3 ต.ค. 2022 เวลา 10:50 • ธุรกิจ
QueQ แอปจองคิว ใช้ฟรี สร้างรายได้จากอะไร ?
ร้านอาหารตามเมืองใหญ่ ๆ ในประเทศไทย มักขึ้นชื่อเรื่องการต่อคิวเป็นเวลานาน
แม้จะเป็นปัญหาสำหรับหลายคน แต่กลับเป็นโอกาสของใครบางคนด้วยเช่นกัน
ซึ่งคนนั้นก็คือ คุณโจ้ รังสรรค์ พรมประสิทธิ์ ชายวัย 45 ปี เจ้าของ QueQ
แอปพลิเคชันที่สามารถจองร้านอาหาร ไม่ว่าจะเป็น สุกี้ตี๋น้อย, ย่างเนย, ต๋องเต็มโต๊ะ, Sizzler, Mo-Mo-Paradise และร้านอื่น ๆ อีกมากมาย
ปีล่าสุด บริษัทสามารถสร้างรายได้ 13 ล้านบาท
ซึ่งแม้จะลดลงจากปีก่อน ที่รายได้ 26 ล้านบาท ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19
แต่คำถามที่น่าสนใจคือ QueQ ทำรายได้จากอะไร ทั้ง ๆ ที่ใคร ๆ ก็สามารถใช้งานได้ฟรี ?
BrandCase จะสรุปโมเดลของ QueQ แบบเข้าใจง่าย ๆ
QueQ มีจุดเริ่มต้นมาจากการที่คุณโจ้ เห็นระบบของโรงพยาบาลและธนาคาร ที่มักจะมีปัญหาเรื่องระบบการต่อคิว จึงเกิดไอเดียที่จะสร้างระบบการจองคิวแบบใหม่ ที่มีประสิทธิภาพขึ้นมา
แต่คุณโจ้มองว่า ปกติแล้วผู้คนไม่ได้เข้าโรงพยาบาล และธนาคารบ่อยครั้งนัก จึงเล็งหากลุ่มผู้ใช้อื่นที่มีความถี่ในการใช้งานมากกว่า และก็ได้คำตอบว่าควรเจาะที่ “ร้านอาหาร”
เพราะโดยปกติแล้วร้านอาหารในกรุงเทพมหานคร และตามเมืองใหญ่ ๆ มักจะมีปัญหาการจองคิวอยู่เสมอ
ซึ่งไม่ได้เป็นปัญหาเฉพาะลูกค้าร้านอาหาร ที่ต้องนั่งคอยคิว จนเสียเวลาในการทำอย่างอื่นเท่านั้น
แต่ยังเป็นปัญหากับผู้ประกอบการร้านอาหารด้วยเช่นกัน
เพราะนอกจากผู้ประกอบการจะต้องคอยบริหารสิ่งต่าง ๆ ภายในร้านแล้ว ยังต้องมาจัดการเรื่องคิวอีก ซึ่งอาจจะทำได้ไม่มีประสิทธิภาพมากพอ จนทำให้ลูกค้าที่รอคอยไม่พอใจ และเลิกใช้บริการไปในที่สุด
เมื่อมี Pain point ที่ชัดขนาดนี้ คุณโจ้จึงไม่รอช้า กลับมาพัฒนาบริการ QueQ จนได้รูปแบบธุรกิจที่เหมาะสม
นั่นคือบริษัทจะเข้ามาติดตั้งตู้แสดงคิว และระบบการจองคิว
โดยที่ภายในระบบจะมีข้อมูลของลูกค้า และการวิเคราะห์เวลารอคิวโดยเฉลี่ยให้ด้วย สามารถนำไปวางแผนบริหารได้ต่อ
ขณะที่ฝั่งของลูกค้าร้านอาหาร จะสามารถจองคิวออนไลน์ของร้านได้ หากอยู่ในระยะ 2 กิโลเมตร
โดยที่ระบบจะแจ้งเตือนอัตโนมัติ หากใกล้ถึงคิวของตัวเองแล้ว ไม่ต้องเสียเวลานั่งรออย่างเช่นที่ผ่าน ๆ มา
ดังนั้นรายได้ของ QueQ จึงมาจากค่าเช่าระบบ และค่าตู้บอกคิว (ที่ตั้งอยู่ที่หน้าร้าน) แบบรายเดือนนั่นเอง
ซึ่งรู้หรือไม่ว่า ไม่ได้มีเฉพาะประเทศไทยเท่านั้น ที่มีปัญหาเรื่องการต่อคิวนาน แต่ประเทศอื่น ๆ ก็มีปัญหาเช่นกัน
2
นั่นจึงทำให้ QueQ ไม่ได้มีบริการแค่ไทยเท่านั้น แต่ยังกระจายไปสู่นอกประเทศด้วย ไม่ว่าจะเป็น มาเลเซีย ไต้หวัน ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ กัมพูชา และลาว
นอกจากนั้น QueQ ยังได้ขยายบริการไปสู่ธุรกิจอื่น ๆ ที่มีปัญหาไม่ต่างจากร้านอาหาร
เช่น โรงพยาบาล ธนาคาร และหน่วยงานภาครัฐ
หลายคนเลยอาจสงสัยต่อว่า ทำไมธุรกิจมากมายถึงเข้าร่วมกับ QueQ แทนที่จะพัฒนาแอปพลิเคชันของตัวเอง หรือไม่ก็จ้างพนักงานสำหรับจัดคิวโดยเฉพาะ
ก็ต้องบอกว่า การที่จะทำให้ผู้คนดาวน์โหลดและใช้แอปพลิเคชันได้นั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย
แต่ที่ QueQ มีความได้เปรียบ มากกว่าการที่ธุรกิจต่าง ๆ จะพัฒนาแอปพลิเคชันเป็นของตัวเอง คือมีตัวเลือกให้เลือกได้มากกว่าเจ้าอื่น ๆ
ตั้งแต่จำนวนร้านอาหาร ความหลากหลายของธุรกิจ เช่น การมีให้จองทั้งร้านอาหาร ธนาคาร และโรงพยาบาล
ส่วนในมุมของเจ้าของร้าน หรือเจ้าของธุรกิจ
ค่าเช่าระบบ และค่าตู้แบบรายเดือนของ QueQ ก็มีค่าใช้จ่ายที่ถูกกว่าค่าจ้างพนักงานเพิ่ม เพื่อมาช่วยดูแลด้านนี้
และจากเรื่องราวนี้ ทำให้ QueQ มีร้านอาหารดังทั่วกรุงเทพมหานคร กว่า 80% ในแพลตฟอร์ม โดยมีผู้ใช้งานในระบบ มากกว่า 4 ล้านคน และสร้างรายได้ ถึงหลักสิบล้านบาท
อย่างไรก็ดี QueQ ยังมีข้อน่ากังวลอยู่เหมือนกันว่า สุดท้ายแล้วหากธุรกิจต่าง ๆ ปรับตัว จนสามารถบริหารจัดการระบบคิวได้ดีแล้ว
พวกเขาก็คงไม่จำเป็นต้องใช้บริการ QueQ อีกต่อไปก็ได้..
โฆษณา