Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
PD Okhun
•
ติดตาม
3 ต.ค. 2022 เวลา 12:00 • การ์ตูน
แม้ว่าจะเป็นแฟนคลับค่าย Kyoto Animation ก็ตาม แต่เมื่อดูเรื่อง Hibike! Euphonium ครั้งแรก กลับไม่ได้รู้สึกว่าชอบขนาดนั้น แต่เมื่อวันเวลาผ่านไป กลับพบว่าเอาอนิเมะเรื่องนี้ออกจากหัวไม่ได้เลย เรื่องนี้มันมีอะไรพิเศษอย่างนั้นหรือ? แค่คำถามก็มีคำตอบอยู่แล้ว เพราะความต้องการที่จะพิเศษนั่นแหละทำให้เรื่องนี้พิเศษ
Hibike! Euphonium
ส่วนตัวที่ชอบดนตรีอยู่แล้ว กลับไม่ค่อยชอบดูอนิเมะที่เกี่ยวกับดนตรีเท่าไหร่นัก ฉากดนตรีที่ชอบที่สุดก่อนมาพบกับ Hibike คือฉากที่ฮารุฮิเล่นเพลง God Knows ที่ตราตรึงใจอย่างมาก K-on! ก็เป็นอนิเมะจากค่าย Kyoto Animation แต่เนื้อหาหนักไปที่การใช้ชีวิตไปวัน ๆ ของสมาชิกชมรม (เพราะถ้าอนิเมะจะอธิบายว่าทำไมยุยถึงเล่นกีต้าร์ได้ขนาดนั้น คงกินเวลาไปมากโขอยู่ เพลงที่สาว ๆ เล่นมันยากเหมือนกันนะ)
ไม่รู้ว่าเพราะอะไร แต่ Hibike ติดอยู่ในใจมาตลอด แม้ว่าจะคิดในใจตอนดูว่า “เอ เรื่องนี้มันมีดีแค่ภาพ สี กับเสียงหรอ แล้วเนื้อเรื่องล่ะ?” เนื้อเรื่องไม่ใช่และไม่เคยเป็นจุดโฟกัสของอนิเมะค่ายนี้เลย ไม่มีพล็อตที่ใหญ่โต ไม่มีปัญหาที่ท้าทายโลก เพราะจุดเด่นของอนิเมะค่ายนี้คือเรื่องราวทั่วไปประจำวัน และความรู้สึกอารมณ์และการเติบโตของตัวละคร เนื้อเรื่องเป็นเพียงองค์ประกอบรองที่ส่งเสริมให้ตัวละครมีชีชิตชีวามากขึ้นเท่านั้น
แบบนี้เขาเรียกว่า Slice of Life ซึ่งเป็นแนวอนิเมะที่ผู้เขียนชอบมากที่สุด มันไม่ได้มีพล็อตหลักที่ใหญ่โตขนาดต้องไปโค่นล้มปีศาจ ขัดขวางแผนการคนชั่วร้าย หรือกอบกู้โลก แต่เป็นเรื่องกิจวัตรทั่ว ๆ ไป จริงอยู่ว่าผู้เขียนก็ชอบอนิเมะที่มีพล็อตน่าตื่นเต้น ไม่ว่าจะเป็นโชเนนเรื่องต่าง ๆ อย่าง Demon Slayer หรือ Jujutsu Kaisen ที่กำลังนิยมอย่างแพร่หลายในขณะนี้ หรืออนิเมะที่ได้ขึ้นแท่นตำนานแน่ ๆ อย่าง Attack on Titan
แต่ Kyoto Animation สามารถสะกดผู้ชมให้อยู่กับเรื่องราวที่ไม่น่าตื่นเต้นประจำวันของคนทั่ว ๆ ไปได้อย่างน่าเหลือเชื่อ ไม่ว่าจะเป็น Kobayashi Dragon Maid ที่แม้จะมีตัวละครที่เป็นมังกร แต่เรื่องราวดำเนินบนพื้นฐานของการใช้ชีวิตอย่างมนุษย์ Hyouka อนิเมะแนวสืบสวนที่หัวใจอยู่กับชีวิตสีกุหลาบของตัวละคร Tamako Market กับเรื่องราวของชุมชนที่ใกล้ชิดกันประหนึ่งครอบครัวใหญ่ ไม่ต้องพูดถึง Violet Evergarden และ A Silent Voice ที่เป็น Masterpiece
Violet Evergarden, Tamako Love Story, Clannad After Story, A Silent Voice, Disappearance of Suzumiya Haruhi (ภาพจาก: https://blog.gaijinpot.com/top-5-must-watch-anime-from-kyoto-animation-studios/)
ทุกเรื่องมีความสวยงามของมัน มันคือความสวยงามของชีวิตธรรมดาของผู้คนทั่วไป Hibike! Euphonium ก็เป็นหนึ่งในนั้น เรื่องราวดำเนินผ่านนางเอก โอมาเอะ คุมิโกะ หญิงสาวธรรมดาที่ธรรมดาจริง ๆ และต้องการที่จะธรรมดาแบบนั้นด้วยความกลัวที่จะเป็นคน “พิเศษ” หรือว่าแท้ที่จริงแล้ว เธอกลัวที่จะเป็นคนที่เด่นเกินหน้าเกินตา หลังจากอยู่ชมรมดนตรีและไม่ประสบความสำเร็จในการแข่งขันตอนม.ต้น เธอเข้าสู่ม.ปลายโดยทิ้งดนตรีไว้ข้างหลัง
จนเธอหลีกเลี่ยงไม่ได้และจับยูโฟเนี่ยมขึ้นมาอีกครั้ง และเข้าชมรมดนตรีที่โรงเรียนของเธอ และพบเจอเพื่อนเก่า โคซากะ เรย์นะ ที่ตรงข้ามกับเธอ เรย์นะต้องการเป็นคนพิเศษ ความสัมพันธ์ของเธอทั้งสองเริ่มดีขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากขุ่นเคืองกันเมื่อคุมิโกะพูดจาอย่างไม่คิดและทำร้ายจิตใจเรย์นะเมื่อพ่ายแพ้ในการแข่งขันตอนม.ต้น
เรย์นะ: ไม่เสียใจเลยหรือไง
คุมิโกะเลือกที่จะเป็นคนธรรมดาที่ไม่ต้องการจะเปร่งเสียงของเธอให้ใครได้ยิน เธอไม่ต้องการที่จะเป็นคนพิเศษเพราะกลัวจะเป็นจุดสนใจ คำว่า Emotional Backseat น่าจะเป็นคำที่เหมาะสมที่สุด (เพราะเมื่อผู้เขียนนึกถึงตัวละครนี้ คำนี้มักผุดขึ้นมาอย่างไม่รู้ตัว) เธอไม่แสดงออกว่าเธอต้องการอะไร เพราะเธอไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเธอต้องการอะไร เธอคือตัวประกอบอย่างสมบูรณ์
ในตอนต้นของเรื่อง คุมิโกะไม่ต่างจากตัวประกอบดี ๆ นี่เอง เมื่อเดินเข้าห้องชมรมครั้งแรก คุมิโกะ และเพื่อนของเธออีกสองคนถูกต้อนรับโดยทานากะ อาซึกะ รุ่นพี่อารมณ์ดี ที่ดูจากร้อยเมตรก็รู้ว่าเป็นตัวละครสำคัญ เธอเป็นบุคคลที่ชมรมต้องการ เพราะความสามารถในยูโฟเนี่ยมของเธอ ความเก่งและความเป็นผู้ใหญ่ เรย์นะก็เช่นเดียวกัน ดูจากร้อยเมตรก็รู้ว่าเป็นคนสำคัญ เพราะเธออยากจะเป็นคนพิเศษ
ปัญหาหรือปมของเรื่องในตอนต้นไม่ได้หมุนรอบคุมิโกะเลยแม้แต่น้อย เธอพยายามทำตัว Low Profile แต่ละปมเป็นปัญหาของคนอื่น ๆ คุมิโกะเป็นตัวละครหลังห้อง คอยอยู่ห่าง ๆ และเมื่อคนถามความคิดเห็นของเธอ เธอจะตอบแบบที่คนอื่นอยากจะได้ยิน เธอไม่ต้องการเป็นตัวปัญหา
แต่นั่นคือปัญหาของเธอ เธอต้องการที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเอง แต่ไม่ทำให้มันสุด ๆ เธอไม่ได้เปร่งเสียงของเธอเพื่อแสดงออกความเป็นตัวของเธอเอง เธอทำเพียงแสดงออกความคิดเห็นของคนอื่นเท่านั้น แม้ว่าเธอจะเปลี่ยนทรงผมของเธอเมื่อเข้าสู่ม.ปลาย แต่เธอไม่ได้เปลี่ยนแปลงตัวเองเลย เธอหลีกหนีความเป็นตัวเธอไม่ได้ และเธอยังไม่รู้ถึงเรื่องนั้น
จนกระทั่งเรย์นะเปร่งเสียงของเธอ เธอไม่กลัวที่จะแสดงความคิดและความรู้สึกของเธอ มันน่าแปลกที่เรย์นะเป็นคนกล้าแสดงออก แต่กลับเงียบและแสดงสีหน้าน้อยกว่าคนอื่น ๆ เมื่อเทียมกับคุมิโกะแล้ว ที่แม้จะไม่ต้องการโดดเด่น แต่สีหน้าชัดเจน และมักพูดสิ่งที่เธอคิดออกมาโดยไม่คิดหน้าคิดหลัง ซึ่งมันก็อาจไปทำร้ายความรู้สึกคนอื่นได้โดยที่เธอไม่ต้องการ นี่คือตัวอย่างหนึ่งของ Show, Don’t Tell ที่ค่ายนี้ทำออกมาได้ดีมาก
แต่เมื่อความสัมพันธ์ระหว่างคุมิโกะและเรย์นะพัฒนาขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อคุมิโกะเผลอพูดความคิดของเธอไป โดยรู้ตัวที่หลังว่าคงทำให้เรย์นะเสียใจ เรย์นะหันกลับมาหาเธอ แล้วบอกกับเธอด้วยรอยยิ้มว่า “เหมาะสมกับเป็นเธอจริง ๆ เลยนะ” มันหมายความว่าอย่างไร ทำไมเธอถึงไม่โกรธคุมิโกะเมื่อตอนม.ต้นล่ะ คุมิโกะพยายามไม่แสดงความคิดเห็นเพราะกลัวว่าคำพูดเธอจะทำให้คนอื่นไม่พอใจเหมือนตอนม.ต้น แต่ในตอนนี้ เรย์นะเองก็รู้ว่า แสดงออกมันดีกว่า
เรย์นะ: สมกับเป็นเธอจังเลยนะ
คุมิโกะจะไม่เปลี่ยนแปลงหากเธอยังไม่มีสิ่งที่อยากจะทำ สิ่งที่อยากจะพูด ความสัมพันธ์ที่อยากจะรักษาไว้ โดยไม่เสียใจภายหลัง และเธอค้นพบมัน เธอรู้ตัวเองว่าเธอชอบยูโฟเนี่ยม แม้ว่าเธออยากจะเปลี่ยนเครื่องดนตรีเมื่อขึ้นม.ปลายก็ตาม แต่ทำไมเธอถึงชอบมัน นั่นเป็นเพราะพี่สาวของเธอ มามิโกะ
ด้วยความเป็นน้องสาวคนเล็ก เธอมองพี่สาวของเธอประหนึ่งไอดอล มามิโกะเคยอยู่ชมรมดนตรีและเล่นทรอมโบน ซึ่งมันทำให้คุมิโกะอยากเล่นดนตรีด้วย เหตุผลที่เธออยากจะเล่นดนตรีนั้น ไม่เพียงแต่อยากจะเป็นเหมือนพี่สาว แต่เธอยากเล่นดนตรีกับมามิโกะ แต่ความฝันนั้นมันไม่เป็นจริง เพราะมามิโกะเลิกเล่นดนตรีเพื่อโฟกัสกับการเรียนและสอบเข้ามหาวิทยาลัยตามที่พ่อแม่ของเธอต้องการ
เรื่องราวของมามิโกะก็มีแง่มุมที่น่าสนใจ และนั่นคือจุดเด่นของค่ายอนิเมะนี้ นั่นคือ ความสามารถในการสร้างตัวละคร มามิโกะต่างจากคุมิโกะ พ่อแม่ฝากฝังความฝันไว้กับตัวพี่สาวมากกว่าน้องสาว มามิโกะจึงได้รับความสนใจมากกว่า แต่นั่นก็ตามมาด้วยความคาดหวัง และความคาดหวังนั้นมันกลับมาทำร้ายเธอเอง มามิโกะต้องเลิกทำสิ่งที่ตนเองชอบ ตนเองต้องการ รวมถึงการเล่นดนตรีด้วยเช่นกัน
มามิโกะไม่อาจคัดค้านความต้องการของพ่อแม่ได้ และเมื่อเธอกำลังจะเรียนจบ เธอกลับมายื่นคำขาดว่าเธอจะไม่เรียนต่อแล้ว และจะลาออกเพื่อทำตามความฝันในการเปิดร้านเสริมสวยของเธอ ซึ่งมันทำให้พ่อแม่โกรธเธอมาก กล่าวว่า เรียนจะจบอยู่แล้ว มาพูดอะไรเอาป่านนี้ แต่เมื่อเธอตัดสินใจแล้ว มามิโกะออกจากบ้านไป
ก่อนที่เธอจะออกจากบ้าน สองสาวพี่น้องยืนคุยกันแบบน่าอึดอัด เหมือนธรรมดาที่พี่น้องวัยรุ่นที่ความสัมพันธ์เริ่มเหินห่างคุยกัน มามิโกะบอกคุมิโกะว่า เธออิจฉาคนน้อง เพราะไม่ต้องแบกรับความคาดหวังของคนอื่น แต่เพราะไม่มีความคาดหวังจากคนอื่น คุมิโกะจึงเป็นคุมิโกะแบบที่เรารู้จัก หญิงสาววัยรุ่นที่ใช้ชีวิตไปวัน ๆ ไม่พิเศษหรือสำคัญอะไร มามิโกะบอกกับเธอว่า จะทำหรือไม่ทำอะไร ก็อย่าทิ้งไว้ให้เสียใจภายหลัง
มามิโกะ: อย่าทิ้งไว้ให้เสียใจภายหลัง
อย่าเสียใจภายหลังคือคำที่ติดใจคุมิโกะอย่างมาก เมื่อมามิโกะออกจากบ้านไป คุมิโกะไม่ได้พูดอะไรกับมามิโกะอีก และเราไม่เห็นว่าทั้งสองบอกลากันอย่างเป็นกิจลักษณะ แล้วอะไรคือสิ่งที่เธอจะเสียใจภายหลัง สิ่งนั้นคือสิ่งที่เธออยากจะทำแต่ยังไม่ได้ทำ
ความคาดหวังคืออีกสิ่งหนึ่งที่เป็นองค์ประกอบตัวละครอาซึกะ นักดนตรีชั้นยอดของวงดุริยางค์ แม่ของเธอต้องการให้เธอลาออกจากชมรมเพื่อโฟกัสกับเรื่องเรียนต่อ ไม่ต่างจากพี่สาวของคุมิโกะเลย อาซึกะเองไม่ต่างจากคุมิโกะมากนัก เธอมีความต้องการ แต่เธอไม่แสดงมันออกมา เธอเพียงทำตามความคาดหวังของคนอื่น
เมื่อข่าวว่าอาซึกะกำลังจะออกจากวงดุริยางค์ สมาชิกหลายคนไม่ต้องการแบบนั้น และบางคนก็ขอร้องให้เธออยู่ต่อแต่ไม่สำเร็จ สมาชิกคนอื่น ๆ ขอร้องให้คุมิโกะไปขอร้องให้เธออยู่ต่อ ทำให้คุมิโกะจะต้องเผชิญหน้ากับอาซึกะ ซึ่งเป็นประหนึ่ง Boss ตัวสุดท้ายในเกม
คุมิโกะเผชิญหน้ากับอาซึกะ รุ่นพี่ที่เธอนับถือและเคารพรัก ทั้งสองคุยกันอย่างมีเหตุมีผล เธอบอกรุ่นพี่ว่าสมาชิกชมรมอยากให้เธออยู่ต่อ ไม่อยากให้เธอออกจากชมรมไป เพราะเธอเป็นคนสำคัญของชมรมนี้ ทุกคนอยากให้อาซึกะเล่นในการแข่งขัน อาซึกะมองทะลุคุมิโกะอย่างชัดเจน เธอถามกลับไปว่า “ทุกคนเหรอ? ใครคือทุกคน?”
อาซึกะพูดใจความหลักของเรื่องไว้อย่างน่าสนใจ เธอบอกว่ามันน่าแปลกมากที่คำพวกนี้ออกมาจากปากคุมิโกะ คุมิโกะเป็นใครกันที่รู้และเข้าใจความรู้สึกของคนอื่นมากขนาดนั้น ทุกคนก็พูดแบบเดียวกัน ว่าทุกคน หรือ คนนู้นคนนี้ต้องการอย่างนู้นอย่างนี้ ทั้งหมดทั้งมวลก็เพื่อปกป้องตัวเองทั้งนั้น อ้างถึงคนอื่นเพื่อคุ้มครองความรู้สึกตัวเอง บอกว่า คนนั้นอยากได้อย่างนี้ ก็เพื่อไม่ให้สืบสาวราวเรื่องมาที่ตัวเองกันทั้งนั้น
"รู้ดีจังนะ ความรู้สึกของคนอื่นน่ะ"
ทุกคนพูดแบบนั้นก็เพื่อปกป้องตัวเอง ไม่ให้ตัวเองเป็นฝ่ายที่ต้องการ หรือหากผลลัพธ์มันไม่ได้ผลที่ต้องการ จะได้ไม่รู้สึกเจ็บใจเพราะมันไม่ใช่ความต้องการของตัวเอง ทุกคนพูดแบบนั้นไปโดยไม่แสดงออกความคิดเห็นของตัวเอง ก็เพราะไม่อยากจะเข้าไปมีส่วนร่วมในปัญหาของคนอื่นก็เท่านั้น แม้ว่ามันก็เพื่อไม่ทำร้ายจิตใจคนอื่นด้วยความคิดเห็นของตัวเอง แต่มันก็ไม่ได้ช่วยอะไรเลย
อาซึกะปฏิเสธ และเดินผ่านคุมิโกะไป คุมิโกะพูดไม่ออกจนเธอต้อง “เปร่งเสียง” ของเธอให้อาซึกะได้ยิน เปร่งเสียงนั้นออกมาด้วยอารมณ์และความรู้สึกของเธอเอง คุมิโกะหยุดพูดว่าคนอื่นหรือทุกคนต้องการอะไร เธอไม่อยากจะเสียใจภายหลังที่ต้องจากลาอาซึกะในฐานะรุ่นพี่ชมรมไปเฉย ๆ คำพูดของพี่สาวของเธอชัดเจนยิ่งกว่าคำอื่นใด เธอเปร่งเสียงความรู้สึก ความต้องการของเธอให้อาซึกะรับรู้
“เธอ” คุมิโกะ อยากให้อาซึกะเล่นดนตรีต่อ “เธอ” อยากร่วมแข่งขันกับอาซึกะ “เธอ” อยากเล่นดนตรีกับอาซึกะ “เธอ” อยากได้ยินเสียงยูโฟเนี่ยมของอาซึกะ ไม่ใช่ใครอื่น เป็นเธอเองที่ต้องการแบบนั้น อาซึกะพูดถูกทุกอย่าง เหตุผลของเธอมีน้ำหนักมากพอที่จะล้มเลิก แต่คุมิโกะขอเป็นเด็กผู้หญิงคนหนึ่ง ที่ถามและบอกอาซึกะไปตรง ๆ ว่ารุ่นพี่ของเธอก็เป็นเด็กผู้หญิงคนหนึ่งเท่านั้นเหมือนกัน ทำไมต้องทำตัวเป็นผู้ใหญ่อะไรขนาดนั้น
ความรู้สึกของคุมิโกะ
คุมิโกะฝังนัยสำคัญที่คุณพี่สาวฝากไว้กับเธอ เธอขอร้องอาซึกะไม่ให้ทำในสิ่งที่อาซึกะจะเสียใจในภายหลัง แม้ว่าเหตุผลอะไรมันจะครบถ้วนแล้วก็ตาม แต่อาซึกะต้องการอะไรจริง ๆ ทำไมถึงจะปล่อยผ่านความต้องการนั้นไปเหมือนว่ามันไม่ใช่เรื่องจริง เหมือนว่ามันไม่ใช่สิ่งสำคัญ จริงอยู่ว่านี่ไม่ใช่คำพูดที่มีเหตุผล แต่เป็นคำพูดที่มาจากความรู้สึก และมันคือต้องการของคน ๆ หนึ่งที่เปร่งเสียงออกมา
แม้ว่าอาซึกะจะเก่งก็ตาม แม้ว่าเสียงยูโฟเนี่ยมของเธอจะไพเราะ แม้ว่าต่างคนต่างฝากความหวังไว้กับเธอ แต่เธอไม่ได้เปร่งเสียงความต้องการนั้น เธอไม่ได้เปร่งเสียงความรู้สึกนึกคิดของเธอ เธอไม่ได้ทำหรือพูดในสิ่งที่เป็นตัวของเธอเอง คุมิโกะพูดทั้งน้ำตา เพราะมันมาจากความรู้สึกของเธอ ไม่ใช่ของคนอื่น เมื่อนั้น คุมิโกะเปลี่ยนแปลงไปแล้ว เธอไม่ใช่ใครอื่น เธอเป็นตัวของเธอเอง และเธอมีเสียงของเธอที่จะแสดงออกถึงอารมณ์และความรู้สึกของเธอ และไม่ใช่ของคนอื่น
เมื่อการแสดงและการแข่งขันจบลงด้วยผลลัพธ์ที่น่าพึงพอใจ คุมิโกะเห็นพี่สาวของเธอในหมู่ผู้ชม เธอวิ่งตามพี่สาวของเธอไป แม้ว่าจะเป็นพี่น้องกัน แต่การอยู่คนละที่คนละเมือง และความสัมพันธ์ฉันพี่น้องที่ห่างเหินกันไปตามวันเวลา แม้ว่าเมื่อก่อนจะมีความใกล้ชิด คุมิโกะมีอีกเรื่องที่เธอยังไม่ได้แสดงออก เพียงครู่เดียวก็ยังดี คุมิโกะขอเพียงแสดงความรู้สึกของเธอต่อพี่สาวของเธอ เพื่อไม่ให้เสียใจภายหลัง
มามิโกะ
Hibike! Euphonium แปลกันตรงตัวก็คือ จงกึกก้อง! ยูโฟเนี่ยม เป็นอนิเมะดนตรีที่ใช้ดนตรีแสดงออกถึงความรู้สึกของตัวละคร จริง ๆ แล้วชื่อเรื่องเหมือนเป็นคำสั่งให้ยูโฟเนี่ยมเปร่งเสียงร้องออกมา แต่แท้จริงแล้ว มันเป็นคำสั่งให้คุมิโกะแสดงออกถึงเสียงของตัวเอง เธอมีเสียงที่สามารถใช้แสดงออกถึงอารมณ์ความรู้สึกได้ แต่เธอกลับไม่ใช้มัน เธอไม่ได้ใช้เพื่อตัวเอง ดังนั้น ชื่อเรื่องคือคำสั่ง ให้เสียงของเธอกึกก้อง เพื่อแสดงถึงความรู้สึกของเธอ ไม่ใช่ใครอื่น
แม้จะพูดแบบนั้น แต่ก็ไม่ใช่ว่าดนตรีในเรื่องไม่ได้มีบทบาทอะไรหรือไม่ได้ดี มันยอดเยี่ยมมาก โดยเฉพาะบทเพียงยูโฟเนี่ยมของอาซึกะที่ส่งต่อมาให้คุมิโกะ ภาพ สี เสียงเพลง เสียงดนตรี การแสดงของนักพากย์เสียง การกำกับ ยอดเยี่ยมเหลือเกิน การใช้ดนตรีเพื่อสื่ออารมณ์และความรู้สึกทำได้อย่างยอดเยี่ยมในหนังแยกชื่อ Liz and the Blue Bird แสดงให้เห็นถึงความสามารถในการใช้ดนตรีสื่ออารมณ์
Liz and the Blue Bird (ภาพจาก: https://www.imdb.com/title/tt7089878/)
ต่างคนต่างมีความรู้สึกนึกคิดและอารมณ์ของตัวเองต่อเรื่องต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของตัวเองหรือเรื่องของคนอื่น ต่างคนต่างมีความต้องการของตัวเองทั้งนั้น แต่เราจะรู้ถึงมันได้มากน้อยขนาดไหนมันก็ขึ้นอยู่กับว่าเรามีความซื่อสัตย์กับความรู้สึกตัวเองขนาดไหน เราเคยถามตัวเองกันจริง ๆ ไหมว่าเราต้องการอะไร เรารู้สึกอย่างไร โดยไม่ต้องถามถึงคนอื่น Hibike! Euphonium ทำให้เรากลับมามองตัวเองว่า เราแสดงออกถึงความรู้สึกของตัวเอง หรือความรู้สึกของคนอื่น
จงกึกก้อง! จงดู! Hibike! Euphonium
อนิเมะ
บันทึก
2
2
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย