Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
PD Okhun
•
ติดตาม
26 ก.ย. 2022 เวลา 14:08 • การ์ตูน
“จินตนาการว่าซิซีฟัสกำลังมีความสุข” เป็นประโยคสำคัญในหนังสือของเจ้าของรางวัลโนเบล อัลแบร์ กามูส์ ชื่อ ตำนานแห่งซิซีฟัส ที่เขียนถึงปรัชญาอัตถิภาวะนิยม (existentialism) ว่าเป็นเรื่องไร้สาระ (Absurdism) และปรัชญาแนวนี้ปรากฏอยู่อย่างมากมายในอนิเมะเช่นกัน
เคียวน์เดินขึ้นเนินจนชิน
ด้วยส่วนตัวของผู้เขียนแล้ว ซีรีส์เรื่องสึซึมิยะ ฮารุฮิเป็นเรื่องแรกที่ปรากฏการอ้างอิงถึงเรื่องของซิซีฟัสเป็นครั้งแรก แม้ว่าอนิเมะเรื่องนี้เป็นเรื่องโปรด และผู้เขียนดูเรื่องนี้อย่างน้อยหนึ่งรอบต่อปี แต่ก็เพิ่งรู้ว่าพระเอกของเรื่องพูดถึงซิซีฟัสในตอนที่สอง (หากรับชมแบบตามลำดับเหตุการณ์) ขณะที่กำลังเดินทางขึ้นเนินไปโรงเรียน
เคียวน์ ซึ่งคือชื่อเล่นของพระเอก พูดว่า “ตัวผมที่ต้องเดินขึ้นเนินตรงหน้าโรงเรียนจนเริ่มปลง เหมือนซิซีฟัส ที่ต้องกลิ้งหินขึ้นเขา วันแล้ววันเล่าไปตลอดกาล” แม้ตัวละครนี้จะมีบุคลิกขี้บ่น แต่ประโยคนี้กล่าวถึงธีมของเรื่องได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ซิซีฟัสเป็นกษัตริย์จอมเจ้าเล่ห์ เมื่อถึงคราหมดอายุขัย เทพแห่งความตายมารับเขาลงไปสู่นรก ด้วยความเจ้าเล่ห์เจ้ากล ซิซีฟัสถามเทพแห่งความตายว่า โซ่ตรวนที่นำมาเพื่อจับเขานั้นมีความแข็งแรงทนทานหรือไม่ และแนะนำให้เทพลองใช้โซ่นั้นกับตัวเทพเองก่อน เมื่อเทพหลงกล และมัดมือตัวเองด้วยโซ่แล้ว ซิซีฟัสขังเทพเอาไว้ และกลับไปใช้ชีวิต
แน่นอนว่าเมื่อเทพแห่งความตายมาทำงานไม่ได้ คนที่ควรตายก็ไม่ตาย เกิดความวุ่นวายอย่างมาก เมื่อเป็นเช่นนั้น และเมื่อสามารถจับต้นเหตุของเรื่องอย่างซิซีฟัสได้แล้ว เหล่าเทพตัดสินลงโทษซิซีฟัสให้กลิ้งหินขึ้นเขา และเมื่อหินนั้นใกล้ถึงยอดเขาแล้ว หินจะกลิ้งกลับลงมาสู่พื้น ซิซีฟัสต้องกลิ้งหินขึ้นเขาตลอดกาล
อัลแบร์ กามูส์
กามูส์ตั้งคำถามว่า สภาพจิตใจของซิซีฟัสเป็นเช่นไรเมื่อเขาเดินจากยอดเขากลับลงมาที่ตีนเขาเพื่อกลิ้งหินนั้นกลับขึ้นเขาอีกรอบ ครั้งแล้วครั้งเล่า กามูส์เปรียบหน้าที่ของซิซีฟัสกับชีวิตของมนุษย์ มันไม่มีความหมายอะไรเลย เป็นโทษทัณฑ์ของการมีชีวิต นั่นคือ การเจอเรื่องลำบาก เรื่องผิดหวัง เรื่องน่าเศร้าเสียใจ ความทุกข์มากมายเหล่านี้มันคุ้มค่ากับการมีชีวิตอยู่จริงหรือ นั่นคือคำถามแก่นของบทความของเขา “ทำไมมนุษย์ไม่ฆ่าตัวตาย”
ท้ายที่สุดแล้ว กามูส์บอกให้ผู้อ่านมองมุมกลับปรับมุมมอง แล้วให้ “จินตนาการว่าซิซีฟัสมีความสุข” ชีวิตมนุษย์ไม่มีความหมาย เหมือนกันกับที่ซิซีฟัสกลิ้งหินขึ้นเขาอย่างไร้ความหมาย ไม่มีอะไรมีความหมาย แต่ก็ไม่ใช่เหตุผลที่จะต้องตาย นี่คือความแตกต่างระหว่างปรัชญาความไร้สาระของเขา กับสูญนิยม (Nihilism) กามูส์ให้เรายอมรับและอยู่ร่วมกับความไร้สาระของชีวิตอย่างสง่างาม
กลับมาในเรื่องของสึซึมิยะ ฮารุฮิ เธอคือนางเอกของเรื่อง เป็นหญิงสาวที่มีนิสัยประหลาด เนื่องจากเธอกล่าวว่าเธอไม่สนใจคนธรรมดา แต่อยากเจอเรื่องที่พิเศษ เช่นมนุษย์ต่างดาว มนุษย์พลังจิต หรือคนจากอนาคต ซึ่งทั้งหมดมารวมตัวกันอยู่ที่ห้องชมรมของเธอ และในตอนที่ห้า เราจึงได้เข้าใจว่าทำไมเธอจึงคิดแบบนี้
ฮารุฮิเล่าเรื่องตอนเด็กให้เคียวน์ฟัง
ฮารุฮิเล่าให้เคียวน์ฟังว่า เธอเคยไปสนามเบสบอลกับครอบครัว และเมื่อมองออกไปในสนาม พบว่ามีคนอยู่เป็นหมื่นบนอัฒจันทร์ มันทำให้เธอรู้สึกว่าเธอไม่พิเศษเลยแม้แต่น้อย เธอไม่ได้แตกต่างจากคนอื่น ๆ ในสนาม คนอีกฟากหนึ่งของอัฒจันทร์ก็เห็นเธอเหมือนที่เธอเห็นพวกเขา นั่นคือ เพียงส่วนหนึ่งของคนฝูงใหญ่ มันทำให้คิดว่า เมื่อคนหนึ่งที่เราไม่รู้จักเดินผ่านเราไป เพียงไม่ถึงนาที เราก็ลืมหน้าตาของคนนั้นไปเสียแล้ว มันเป็นความคิดที่เธอไม่อาจรับได้
แน่นอนว่าฮารุฮิไม่อาจยอมรับความน่าเบื่อของชีวิตที่จะต้องกลิ้งหินขึ้นเนินทุกวันได้ ต่างจากเคียวน์ในตอนแรกที่อ้างว่าตนเองนั้นชินแล้วกับกิจน่าเบื่อแบบนั้น ฮารุฮิต้องการความตื่นเต้น ความพิเศษ แต่เคียวน์นั้นพึงพอใจกับความน่าเบื่อ ความธรรมดานั้น แต่นั่นเป็นเพียงตอนแรกของเรื่องราวของทั้งสองเท่านั้น
เมื่อความเป็นมนุษย์ธรรมดาทำให้เรารู้สึกไม่พิเศษ ไม่มีความแตกต่างจากใครอื่น คำถามเกี่ยวกับชีวิตก็ตามมา “แล้วเราเกิดมา หรือมีชีวิตอยู่ไปเพื่ออะไร” นั่นคือคำถามของอัตถิภาวะนิยม ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าเริ่มก่อตัวขึ้นในปรัชญาของ Søren Kierkegaard แต่จำกัดความได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุดผ่าน ฌอง-ปอล ซาตร์
ซาจร์และกามูส์
“การดำรงอยู่มาก่อนแก่นสาร”(l’exstence précède l’essence) ซาตร์กล่าว ซึ่งตรงกันข้ามกับปรัชญากรีกโบราณ นั่นคือ แก่นสารนิยม (essentialism) เช่น ที่อริสโตเติลกล่าวว่า “ลูกโอ๊คเกิดมาเพื่อเป็นต้นโอ๊ค” เมื่อนั้น ลูกโอ๊คนั้นมีแก่นสารติดตัวมาตั้งแต่กำเนิน และนั่นคือการเป็นลูกโอ๊ค ชีวิตมนุษย์ก็เช่นเดียวกัน ในอดีต มันเป็นความเชื่อที่ว่ามนุษย์มีเป้าหมาย หรือ แก่นสาร ของชีวิต แต่เหล่านักคิดสำนักอัตถิภาวะนิยมปฏิเสธ และกล่าวว่า เรามีชีวิตก่อน แล้วจึงหาหรือสร้างแก่นสารนั้น
เมื่อเราเกิดมาไม่มีแก่นสาร เมื่อนั้นเรามีอิสรภาพร้อยเปอร์เซ็นต์ในการสร้างแก่นสารของตนเอง แต่อิสรภาพนั้นมันมากมายจนน่ากลัว ซาตร์กล่าวว่า “มนุษย์ถูกสาปให้เป็นอิสระ” (L’homme est condamné à être libre) อิสรภาพที่มากมายจนงุนงง มนุษย์ไม่สามารถจับต้นชนปลายใด ๆ ได้ จึงจะต้องหาเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ และเรียกสิ่งนั้นว่าความหมายของชีวิตของตนเอง
คำถามที่ตามมาคือ การที่เรารู้ว่าเราเกิดมาทำไม หรือการที่เราไม่รู้ว่าเราเกิดมาเพื่ออะไร แบบใดดีกว่ากัน แม้ว่าคำถามแบบนี้เป็นคำถามเชิงคุณค่า คำตอบว่าอะไรดีหรือไม่ดีก็ขึ้นอยู่กับมาตรฐานคุณค่าของแต่ละคน แต่ก็เป็นคำถามที่น่าสนใจ
คำถามเกี่ยวกับความหมายหรือจุดประสงค์ของชีวิตปรากฎอยู่ในเรื่องเล่ามากมาย เนื่องจากเป็นคำถามใหญ่ในวงการปรัชญาที่ได้รับความสนใจไม่น้อย และมีคำตอบอยู่อย่างมากมาย ไม่เพียงแต่ฮารุฮิ และแน่นอนว่าต้องปรากฏอยู่ใน Monogatari ด้วยเช่นเดียวกัน
ใน Mayoi Jiangshi เรื่องหนึ่งในซีซั่นที่สอง โอโนโนะกิ ซึ่งเป็นซากศพคืนชีวิตด้วยวิญญาณประดิษฐ์ถามคำถามเดียวกับกับอารารากิ พระเอกของเรื่อง ในขณะที่อารารากิเป็นมนุษย์ (แม้ว่าจะเป็นกึ่งแวมไพร์) จุดประสงค์ของชีวิตของเขาย่อมไม่แน่นอน แต่กลับกัน โอโนโนะกิถูกสร้างขึ้นมาโดยมนุษย์ และจุดประสงค์ในการมีชีวิตอยู่ของเธอก็คือจุดประสงค์ในการสร้างเธอมาตั้งแต่แรก นั่นคือ รับใช้มนุษย์ผู้สร้างเธอ
โอโนโนะกิตั้งคำถามเรื่องแก่นสารของชีวิต
เนื้อเรื่องของเรื่องราวนี้หมุนรอบตัวละครสามตัว อารารากิ มนุษย์ที่ตายไปแล้วและเกิดใหม่เป็นครึ่งมนุษย์ครึ่งแวมไพร์ โอโนโนะกิ ซากศพกับวิญญาณเทียม กล่าวคือ ไม่ได้เกิดใหม่ แต่ถูกสร้างขึ้น และฮาจิกุจิ มนุษย์ที่ตายแล้ว ไม่ได้เกิดใหม่ แต่เป็นวิญญาณเร่ร่อน เมื่ออารารากิย้อนเวลาให้หลังกลับไปสิบเอ็ดปีเพื่อช่วยชีวิตฮาจิกุจิเมื่อเธอยังมีชีวิตอยู่ เมื่อเขากลับมายังโลกปัจจุบัน โลกนั้นกลับเป็นซากปลักหักพัง
ปรากฏว่า การมีชีวิตอยู่ของฮาจิกุจิทำให้มนุษย์สูญสิ้น (ผู้เขียนขอละเว้นรายละเอียด) แน่นอนว่ายังเหลือผู้อยู่รอดอยู่ และหนึ่งในนั้นก็คือฮาจิกุจิที่รอดตายมาเป็นผู้ใหญ่ อารารากิไม่อยากจะเชื่อว่าการมีชีวิตอยู่ของเพื่อนสนิทของเขาจะเป็นต้นเหตุให้โลกพังทลายลง (แม้ว่าเธอจะไม่ได้ทำให้โลกเป็นเช่นนั้นก็ตาม) เขารับไม่ได้กับการที่โลกที่เธอมีชีวิตอยู่เป็นเช่นนั้น จึงเดินทางไปเพื่อแก้ปัญหาให้โลกที่เธอมีชีวิตอยู่นั้นกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง
ในฉากที่สวยงามอันดับต้น ๆ ของเรื่อง ขณะที่อารารากิเดินอยู่กับชิโนบุ แวมไพร์คู่บุญของเขา อารารากิกล่าวว่า นอกจากเขาจะไม่ยอมรับว่าโลกที่ฮาจิกุจิอยู่นั้นเป็นซากพังทลาย เขายังไม่ยอมรับความหมายของชีวิตของฮาจิกุจิ ชิโนบุกล่าวว่า เป็นเรื่องที่น่าสนใจอย่างมาก ที่การมีชีวิตอยู่ของหญิงสาวคนเดียวทำให้โลกพังพินาศ ซึ่งอารารากิไม่ยอมให้เป็นเช่นนั้น เขาไม่ยอมให้การมีชีวิตอยู่ของเพื่อนสาวของเขามีความหมายเกี่ยวพันกับความพินาศของโลก
อารารากิและชิโนบุในโลกที่พังพินาศ
คำถามเรื่องของคุณค่าของชีวิตนั้นเป็นหัวใจหลักของซีรีส์เรื่องนี้เช่นเดียวกัน เมื่อเราจับตาดูเรื่องราวผ่านมุมมองของอารารากิ นั่นคือ ตั้งแต่ Kizumonogatari จนตอนสุดท้ายของ Zoku Owarimonogatari อารารากิเริ่มจากไม่มีเพื่อน ไม่มีความสัมพันธ์กับผู้อื่น ไม่ว่าด้วยเหตุผลอันใดก็ตาม จนมีเพื่อน มีคู่ชีวิตอย่างเซนโจกาฮาระ มีคู่บุญอย่างชิโนบุ และคำตอกย้ำจากโอกิ เราทำให้เห็นความเปลี่ยนแปลงในเรื่องคุณค่าชีวิตของอารารากิ
ใน Kizumonogatari อารารากิย้ำในตอนต้นว่า “ฉันไม่ต้องการมีเพื่อน เพราะการมีเพื่อนลดทอนความเป็นมนุษย์ของฉัน” ดังนั้น เมื่อไม่มีเพื่อน ไม่มีความสัมพันธ์กับใครทั้งนั้น มันจึงเป็นเรื่องง่ายที่จะทิ้งชีวิตของตัวเองไปเฉย ๆ เช่นตอนที่เข้าไปช่วย Kiss-Shot Acerola-Orion Heart-Under-Blade ซึ่งหมายถึงตนเองจะต้องตาย แต่เมื่อเรื่องราวดำเนินผ่านไป
อารารากิกับคติประจำใจอันเก่าของเขา
นอกจากนี้ เซนโจกาฮาระตอกย้ำว่า หากอารารากิตาย เธอจะไปฆ่าคนที่ฆ่าอารารากิ มันทำให้อารารากิต้องคิดซ้ำก่อนที่จะลงมือถวายชีวิตตัวเองเพื่อคนอื่น เมื่อนั้น อารารากิให้คุณค่าชีวิตแก่ตนเองแล้ว
ซึ่งโอกิเองก็ตอกย้ำแนวคิดนี้ด้วยเช่นกัน ด้วยความที่เธอมีชีวิตอยู่เพื่อวิพากษ์วิจารณ์การกระทำและความคิดของอารารากิ เธอย้ำความรู้สึกที่อารารากิเคยมี ความไม่มีคุณค่าของชีวิตของเขาเอง และการเอาเปรียบความเป็นอมตะของเขาเนื่องจากเป็นครึ่งแวมไพร์ แน่นอนว่าเมื่อโอกิหมดหน้าที่ หรือไม่สามารถทำหน้าที่ได้แล้ว โอกิจะต้องหายไป
แต่แล้ว อารารากิเองก็ไม่ยอมให้รุ่นน้องจอมวิพากษ์วิจารณ์หายไป เขาเข้าไปช่วยชีวิตเธอ จนเขาเองก็เกือบไม่รอด แม้ว่าเขาไม่ได้เป็นแวมไพร์แล้วก็ตาม เมื่อนั่น การมีตัวตนของโอกิไม่ได้ผูกอยู่กับคุณค่าใดคุณค่าหนึ่งเท่านั้น โอกิไม่ใช่ “อะไร” อย่างใดอย่างหนึ่ง แต่โอชิโนะ โอกิก็คือโอชิโนะ โอกิ
โอชิโนะ โอกิ
ดังนั้น ข้อความที่จะสื่อก็คือ ความหมายและคุณค่าของชีวิตนั้น แม้ว่าจะมีอยู่แล้วหรือจะต้องตามหามันก็ตาม ไม่ได้ผูกติดอยู่กับตัวตนของเราเท่านั้น มันอยู่ที่ความหมายและคุณค่าที่คนอื่นผูกติดไว้อยู่กับเรา เช่นการมีชีวิตอยู่ของฮาจิกุจิสามารถตีความได้ว่าสร้างความพังพินาศให้แก่โลก แต่อารารากิไม่ได้ผูกคุณค่าเช่นนั้นให้แก่เธอ เซนโจกาฮาระมอบคุณค่าให้แก่ชีวิตของอารารากิ ไม่ให้เขาเอาชีวิตไปทิ้งเพื่อคนอื่น
แต่การให้คุณค่าชีวิตแก่คนอื่นนั้นย่อมมีข้อดีและข้อเสีย นาเดะโกะ เพื่อนของน้องสาวของอารารากิมีความรักใคร่อารารากิอยู่มาก และผูกติดคุณค่าชีวิตของตัวเองเข้ากับอารารากิ ประหนึ่งเป็นการแก้ปัญหาชีวิตของตนเอง แต่ ตามที่บล็อกที่แล้วได้กล่าวเอาไว้อย่างยืดยาวแล้ว คนเราต้องช่วยเหลือตนเอง การที่นาเดะโกะแสดงเพียงบทบาทของเหยื่อ และรอคอยให้พี่อารารากิมาช่วย ประหนึ่งประกอบคุณค่าอัศวินขี่ม้าขาวให้แก่อารารากิ เป็นผลร้ายแก่ตัวนาเดะโกะเอง ซึ่งการวิเคราะห์เรื่องราวแล้วนาเดะโกะนั้นคงจะต้องเอาไว้ครั้งหน้า
ความสัมพันธ์ฉันมนุษย์ที่น่าสนใจที่สุดของเรื่องกลับไม่ใช่ระหว่างมนุษย์ แต่คือความสัมพันธ์ระหว่างกึ่งมนุษย์กึ่งแวมไพร์ นั่นคือ ระหว่างอารารากิและชิโนบุ ชิโนบุคือชื่อใหม่ของ Heart-Under-Blade ที่ถูกลดทอนพลังจนอยู่ในร่างของเด็กหญิงผมทองอายุประมาณแปดขวบ ในชีวิตหกร้อยปีของ Heart-Under-Blade เธอไม่สามารถมีความสัมพันธ์กับใครได้เลย เนื่องจากที่ที่เธอเดินทางไปจะมี “สิ่งแปลกประหลาด” ตามเธอไปทุกที่ และจะสร้างความหดหู่ให้แก่คนรอบค้างเธอ เธอจึงเลือกที่จะใช้ชีวิตอยู่ด้วยตัวคนเดียว
แต่การมีชีวิตสันโดษกว่าหกศตวรรษย่อมไม่ดีต่อสุขภาพจิต เธอจึงลงมาเพื่อหาที่ตายในตอนต้นของ Kizumonogatari และพบกับอารารากิที่ช่วยชีวิตเธอเอาไว้ เธอต้องการจะตายเพื่ออารารากิ แต่เขาไม่ยอมให้เธอตาย ตลอดทั้งเรื่อง Bakemonogatari เราจึงเข้าใจว่าทำไมชิโนบุถึงมองอารารากิอย่างไม่พอใจ เพราะเขาไม่ยอมให้เธอตาย และไม่ยอมให้เธอกลับสู่แวมไพร์เต็มตัว
แต่เมื่อเรื่องราวดำเนินต่อไป เช่นในตอนสุดท้ายของ Bakemonogatari เมื่อชิโนบุหายตัวไป และอารารากิกำลังถูกปีศาจแมวฆ่า เขาร้องขอให้ชิโนบุช่วยเขา และเธอก็ปรากฏตัวขึ้นจากเงาของเขา จากนั้น เธอก็ใช้ชีวิตอยู่ในเงาของเขามาตลอด จนภาค Nisemonogatari ที่ทั้งสองกลับมาคุยกันเป็นครั้งแรก หลังจากนั้น ทั้งสองเปิดใจเข้าหากัน และชิโนบุ เมื่อมีความสัมพันธ์กับคนอื่นได้แล้ว เธอมีความเป็นมนุษย์มากขึ้น และไม่เคยคิดจะตายอีกแล้ว เพราะอารารากิเป็นคนสร้างคุณค่าชีวิตนั้นให้แก่เธอ
ชิโนบุออกมาช่วยชีวิตอารารากิ
อย่างไรก็ตาม บทวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างอารารากิและชิโนบุฉบับเต็มคงจะต้องเอาไว้ครั้งหน้า
แท้จริงแล้ว เรื่องปรัชญาอิตถิภาวะนิยม แก่นสารนิยม สูญนิยม หรือ ไร้สาระนิยม เป็นเรื่องที่กว้างและมีเรื่องราวมากมายที่ดำเนินรอบกรอบความคิดเหล่านี้ โดยส่วนตัวของผู้เขียนแล้ว เกมที่ชื่อ Nier: Automata คือเรื่องราวที่เล่าถึงหลักปรัชญาที่เกี่ยวพันกับเรื่องนี้ได้ดีที่สุด (อย่างน้อยที่สุดก็เป็นเรื่องราวที่ทำให้ผู้เขียนศึกษาปรัชญานี้)
Nier: Automata
อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนไม่อาจพูดถึงเนื้อหาของเกมนั้นได้ เนื่องจากผู้เขียนแนะนำให้ผู้อ่าน หากมีเวลา เล่นเกมนั้นด้วยตัวเอง และเนื่องจากผู้เขียนไม่สามารถวิเคราะห์เรื่องราวนั้นได้โดยปราศจากสปอย
อย่างไรก็ตาม ความหมายหรือคุณค่าชีวิตนั้น กามูส์เห็นต่างจากซาตร์ เพื่อนสนิทและคู่ปรับตลอดกาลของเขา แม้ว่ามนุษย์ไม่ได้มีแก่นสารติดตัวมาตั้งแต่เกิด ก็ใช่ว่าเราจะต้องหาแก่นสารนั้นเพื่อดำรงชีวิตอยู่ กามูส์ตายในอุบัติเหตุทางถนนเมื่อกำลังเดินทางกลับจากงานเลี้ยง เพื่อนที่ร่วมรถเขามารอด แต่เขาไม่รอด การตายของกามูส์ไม่ได้มีแก่นสารอะไรทั้งสิ้น มันไม่มีความหมายอะไรเลย แม้กระนั้น “เราต้องจินตนาการว่ากามูส์กำลังมีความสุข”
จินตนาการว่ากามูส์มีความสุข
อนิเมะ
บันทึก
1
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย