27 ก.ย. 2022 เวลา 06:21 • ความคิดเห็น
การเปิดถนนชื่อ Little Thailand Way
ที่ Woodside, Elmhurst, Queens, New York
ในวันเสาร์ที 24 กันยายน เวลา 11.00 โมงเช้า
ซึ่งทาง City of New York จะมีการจัดกิจกรรมในวันงานกันอย่างสนุกสนาน
เป็นการสร้างประวัติศาสตร์ให้แก่เราชาวไทยที่อเมริกาและรอบโลกนะครับ
ประวัติฯที่ว่าในปัจจุบัน นี่คือถนนเส้นแรกที่อเมริกาที่เป็นแหล่งไทยอย่างเป็นทางการ
ในประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีประชาชนชาวไทยอยู่อาศัยประมาณ 314,531 คน
อยู่ที่นิวยอร์ก(แถวควีนส์เป็นส่วนมาก)ประมาณ 15,992 คน
จึงขอเล่าย่อ ๆ ว่าชาวไทยแรก ๆ ที่เดินทางมาถึงสหรัฐอเมริกาคือแฝดสยาม อิน-จัน ซึ่งเข้ามาอยู่ที่ประเทศนี้ในปี พ.ศ. 2373 โดยอาศัยอยู่ที่รัฐนอร์ทแคโรไลนา และใช้ชื่อสกุลว่า"บังเกอร์" (Bunker) ในปัจจุบันลูกหลานของแฝดสยามคู่นี้ก็ยังใช้นามสกุลว่าบังเกอร์
ขอเล่าต่อไปอีกว่า นักเรียนไทยคนแรกที่มาศึกษาต่อที่สหรัฐอเมริกาคือ เทียนฮี้ ซึ่งเดินทางมาถึงที่นี่พร้อมกับมิชชันนารีชาวอเมริกัน และสำเร็จการศึกษาจากวิทยาลัยแพทย์ที่นิวยอร์ก ในปี พ.ศ. 2414
คุณเทียนฮี้คือบิดาของคุณพจน์ สารสิน นายกรัฐมนตรีของเราในอดีต
แต่ถึงกระนั้นเมื่อผมเดินทางมาถึงนิวยอร์กใหม่ ๆ ในปีพ.ศ. ๒๕๐๙ ทั้ง ๆ ที่เป็นนิวยอร์ก นิวยอร์ก เมืองสุดทันสมัยของอเมริกาและของโลกในขณะนั้นด้วยเสร็จสรรพ
...แต่แทบไม่มีใครรู้จักประเทศไทยเป็นจริงเป็นจัง
ไม่ต้องนับถึงอาหารไทย ซึ่งในปัจจุบันเฟื่องฟูโด่งดังไปรอบโลก (นิวยอร์กคือนครแรกสุดของอเมริกาที่เปิดภัตตาคารไทย แห่งแรกสุดเป็นภัตตาคารเล็กนิดเดียวชื่อ ภัตตาคารบางกอก/โตเกียว กว่า ๕๐ ปีมาแล้ว)
ฉะนั้นเมื่อผมในวัย ๒๓ ถูกแนะนำตัวใหม่ ๆ ในกลุ่มฝรั่ง (ในสมัยนั้นหากคุณต้องการเห็นหน้าชาวอาเซี่ยนก็จงไปไชน่าทาวน์ เพราะยังมีชาวอาเซี่ยนและ minority อื่น ๆ น้อยมาก ไปไหนมาไหนที ผมจึงเด่นมาก เพราะทั้งเมืองมีก็แต่ฝรั่งขาว)
…พวกท่านก็จะถามผมว่าคุณมาจากไหน ผมก็จะยิ้มแย้มแจ่มใสสไตล์สยาม
...ตื่นเต้นดีใจ/ภูมิใจบอกฝรั่งในนิวยอร์กว่า ผมมาจากจากไทยแลนด์
ท่านก็ว่า “ไทยหวัน(ไต้หวัน)กระนั้นหรือ?”
ผมก็ว่า “ไม่ใช่ครับ ไทยแลนด์ครับ ไม่ใช่ไต้หวัน” แล้วก็แอบผิดหวังนิด ๆ ว่าอะไรกัน เป็นนิวยอคร์เกอร์สุดทันสมัยของโลกทั้งที แต่ไม่รู้จักไทยแลนด์
ผมจึงลองอีกหนึ่งวิธีคือบอกกล่าวว่าผมเป็นชาวสยาม เป็นชาวไซอามีส อันเป็นนามเก่าของเราในสมัยโบราณ ก่อนที่จะเปลี่ยนเป็นไทยแลนด์
พวกท่านก็ทำหน้างง ๆ สักพักพวกท่านก็ถึงบางอ้อ ว่า
...อ๋อ เหมือน Siamese Cats กระนั้นหรือ?
เพราะแมวไทย/ไซอามีสดังมากที่อเมริกาและรอบโลก เมื่อมีคนนำมันเข้ามาผสมพันธุ์เลี้ยงดูกันที่นี่ตั้งแต่ปีพ.ศ. ๒๔๒๑
ดังเสียจนมีเพลงของมันเองที่ว่า
We are Siamese if you please
We are Siamese if you don't please
We are from a residence of Siam
There is no finer cat than I am.
เพลงนี้ชื่อ The Siamese Cat Song อันมาจากภาพยนต์การ์ตูนของดิสนีย์เรื่อง “ทรามวัยกับไอ้ตูบ” Lady and the Tramp ออกฉาย(ที่โรงเฉลิมไทย)ในปีพ.ศ.๒๔๙๘
แฝดไทย อินและจันก็เคยติดอยู่ในเนื้อเพลงเช่นกัน ใน Let’s Do It [Let’s Fall in Love] ว่า Folks in Siam do it, think of Siamese twins …เพลงนี้แต่งในปี 1928 หรือพ.ศ. ๒๔๗๑ โดยสุนทราภรณ์ของฝรั่ง/Cole Porter
แต่คอหนังจะจำเพลงนี้ได้ดีจากภาพยนต์เรื่อง High Soceity (ที่เกิดของคำว่า “ไฮโซ”) นำแสดงโดยเกรซ เคลลี่ ออกฉายที่โรง
ภาพยนต์โอเดียนซในปีพ.ศ.๒๔๙๙ ...ร้องโดย
บิง ครอสบี้)
แต่ที่ชื่อไทยแลนด์(และสยาม)เกี่ยวข้องด้วยมากที่สุดที่อเมริกาคือละครเพลงเรื่อง The King and I เปิดแสดงที่บรอดเวย์/นิวยอร์กในปีพ.ศ.๒๔๙๔ และออกฉายเป็นภาพยนต์ระบบซีเนมา
สโคปรอบโลกในปีพ.ศ. ๒๔๙๙
อันเป็นดรามาอิงประวัติศาสตร์คือไม่ใช่เรื่องจริงตรงไปตรงมาแต่ประการใด ...เกี่ยวกับแหม่ม
แอนนา เลียวโนเวนส์ ผู้เดินทางมาจากอินเดีย(นางเป็นลูกครึ่งอินเดียน ครึ่งอังกฤษ)เพื่อสอนหนังสือ ภาษาและอักษรของอังกฤษที่พระราชวังในปลายรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๔
แต่ที่อเมริกาจะมีความสัมพันธ์ที่สูงสุดกับบ้านเราคือในหลวงรัชกาลที่ ๙ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ซึ่งทรงประสูติที่ Mount Auburn Hospital, Cambridge, Massachusetts ในวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๗๐
ฉะนั้นจึงนับได้ว่ากว่าจะมีถนนที่ชื่อ Thailand ได้ที่ประเทศสหรัฐอเมริกานั้น เราได้ใช้เวลาทั้งหมด 204 ปีนะครับ ตั้งแต่อินและจันเป็นต้นมา
และป้ายนี้คงอยู่ไปตลอดชั่วลูกชั่วหลานนะครับ
ฉะนั้นสหายพี่น้องใน ...หรือใกล้ หรือไกลนิวยอร์ก กรุณาพากันออกมาช่วยสร้างประวัติศาสตร์เปิดถนนชื่อ Little Thailand Way ของเราชาวไทยที่อเมริกาด้วยกัน
ที่วู้ดไซด์ ควีนส์ เสาร์ที่กำลังจะมาถึงนี้ ประมาณ ๑๑ เช้าเป็นต้นไป
ขอบพระคุณมากครับ กรุณาแชร์กันต่อ ๆ ไปนะครับ
และขอขอบพระคุณคุณยุทธนา ลิ้มเลิศวาที (หมู นาบอน)ผู้เป็นตัวตั้งตัวตี ผู้วิ่งเต้นจัดการเรื่องนี้อย่างเต็มที่จนสำเร็จ
จนเป็นประวัติศาสตร์ดังกล่าว ในวันเสาร์ที่กำลังจะมาถึง
ขอแสดงความนับถือ
...และในฐานะคนไทยรุ่นแรก ๆ ของอเมริกา
ผมขอแสดงความภูมิใจเป็นอย่างสูงไว้ ณ ที่นี้ด้วยนะครับ
...จากใจจริง
กิจจา บุรานนท์
โฆษณา