5 ต.ค. 2022 เวลา 09:02 • ข่าว
สภาองค์กรของผู้บริโภค เปิดวงถกการทำงาน กสทช. ชี้ดีลควบรวมดีแทค-ทรู กสทช. ต้องใช้อำนาจไม่ให้ควบรวม
เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2565 สภาองค์กรของผู้บริโภค จัดเสวนาวิชาการในหัวข้อ “กสทช. กับหลักนิติธรรม และเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญในการกำกับดูแลคลื่นความถี่สาธารณะ ไม่ใช่นิติ (เพื่อ) ทุน” ณ ชั้น 31 อาคารจีทาวเวอร์ พระราม 9 โดยในงานได้พูดถึงแง่มุมของกฎหมายและการพัฒนางานสาธารณะ ตามหลักนิติธรรมของสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช.
สารี อ๋องสมหวัง – เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวว่า กสทช. ปัจจุบันไม่ได้ดำเนินการตามหลักนิติธรรม โดยจากกรณีการควบรวมกิจการของดีแทค-ทรู พบว่ากฤษฎีกาและผู้เชี่ยวชาญได้ตัดสินแล้วมีความเห็นตรงกันว่า กสทช. ควรใช้อำนาจตนเองในการตัดสินไม่ควบรวมดีแทค-ทรู เนื่องจากปัญหาของประชาชนหลังจากควบรวม คือการที่ต้องจ่ายค่าโทรศัพท์แพงมากขึ้นประมาณร้อยละ 244.5 ซึ่งพอหลังจากเกิดการควบรวมแล้วก็อาจจะส่งผลทำให้การแข่งขันน้อยลง หรือไม่มีเลยก็ได้
ฉะนั้น กสทช. ควรใช้อำนาจของตนเองที่ทำให้ไม่เกิดการผูกขาดและสนับสนุนให้เกิดการแข่งขันของกิจการโทรคมนาคมนั่นเอง ซึ่งถ้าหากไม่ใช้อำนาจทางฝั่งผู้บริโภคก็จะดำเนินการตามหลักนิติธรรมต่อไป แน่นอนว่า กสทช. ไม่ได้มีหน้าที่ในการพัฒนาเทคโนโลยี แต่มีหน้าที่ที่จะรักษาสิทธิของผู้บริโภคและทำให้เกิดการแข่งขัน เพื่อให้ประชาชนมีตัวเลือกในการใช้บริการต่อไป
สุภิญญา กลางณรงค์ – อนุกรรมการด้านการสื่อสารโทรคมนาคมและเทคโนโลยีสารสนเทศ สภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวว่า ถ้าหากพูดถึงการก่อตั้งของ กสทช. นั้นก็ต้องคงพูดถึงรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 ที่ทำให้เกิดองค์กรอิสระที่ไม่ใช่ของรัฐออกมา และ กสทช. ก็ได้รับสิทธิ์ตามรัฐธรรมนูญ แต่ในช่วงปี 2561 มีความพยายามแก้ไขเพื่อทำให้อำนาจของ กสทช. ในการกำกับดูแลสิทธิ์และบริหารจัดการ
รวมถึงการลดการผูกขาดและส่งเสริมการแข่งขันอย่างเป็นธรรมนั้นลดน้อยถอยลงไป ซึ่งล้วนเป็นเจตนารมณ์ที่เขียนไว้ในพระราชบัญญัติของ กสทช. และถ้าหากดูแผนแม่บทของ กสทช. ฉบับที่ 2 ก็จะพบว่ามีการพูดถึงการแข่งขันที่เป็นธรรม และมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นที่ครบถ้วน รวมไปถึงการมีอำนาจในการไม่ทำให้ตลาดเกิดการผูกขาด ซึ่งถ้าหาก กสทช. ไม่ทำก็อาจจะถูกตั้งข้อสงสัยว่าองค์กรทำงานครบถ้วนหรือไม่ จุดอ่อนตรวนี้อาจจะทำให้ถูกฟ้องได้เลยหรือไม่? สิ่งนี้ควรเป็นสิ่งที่รัดกุมและทำตามหลักนิติธรรมมากที่สุด
นอกเหนือจากนี้ กสทช. ต้องอย่าลืมสองเรื่อง คือสัญญากับรัฐที่เกิดจากการได้รับใบอนุญาต ซึ่งหากมีการเปลี่ยนแปลงก็อาจจะส่งผลต่อการทำงานของ กสทช. เองได้ รวมถึงการรวมกิจการทั้งของดีแทค-ทรู และของเอไอเอส-3BB ก็เป็นการรวมกิจการประเภทเดียวกัน กสทช. ไม่สามารถใช้วิธีการศรีธนญชัยในการตัดสิน
1
เพราะประชาชนเข้าใจว่านี่คือการควบรวมกิจการแบบเดียวกัน กสทช. คือตัวแทนรัฐและสังคมในการทำสัญญากับเอกชน และเอกชนถ้าหากต้องการเปลี่ยนแปลงสัญญาก็ต้องมาขออนุญาต กสทช. ซึ่ง กสทช. ต้องทำหน้าที่ตรงนี้ ไม่ใช่เป็นนายทะเบียนเพียงอย่างเดียว เพื่อไม่ให้กระทบต่อรัฐและสังคม
รศ.ดร.ณรงค์เดช สุรโฆษิต – อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ตามมาตรา 21 แห่งพระราชบัญญัติโทรคมนาคม กล่าวตอนหนึ่งให้ กสทช. ทำหน้าที่ที่ไม่ให้ผู้ประกอบการทำให้เกิดการผูกขาดหรือลดการแข่งขันในกิจการ รวมถึงยังมีกฎหมายที่ให้ กสทช. ดูแลการควบรวมกิจการ
ซึ่งปัญหาหลักๆ คือในแง่ของกฎหมายที่อยู่ในปี 2549 หรือต้องใช้ของปี 2561 แต่สิ่งสำคัญคือการควบรวมกิจการต้องเกิดจากการอนุญาตจากหน่วยงานกำกับดูแลเท่านั้น สิ่งที่ กสทช. จะต้องทำจากดีลดีแทค-ทรู คือดีลนี้อยู่ในกฎหมายไหน กสทช. ต้องมีหน้าที่ในการตรวจสอบตามข้อเท็จจริง และหลังจากนั้นก็ดำเนินการตามขั้นตอนและทำให้เกิดการแข่งขัน
ปัญหาอีกสิ่งหนึ่งที่เกิดการตั้งคำถามคือ กสทช. มีอำนาจจริงๆ หรือไม่? ซึ่งพอไปดูกฎหมายแล้ว กสทช. มีอำนาจทั้งการอนุญาต หรือควบคุมการควบรวม ซึ่งตามกฎหมายของปี 2549 กำหนดว่าการเข้าซื้อหุ้นหรือถือหุ้นมากกว่าร้อยละ 10 ของผู้ได้รับใบอนุญาตรายอื่น หรือเข้าซื้อสินทรัพย์ทั้งหมด เพื่อให้มีสิทธิ์กำหนดนโยบาย ต้องได้รับอนุญาตจาก กสทช. ก่อนเท่านั้น จะกระทำก่อนไม่ได้
ฉะนั้นถ้าตีความตามกฎหมายปี 2549 กสทช. ต้องทำหน้าที่ในการอนุญาตตั้งแต่ต้น ซึ่งขึ้นอยู่กับการตีความของ กสทช. เอง แต่ทั้งนี้ตามแผนแม่บทและตามกฎหมาย กสทช. ยังคงมีสิทธิ์ในการพิจารณาและสั่งการอยู่ และจากการดีลของดีแทค-ทรู จากการตรวจสอบอย่างละเอียดแล้วก็เข้าข่ายควบรวมในกิจการเดียวกัน ซึ่ง กสทช. ต้องใช้อำนาจในการสั่งการด้วยเช่นกัน
ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล - อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า กสทช. จำเป็นต้องฟังเสียงของประชาชนในการถูกเอารัดเอาเปรียบ ไม่ใช่การทำหน้าที่เป็นนายทะเบียนเพียงอย่างเดียว ซึ่งถ้าหากไม่ฟังก็ควรจะไปอยู่กำกับดูแลของรัฐแทน แต่ กสทช. คือองค์กรอิสระที่มีสิทธิในการกำกับดูแล เพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชน ฉะนั้นพอเกิดการทักท้วงถึงปัญหาการควบรวมกิจการ กสทช. ต้องฟังและนำไปพิจารณา ปัญหาคือทำไม กสทช. ไม่ยอมไปพิจารณา พยายามไม่อยากตีความ ทั้ง ๆ ที่ตนเองมีหน้าที่ในการทำ
ซึ่งพอได้อ่านคำชี้แจงของโฆษก กสทช. จากข่าวก็พบว่าข้อมูลเป็นหนังคนละม้วนมากๆ และจากการตรวจสอบข้อมูลของคณะกรรมการกฤษฎีกาก็ได้มีการตีความให้ กสทช. สั่งการให้ตัดสินในการให้หรือไม่อนุญาตให้ควบรวมก็ได้ด้วยซ้ำ การพยายามไม่ตัดสินใจก็ถือว่าเป็นการทำเป็นไม่รู้ว่ามีข้อกฎหมาย และเสมือนอนุญาตโดยนัยแล้ว
เรียบเรียงโดย กฤตนัน ดิษฐบรรจง
เขียนเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2565
#TheModernistTH - LEARN TO LIFE, POINT TO CHANGE.
ติดตามเราได้ทาง https://www.themodernist.in.th
ติดต่อโฆษณา: 061-662-9142
โฆษณา