28 ก.ย. 2022 เวลา 12:35 • ข่าว
อ.ปราโมทย์ เตือน!! พายุโนรู ไม่ธรรมดา!! คาด!! สภาพ กทม. อาจท่วมแบบปี 38
1
พายุโนรู ภัยพิบัติครั้งนี้ไม่ธรรมดา ต้องตื่นตัว!! หน่วยงานที่เกี่ยวข้องระดับพื้นที่ต้องเร่งสร้างความเข้าใจกับประชาชนให้พร้อมรับมือ พร้อมเตือนประชาชนในภาคอีสานที่อาศัยอยู่แนวพายุเตรียมยกของขึ้นที่สูง ส่วนคนกรุงมีลุ้น!! เสี่ยงน้ำท่วมเหมือนปี 2538 จากผลกระทบของพายุโนรู
หลังจาก ‘พายุไต้ฝุ่นโนรู’ ซึ่งพัดเข้าประเทศเวียดนามไปเรียบร้อย และส่งผลกระทบให้เกิดลมแรง ฝนตกหนัก จนประชาชนหลายแสนคนต้องเร่งอพยพด่วนนั้น ล่าสุดพายุโนรู กำลังเคลื่อนตัวเข้าสู่ประเทศไทยในวันที่ 29 กันยายน 2565 จากการพยากรณ์อากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา
2
คำถาม คือ ไทยจะลดผลกระทบและความสูญเสียโดยภาพรวมจากพายุโนรูได้มากน้อยเพียงใด ทีมข่าว THE STATES TIMES ได้สัมภาษณ์ อาจารย์ปราโมทย์ ไม้กลัด ประธานกรรมการมูลนิธิสภาเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ถึงการรับมือภัยพิบัติจาก พายุโนรู ในครั้งนี้ โดยอาจารย์ปราโมทย์ได้แสดงความคิดเห็นว่า…
6
‘พายุโนรู’ ที่เคลื่อนตัวเข้าสู่ประเทศไทยในครั้งนี้ ถือเป็นภัยพิบัติทางธรรมชาติที่ไม่เคยเกิดขึ้นบ่อยนัก โดยส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและเร่งด่วน ทำให้เตรียมตัวในการรับมือไม่ทัน อีกทั้งการสื่อสารมักไม่ถึงประชาชนอย่างทันท่วงที จนทำให้ผู้คนไม่เข้าใจถึงขั้นตอนในการเตรียมตัวรับมือพายุว่าจะต้องทำอย่างไร หรือเป็นไปในทิศทางไหน
9
“ปัจจุบันหน่วยงานต่าง ๆ หรือสื่อมวลชน ต่างนำเสนอแต่การเกิดของพายุ หรือแม้แต่เรื่องเส้นทางของพายุ โดยไม่ได้อธิบายว่า ประชาชนควรทำอย่างไร หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในระดับพื้นที่ เช่น ระดับจังหวัด, ระดับอำเภอ หรือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ควรนำข้อมูลพายุที่รับทราบมาขยายความ เพื่อสร้างความเข้าใจกับประชาชนให้เข้าใจเรื่องภัยพิบัติอย่างไรให้มากขึ้น”
12
เรื่องนี้ อ.ปราโมทย์ จึงได้ให้ข้อแนะนำแก่ประชาชนโดยเฉพาะในพื้นที่อีสานไว้แบบเร่งด่วนว่า “พายุที่เข้ามานี้ มันทั้งด่วนและรวดเร็วมาก ฉะนั้นชุมชนต้องรวมตัวกัน และชาวบ้านต้องมีผู้นำที่มีความเข้าใจสภาพพื้นที่เป็นอย่างดี ที่จะบอกได้ว่าจุดไหนน้ำท่วม จุดไหนน้ำไม่ท่วม เมื่อพายุมาจะสามารถเก็บข้าวของเครื่องใช้ไว้ที่สูงได้ทันการณ์ อย่างประชาชนที่อาศัยในลุ่มน้ำภาคอีสานทั้งหมดไม่ว่าลุ่มน้ำเล็กหรือใหญ่ ก็ต้องเตรียมตัวได้ทันทีภายใต้ชุมชนที่ต้องร่วมปรึกษาและแก้ไขปัญหาด้วยกัน”
14
ในด้านของกรุงเทพฯ จะได้รับผลกระทบจากพายุโนรูในครั้งนี้หรือไม่? อ.ปราโมทย์ กล่าวว่า “อาจจะไม่ส่งผลกระทบตรงมาถึงโดยตรง แต่กรุงเทพฯ จะได้รับผลกระทบจากพายุฝนที่ตกหนักแบบข้ามวันข้ามคืน ขณะเดียวกันก็จะได้รับผลกระทบจากน้ำที่รวมตัวมาจากแม่น้ำปิง, แม่น้ำวัง, แม่น้ำยม, แม่น้ำน่าน และแม่น้ำป่าสัก ซึ่งไม่รู้ว่ามีมวลน้ำรวมตัวกันมาเท่าไร
6
เพราะแนวทางพายุโนรูพัดผ่านมาทางภาคอีสาน เคลื่อนผ่านชัยภูมิ, พิษณุโลก, เพชรบูรณ์, กำแพงเพชร, ตาก และเข้าสู่ประเทศพม่า ซึ่งพายุโนรูได้เคลื่อนตัวผ่านสายน้ำหลักที่รวมตัวเป็นแม่น้ำเจ้าพระยา เมื่อพายุพัดเข้าสู่เพชรบูรณ์ แม่น้ำป่าสักก็ต้องรับน้ำเต็มที่ และไหลลงมาด้านล่างที่เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ที่ดักน้ำไว้ และเมื่อเขื่อนมีการปล่อยน้ำออกมา น้ำก็จะไปรวมตัวที่พระนครศรีอยุธยา คาดว่าจะได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน
6
“ขณะที่แม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณจังหวัดนครสวรรค์ ก็จะรับน้ำจากแม่น้ำน่าน, พิษณุโลก ท้ายเขื่อนสิริกิติ์ และไหลมารวมตัวกันที่ปากน้ำโพ ส่วนแม่น้ำยม ซึ่งไม่มีอะไรกักกันน้ำเอาไว้เลย น้ำก็จะมารวมตัวที่แม่น้ำน่าน, แม่น้ำปิง และท้ายเขื่อนภูมิพล จนน้ำมารวมตัวกันที่นครสวรรค์ ซึ่งเป็นชุมทางน้ำแม่น้ำเจ้าพระยา ทำให้ปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาจะเพิ่มสูงขึ้นกว่าปริมาณน้ำในปัจจุบันแน่นอน และก็จะเกิดปัญหาน้ำล้นตลิ่งได้
3
จากนั้นน้ำก็จะไหลมารวมตัวกันที่อำเภอบางไทร ผ่านพระนครศรีอยุธยา, ปทุมธานี, นนทบุรี และกรุงเทพมหานคร เพราะฉะนั้นกรุงเทพฯ คงต้องประเมินแล้วว่า ระดับน้ำที่มาจะมากแค่ไหนและจะเป็นอย่างไรต่อไป แต่คาดว่าถ้าเกิดสถานการณ์น้ำท่วม ก็คงไม่มากถึงขั้นปี 2554 แต่อาจจะใกล้เคียงหรือ น้องๆ ปี 2538”
4
อ.ปราโมทย์ กล่าวทิ้งท้ายด้วยว่า “ในหลวงรัชกาลที่ 9 พระองค์ท่านทรงให้แนวพระราชดำริไว้ว่า ‘เราต้องเรียนรู้ธรรมชาติ เราไปบังคับธรรมชาติไม่ได้’ ซึ่งพระองค์ท่านได้พระราชทานเป็นหลักคิดไว้ว่า น้ำมากเกินไป ต้องหาทางให้น้ำมีทางไป และหาที่กักเก็บน้ำที่มากเกินไปมากักเก็บไว้
8
หรือน้ำจากอุทกภัยไหลมาบรรจบไว้ชั่วคราว ที่พระองค์ท่านเรียกว่า ‘แก้มลิง’ ส่วนพื้นที่ไหนที่น้ำท่วมเป็นประจำอยู่แล้ว และใช้พื้นที่เพาะปลูกมาก่อน เมื่อเกิดอุทกภัยก็สามารถเป็นพื้นที่กักเก็บน้ำไว้ได้ สิ่งเหล่านี้เราต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับธรรมชาติ” อ.ปราโมทย์ กล่าวทิ้งท้าย
4
โฆษณา