2 ต.ค. 2022 เวลา 01:02 • หนังสือ
เป็น รปภ. นายจ้างให้ทำงานเกิน ๘ ชม. แถมยังย้ายงานบ่อย พอจะออกจากงาน แจ้งลาออกไม่ครบเดือนหักค่าจ้างอีก
เรื่องนี้พิจารณาเป็นประเด็นต่าง ๆ ได้ดังนี้
๑) งาน รปภ. นายจ้างต้องให้ทำงานวันละกี่ชั่วโมง คำตอบ คือทำงานวันละ ๘ ชั่วโมง แต่อย่างไรก็ตาม นายจ้างกับลูกจ้างอาจตกลงกันทำงานวันละกี่ชั่วโมงก็ได้ เพราะมีกฎกระทรวงกำหนดให้ "งานบริการ" สามารถตกลงทำงานวันละกี่ชั่วโมงก็ได้ แต่สัปดาห์หนึ่งต้องไม่เกิน ๔๘ ชั่วโมง
๒) การย้ายงานเพื่อไปประจำจุดต่าง ๆ ที่นายจ้างรับงานมา เช่น เดือนนี้เป็น รปภ. หมู่บ้าน อีก ๒ เดือนย้ายไปเป็น รปภ. โรงงาน อีก ๒ เดือนย้ายไปเป็น รปภ. ห้างสรรพสินค้า แบบนี้นายจ้างสามารถทำได้ เพราะปกติบริษัทนายจ้างจะทำข้อตกลงกับลูกจ้างว่าสภาพงานต้องออกไปทำนอกสถานที่ หรือไปทำงานในที่ต่าง ๆ หลายแห่ง เช่นนี้จึงเป็นอำนาจของนายจ้างที่สามารถย้ายได้ (หนังสือที่ รส ๐๖๐๓/๑๐๙๗๗ ลว. ๖ ธค. ๒๕๔๔)
แต่มีข้อสังเกตว่าจะต้องไม่ย้ายไปไกลมาก เช่น ย้ายจากที่เดิมไป ๒๐๐ กม. เช่นนี้ อาจเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ไม่เป็นธรรมได้ (คำพิพากษาฎีกาที่ 166-167/2546)
ประเด็นสำคัญว่าคำสั่งนั้นเหมาะสมหรือไม่ ต้องพิจารณาว่าคำสั่งดังกล่าว สร้างความลำบากให้กับลูกจ้างมากขนาดไหน หรือเพิ่มภาระแก่ลูกจ้างมากขึ้นเพียงใดเป็นสำคัญ
โดยปกตินายจ้างมักจะใช้วิธีจัดสวัสดิการเพิ่มแก่ลูกจ้าง โดยอาจจ่ายค่าเดินทาง ค่าที่พัก หรือจัดที่พัก หรือกรณีย้ายครอบครัวก็มีการอำนวยความสะดวก เช่นนี้ ก็จะทำให้การย้ายนั้นมีความเป็นธรรมมากขึ้น
๓) กรณีลาออกไม่ครบเดือน นายจ้างหักค่าจ้าง กรณีนี้ไม่สามารถทำได้ เมื่อลูกจ้างทำงาน หรือเอาแรงงานไปให้นายจ้างแล้ว นายจ้างต้องตอบแทนด้วยเงิน และกฎหมายห้ามมิให้หักค่าจ้าง หรือค่า OT และกรณีดังกล่าวก็ไม่เข้าข้อยกเว้นด้วย (มาตรา ๗๖)
โฆษณา