ทั้งจากข้อจำกัดด้านคุณสมบัติของเงิน ความสามารถในการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจและความยากในการเปลี่ยนไปใช้คริปโตเคอร์เรนซีแทนเงินรูปแบบเก่าก็เป็นคำตอบระดับหนึ่งว่ามูลค่าของคริปโตเคอร์เรนซีในระยะยาวจะไม่ได้มีมูลค่าที่เกิดจากการใช้งานจริงในฐานะของเงิน
อย่างไรก็ตาม การคาดเดาทิศทางของราคาบิตคอยน์และคริปโตเคอร์เรนซียังคงทำได้ยากและแน่นอนว่าถึงแม้ว่าเหรียญดิจิทัลเหล่านี้ถูกมองว่าไม่มีมูลค่าพื้นฐานแต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะต้องมีมูลค่าเป็นศูนย์เสมอไป เราคาดว่าความผันผวนในราคาของสินทรัพย์เหล่านี้จะเพิ่มมากขึ้นในอนาคตในช่วงที่ความไม่แน่นอนเรื่องอัตราเงินเฟ้อและทิศทางของนโยบายการเงินเพิ่มสูงขึ้นมาก หากธนาคารกลางหลักยังคงขึ้นอัตราดอกเบี้ยและดูดสภาพคล่องออกอย่างรุนแรงเพื่อจัดการกับอัตราเงินเฟ้อก็จะกดดันราคาสินทรัพย์เสี่ยงอย่างคริปโตเคอร์เรนซีต่อเนื่อง
หากธนาคารกลางปล่อยให้อัตราเงินเฟ้อค้างอยู่สูงเป็นเวลานานอาจทำให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ปรับตัวอ่อนค่าลงและสนับสนุนให้ราคาสินทรัพย์เสี่ยงเพิ่มขึ้น นอกจากนี้อีกปัจจัยสำคัญ คือ
ประเด็นเรื่องภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังเข้ามาสร้างความไม่แน่นอนมากขึ้น เพราะในกรณีที่ความขัดแย้งทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นและผลักดันให้รัฐบาลพิมพ์เงินเพื่อมาใช้ในการแข่งขันทางเศรษฐกิจหรือสงครามก็จะเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้คนหันไปหาเครื่องรักษามูลค่าอื่นๆ อาทิ
ทองคำหรือบิตคอยน์แทนได้ แต่แม้กระทั่งในกรณีนี้เอง ก็มียังมีโอกาสเป็นไปได้ที่คนจะหันไปซื้อทองคำจริงมากกว่าสินทรัพย์ดิจิทัล เนื่องจากความเสี่ยงในเรื่องความมั่นคงทางไซเบอร์ที่อาจเพิ่มขึ้นทำให้ความมั่นใจในการถือครองสินทรัพย์ดิจิทัลลดลง ทั้งหมดนี้เป็นตัวอย่างให้เห็นว่าทำให้ความไม่แน่นอนและความผันวนของราคาสินทรัพย์ดิจิทัลเหล่านี้ยังอยู่ในระดับสูงมาก
เมื่อพิจารณาในภาพรวม KKP Research จึงประเมินว่า การที่บิตคอยน์ยังขาดคุณสมบัติของการเป็นเงินในปัจจุบัน หลายอุปสรรคที่เงินดิจิทัลยังต้องเจออีกมาก และความไม่แน่นอนของสถานการณ์เศรษฐกิจและนโยบายจากภาครัฐทั่วโลก จะยังขัดขวางการยอมรับในบิตคอยน์หรือคริปโตเคอร์เรนซีอื่นๆให้เป็นสกุลเงินหลักในอนาคต
อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าบิตคอยน์และคริปโตเคอร์เรนซีจะยังคงอยู่เป็นสินทรัพย์ทดแทนที่มีการซื้อขายต่อไป แม้ว่าจะไม่ใช่สกุลเงินก็ตาม และการมีอยู่ของคริปโตเคอร์เรนซีแม้ว่าจะเป็นในรูปของสินทรัพย์ทดแทนจะเป็นอีกแรงกดดันกดดันให้ภาครัฐจำเป็นจะต้องคำนึงถึงว่า เงินสาธารณะ (public money) ที่ดีควรจะเป็นเช่นไรและทำนโยบายการเงินที่สอดคล้องต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไม่ใช่นโยบายประชานิยมหรือการพิมพ์เงินที่มากเกินไปจนทำให้เกิดวิกฤตเงินเฟ้อ (hyperinflation) และสภาวะทางสังคมที่ล่มสลายซึ่งมีตัวอย่างให้เห็นมาจำนวนมากในอดีต
#Cryptocurrency
#Bitcoin
#KKPResearch
#KKP
#KIATNAKINPHATRA
โฆษณา