29 ก.ย. 2022 เวลา 03:30 • หุ้น & เศรษฐกิจ
“ลดหย่อนภาษี” วิธีรวยขึ้นง่าย ๆ ที่หลายคนมองข้าม
2
ภาษี คือสิ่งที่ประชาชนผู้มีรายได้ทุกคน จะต้องจ่ายให้กับทางภาครัฐทุกปี เพื่อนำไปใช้พัฒนาประเทศต่อไป
แต่ละคนก็จะจ่ายภาษีในจำนวนที่ไม่เท่ากัน เพราะรายได้ไม่เท่ากัน แถมวิธีการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ก็มีอัตราที่ไม่เท่ากันอีก เพราะการคำนวณภาษี มีวิธีการคำนวณแบบขั้นบันได
แต่รู้หรือไม่ว่า เราสามารถลดหย่อนภาษีที่ต้องจ่ายให้น้อยลงได้ หรืออาจจะไม่ต้องจ่ายเลย
หากเราใช้สิทธิ์ที่ทางภาครัฐมอบให้เราอย่างเต็มสิทธิ์
วันนี้ การวางแผนเพื่อลดหย่อนภาษีในระยะยาวสำคัญขนาดไหน
BillionMoney จะมาสรุปให้ แบบเข้าใจง่าย ๆ
ก่อนอื่น เราจะขอยกตัวอย่างเรื่องราวของมนุษย์เงินเดือน 2 คน
- คนแรก คุณ A
- คนถัดมา คุณ B
โดยเราจะกำหนดให้ทั้ง 2 คน มีอายุ 30 ปี และจะเกษียณอายุตอน 60 ปี เท่ากัน
เริ่มกันที่ คุณ A ได้เงินเดือน เดือนละ 30,000 บาท
ใน 1 ปี คุณ A จะมีรายได้ทั้งหมด 360,000 บาท
จากสิทธิ์ที่ทางภาครัฐมอบให้ เพื่อใช้ลดหย่อนภาษีนั้น
ถ้าคุณ A ใช้สิทธิ์เต็มจำนวน ด้วยฐานรายได้สุทธิ คุณ A จะไม่ต้องเสียภาษีเลย
โดยสิ่งที่คุณ A จะต้องนำมาไว้ใช้ลดหย่อนภาษี จะประกอบด้วย
- หัก ค่าใช้จ่าย 100,000 บาท
- หัก ค่าประกันสังคม 7,200 บาท
- หัก ค่าลดหย่อนส่วนตัว 60,000 บาท
- หัก เข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพเต็มสิทธิ์ เป็นเงินจำนวน 15% ของรายได้รายปี 54,000 บาท
ถ้าองค์กรที่คุณ A ทำงานอยู่ มีนายจ้างช่วยสมทบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้เต็มจำนวน
เท่ากับอัตราลดหย่อนภาษีสูงสุด ที่ทางภาครัฐให้สิทธิ์ ก็คือ 15% ของรายได้รายปี
เท่ากับว่า คุณ A จะได้รับเงินสมทบจากนายจ้าง เท่ากับ 54,000 บาท เข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพด้วย
แปลว่าคุณ A จะมีเงินลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพทั้งหมดใน 1 ปี เท่ากับ 108,000 บาท
1
จากตัวอย่างนี้ เมื่อคุณ A เลือกใช้สิทธิ์ข้างต้น เพื่อลดหย่อนภาษีแล้ว
คุณ A จะเหลือเงินเดือนสุทธิ เพื่อนำมาใช้คำนวณภาษีเท่ากับ 138,800 บาท
กรณีนี้คุณ A จะไม่ต้องเสียภาษีเลย เพราะเกณฑ์ของภาครัฐคือ ถ้าคำนวณออกมาแล้วรายได้สุทธิของเราอยู่ระหว่าง 1 ถึง 150,000 บาท ในปีนั้น เราจะไม่ต้องเสียภาษีเลย
จากจำนวนข้างต้น เท่ากับว่า คุณ A จะเหลือเงินให้ใช้จ่ายจริง ๆ ต่อปีเท่ากับ
138,800 + 100,000 + 60,000 = 298,800 บาท หรือเฉลี่ยเดือนละ 24,900 บาท
ส่วนจำนวนเงินที่จะลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ จะเท่ากับ 9,000 บาทต่อเดือน
โดยหักจากเงินเดือนของคุณ A เป็นเงิน 4,500 บาทต่อเดือน
และอีก 4,500 บาทต่อเดือน คือนายจ้างจะเป็นผู้สมทบให้
แล้วรู้ไหมว่า ถ้าคุณ A ลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพแบบนี้ทุกเดือน เป็นระยะเวลา 30 ปี
โดยลงทุนในกองทุนอิงดัชนี SET50 ที่มีผลตอบแทนเฉลี่ยระยะยาวประมาณ 9% ต่อปี
และมีค่าธรรมเนียมการจัดการทั้งหมด เท่ากับ 0.5% ต่อปี
ผลตอบแทนจะเป็นเท่าไร ?
คำตอบคือ 14,856,351 บาท..
ทีนี้ เราลองมาดูตัวอย่างที่ 2 กัน คือคุณ B ได้เงินเดือน เดือนละ 75,000 บาท
ใน 1 ปี คุณ B จะมีรายได้เท่ากับ 900,000 บาท
2
ถ้าคุณ B ใช้สิทธิ์ในการลดหย่อนภาษี เท่ากับคุณ A จากตัวอย่างที่ 1
คุณ B จะต้องเสียภาษี เพราะคุณ B มีรายได้มากกว่า
ดังนั้น ในตัวอย่างที่ 2 นี้ สิ่งที่คุณ B จะต้องใช้เพื่อลดหย่อนภาษี จะประกอบด้วย
- หัก ค่าใช้จ่าย 100,000 บาท
- หัก ค่าประกันสังคม 7,200 บาท
- หัก ค่าลดหย่อนส่วนตัว 60,000 บาท
- หัก เข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพเต็มสิทธิ์ เป็นเงินจำนวน 15% ของรายได้รายปี 135,000 บาท
- หัก เข้า RMF เต็มสิทธิ์ คือ 30% ของรายได้รายปี 270,000 บาท
- หัก เข้า SSF เต็มสิทธิ์ 95,000 บาท
- หัก ค่าประกันชีวิตและประกันสุขภาพ รวม 82,800 บาท
ทั้งนี้ ภาครัฐให้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีในหมวดของการลงทุน ได้เต็มที่แค่ 500,000 บาทต่อปี เท่านั้น
ดังนั้น จากตัวอย่างนี้ เราจะเห็นว่า คุณ B จะหักเงินเข้ากองทุนต่าง ๆ ทั้งหมดเท่ากับ 500,000 บาท
และเพื่อจะให้ฐานรายได้สุทธิไม่เกิน 150,000 บาท
คุณ B จึงทำประกันชีวิตหรือประกันสุขภาพ เป็นเงินจำนวน 82,800 บาท
1
สุดท้าย เงินเดือนสุทธิของคุณ B ที่จะนำมาใช้คำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
จะเหลือ 150,000 บาท และแน่นอนว่าคุณ B จะไม่ต้องเสียภาษีเลยแม้แต่บาทเดียว
และเมื่อเรามาคำนวณเงินที่คุณ B จะเหลือไว้ใช้จ่ายรายปีจริง ๆ จะเท่ากับ 150,000 + 100,000 + 60,000 = 310,000 บาท หรือตกเดือนละ 25,833 บาท
แล้วเงินจำนวน 500,000 บาท ที่คุณ B หักเพื่อนำไปลงทุนใน 3 กองทุน
คือ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ, RMF และ SSF เมื่อผ่านไป 30 ปี
สุดท้ายจะกลายเป็นเท่าไร ?
ในส่วนของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ที่โดนหักจากเงินเดือนของคุณ B ใน 1 ปี จะเท่ากับ 135,000 บาท
และถ้านายจ้างสมทบให้อีก 135,000 บาท รวมกันจะเท่ากับ 270,000 บาท ที่จะลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
หรือลงทุนเฉลี่ยเดือนละ 22,500 บาท
โดยหากคุณ B นำเงินจำนวนนี้ ไปลงทุนในกองทุน SET50 ทุกเดือน แบบเดียวกับคุณ A
ผลตอบแทนรวมเงินต้นในสิ้นปีที่ 30 จะเท่ากับ 37,140,879 บาท
ในส่วนของ RMF
เราจะกำหนดให้คุณ B นำเงินไปลงทุนใน กองทุนอิงดัชนี S&P 500 RMF
ที่มีผลตอบแทนเฉลี่ยในระยะยาว เท่ากับ 11.88% ต่อปี
และมีค่าธรรมเนียมในการจัดการทั้งหมด เท่ากับ 0.87% ต่อปี
โดยคุณ B จะลงทุนแบบถัวเฉลี่ยทุกเดือน เดือนละ 270,000 / 12 = 22,500 บาท
ผลตอบแทนรวมเงินต้นในสิ้นปีที่ 30 จะเท่ากับ 63,239,375 บาท
และในส่วนสุดท้าย คือ SSF
ถ้าคุณ B นำเงินจำนวน 95,000 บาท หรือตกเฉลี่ยเดือนละ 7,917 บาท
ไปลงทุนในกองทุน S&P 500 SSF ซึ่งมีผลตอบแทนในระยะยาว เท่ากับของกองทุนอิงดัชนี S&P 500 RMF
แต่มีค่าธรรมเนียมในการจัดการทั้งหมด เท่ากับ 1.11%
ผลตอบแทนรวมเงินต้นในสิ้นปีที่ 30 จะเท่ากับ 21,120,392 บาท
เมื่อเรานำผลตอบแทนจากการลงทุนทั้ง 3 กองทุนมารวมกัน
ในปีที่ 30 ผลตอบแทนรวมเงินต้นทั้งหมดที่คุณ B จะได้รับ จะเท่ากับ 121,500,646 บาท
จากตัวอย่างทั้งจากคุณ A และคุณ B เราจะเห็นว่าทั้ง 2 คน มีอายุเท่ากัน แต่มีรายได้แตกต่างกัน
เพียงแค่ทั้ง 2 คน ใช้สิทธิ์ที่ทางภาครัฐเอื้อประโยชน์ให้อย่างเต็มที่
ผลตอบแทนรวมเงินต้นในสิ้นปีที่ 30
ก็จะอยู่ระหว่าง 14,856,351 ถึง 121,500,646 บาท เลยทีเดียว
ซึ่งจากทั้ง 2 ตัวอย่าง เราก็จะเห็นว่า เมื่อใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีอย่างเต็มที่แล้ว ทั้ง 2 คน
ก็ยังมีเงินเหลือให้จับจ่ายใช้สอยได้อย่างเต็มที่ ถึงเดือนละประมาณ 25,000 บาทเลย
และตัวอย่างจากบทความนี้ เราก็ได้กำหนดให้รายได้อยู่ในอัตราคงที่ไว้
แปลว่าหากคุณ A ได้รับเงินเดือนที่มากขึ้น และยังใช้สิทธิประโยชน์ในการลดหย่อนภาษีอย่างเต็มที่
ด้วยการเพิ่มเงินลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ, RMF และ SSF ต่อไป
ผลตอบแทนรวมเงินต้นของคุณ A ก็จะมีโอกาสสูงมากกว่านี้
ส่วนคุณ B เนื่องจากว่า ได้ใช้สิทธิ์เต็มจำนวนคือ 500,000 บาท
ในหมวดของการลงทุนเพื่อลดหย่อนภาษีไปหมดแล้ว
ถ้าคุณ B ได้รับเงินเดือนที่มากขึ้น คุณ B ก็จะต้องใช้สิทธิ์ในการลดหย่อนภาษีในหมวดอื่นแทน
ซึ่งอาจจะเป็น การบริจาค หรือการทำประกันชีวิตและประกันสุขภาพเพิ่มขึ้น ก็ได้เช่นกัน
แต่ด้วยเงินเดือนของคุณ B ที่สูงเกินไป จนไม่สามารถใช้สิทธิ์เพื่อลดหย่อนภาษีได้อีกแล้ว หากคุณ B มีเงินเหลือพอที่จะลงทุนเพิ่ม คุณ B ก็อาจจะเลือกลงทุนเพิ่มด้วยตัวเอง ผ่านหลักทรัพย์อื่น ๆ ได้
อ่านมาถึงตรงนี้ เราก็จะเห็นว่าการเป็นมนุษย์เงินเดือนธรรมดา ที่แค่ใช้สิทธิพื้นฐานที่ทางภาครัฐเอื้อประโยชน์ให้แก่เรา เพื่อเพิ่มเงินลงทุน และลดหย่อนภาษีที่ต้องจ่ายลง
ด้วยระยะเวลาที่ยาวนานพอ และการทำอย่างสม่ำเสมอในทุก ๆ เดือน มหัศจรรย์จากผลตอบแทนทบต้นที่เราได้รับ ก็สามารถช่วยให้เราพอมีเงินเก็บสำรองไว้ใช้ยามฉุกเฉินในวันที่เราวางมือ จากอาชีพมนุษย์เงินเดือนไปแล้ว นั่นเอง..
References
-The Education of a Value Investor: My Transformative Quest for Wealth, Wisdom, and Enlightenment (2014) โดย Guy Spier
-I Will Teach You to Be Rich, Second Edition: No Guilt. No Excuses. No BS. Just a 6-Week Program That Works (2019) โดย Ramit Sethi
-iTax
โฆษณา