26 ก.ย. 2022 เวลา 13:11 • กีฬา
การแข่งขันฟุตบอลคิงส์คัพครั้งที่ 48 จบลงแบบเหนือความคาดหมายใครหลายคน เพราะทาจิกิสถาน ทีมที่ดูเข้ามาแข่งขันเหมือนไม้ประดับ กลับผงาดคว้าแชมป์ไปครองอย่างน่าเหลือเชื่อ
ชาติที่แทบไม่ประสบความสำเร็จอะไรในเกมลูกหนัง กลับแสดงให้เห็นว่าพวกเขามีทีเด็ดทีขาดที่อันตราย ล้มทั้งตรินิแดดฯ และมาเลเซีย ก้าวขึ้นไปเป็นทีมแรกจาภูมิภาคเอเชียกลางที่คว้าแชมป์คิงส์คัพไปครองได้สำเร็จ
The Sporting News จะพาไปกับเรื่องราวของทีมชาติทาจิกิสถาน และเบื้องหลังความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ในครั้งนี้
[ดินแดนแห่งความยากลำบาก]
สิ่งสำคัญที่ทำให้ประเทศทาจิกิสถานไม่ใช่มหาอำนาจในโลกฟุตบอล ก็เพราะความเป็นชาติของพวกเขาเกิดขึ้นไม่นานนัก โดยทาจิกิสถานเพิ่งได้รับเอกราช แยกตัวจากสหภาพโซเวียต เมื่อปี 1991 ที่ผ่านมาเท่านั้น
ดังนั้นหลายสิ่งหลายอย่าง ทาจิกิสถานต้องเริ่มต้นยืนด้วยลำแข้งของตัวเอง ซึ่งรวมถึงการสร้างความพร้อมในกีฬาฟุตบอลด้วย เพราะสมัยอยู่กับสหภาพโซเวียต ดินแดนส่วนนี้ก็ไม่ได้เก่งกาจเรื่องฟุตบอลเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว
ปัญหาแรกที่ฟุตบอลในทาจิกิสถานต้องเผชิญ คือความพร้อมในการพัฒนานักเตะ เพราะในยุคสมัยที่เป็นส่วนหนึ่งของโซเวียต พื้นที่ของทาจิกิสถานในปัจจุบัน ไม่ได้รับความสำคัญในการพัฒนาจากส่วนกลางของโซเวียต เรียกได้ว่าประมาณ 10 ปี จะมีนักเตะจากพื้นที่นี้ไม่เกิน 2 คน ที่จะก้าวไปติดทีมชาติสหภาพโซเวียต คือต้องมีพรสวรรค์จริง ๆ เท่านั้นถึงจะไปได้ไกล เพราะชาวทาจิกิสถานไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกอะไร ที่จะมาช่วยเหลือพวกเขาได้เลย
แน่นอนว่าสาเหตุที่ทำให้ทาจิกิสถานโดนมองข้ามตลอดสมัยโซเวียต ก็มีเหตุผลมารับรอง นั่นก็เป็นเพราะว่าเขตแดนนี้คือภูมิภาคที่สร้างรายได้ให้สหภาพโซเวียตได้ต่ำที่สุด แถมยังผลิตปัจจัยด้านอุตสาหกรรมต่าง ๆ ให้ประเทศได้น้อยที่สุดอีกด้วย
เมื่อสร้างรายได้ให้โซเวียตเป็นจำนวนน้อยนิด ทางรัฐบาลกลางก็ส่งความเจริญมาเพียงน้อยนิดเช่นกัน ทาจิกิสถานจึงเป็นพื้นที่ในสหภาพโซเวียต ที่มีรายได้เฉลี่ยต่อคนต่ำที่สุด แถมมีประชากรเรียนจบมหาวิทยาลัยน้อยที่สุดด้วยเช่นกัน
ทั้งปัญหาด้านการศึกษา และเรื่องเศรษฐกิจ ไม่ใช่เรื่องแปลกที่ชาวทาจิกิสถานจะเล่นฟุตบอล หรือกีฬาอื่น ๆ ไม่เก่ง เพราะพวกเขาไม่มีเวลาจะมาฝึกซ้อมด้านกีฬา แต่ต้องคิดถึงการเอาชีวิตให้รอดในสังคมที่อยากลำบาก หรือต่อให้ใจอยากจะเล่น ก็ไม่มีความพร้อมใด ๆ มาพัฒนาพวกเขาอยู่ดี
และแม้จะมีการประกาศอิสรภาพจากโซเวียต ใช่ว่าทุกอย่างจะดีขึ้น เพราะในปี 1992 ชาวทาจิกิสถานเปิดฉากสงครามการเมืองเพื่อชิงอำนาจในประเทศ ส่งผลให้มีชาวทาจิกิสถานมากกว่า 1 ล้านคนอพยพออกนอกประเทศเพื่อหนีภัยสงครามซึ่งกินเวลานานกว่า 5 ปี
[ความพยายามที่ล้มเหลว]
ดินแดนที่เต็มไปด้วยปัญหาแบบนี้ จึงไม่แปลกกว่าทาจิกิสถานจะตั้งหลักได้ พวกเขาก็โดนทิ้งห่างในโลกลูกหนังไปไกลเกินกว่าจะไล่ตามทัน
ทาจิกิสถานกว่าจะเริ่มตั้งหลักได้ในเกมลูกหนัง ต้องรอถึงปี 1998 หลังจากสงครามกลางเมืองจบลง ด้วยการเข้าร่วมแข่งขันเอเชียนเกมส์ 1998 ซึ่งทัพสิงโตแห่งเปอร์เซียผ่านเข้าสู่รอบสองของการแข่งขันได้สำเร็จ แม้ว่าสุดท้ายในทัวร์นาเมนต์นั้น ทาจิกิสถานจะพบกับความพ่ายแพ้ที่ยับเยิน ทั้งพ่ายต่อจีน 1-3 และอิหร่าน 0-5
พวกเขาพยายามพัฒนาคุณภาพฟุตบอลในประเทศมาเรื่อย ๆ แต่ก็ยังไม่ประสบผลสำเร็จ ทำได้แค่เกือบเท่านั้น ทั้งการคัดเลือกเข้าสู่รายการเอเชียนคัพ ในปี 2000 และ 2004 ที่ในรอบคัดเลือกสามารถเก็บชัยชนะได้หลายเกม แต่ดีไม่พอจะพาทีมเข้ารอบสุดท้าย
จนกระทั่งในปี 2006 ทาจิกิสถานได้เข้าร่วการแข่งขันรายการ เอเอฟซี ชาเลนจ์ คัพ ทัวร์นาเมนต์สำหรับทีมระดับล่างในเอเชีย ซึ่งในการแข่งขันครั้งแรก ทาจิกิสถานเปิดตัวอย่างงดงามคว้าแชมป์มาครองได้สำเร็จ เป็นแชมป์รายการใหญ่ครั้งแรกของประเทศ ความพยายามที่พวกเขาเดินหน้ามาตลอดหลายปี สำเร็จผลเสียที
ซึ่งในทัวร์นามเมนท์นั้น ทาจิกิสถานชนะได้ถึง 5 เกม จากการแข่งขัน 6 นัด และเป็นจุดเริ่มต้นจริง ๆ ที่ทำให้ทาจิกิสถานเชื่อว่า การเข้าร่วมทัวร์นาเมนท์ระดับโลกของพวกเขาอยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม
แต่ก็เป็นอีกครั้งที่การเมืองในประเทศ นำมาซึ่งความพังพินาศของเกมลูกหนัง หลังจากผู้นำของประเทศ อย่าง เอโมมาลีก ราห์โมน ใช้ความเป็นเผด็จการโกงการเลือกตั้งในปี 2006 นำมาซึ่งความวุ่นวายอย่างหนักในประเทศ
ตามสไตล์ของผู้นำเผด็จการ ราโมนใช้ความรุนแรง และการปิดกั้นสื่อเล่นงานประชาชน ซึ่งมีแต่จะนำความวุ่นวายตามมา และวงการฟุตบอลในทาจิกิสถานก็เริ่มโดนความวุ่นวายเหล่านี้เล่นงานไปด้วย ทั้งงบประมาณที่ลดลง รวมถึงนักฟุตบอลหลายคนก็ได้รับผลกระทบเรื่องชีวิตส่วนตัว จากความวุ่นวายในประเทศ
เหมือนเคราะห์ซ้ำกรรมซัด เพราะในปี 2010 ทาจิกิสถานโดนผู้ก่อการร้ายจากอัฟกานิสถานบุกเข้าโจมตีประเทศ กลายเป็นความวุ่นวายเกิดขึ้นมาอีกครั้งทางตอนใต้ของประเทศ ซึ่งไม่ต้องพูดถึงการเล่นฟุตบอลในบริเวณพื้นที่นั้นเลย เพราะมีแต่การทำสงครามของกองทัพมากมายเป็นเวลายาวนานับปี
สุดท้ายจากทีมแชมป์ทีมแรกของเอเอฟซี ชาเลนจ์ คัพ แทนที่จะเดินหน้า พวกเขากลับถอยหลัง เพราะภัยการเมืองอันไม่สิ้นสุด ในปี 2012 พวกเขาตกรอบแรกการแข่งขันรายการนี้ และในปี 2014 หนักสุดคือ พวกเขาไม่ผ่านแม้แต่รอบคัดเลือกจะไปแข่งขันด้วยซ้ำ
[ยุคใหม่ของทาจิกิสถาน]
กว่าทาจิกิสถานจะตั้งหลักได้อีกครั้งต้องรอจนถึงปี 2016 ซึ่งปัญหาต่าง ๆ การเมืองในประเทศเริ่มสงบลงแล้ว เปิดโอกาสให้รัฐบาลได้กลับมาโฟกัสไปที่การพัฒนาวงการฟุตบอลอีกครั้ง
แต่แน่นอนว่า ด้วยรากฐานดั้งเดิมที่ไม่สู้ดี จึงไม่ใช่งานง่ายที่จะสร้างความสำเร็จได้อย่างรวดเร็ว ทาจิกิสถานไม่ประสบความสำเร็จในทุกรายการที่พวกเขาคาดหวัง และนำมาซึ่งการเปลี่ยนโค้ชถึง 5 คน ภายในระยะเวลาแค่ 6 ปีเท่านั้น เรียกได้ว่าตกรอบที เปลี่ยนโค้ชที
จนกระทั่งในช่วงต้นปี 2022 ทาจิกิสถานได้เลือกโค้ชคนใหม่ชาวโครเอเชีย อย่าง เปตาร์ เซเกิร์ต เข้ามาทำหน้าที่ ซึ่งชายคนนี้ที่เป็นฮีโร่พลิกทุกอย่างในวงการฟุตบอลทาจิกิสถาน อย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
เซเกิร์ตได้รับการยกย่องว่าเป็นโค้ชทีมชาติที่ดีที่สุดในประวัติศาสตร์ของทาจกิสถาน เพราะเขามีประสบการณ์ทำงานมาทั้งใน เยอรมัน, ออสเตรีย, อินโดนีเซีย, จอร์เจียฯ, บอสเนีย และบ้านใกล้เรือนเคียงของทาจิกิสถาน อย่างอัฟกานิสถาน
แต่นอกจากประสบการณ์ เซเกิร์ตถือเป็นโค้ชคนแรกที่มี DNA ฟุตบอลชัดเจนที่ได้มาทำทาจิกิสถาน นั่นคือการเล่นที่ดุดัน, โจมตีคู่ต่อสู้ด้วยเกมสวนกลับที่รวดเร็ว ขณะเดียวกันก็ต้องมีระเบียบวินัยในการเล่นอย่างมาก รวมถึงให้ความสำคัญกับความฟิต นักเตะของเขาต้องเล่นในสนามให้ได้นานที่สุด รวมถึงตัวของเซเกิร์ตยังให้ความสำคัญกับจิตวิทยามาก เขาเป็นโค้ชที่ปลุกใจนักเตะอยู่ตลอด ไม่ยอมให้ยอมแพ้เด็ดขาด
สไตล์การทำทีมของเซเกิร์ตมาเข้าทางกับมวยรองแบบทาจิกิสถานแบบหลีกเลี่ยงไม่ได้ เขาใส่ปรัชญาของตัวเอง เปลี่ยนให้ทาจิกิสถานกลายเป็นทีมฟุตบอลวิ่งสู้ฟัด และเล่นแบบไม่กลัวใคร จนพวกเขาหักปากกาเซียน ผ่านรอบคัดเลือกเข้าสู่การแข่งขันเอเชียน คัพ รอบสุดท้ายได้เป็นครั้งแรก หลังจากถล่มเมียนมา 4-0 ตามด้วยชนะสิงคโปร์ 1-0 ตีตั๋วทองใบประวัติศาสตร์ได้สำเร็จ
ถึงอันดับโลกจะไม่ดีเท่าไหร่ แต่ถ้าคุณดูแต่อันดับบน FIFA Rankings จะไม่มีทางเข้าใจว่า ทาจิกิสถานกำลังเดินไปข้างหน้าได้รวดเร็วแค่ไหน พวกเขาแพ้แค่เกมเดียวเท่านั้น จาก 6 เกมแรกในการคุมทัพของยุคเซเกิร์ต ไม่ใช่สิ่งที่เห็นได้บ่อย ๆ กับทีมชาติทาจิกิสถาน
ทัพสิงโตแห่งเปอร์เซียต้องการต่อยอดความมั่นใจของตัวเอง ด้วยการมาแข่งขันคิงส์คัพ ครั้งที่ 48 ที่ประเทศไทย กับทีมที่มองผ่าน ๆ ใครก็คิดว่างานง่าย แต่สำหรับทาจิกิสถานพวกเขามาแข่งขันรายการนี้ด้วยเป้าหมายเดียวเท่านั้น คือการเป็นแชมป์
จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่เราได้เห็นทั้งเปตาร์ เซเกิร์ต และลูกทีมของเขา ทำงานอย่างหนัก และเต็มไปด้วยแพชชั่น ทั้งในเกมที่พบกับตรินิแดดฯ ในรอบรองชนะเลิศ และมาเลเซีย ในรอบชิงชนะเลิศ ซึ่งความทุ่มเทของพวกเขา คว้าแชมป์ฟุตบอลถ้วยรายการอุ่นเครื่องนอกดินแดนเอเชียกลางได้เป็นครั้งแรก และเป็นทีมเอเชียกลางทีมแรกที่คว้าแชมป์ฟุตบอลคิงส์คัพได้อีกด้วย
นี่คือเรื่องราวของทีมแกร่งหน้าจับตาจากเอเชียกลาง ที่ผงาดสร้างความยิ่งใหญ่บนแผ่นดินไทยของเรา และแสดงให้เห็นว่าต่อให้เจอความล้มเหลวสักกี่ครั้ง แต่ถ้าไม่ยอมแพ้สักวันความสำเร็จที่รอคอยก็จะมาถึง
โฆษณา