1 ต.ค. 2022 เวลา 07:47 • ปรัชญา
ตายด้วยน้ำมือคนรัก : ความจริงอันประเสริฐคือทุกข์
บทสนทนากับอ.เขมานันทะ
...
ในปีพ.ศ.๒๕๔๒ ครั้งที่ดิฉันได้ไปพบอ.โกวิท เขมานันทะ เพื่อทำหนังสือชีวประวัติของท่านนั้น ดิฉันได้สนทนาธรรมกับท่านในหลายประเด็น และบันทึกข้อมูลไว้มาก มาวันนี้ค้นเจอเรื่องที่ได้สอบถามอาจารย์ในหลายแง่มุม จึงขอนำคำบอกเล่าจากอาจารย์ มาให้ได้รับรู้ร่วมกัน ดังที่อ.เขมานันทะ ได้ตอบคำถามเกี่ยวกับบางมิติของชีวิตไว้ว่า
อ.เขมานันทะ : เมื่อการปฏิบัติคล้อยตามที่ครูบาอาจารย์แนะนำ มันสุกงอม คือได้ผลบ้าง ไม่ได้ผลบ้าง มันจะเกิดการปฏิวัติขึ้นในตัวเอง แต่ครั้นเริ่มสถาปนาทางเฉพาะตัวของตัวเองขึ้นมา จะเหมือน artist ทั้งหลาย ว่าทีแรกก็ต้องเรียน academic ก่อน ในที่สุดค่อย ๆ รู้ว่าอันนี้ไม่ใช่ แต่ที่ใช่-ไม่รู้
.
แล้วไอ้ไม่ใช่ พอเรารู้ พอเราเข้าใจเพราะผ่านประสบการณ์มาได้ ทีนี้เราก็จะค่อย ๆ เป็นอิสระจากสิ่งที่รู้แล้วทีละน้อย ๆ เราก็จะเริ่มเข้าทางกรรมฐานที่เหมาะกับใครคนใดคนหนึ่ง เหมาะกับตัวเรา นั่นก็คือคนนั้นเองค้นพบทางของเขาแล้ว เขารู้ว่าวิธีนี้เหมาะกับพื้นฐานทางอารมณ์และความต้องการส่วนตัวเขาแล้วนะ
.
คนบางคนไม่ต้องการสอนคนอื่นตรงนี้นะฮะ ต้องการจะรู้อย่างเดียว คนบางคนรู้อย่างเดียวไม่พอ ต้องการเป็นครูของมนุษย์ด้วย ความต้องการไม่เหมือนกัน คนบางคนใจใหญ่ครับ ถ้าฉันรู้ โลกทั้งโลกต้องรู้ด้วย
.
ส่วนบางคนมีจิตใจที่ไม่ใหญ่ แต่ว่าตัวเองมีความทุกข์ จะเป็นอกหักมา หรือเจอทุกข์อะไรมา ขอตัวเขาพ้นทุกข์ก็พอแล้ว เขาก็เหมาะที่จะค้นพบวิธีการของเขาเองนะ แต่ในที่สุดผมคิดว่า ทุก ๆ คนจะก้าวหน้าไปด้วยดี เมื่อพบทางออกของตัวเองได้
.
คำนี้ผมระแวงสงสัย-คำว่า “เป็นตัวของตัวเอง” น่ะ มันหมิ่นเหม่กับความถือดี คือยึดถือตัวเองเป็นหลัก
.
ความเป็นตัวของตัวเองควรจะมีเพิ่มเติมด้วยว่า คือ-ความเป็นตัวของตัวเองที่มีพื้นฐานความถ่อมในตัว มีความเจียมตัว มีความถ่อม แล้วก็มีความตระหนักรู้ และใฝ่รู้อยู่ในตัวด้วย ถ้าไม่เช่นนั้นเป็นตัวของตัวเองคือ ไม่ยอมเรียนรู้อะไรอีกแล้ว นี้แหละอันตราย คำพูดนี้ “เป็นตัวของตัวเอง” มันถึงหมิ่นเหม่มาก
.
ผมจึงอยากใช้คำว่า “ถึงต้นแบบในตัวเอง”
.
ถ้าเป็นศิลปิน การถึงต้นแบบของตัวเอง คือการหาวิธีของตัวเองได้แล้ว แล้วก็ไม่ได้คิดดูแคลนคนอื่น ไม่ได้คิดว่าคนอื่นจะผิดถูก อาจจะถูกของเขา แต่ของเราคืออันนี้ ความเข้าใจตัวเองมากกว่า ดีกว่าความเป็นตัวของตัวเอง
.
ความเข้าใจตัวเองเป็นสิ่งสำคัญ เพราะปราศจากความเข้าใจแล้วนี่ ความเป็นตัวของตัวเองอันตรายนะ อันตรายทีเดียว กลายเป็นความดื้อรั้น มานะทิฐิ กลายเป็นควายเขากาง ทำไมเขาถึงเรียกควายเขากางรู้ไหม ควายเขากางคือเข้าคอกไหนก็ขวิดเพื่อน เพราะเขามันกางฮะ ความเข้าใจตัวเองนี่ ผมว่าสำคัญ คือเราไม่ตั้งใจจะให้ผิดแปลกจากคนอื่น แต่ความที่เราเข้าใจแล้ว ตระหนักแล้ว อันนี้มันเป็นคำตอบสำหรับเรา ซึ่งมันมักจะมากับความอิ่มใจ ความสันโดษ พอใจเท่าที่ตัว
เองเป็นนะ แล้วมันระงับความอิจฉาทะเลาะเบาะแว้งคนอื่นได้ด้วย
.
แต่ความเป็นตัวของตัวเองส่วนใหญ่ทะเลาะกันเองบ้าง เป็นตัวของตัวเองเกินไปก็ทำให้คนอื่นลำบาก เป็นตัวของตัวเองมากเกินไปก็ขาดเมตตาปรานี ขาดความปรองดอง ขาดมนุษยธรรมได้
.
แต่ความเข้าใจตัวเองนี่มันมาคู่กับความเข้าใจคนอื่น พอเข้าใจตัวเองได้ก็พอจะเข้าใจคนอื่นได้ แล้วจะเกิดการปรองดองครับ นี้คือมาพร้อมกับความปรานี
.
สิ่งที่นักปฏิบัติพึงตระหนักคือ การทดลอง คือว่าทุกเรื่องต้องอยู่ใน sense ของการทดลอง ไม่ใช่ข้อสรุป ไม่งั้นเราจะได้เห็นการยืนยันแบบหัวชนกำแพงว่าของฉันเท่านั้นถูก เพราะคิดว่าตัวเองเป็นคำตอบซะแล้ว
.
แต่ถ้า sense ของการทดลองในที่นี้ผมหมายถึงไม่ใช่ experiment นะ แต่เป็น explore experiment อย่างนักวิทยาศาสตร์นี่ experiment มีสมมติฐานเรียบร้อยแล้ว มีทฤษฎีคร่าว ๆ แล้ว
.
แต่ explore ไม่มีทฤษฎีเลย ดังนั้นพวกเรากำลัง explore เกาะกลางทะเลมหาสมุทรแห่งหนึ่ง ไม่มีใครมีความรู้ล่วงหน้าเลยเกี่ยวกับสิ่งนั้น ดังนั้น explore นี่จะทำให้เกิด alertness การตื่นตัวในการเรียนรู้ใหม่ ๆ แต่ถ้า experiment มันมีระเบียบทีท่ามาเรียบร้อยแล้ว
.
explore ก็เป็นสื่อความลึกซึ้งในธรรมชาติ เช่น เวลาเศร้า อย่าไปทำอะไรเข้า ดูมัน ดูความล้ำลึกของความเจ็บปวดโดยไม่ทำอะไรเลย คำว่าโดยไม่ทำอะไรเลย หมายความว่า เรากำลังเรียนรู้เอาพิษร้ายกาจที่สุด แล้วทีหลังมันจะน้อยลง แต่ผมไม่ได้บอกให้ลองให้งูกัดนะ ทีหลังมันจะไม่กัด ไม่ใช่อย่างนั้น กำลังพูดถึงสภาวะภายในบางทีเรา เช่นว่า เราน้อยใจเพื่อนสักคนหนึ่ง ง่ายที่สุดสำหรับทางออก โดยทั่วไปคนธรรมดาก็ประณามเพื่อนคนนั้นซะ เราก็เป็นตัวของเราเอง
เราคิดว่าเพื่อนเราเอ๊ะคิดว่าดี ที่จริงก็เลวเหมือนคนอื่น เราก็รู้สึกเชิดหงอนได้แล้ว เชิดอกก็ได้ แต่เราไม่เรียนรู้ความเจ็บปวดเลย เราไม่ได้รู้อะไรด้วยซ้ำไป นอกจากความหยิ่งของเราใหม่ ๆ ความหยิ่งของเรา ซึ่งชำนาญด้วยซ้ำเมื่อทำอย่างนั้น ง่ายเกินไปด้วยซ้ำไป ที่จะสาปส่งใครสักคนหนึ่ง ถ้าเรายอมรับนะว่าเรารักใครคนหนึ่ง เขาตีจากไป
สมมตินะ เรากำลังเปิด shutter ที่สำคัญที่สุด คือความเจ็บปวด แต่เราต้องไม่ทำอะไรกับมันเลย ปล่อยให้พิษของมัน เสียดเข้าไปถึงแก่นโดยไม่ต้านไม่รับ ไม่ถอย ไม่สู้ ไม่อยู่ ไม่หนี ในที่สุดฤทธิ์มันก็แสดงออกในขอบเขต เราครอบงำได้ด้วยความรับรู้อันบริสุทธิ์นี่นะฮะ ความทราบบริสุทธิ์คือการเห็นล้วน ๆ นี่นะฮะ โดยไม่มีปฏิกริยาเลย ไม่ต้าน ไม่รับ มีการเห็นแสงสว่างของความรับรู้ล้วน ๆ ต่อความเจ็บปวด และความทุกข์อันนั้นน่ะ แล้วทีหลังมันจะน้อยลง
ถามว่าเพราะอะไร จิตมันสร้างภูมิต้านทานขึ้นมา มันปรับตัวขึ้นมา เอ๊ะก็เท่านั้นเอง ไม่เห็นจะตายนี่ ทีหลังจะน้อยลง ๆ จนกระทั่งน้อยลงชนิดที่ไม่มีปฏิกริยาด้วย แล้วยังมี goodwill กับเพื่อนมนุษย์ ยังเข้าใจ แถมอภัยให้คนที่ทำความเจ็บปวดให้เราได้ แถมขอบคุณด้วยซ้ำที่ทำให้เราดีขึ้น ได้รู้ความจริงที่ลึกกว่า
ดังนั้นวิปัสสนาแบบนี้นะครับ มันไม่มีรูปแบบแต่เป็นการเปิดใจขึ้นรับความจริงทุกระดับ ความจริงของความเจ็บป่วย ความจริงของความแก่เฒ่า ความจริงของการพลัดพรากจากสิ่งที่ตัวเองหวัง เรียกว่าสิ่งทั้งหมดนั้นย่อมเป็นความจริงที่ทำให้เราดีขึ้น เป็นผู้ใหญ่ขึ้น เป็นอารยะขึ้น พระพุทธเจ้าเรียกความจริงเช่นนี้ว่า ทุกข์อริยสัจ ความจริงอันประเสริฐคือทุกข์ฟังดูมันขัดแย้งนะ มันประเสริฐยังไงทุกข์ มันประเสริฐเพราะมันสอนให้เราเรียนรู้ชีวิตได้อย่างเป็นกุศล
ปกติเราอาจจะเรียนรู้บทเรียนอันเจ็บปวด แต่เราแฝงอกุศลเติบโตด้วยนะ คือเกลียดคนมากขึ้น เราฉลาดขึ้น แต่พร้อมกันนั้นเราไม่ง่าย เราเป็นคนไม่ค่อยง่ายเท่าไรนัก เรายุ่งยากขึ้น เรายิ่งฉลาด เรายิ่งก่อกวนเพื่อนมนุษย์มากขึ้นด้วยนะ ในความฉลาด ผมว่าการยอมรับความเจ็บปวด เหมือนกับให้มีดเสียบเข้ามาโดยดีนี่นะ ก็เข้านิทานเรื่องยูนิคอร์นที่เคยเล่าให้เอียดฟัง
ยูนิคอร์นก็คือนิทานที่ผมเข้าใจว่าของเก่านะ พวกเดียวกับพวกยิว พวกกรีก พวกบาบิโลน เข้าใจว่ามาจากบาบิโลน พระผู้เป็นเจ้าเลี้ยงดูยูนิคอร์น สัตว์แสนสวยและฉลาด รูปร่างคล้ายม้าและมีเขา อยู่มาวันหนึ่งนายพรานอยากจะได้เขาของยูนิคอร์น แต่ความที่ยูนิคอร์นเป็นสัตว์ฉลาดมาก ๆ โอกาสที่จะเข้าใกล้ตัวไม่มีเลย พระผู้เป็นเจ้าเลี้ยงไว้ในหุบเขาที่สวยงามมาก นายพรานก็ส่งลูกสาวแสนสวยของตัวเองให้เข้าไปในหุบเขา เธอก็เข้าไปรู้จักมักคุ้นกับยูนิคอร์น ยูนิคอร์นก็หลงรัก ทั้งรู้ด้วยว่าเธอมาด้วยเจตนาอะไร ความเป็นคนฉลาด ซื่อ-ฉลาด
คุณสมบัติสองอันนี้มักจะปนกันไม่ค่อยได้ ถ้าซื่อแล้วมักจะเซ่อ ถ้าฉลาดมักจะโกง ทีนี้ยูนิคอร์นเป็นสัญลักษณ์ของพระเยซู ทีนี้พอถึงวันได้เวลาเข้า นายพรานก็สั่งลูกสาว บอกถึงเวลาเชือดแล้ว ซึ่งยูนิคอร์น อยู่ในสายตาของยูนิคอร์นตลอดเวลา เขารู้ว่าเขาตาย....
พอถึงเวลาลูกของนายพรานก็เอามีดซุกไว้ข้างหลัง ยูนิคอร์นเขาเอาคางเกยบนตักเธฮ แล้วแหงนคอให้เชือด คล้าย ๆ ตายด้วยน้ำมือคนที่เรารักนี่ดีที่สุด เรื่องนี้เอาเปรียบเทียบกับพระเยซู ยอมถูกตรึงกางเขน เพื่อช่วยคนที่ทำร้ายพระองค์ท่าน โครงสร้างเดียวกับฉัตทันชาดก ยอมตายเพื่อยกวิญญาณของคนที่เรารักให้พ้นจากขุมนรก เรื่องลึกซึ้งแบบนี้สำหรับคนใหม่ ๆ เขาถือว่าเป็นเรื่องโง่เง่าเต่าตุ่น ไปยอมตายทำไม
1
ที่วาติกันจะมีเรื่องนี้อยู่ที่ ภาพเขียน ถ้าผมจำไม่ผิดนะจะเป็นด้านที่หันไปทางทิศเหนือ แล้วในภาพเขียนยุคกลางนิยมวาดยูนิคอร์นกันมาก มันเป็นจริยธรรมและเป็นลัทธิ mystic อยู่ในตัวนะ คือว่าตายด้วยน้ำมือคนที่เรารัก ตายด้วยความสมัครใจ ซึ่งขัดแย้งกับความรู้สึกของคนร่วมสมัยมาก ๆ ความตายคือความสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่สำหรับคนในกระแสบริโภคนิยม
.
สำหรับครั้งเก่าก่อน ความตายเป็นการเริ่มต้นของชีวิตใหม่ บางทีอาจจะดีกว่าด้วยซ้ำไป คนคิดอย่างนั้นก็มีนะ ชาวญี่ปุ่นถือว่าตายเจ็ดวันเกิดใหม่
๑๕ พฤษภาคม ๒๕๕๕ ๑๐ ปีก่อน ที่จ.เชียงราย
โฆษณา