7 ต.ค. 2022 เวลา 00:00 • ปรัชญา
(หมายเหตุ ปีนี้ครบ 100 ปีนวนิยายเรื่อง Siddhartha ของเฮสเส ไม่ใช่เรื่องธรรมดาที่นวนิยายเรื่องหนึ่งอยู่ยงนานขนาดนี้โดยที่ยังไม่ล้าสมัย นี่เป็นนวนิยายแนวปรัชญาที่ดีที่สุดเรื่องหนึ่งในวงการวรรณกรรม บทความนี้เป็นเรื่องย่อคร่าวๆ ของนวนิยายเรื่องนี้ มีสปอยเลอร์โครงเรื่อง)
เมื่อแรกที่ชายอินเดียนาม สิทธารถะ ออกเดินทางค้นหาเป้าหมายสูงสุดของชีวิตนั้น เขาแสวงหามันตามทางแห่งระบบ
สิทธารถะเป็นบุตรพราหมณ์ ครอบครัวมีฐานะดี ได้รับการศึกษาสูง ฉลาด รูปงาม กระหายความรู้ ชอบสนทนากับปราชญ์น้อยใหญ่ ศึกษาพระเวทจนแตกฉาน ใคร ๆ ต่างก็รักเขา (จุดนี้คล้ายกับตัวละครเอกในเรื่อง กามนิต ) ด้วยคุณสมบัติเช่นนี้ เขาไม่น่าจะสนใจแสวงหาหนทางที่เขาเองก็ไม่รู้
เหตุผลง่าย ๆ คือ เขาไม่มีความสุข
1
เขารู้สึกว่าชีวิตน่าจะมีอะไรมากไปกว่านี้ น่าจะมีคำอธิบายที่ยิ่งใหญ่กว่าที่เขาเรียนมา
สิทธารถะมีเพื่อนสนิทคนหนึ่งชื่อ โควินทะ ทั้งคู่มีความคิดอ่านคล้าย ๆ กัน
วันหนึ่งมีสมณะสามรูปมาเยือน หลังจากที่สนทนาด้วย สิทธารถะขออนุญาตบิดาติดตามสมณะไปด้วย บิดาไม่อนุญาต
สิทธารถะไม่ได้ถกเถียง หากยืนอยู่ที่จุดเดิม บิดาของเขาเข้านอน แต่ข่มตาไม่หลับ ทุกครั้งที่ท่านมองลอดหน้าต่าง ก็เห็นบุตรชายยืนกอดอกอยู่ที่จุดเดิม ผ่านไปหลายชั่วยาม ท่านตื่นขึ้นมา ก็ยังเห็นสิทธารถะยืนตระหง่านอยู่ที่เดิม จนถึงเช้าผู้เป็นบิดาก็ยอมแพ้ รู้ว่าจิตใจบุตรชายของตนมิได้อยู่ที่บ้านหลังนี้อีกแล้ว
สิทธารถะร่ำลาบิดามารดาเดินทางจากไป และไม่เคยหวนกลับบ้านอีกเลย
สิทธารถะกับโควินทะเดินทางไปด้วยกัน ฝึกฝนตนเองให้บรรลุความจริงโดยทางสาย อัตตกิลมถานุโยค คือทรมานตนเอง
1
ทั้งคู่แต่งกายแบบธรรมดา กินวันละครั้ง และเริ่มอดอาหารหลาย ๆ วัน ตามแนวทางทรมานตนเองเพื่อพ้นทุกข์ เรียนรู้การรับความเจ็บปวด ความหิว ความกระหาย
สิทธารถะยืนกลางแดดกลางฝน คลานเข้าดงหนาม จนเกิดแผล รอจนแผลพุพองและความเจ็บหายไปเอง กลั้นลมหายใจ ฯลฯ
เขาเห็นสัตว์ป่า และรับวิญญาณของสัตว์มาไว้กับตัว เพื่อเรียนรู้การปลดเปลื้องวิญญาณของตน
แต่ไม่ว่าจะทรมานตนเองอย่างไร ในที่สุดเขาก็กลับคืนมาสู่ตัวตนของความทุกข์ของตนเองอีกครั้งเสมอ คนฉลาดเช่น สิทธารถะ เริ่มรู้ว่าทางสายนี้ไม่น่าเป็นทางที่ถูก
สิทธารถะมองสมณะที่เขาติดตามมานานสามปี สมณะหาทางพ้นทุกข์ด้วยการทรมานตนเอง จนถึงวัยราวหกสิบก็ยังไม่สามารถหาทางไปสู่นิพพานได้
สิทธารถะกำลังคิดว่า เขาอาจเสียเวลาสามปีไปโดยเปล่าประโยชน์
ยามนั้นชาวบ้านชาวเมืองโจษขานถึงบุรุษผู้หนึ่ง ผู้เป็นสัพพัญญู หลุดพ้นจากวัฏสงสารแล้ว นั่นคือ สมณโคดม
สิทธารถะกับโควินทะลาจากพวกสมณะ ผู้ไม่เห็นด้วยกับแนวทาง 'ละทิ้งความลำบาก' ของพระพุทธเจ้า
สิทธารถะกับโควินทะเข้าเฝ้าพระตถาคตในสวน พระองค์ทรงนุ่งห่มจีวรเหลืองเหมือนกับพระรูปอื่น ๆ พระพักตร์เอิบอิ่มมีเมตตา ไม่ดีใจ ไม่เศร้า เป็นผู้ที่อยู่เหนือโลกอย่างแท้จริง
พระพุทธองค์ทรงเทศนาหลักอริยสัจ 4 โควินทะปลงใจที่จะบวช ส่วนสิทธารถะยังลังเล
วันต่อมาสิทธารถะมีโอกาสสนทนาธรรมกับพระพุทธเจ้า สิทธารถะพบพระพุทธองค์ แม้เห็นว่าคำสอนของพระองค์นั้นสมบูรณ์แบบ แต่เขาก็ยังไม่ปลงใจ
สิทธารถะบอกพระพุทธองค์ว่า เขาไม่เคยสงสัยว่าพระองค์บรรลุธรรมจริง แต่ทางของพระองค์ก็เป็นทางของพระองค์ เขาเองก็มีทางของเขา
การพบพานพระพุทธเจ้าทำให้โควินทะกลายเป็นนักบวชในระบบ ส่วนสิทธารถะก็เลือกที่จะเดินทางหาความจริงในวิถีของเขาเอง
เพื่อนรักแยกทางกัน ราวกับเป็นนัยว่า คนเราทุกคนล้วนต้องเดินทางคนเดียวเสมอ
อาจเป็นเจตนาของนักเขียน - เฮอร์มานน์ เฮสเส ก็ได้ ที่ทำให้สิทธารถะนั้นมีวิถีชีวิตที่คล้ายกับพระพุทธเจ้าอย่างยิ่ง อย่างน้อยก็ในช่วงหนึ่งของชีวิต
ทั้งสองต่างเกิดในตระกูลดี ร่ำรวย และสลัดความสุขออกเดินทางแสวงหาความหมายของชีวิตเช่นกัน
บางทีสิ่งที่สิทธารถะคิดในขณะนั้นคือ การตรัสรู้ (ไม่ว่าเราจะเรียกมันว่าอะไร) เป็นประสบการณ์ ไม่ใช่คำสอน
1
คนเราไม่สามารถรู้ว่าตนเองอิ่มท้องจากการอธิบายของคนอื่น ทางเดียวที่จะรู้คือกิน และประสบอาการของความอิ่มท้องนั้นเอง
3
การเดินทางของสิทธารถะท้าทายการค้นหาทางสว่างของชีวิตทั้งแบบพุทธและฮินดู
แนวทางของฮินดู คือการหาตัวตนภายใน ความเป็นปัจเจก การแสวงหาปรมาตมัน
ในเรื่องนี้มีคำศัพท์สำคัญสองคำ อาตมัน กับ ปรมาตมัน
ปรมาตมัน (ปรม + อาตมัน) คือดวงวิญญาณ หรืออาตมะอันยิ่งใหญ่ ไม่มีรูป ไม่มีเพศ ไม่มีที่มา ไม่มีที่ไป เป็นปฐมวิญญาณของวิญญาณทั้งปวง จิตวิญญาณสูงสุด เป็นปฐมอาตมันแห่งอาตมันทั้งปวง เป็นจักรวาล เป็นทุกสิ่ง
ส่วนอาตมันคือวิญญาณอิสระ
หากนึกภาพว่า ปรมาตมันเป็นกองไฟใหญ่ สะเก็ดเปลวไฟที่กระจายออกมาโดยรอบก็คือ วิญญาณย่อยที่ไปสิงตามสัตว์โลกต่าง ๆ หากเราสามารถบรรลุโมกษะ (คือการหลุดพ้น) วิญญาณนั้นก็จะคืนสู่ศูนย์กลางรวม
2
เป้าหมายของการหลุดพ้นคือ การรวมวิญญาณอิสระเข้าด้วยกันกับจิตวิญญาณสูงสุด นั่นคืออาตมันกลายเป็นปรมาตมัน หรืออาจบอกว่าเป้าหมายคือการเข้าใจว่า อาตมันก็คือปรมาตมัน
นี่เรียกว่า การหลุดพ้น หรือตรัสรู้ในแนวคิดฮินดู
วันหนึ่งสิทธารถะเดินทางมาถึงแม่น้ำสายหนึ่ง เขาหยุดมองดูสายน้ำที่ไหลเอื่อยเช่นที่เคยไหลมาอย่างนี้ชั่วนาตาปี
เขาพบคนแจวเรือข้ามฟาก เขาบอกคนแจวเรือว่า แม่น้ำสวยมาก
คนแจวเรือชื่อ วาสุเทพ ว่า "ใช่ ฉันรักมันเหนือทุกสิ่ง ฉันมักฟังมัน มองมัน และเรียนรู้บางอย่างจากมัน เราสามารถเรียนรู้มากมายจากแม่น้ำสายหนึ่ง"
สิทธารถะเดินทางเข้าเมือง เขาพบสตรีงามนางหนึ่งชื่อ กมลา เขาโกนหนวดเครา ตัดผม อาบน้ำในแม่น้ำ
เขาพบกมลาและขอให้เธอเป็นครูสอนเขาเกี่ยวกับความรัก ศาสตร์ที่เขาไม่รู้อะไรเลย
หล่อนหัวเราะ บอกให้เขากลับมาพร้อมเสื้อผ้าชั้นดี รองเท้าและเงินทอง แล้วหล่อนถึงจะรับพิจารณาข้อเสนอ
สิทธารถะไปพบพ่อค้าใหญ่คนหนึ่ง ไม่นานต่อมาสิทธารถะก็กลายเป็นพ่อค้าชั้นเลิศ เขาไม่ได้ทำเพื่อเงิน เขาผูกมิตรกับทุกคน ใคร ๆ ก็อยากทำธุรกิจกับเขามากกว่าพ่อค้าอื่น ๆ
กมลาสอนเขาเรื่องรัก
1
ยี่สิบปีผ่านไป ฤดูกาลผันผ่านเลยจนสิทธารถะอายุกว่าสี่สิบ เขากลายเป็นพ่อค้า สร้างฐานะร่ำรวย สิทธารถะมีทุกอย่างที่ชาวโลกย์ต้องการ ใช้ชีวิตอีกขั้วหนึ่ง เป็นนักเลงสกา จมในปลักโลกีย์ ดื่มกินเต็มที่
1
คืนหนึ่งเขานั่งในสวน คิดถึงบิดา โควินทะ พระพุทธเจ้า มองดูกายภาพของตนเอง กลายเป็นชายวัยกลางคน เส้นผมแซมเทา หมดไฟ
พลันสิทธารถะก็รู้สึกว่าบางส่วนของเขาตายไปแล้ว เขาสัมผัสความไร้สาระของชีวิตที่เขาเป็นเจ้าของ
พลันเขาก็ตัดสินใจเดินทางอีกครั้ง ละทิ้งทุกอย่างที่ตนเป็นเจ้าของ ไปแสวงหาเป้าหมายที่เขาไม่เคยพบต่อไป
สิทธารถะหยุดที่ริมแม่น้ำสายหนึ่ง
สิทธารถะพบตัวเองที่ริมแม่น้ำสายเดิมอีกหน มองเงาของตนเองในน้ำ เขาอยากตาย
ที่ริมแม่น้ำเขาพบโควินทะอีกครั้ง
โควินทะจำสิทธารถะในคราบของเสื้อผ้าคนร่ำรวยไม่ได้ เมื่อสิทธารถะบอกว่าตนเองกำลังจาริก โควินทะงุนงง และกล่าวว่า "...คุณไม่เหมือนนักแสวงบุญเลย คุณสวมเสื้อผ้าของคนรวย คุณสวมรองเท้านำสมัย เส้นผมหอมกรุ่นของคุณก็ไม่ใช่เส้นผมของผู้จาริก ไม่ใช่เส้นผมของสมณะ"
สิทธารถะบอกว่า "ผมไม่ได้บอกคุณว่าผมเป็นสมณะ ผมบอกเพียงแต่ว่า ผมกำลังจาริก"
"คุณกำลังจาริก? แต่น้อยคนนะจะเดินทางจาริกด้วยเสื้อผ้า รองเท้า และผมอย่างนี้ ผมเดินทางมาแล้วหลายปี ยังไม่เคยเห็นผู้จาริกเช่นคุณ"
(สำนวนแปลของ สดใส)
บทสนทนาท่อนนี้แม้จะเรียบง่าย แต่เป็นจุดเด่นตอนหนึ่งของเรื่อง อธิบายคำว่า 'เปลือก' ได้อย่างขันขื่น เพราะบางครั้งคนที่พยายามละวางเปลือก ก็ยังอาจยึดติดบางอย่างกับเปลือก
แล้วโควินทะก็เดินทางต่อไป
สิทธารถะตัดสินใจอาศัยที่ริมน้ำนั้น เขาได้ยินแม่น้ำเอ่ยกับเขา สายน้ำไหลเรื่อยเอื่อย
สิทธารถะเรียนรู้จากแม่น้ำ พวกเขาส่งคนข้ามฟากเที่ยวแล้วเที่ยวเล่า
เขาเรียนรู้ว่า แม่น้ำนั้น 'พูด' ตลอดเวลา บางครั้งเป็นกษัตริย์ บางคราเป็นหญิงตั้งครรภ์ บางทีเช่นนก
หลายปีผ่านไป วันหนึ่งวาสุเทพก็เดินทางจากไป ทิ้งให้สิทธารถะอยู่ที่ริมแม่น้ำคนเดียว
สิทธารถะ เป็นหนังสือแนวปรัชญาชั้นดีจากปลายปากกาของนักเขียนชาวเยอรมัน เฮอร์มันน์ เฮสเส
เฮสเสอาจพยายามตั้งคำถามว่า การไปสู่จุดหมาย (ทางสว่างหรือตรัสรู้?) แห่งชีวิตนั้นมีหนทางเดียวหรือ จำเป็นต้องเป็นทางสายที่นักบุญผู้ที่ตรัสรู้แล้วเดินหรือไม่
1
เช่นนิทานเรื่องชายจีนแบกลำไม้ไผ่ ทางเดินไปสู่จุดหมายหนึ่งมักมีมากกว่าหนึ่งทาง บางคนเมื่อเจอกำแพงขวางจะเดินอ้อม บางคนจะไต่ข้ามมันไป บางคนขุดอุโมงค์ข้าม บางคนหาทางสร้างเครื่องร่อนบินข้ามมันไป และบางคนทลายมันลงก่อนที่จะข้าม
2
ขณะที่เราแน่ใจกับวิถีและวิธีการเดินทางของเรา โดยเลือกทางสายสั้นสบายที่สุด เราอาจจะหลงทางทีละน้อย เหมือนชายถือไม้ไผ่คนนั้นมองไม่เห็นทางนำไม้ไผ่ข้ามเข้าเมืองอย่างไรโดยที่ไม่ต้องตัดทำลายมัน
โฆษณา