3 ต.ค. 2022 เวลา 09:41 • การศึกษา
เซ็นชื่อกรรมการบริษัทในเอกสารเพื่อขอคืนภาษี โดยที่กรรมการยินยอม จะถือว่าเป็นการปลอมเอกสารหรือไม่?
การลงลายมือชื่อในเอกสารนั้น (ต่อไปผมขอเรียกสั้น ๆ ว่าการเซ็นชื่อ) เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ผู้เซ็นควรใช้ความระมัดระวัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเซ็นชื่อคนอื่น แม้ว่าเจ้าของลายเซ็นตัวจริงจะให้ความยินยอมก็ตาม
เพราะนอกจากจะไม่มีผลทางกฎหมายแล้ว ยังอาจส่งผลให้เอกสารที่เซ็นไปนั้นกลายเป็นเอกสารปลอม และทำให้ผู้เซ็นมีความผิดฐานปลอมเอกสารได้
มีตัวอย่างจากคดีเรื่องหนึ่ง จำเลยได้ลงชื่อกรรมการบริษัทและประทับตราบริษัทในแบบฟอร์มและเอกสารประกอบอื่น ๆ สำหรับขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มจากกรมสรรพากร
โดยที่กรรมการบริษัทก็อนุญาตให้จำเลยเซ็นชื่อของกรรมการเองลงในเอกสารดังกล่าวได้
แต่การเซ็นชื่อนั้นไม่มีกฎหมายให้อำนาจเซ็นแทนกันได้ แม้เจ้าของลายเซ็นจะอนุญาตหรือให้ความยินยอมก็ตาม
ดังนั้น การที่จำเลยเซ็นชื่อของกรรมการบริษัทลงในแบบฟอร์มและเอกสารสำหรับขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม จึงเป็นการลงลายมือชื่อปลอมลงในเอกสาร ซึ่งเป็นความผิดฐานปลอมเอกสาร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264
แล้วคดีนี้ใครเป็นผู้เสียหาย?
-บริษัทและกรรมการบริษัท-
เมื่อกรรมการบริษัทได้ยินยอมให้จำเลยเซ็นชื่อของกรรมการลงในเอกสารเพื่อขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มของบริษัท ดังนั้น บริษัทและกรรมการบริษัทจึงไม่ใช่ผู้เสียหายตามกฎหมาย ที่จะมีอำนาจฟ้องหรือเข้าเป็นโจทก์ร่วมกับพนักงานอัยการได้
(บุคคลที่จะเป็นผู้เสียหายในคดีอาญาตามความหมายของประมวลกฎหมายพิจารณาความอาญานั้น จะต้องไม่มีส่วนในการกระทำความผิด หรือไม่เป็นผู้ใช้ หรือผู้สนับสนุน หรือรู้เห็นในการกระทำความผิด)
-เจ้าหน้าที่กรมสรรพากรและกรมสรรพากร-
จำเลยปลอมเอกสารและนำเอกสารปลอมดังกล่าวไปแสดงต่อเจ้าหน้าที่กรมสรรพากรเพื่อขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มและได้รับภาษีคืนไปแล้ว การกระทำของจำเลยจึงทำให้เกิดความเสียหายแก่เจ้าหน้าที่กรมสรรพากรผู้ดำเนินการดังกล่าวและกรมสรรพากร จึงเป็นความผิดฐานปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264 และ 268 ซึ่งเป็นความผิดอาญาแผ่นดินไม่ใช่ความผิดต่อส่วนตัว
ดังนั้น แม้บริษัทและกรรมการบริษัทจะไม่ใช่ผู้เสียหายตามกฎหมาย พนักงานสอบสวนจึงมีอำนาจสอบสวนโดยไม่ต้องมีคำร้องทุกข์ และพนักงานอัยการมีอำนาจฟ้องจำเลยได้นั่นเอง
อ้างอิงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1957/2563
โฆษณา