4 ต.ค. 2022 เวลา 03:50 • ธุรกิจ
จุดเริ่มต้น นันยาง ทำไมเลือกลุยตลาด รองเท้านักเรียน
“นันยาง เก๋ามาตั้งแต่รุ่นพ่อ” สโลแกนดังกล่าว คงไม่เกินจริง
เพราะเป็นแบรนด์รองเท้าที่คุณพ่อของใครหลาย ๆ คนเคยใส่ สมัยยังเป็นนักเรียน
นอกจากแบรนด์จะเก๋าแล้ว หากเรามาดูผลประกอบการ ก็พบว่ามีความเก๋าไม่แพ้กัน
โดยปีล่าสุด บริษัทสามารถสร้างรายได้ถึง 1,316 ล้านบาท และกำไร 41 ล้านบาท
นันยางมีเรื่องราวที่น่าสนใจอย่างไร และทำไมถึงเลือกลุยตลาด รองเท้านักเรียน ?
BrandCase จะสรุปให้ฟัง แบบเข้าใจง่าย ๆ
จุดเริ่มต้นของนันยาง มาจาก ซู ถิง ฟาง หรือคุณวิชัย ซอโสตถิกุล
เด็กหนุ่มวัย 15 ปี ที่ได้เดินทางมาพร้อมกับคุณพ่อของตน จากมณฑลฮกเกี้ยน ประเทศจีน มาสู่ประเทศไทย
ซึ่งเมื่อถึงประเทศไทยแล้ว คุณวิชัยไม่รอช้า รีบทำงานเก็บเกี่ยวประสบการณ์ทันที จนวันหนึ่งเขากลายมาเป็นเจ้าของธุรกิจเอง โดยก่อตั้ง บริษัท ฮั่วเซ่งจั่น จำกัด ที่ทำธุรกิจซื้อมา-ขายไป
อย่างไรก็ดี ไม่นานคุณวิชัยก็ต้องเผชิญกับความยากลำบาก
เพราะทำธุรกิจไม่ทันไร ก็ต้องมาเจอกับสงครามโลกครั้งที่ 2
ทำให้ธุรกิจในช่วงเวลานั้น ค่อนข้างทุลักทุเล
แต่เมื่อสงครามเริ่มสงบลง บริษัทกลับมามั่นคงอีกครั้ง และเติบโตอย่างรวดเร็ว จนในที่สุดบริษัทได้ติดต่อค้าขายกับต่างประเทศ รวมถึงนำเข้าและส่งออกสินค้าหลากหลายชนิด
โดยหนึ่งในสินค้าที่นำเข้ามานั้น ได้กลายมาเป็นตัวที่เปลี่ยนแปลงธุรกิจของคุณวิชัยไปตลอดกาล
นั่นคือ รองเท้าผ้าใบจากประเทศสิงคโปร์ ยี่ห้อหนำเอี๊ย ที่มีผ้าและพื้นยางสีน้ำตาล
1
ต้องบอกว่าแม้ในช่วง 2 ปีแรก ธุรกิจรองเท้าจะยังไม่สามารถสร้างกำไรได้ แต่คุณวิชัยเห็นแล้วว่า ผู้คนกำลังให้การตอบรับที่ดีขึ้นเรื่อยมา เพราะติดใจในคุณภาพและราคาที่ถูกของสินค้า
คุณวิชัยจึงยังคงขายรองเท้าอยู่ต่อไป จนเมื่อรองเท้าหนำเอี๊ยเป็นที่นิยมแล้ว เขาจึงตัดสินใจลดการนำเข้าสินค้าประเภทอื่น และเน้นการขายรองเท้าเพียงอย่างเดียวแทน
รวมถึงมีการเปลี่ยนการออกเสียงแบรนด์ ให้มีความเป็นสากลมากขึ้น
จาก หนำเอี๊ย ที่เป็นภาษาจีนแต้จิ๋ว ให้กลายเป็น หนันหยาง ภาษาจีนกลาง
อย่างไรก็ดี สุดท้ายบริษัทก็ใช้ชื่อว่า นันยาง เพราะเป็นคำที่พูดง่ายที่สุดสำหรับคนไทย
ต่อมาในช่วง พ.ศ. 2490 ภาครัฐมีนโยบายเชิญชวนให้คนไทย สนับสนุนสินค้าไทย และมีการเพิ่มภาษีนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ
นั่นทำให้คุณวิชัยเปลี่ยนจากการนำเข้ารองเท้า มาสู่การผลิตรองเท้าด้วยตัวเองในที่สุด
แล้วคุณวิชัยทำอย่างไร ในเมื่อบริษัทตัวเองทำธุรกิจแค่ซื้อมา-ขายไป เท่านั้น ?
คำตอบคือ เข้าซื้อกิจการและกรรมวิธีการผลิตจากบริษัทสิงคโปร์ พร้อมจ้างช่างรองเท้าจากสิงคโปร์เลยนั่นเอง
ทำให้บริษัท ผลิตยางนันยาง (ไทย) จำกัด เกิดขึ้นมา
และกลายเป็นจุดเริ่มต้นของการผลิตรองเท้าผ้าใบนันยาง พร้อมกับคำว่า “Made in Thailand” ที่ถูกประทับคู่กับโลโก “นันยางตราช้างดาว” เป็นครั้งแรก
ซึ่งนันยาง ก็กลายเป็นแบรนด์รองเท้านักเรียน ที่มีชื่อเสียงนับตั้งแต่นั้นมา..
เวลาผ่านไป เมื่อรองเท้าผ้าใบนักเรียนตรานันยาง ติดตลาดแล้ว
นันยางก็ได้แตกไลน์สินค้าใหม่ เพื่อตอบโจทย์ลูกค้าให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น อย่างรองเท้าแตะตราช้างดาว หรือรองเท้าสำหรับใส่อยู่บ้าน
และแล้วสินค้าของนันยาง ก็ได้รับความนิยมจากผู้คนเช่นเคย
จากนั้น ธุรกิจก็เข้ามาสู่ทายาทรุ่นที่ 2 อย่างคุณเพียรศักดิ์ ซอโสตถิกุล ลูกชายชายคนโตของคุณวิชัย
โดยคุณเพียรศักดิ์นี่เอง ที่เป็นผู้ให้กำเนิดรองเท้าพื้นสีเขียว ด้วยการออกรองเท้าสำหรับแบดมินตันโดยเฉพาะ ซึ่งได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ในหมู่นักแบดมินตันชาวไทย ก่อนที่จะขยายไปยังลูกค้านักกีฬากลุ่มอื่น ๆ เช่น นักกีฬาตะกร้อ
ด้วยคุณสมบัติที่ทนทาน แข็งแรง หน้าตาเรียบง่าย และราคาที่ใคร ๆ ก็สามารถเข้าถึงได้ นันยางจึงเห็นโอกาสในการตีตลาดลูกค้าอีกกลุ่มหนึ่ง ที่มีความต้องการรองเท้าลักษณะเดียวกัน ซึ่งมีขนาดใหญ่ถึง 1 ใน 4 ของประชากรไทย คือ นักเรียน
และจากการตีตลาดกลุ่มนักเรียนในครั้งนั้น ก็ทำให้บริษัท นันยางมาร์เก็ตติ้ง จำกัด หรือชื่อบริษัทของนันยางในปัจจุบัน สามารถสร้างรายได้ปีล่าสุดอยู่ที่หลักพันล้านบาท
จากเรื่องราวของนันยาง ก็แสดงให้เห็นว่า
หากเรารู้ว่าจุดแข็งของธุรกิจตัวเองคืออะไร และไม่พลาดที่จะมองหาโอกาสใหม่ ๆ ตลอดเวลา
เช่นเดียวกับตระกูลซอโสตถิกุล ที่เริ่มจากธุรกิจซื้อมา-ขายไป สินค้าหลาย ๆ อย่าง จนมาโฟกัสเพียงการนำเข้ารองเท้า ต่อมาก็ผลิตเอง และสุดท้ายกลายมาเป็นรองเท้านักเรียน
ต่อให้เป็นเพียงสินค้าธรรมดา ก็สามารถประสบความสำเร็จได้ ไม่ต่างจากธุรกิจอื่น ๆ เลย..
References
-กรมพัฒนาธุรกิจการค้า
โฆษณา