5 ต.ค. 2022 เวลา 00:00 • ท่องเที่ยว
บานประตูมังกรในอาคารในตระกูลเจ้าเมืองสงขลา (พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา)
บ้านหรือคฤหาสน์แบบจีนผสมตะวันตกหลังงามนี้สร้างโดยพระยาสุนทรานุรักษ์ (เนตร ณ สงขลา) เป็นผู้สร้างในปี พ.ศ. ๒๔๒๑ ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ที่เมืองสงขลาฝั่งบ่อยาง และอยู่นอกกำแพงเมืองสงขลาทางทิศเหนือ เพื่อใช้เป็นบ้านพักในกลุ่มตระกูล ณ สงขลา ผู้เป็นเจ้าเมืองในขณะนั้น
พระยาสุนทรานุรักษ์ (เนตร) เป็นบุตรชายเจ้าพระยาวิเชียรคีรี (เม่น) เจ้าเมืองสงขลาลำดับที่ ๖ ผู้เป็นบุตรของพระยาวิเศษภักดี (เถี้ยนจ๋ง) เจ้าเมืองสงขลาลำดับที่ ๓ โดยได้รับโปรดเกล้าฯ ให้เป็นสืบต่อจากเจ้าพระยาวิเชียรคีรี (บุญสัง) ผู้มีศักดิ์เป็นอา ในช่วงปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีความใกล้ชิดกับราชสำนักกรุงเทพฯ มากเพราะได้ถวายตัวเป็นมหาดเล็กรับราชการอยู่ในกรุงเทพฯ มาแต่เล็ก
เมืองสงขลายุคนี้เจริญรุ่งเรืองด้วยการค้า ซึ่งมีทั้งท่าเรือสินค้าและถนนเชื่อมกับทางฝั่งไทรบุรี พระยาสุนทรานุรักษ์ (เนตร) เป็นผู้ช่วยราชการเมืองและคาดว่าได้รับการวางตัวให้เป็นผู้สืบตำแหน่งเจ้าเมืองต่อมา แต่ท่านได้ถึงแก่อนิจกรรมไปเสียก่อน บ้านนี้จึงใช้เป็นที่พำนักจน พ.ศ. ๒๔๓๙ ปฏิรูปการปกครองเป็นแบบมณฑลเทศาภิบาล ได้มีการจัดตั้งมณฑลนครศรีธรรมราช ศูนย์กลางว่าราชการอยู่ที่เมืองสงขลา
ตำแหน่งเจ้าเมืองสงขลาได้ถูกลดบทบาทลงเป็นผู้ว่าราชการเมือง โดยมีพระวิจิตรวรสาสน์ หรือพระยาสุขุมนัยวินิต (ปั้น สุขุม) ซึ่งดำรงตำแหน่งเป็นข้าหลวงพิเศษตรวจราชการเมืองสงขลา เมืองพัทลุง และเมืองนครศรีธรรมราช และเป็นข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑล จึงได้ติดต่อขอซื้ออาคารเก๋งจีนจากพระอนันตสมบัติ (เอม ณ สงขลา) บุตรพระยาสุนทรานุรักษ์ เพื่อใช้เป็น ศาลและศาลาว่าการมณฑลนครศรีธรรมราชระหว่าง พ.ศ.๒๔๓๙ – ๒๔๖๐
ต่อมาจึงใช้เป็นศาลาว่าการมณฑลนครศรีธรรมราช และเป็นศาลากลางจังหวัดสงขลา ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๖๐-๒๔๙๖ ก่อนถูกทิ้งร้าง และกรมศิลปากรปรับปรุงเพื่อใช้เป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติในปี พ.ศ. ๒๕๒๕
อาคารสถาปัตยกรรม เป็นแบบจีนผสมยุโรป สีขาวและแดง พื้นที่กว้างขวางราว ๑๓ ไร่ สร้างเป็นตึก ๒ ชั้น ตัวบ้านยกสูงจากพื้นดินประมาณ ๑ เมตร เป็นเรือนหมู่ ๔ หลัง มีกำแพงล้อมรอบ ๔ ด้าน ด้านหน้าหันไปทางทิศตะวันตก โดยด้านหน้าเป็นทะเลสาบ ด้านหลังเป็นภูเขา เชื่อมต่อด้วยระเบียงทางเดิน
มีบันไดขึ้นด้านหน้าและตรงกลางด้านในไป ๒ ทาง กลางบ้านเป็นลานเปิดโล่ง ด้านหน้ามีสนามและอาคารโถงขนาบ ๒ ข้างภายในตัวบ้าน มีห้องยาวด้านหลังชั้นบน มีบานประตูเป็นบานเฟี้ยมแกะสลักโปร่ง เป็นลวดลายเล่าเรื่องวรรณกรรมจีน สลับลายพรรณพฤกษา และบานประตูลวดลายมังกร ดั้นเมฆชิงไข่มุกไฟ หัวเสาชั้นบนมีภาพเขียนสีเทพเจ้าจีน สลับพันธุ์พฤกษา ภายในห้องบนขื่อหลังคาติดเครื่องหมาย หยิน หยาง มีความสวยงามด้วยบันไดโค้งแบบยุโรป
ถือเป็นอาคารที่แสดงถึงความรุ่งเรืองของเมืองสงขลาและคนจีนในตระกูลเจ้าเมืองที่แสดงออกถึงรสนิยมในสถาปัตยกรรมชั้นสูง เป็นอาคารเก่าที่ทรงคุณค่าบอกเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์ของเมืองได้อย่างดี
มังกรจีนหรือ ‘หลง’ สัตว์สมมติแสดงสัญลักษณ์ของพลังอำนาจและคุณงามความดี ความองอาจกล้าหาญ ความเป็นวีรบุรุษและความอุตสาหะพยายาม ความมีคุณธรรมอันสูงส่งและยิ่งใหญ่ดุจดั่งเทพเจ้า มังกรจีนนั้นไม่ยอมแพ้ต่ออุปสรรคขวากหนามใด ๆ จนกว่าจะทำในสิ่งที่ต้องการได้สำเร็จ มีความขยันขันแข็ง เด็ดขาด เฉลียวฉลาด มองโลกในแง่ดี และมีความทะเยอทะยาน และในที่นี้บานประตูไม้เป็นมังกร ๓ เล็บที่ใช้กับสามัญชนทั่วไปแต่ก๋งดงามและอัครฐานอย่างยิ่ง
#สยามเทศะโดยมูลนิธิเล็กประไพวิริยะพันธุ์
ติดตามบทความ วิดีโอ และรายการต่างๆ เพิ่มเติมได้ที่
โฆษณา