6 ต.ค. 2022 เวลา 03:30 • ธุรกิจ
ทำไม ผู้แพ้สงครามโลก เป็นเจ้าแห่ง ธุรกิจรถยนต์ ?
หากพูดถึงแบรนด์รถยนต์ญี่ปุ่น คงหนีไม่พ้น Toyota และ Honda
ฝั่งตะวันตกก็จะมี Mercedes-Benz และ BMW จากเยอรมนี
รวมถึงแบรนด์รถหรูอย่าง Ferrari และ Lamborghini จากอิตาลี
หากเราลองสังเกตดูแล้ว ก็จะพบว่า ประเทศเจ้าของแบรนด์รถยนต์เหล่านี้
ต่างก็เป็น “ผู้แพ้ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2” เมื่อ 80 ปีที่แล้ว
โดยอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์เหล่านี้นี่เอง ถือเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญ
ที่ช่วยให้ประเทศเหล่านี้ กลับมาเป็นมหาอำนาจ ได้อย่างแข็งแกร่งในปัจจุบันด้วย
และถ้าหากคุณสงสัย ทำไมเหล่าประเทศผู้แพ้สงคราม ถึงก้าวขึ้นมาเป็น
เจ้าแห่งธุรกิจรถยนต์ ได้เช่นนี้ ?
BillionMoney จะย่อยให้เข้าใจ
ก่อนอื่นเรามาเริ่มกันที่ Volkswagen ซึ่งถูกก่อตั้งขึ้นในปี 1937
เรียกได้ว่าเป็นเครือรถยนต์ ที่ใหญ่ที่สุดของประเทศเยอรมนี
Volkswagen เกิดจากโครงการของผู้นำพรรคนาซีเยอรมัน อย่าง อดอล์ฟ ฮิตเลอร์
ที่ต้องการผลิตรถราคาถูก ให้ประชาชนเข้าถึงได้ เพื่อเติมเต็ม Autobahn หรือทางด่วน
ที่ถูกสร้างขึ้นมาทั่วประเทศ และสร้างคะแนนนิยมให้กับชนชั้นแรงงานในประเทศ
โดยผู้ที่ออกแบบรถในช่วงแรก ๆ ก็คือ คุณ Ferdinand Porsche
และเริ่มผลิตที่โรงงานในเมืองวูลฟส์บูร์ก ซึ่งในตอนนั้นใช้ชื่อว่า “Kdf-Wagen”
โดยให้ประชาชนกว่า 300,000 กว่าคน ผ่อนรถผ่านโครงการออมของสหภาพแรงงาน
 
แต่อย่างไรก็ตาม สงครามโลกครั้งที่ 2 ก็ปะทุขึ้น
ทรัพยากรและโรงงานอุตสาหกรรม จึงถูกโยกย้ายไปใช้กับการผลิตยุทโธปกรณ์ และยานพาหนะในการสงคราม จนกระทั่งสงครามจบลง รถยนต์ Kdf-Wagen ก็ไม่เคยมาถึงมือของผู้ผ่อนแม้แต่คันเดียว
หลังจากสงครามจบลง โรงงานของ Volkswagen ก็ได้ถูกบริหารโดยทหารอังกฤษ เพื่อช่วยสร้างเศรษฐกิจของเยอรมนีกลับขึ้นมาใหม่
แทนที่จะลงโทษเยอรมนีแบบตอนจบสงครามโลกครั้งที่ 1 จนกลายเป็นแรงจูงใจให้เกิดสงครามโลกอีกครั้ง
1
จนกระทั่งปี 1948 อังกฤษก็ได้แต่งตั้งคุณ Heinrich Nordhoff ชาวเยอรมัน
ให้เป็นผู้อำนวยการ ของ Volkswagen และในปี 1953 ประเทศสัมพันธมิตรในยุโรป
ก็ได้ทำข้อตกลงหนี้ลอนดอน (London Debt Agreement) ที่ตกลงให้เยอรมนี
เริ่มชำระหนี้ ที่ประเทศในยุโรปให้กู้ เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจได้ เมื่อดุลการค้าของเยอรมนีเกินดุล
ข้อตกลงนี้ ได้เป็นแรงผลักดัน ให้อุตสาหกรรมรถยนต์ของเยอรมนีเติบโตอย่างก้าวกระโดด
เพราะประเทศสัมพันธมิตรเหล่านั้น ต้องการให้เยอรมนีชำระหนี้คืนโดยเร็ว จึงให้เงินเพื่อช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมรถยนต์ ที่เยอรมนีมีความถนัดอยู่แล้ว และพากันนำเข้ารถยนต์ของเยอรมนีเป็นจำนวนมาก เพื่อให้เยอรมนีเกินดุลการค้า
ความต้องการจากต่างประเทศนี้เอง ทำให้ผู้ผลิตรถยนต์ในเยอรมนี เร่งการผลิตอย่างมาก
โดยยอดขายของ Volkswagen ในปี 1950 ถึงปี 1960 นั้น เฉลี่ยแล้วก็เติบโตมากถึง 25% ต่อปี
ซึ่งเหตุการณ์นี้ ก็ได้สร้างงานและรายได้ ให้กับชาวเยอรมันเป็นอย่างมาก ส่งผลให้เศรษฐกิจ
ของเยอรมนีตะวันตก ขยายตัวมากถึง 8% ในช่วงทศวรรษ 1950 และ 4.6% ในทศวรรษ 1960
นอกจากนี้ Volkswagen ยังประสบความสำเร็จ จากการทำการตลาดที่ถูกจุด
ในสหรัฐอเมริกา เมื่อช่วงปี 1960 จากแคมเปญโฆษณาในตำนานอย่าง
“Think Small” ที่สามารถเปลี่ยนค่านิยมของชาวอเมริกัน ที่ชื่นชอบรถคันใหญ่ ๆ
ให้หันมาใช้รถเต่าคันเล็ก ๆ จากเยอรมนีได้
หลังจากนั้น Volkswagen ก็เดินหน้าสร้างความสำเร็จไปทั่วโลก
อีกทั้งยังควบรวมแบรนด์รถยนต์ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ อย่าง
Porsche, Audi, Lamborghini และ Bentley
จนกลายเป็นเครือผู้ผลิตรถยนต์ ที่ใหญ่ที่สุดในเยอรมนี
แต่เมื่อหันมาดู พัฒนาการด้านอุตสาหกรรมรถยนต์ ของประเทศใกล้เคียง
อย่างอิตาลี จะพบว่า ค่อนข้างมีความแตกต่าง กับของเยอรมนีอยู่มาก
เพราะในขณะที่เยอรมนี มีการแข่งขันระหว่างผู้ผลิตรถยนต์ อย่างเข้มข้น
จากการที่มีแบรนด์รถยนต์คุณภาพ ผุดขึ้นมาทั่วประเทศ
ไม่ว่าจะเป็น Mercedes-Benz ในทางตะวันตก
BMW ในทางใต้
และ Volkswagen ในตอนกลางค่อนไปทางเหนือ
แต่เครือผู้ผลิตรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดของอิตาลี อย่าง FIAT นั้น
เรียกได้ว่าแทบจะผูกขาด การผลิตรถยนต์ของอิตาลี เลยทีเดียว
เพราะตั้งแต่ปี 1925 รถยนต์ในอิตาลีกว่า 80% มี FIAT เป็นผู้ผลิตมาโดยตลอด
นอกจากนี้ FIAT ยังมีฐานลูกค้าในประเทศ ที่แข็งแกร่ง
เนื่องจากในช่วงที่คุณ Benito Mussolini หัวหน้าพรรคฟาสซิสต์อิตาลี
ขึ้นสู่อำนาจ เขาก็ได้ตั้งกำแพงภาษี ของสินค้านำเข้า ที่สูงมาก
ตามนโยบายชาตินิยมของตนเอง
ชาวอิตาลี จึงหันมาใช้รถของ FIAT ที่มีราคาถูกกว่าต่างชาติ
ส่งผลให้ FIAT มีฐานลูกค้าในประเทศที่เหนียวแน่น
บวกกับความสามารถ ในการผลิตจำนวนมาก ก็ได้ทำให้ FIAT
มีจุดเด่นในเรื่องของ ต้นทุนการผลิตที่ต่ำ จากการเกิด Economies of Scale
จนกระทั่ง สงครามโลกครั้งที่ 2 จบลง และอิตาลีเป็นฝ่ายพ่ายแพ้สงคราม
ตระกูล Agnelli ที่เป็นเจ้าของ FIAT ถูกรัฐบาลอิตาลีชุดใหม่
สั่งห้ามบริหาร จนกว่าจะถึงปี 1963 เนื่องจากมีสายสัมพันธ์
ทางการเมืองกับอดีตผู้นำเผด็จการ
ทำให้คุณ Vittorio Valletta ผู้บริหารอีกคนหนึ่ง ได้ก้าวขึ้นมาดำรงตำแหน่งประธานบริษัท
และเริ่มปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ จากการผลิตเพื่อป้อนตลาดในประเทศ ไปเน้นการส่งออกมากขึ้น
โดยวางตัวเองให้เป็นรถราคาถูก จากจุดเด่นเรื่องต้นทุนการผลิตที่ต่ำ
ส่งผลให้ยอดขายของ FIAT เติบโตขึ้นถึง 4.6 เท่า ในช่วงปี 1959 ถึงปี 1969
นอกจากนั้นยังทำให้รถยนต์ กลายเป็นสินค้าส่งออกหลัก ที่สำคัญของอิตาลี
รองจากเครื่องจักร ตั้งแต่ปี 1951 ถึงปี 1973 และเป็นอุตสาหกรรมที่ผลักดันให้
เศรษฐกิจของอิตาลี เติบโตเฉลี่ยราว 11% ต่อปี ในช่วงปี 1960 ถึงปี 1970
ส่วนอุตสาหกรรมรถยนต์ของญี่ปุ่นนั้น
เราจะไม่พูดถึงเครือผู้ผลิตรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุด
อย่าง “Toyota” ไม่ได้ โดย Toyota นั้น ได้เริ่มเปลี่ยนตัวเอง จากการผลิตเครื่องจักรทอผ้า
มาทำการผลิตรถยนต์ ในช่วงปี 1929 หลังจากการถดถอยของอุตสาหกรรมทอผ้า
โดยรถยนต์ของญี่ปุ่นในช่วงแรก ๆ ก็มาจากการเลียนแบบรถจากยุโรป และสหรัฐอเมริกา
จนกระทั่งญี่ปุ่นเริ่มรุกรานจีน ตามด้วยการเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 2
ก็ได้ทำให้ผู้ผลิตรถยนต์ในญี่ปุ่น รวมถึง Toyota ต้องรับหน้าที่
ผลิตรถบรรทุก และยุทโธปกรณ์ทางทหาร
แต่สถานการณ์ของญี่ปุ่น แย่กว่าเยอรมนีมาก ตรงที่ญี่ปุ่นเป็นประเทศหมู่เกาะ
ทำให้เมื่อญี่ปุ่น ถูกสหรัฐอเมริกา ชิงความได้เปรียบทางทะเล จึงส่งผลให้ทรัพยากร
ที่จำเป็นต้องนำเข้า อย่างเช่น เหล็กกล้า และน้ำมัน ขาดแคลน จึงเป็นปัจจัยที่บีบให้
อุตสาหกรรมรถยนต์ของญี่ปุ่น ต้องคิดค้นวิธีการผลิตรถยนต์ ให้ประหยัดทรัพยากรมากที่สุด
เมื่อสงครามจบลงในปี 1945 สหรัฐอเมริกา ก็ได้เข้ามาฟื้นฟู เศรษฐกิจของญี่ปุ่น
พร้อมกับตั้งฐานทัพไว้ที่นี่ เพื่อยันการแผ่ขยายอิทธิพล ของสหภาพโซเวียตในทวีปเอเชีย
และเมื่อสงครามเกาหลี ปะทุขึ้นในปี 1950
ก็ทำให้ความต้องการรถยนต์จากญี่ปุ่น เพิ่มขึ้นอีกครั้ง
ส่งผลให้ Toyota ที่ประสบกับการขาดทุน จนเกือบจะต้องปิดตัวลง ฟื้นตัวขึ้นมาได้
ตอนนี้เองที่คุณ Eiji Toyoda ได้ไปศึกษาดูงาน
การผลิตรถยนต์ที่โรงงานของ Ford ในประเทศสหรัฐอเมริกา
และได้ตกผลึกแนวคิด ที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตของรถยนต์ ซึ่งใช้มาจนถึงปัจจุบัน
อย่าง Toyota Way ที่เน้นการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเรียกว่า Kaizen
กับการทำงานเป็นทีม พร้อมทั้งนำรูปแบบการผลิต อย่าง Lean มาใช้ เพื่อลดต้นทุนที่ไม่จำเป็นลง
จนทำให้ Toyota สามารถผลิตรถยนต์ ที่ประหยัดทั้งน้ำมัน และทรัพยากรสำหรับการผลิต ในจำนวนมาก ๆ พร้อมกับควบคุมต้นทุนให้ต่ำลงได้ ส่งผลให้ Toyota สามารถออกไปตีตลาดต่าง ๆ ทั่วโลกได้สำเร็จ
โดยเฉพาะในปี 1973 ที่เกิดวิกฤติน้ำมัน ก็ได้ทำให้ความต้องการรถญี่ปุ่น ในสหรัฐอเมริกาเพิ่มมากขึ้น
เพราะรถญี่ปุ่นคันเล็ก ทำให้มีราคาถูก และประหยัดน้ำมัน มากกว่ารถจากสหรัฐอเมริกาที่คันใหญ่กว่า
จนส่งผลให้รถยนต์ของญี่ปุ่น กลายเป็นหนึ่งในปัจจัยหลัก
ที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของญี่ปุ่น ให้เติบโตมากถึง 18% ต่อปี
ระหว่างช่วงปี 1970 ถึงปี 1980 และสร้างชื่อเสียง ให้รถญี่ปุ่น
เป็นที่รู้จัก ในด้านของความคุ้มค่า เมื่อเทียบกับราคาที่ถูก
จากเส้นทาง การฟื้นฟูเศรษฐกิจ ด้วยอุตสาหกรรมรถยนต์ของทั้ง 3 ประเทศ
จะเห็นว่าต้นทาง ค่อนข้างแตกต่างกัน อย่างเช่น เยอรมนี ก็มีชื่อเสียง
ในด้านการผลิตรถยนต์อยู่แล้ว แต่ก็พัฒนาเรื่องกลยุทธ์ทางการตลาด
จนประสบความสำเร็จ ในการตีตลาดต่างประเทศอย่างงดงาม
ส่วนอิตาลี ก็มีจุดเด่นทางด้าน การผลิตด้วยต้นทุนที่ต่ำ จากการเป็นผู้ผูกขาด
และญี่ปุ่นได้ถูกบีบให้พัฒนา วิธีการผลิตรถ ให้ประหยัดทรัพยากร
มาตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 และเติบโตอย่างก้าวกระโดด เมื่อผสานกับ
วิธีการผลิต ที่ได้เรียนรู้จากประเทศสหรัฐอเมริกา
แต่ท้ายที่สุดแล้ว การพัฒนาอุตสาหกรรมรถยนต์ ของประเทศเหล่านี้
ก็ได้กลายมาเป็น เครื่องยนต์ที่สำคัญ ในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ
ของประเทศผู้แพ้สงคราม ผ่านการส่งออก เหมือนกัน
และได้ช่วยให้เศรษฐกิจของทั้ง 3 ประเทศเหล่านี้ ยังคงวิ่งอยู่บนเส้นทาง
ของการเป็น ประเทศมหาอำนาจ ทางเศรษฐกิจ จวบจนถึงปัจจุบัน..
โฆษณา