6 ต.ค. 2022 เวลา 03:00 • ปรัชญา
พระธรรมสิงหบุราจารย์ หลวงพ่อจรัญ ฐิตธมฺโม วัดอัมพวัน สิงห์บุรี
เกิดเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2471 ที่ต.ม่วงหมู่ อ.เมือง จ.สิงห์บุรี ในสมัยรัชกาลที่ 7 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว โยมบิดาชื่อแพ โยมมารดาชื่อ เจิม จรรยารักษ์ ซึ่งมีอาชีพค้าขาย มีพี่น้องทั้งหมด 10 คน ท่านเป็นบุตรคนที่ 5 ท่านเคยศึกษาดนตรีไทยมีปี่พาทย์มอญ แตรวงเครื่องสาย การประพันธ์บทขับร้อง จากโยมบิดากับคุณหลวงธารา
ต่อมาคุณปู่ พ.ต.หลวงธารา ได้นำพระคุณเจ้าเข้าฝากตัวกับจอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี เพื่อเข้าศึกษาโรงเรียนนายตำรวจ พระคุณเจ้าศึกษาอยู่ประมาณ 1 เดือน จึงขอลาออกเนื่องจากไม่ถูกอัธยาศัยในวิชานี้ ต่อมาท่านอุปสมบทวันที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2491 พรรษา 67 โดยมีท่านเจ้าคุณพรหมนคราจารย์ วัดแจ้งพรหมนครเป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูถาวรวิริยคุณ วัดพุทธารามเป็นกรรมวาจาจารย์
หลวงพ่อจรัญได้ศึกษาพระธรรมวินัย วิปัสสนากรรมฐานโดยปีพ.ศ. 2491 ศึกษาพระธรรมวินัย ณ สำนักพรหมบุรี พ.ศ.2492 สอบนักธรรมโทสนามหลวงได้ที่วัดแจ้งพรหมนคร พ.ศ. 2493 ศึกษาวิชากรรมฐานกับพระครูนิวาสธรรมขันธ์ (หลวงพ่อเดิม) อ.หนองโพธิ์ จ.นครสวรรค์จนเป็นลูกศิษย์องค์เดียวที่สำเร็จวิชาคชสาร พ.ศ.
2494 ศึกษาวิชากรรมฐานกับหลวงพ่อลี และท่านเจ้าคุณอริยคุณาธร จ.ขอนแก่น พ.ศ.2495 ศึกษาการทำพระเครื่องและเครื่องรางของขลัง, น้ำมันมนต์กับหลวงพ่อจง วัดหน้าต่าง จ.อยุธยา และพระครูวินิจสุตคุณ, หลวงพ่อสนั่น วัดเสาธงทอง จ.อ่างทอง หลวงพ่อจาด วัดบ้านสร้าง จ.ปราจีนบุรี
พ.ศ. 2496 ศึกษาวิชาสมถวิปัสสนา กับพระภาวนาโอกาสลเถร (สด จันทสโร) หรือหลวงพ่อสด วัดปากน้ำ อ.ภาษีเจริญ จ.ธนบุรี พ.ศ. 2497 ศึกษาและปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานกับเจ้าคุณอาจารย์พระราชสิทธิมุนี วัดมหาธาตุ จ.พระนคร พ.ศ. 2498 ศึกษาพระอภิธรรมกับอาจารย์เตชิน (ชาวพม่า) วัดระฆัง จ.ธนบุรี และได้ศึกษาการ
พยากรณ์จากสมเด็จพระสังฆราชวัดสระเกศฯ จ.พระนคร ศึกษาแลกเปลี่ยนความรู้วิทยาศาสตร์ทางจิตกับอาจารย์ พ.อ.ชม สุคันธรัต หลังจากนั้นท่านได้เดินธุดงค์รอนแรมหาที่สงบ เพื่อจำศีลภาวนาตามป่าเขาลำเนาไพรทางภาคเหนือ และได้พบและเรียนวิชาจากพระในป่าหรือหลวงพ่อดำ
หลวงพ่อจรัญเป็นพระภิกษุชาวไทยในสังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดอัมพวัน อำเภอพรหมบุรี จังหวัดสิงห์บุรี และเป็นที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค 3 โดยในปีพ.ศ. 2501 ได้รับสมณศักดิ์เป็นพระครูปลัดจรัญ ฐิตธัมโม พ.ศ. 2511 ได้รับพระราชทานตั้งสมณศักดิ์ เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นตรี ในราชทินนามที่ ฝ่ายวิปัสสนาธุระ พระครูภาวนาวิสุทธิ์ ต่อมาพ.ศ. 2525 เป็นพระครู
สัญญาบัตร เจ้าคณะอำเภอชั้นเอกในราชทินนามเดิมที่พระครูภาวนาวิสุทธิ์
หลังจากนั้นพ.ศ. 2531 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่ พระภาวนาวิสุทธิคุณพ.ศ. 2535 ได้รับสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นราชที่พระราชสุทธิญาณมงคล พ.ศ. 2544 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นเทพที่ พระเทพสิงหบุราจารย์ และพ.ศ. 2547 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นธรรมที่พระธรรมสิงหบุราจารย์
สำหรับตำแหน่งการปกครองทางสงฆ์ พ.ศ. 2500 ได้รับแต่งตั้งเป็นรักษาการเจ้าอาวาสวัดอัมพวัน อำเภอพรหมบุรี จังหวัดสิงห์บุรี พ.ศ. 2517 ได้รับแต่งตั้งเป็นรักษาการเจ้าคณะอำเภอพรหมบุรี พ.ศ. 2518 ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะอำเภอพรหมบุรี พ.ศ. 2519 ได้รับแต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์ ต่อมาในปีพ.ศ. 2541 ได้รับพระบัญชาเป็นรองเจ้าคณะจังหวัดสิงห์บุรี พ.ศ. 2542 เป็นเจ้าคณะจังหวัดสิงห์บุรี พ.ศ. 2552 เป็นที่ปรึกษาเจ้าคณะจังหวัดสิงห์บุรี พ.ศ. 2557 เป็นที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค 3
หลวงพ่อจรัญเป็นพระสงฆ์ที่มีชื่อเสียงในระดับประเทศจากการเป็นพระนักพัฒนา พระนักเทศน์ และพระวิปัสสนาจารย์ แนวทางการสืบทอดพระพุทธศาสนาของท่านเน้นหนักที่การสั่งสอนเรื่องกฎแห่งกรรม โดยยกเหตุการณ์ที่ท่านประสบและนับเป็นกฎแห่งกรรมขึ้นมาเป็นอุทาหรณ์อยู่เสมอ และเน้นการพัฒนาจิตใจคนด้วยการทำ
วิปัสสนากรรมฐานด้วยหลักสติปัฏฐาน 4 แบบพองหนอ-ยุบหนอ นอกจากนี้ หลวงพ่อจรัญยังเป็นผู้ที่ส่งเสริมให้พุทธศาสนิกชนหมั่นสวดมนต์ด้วยพุทธชัยมงคลคาถา (พาหุงมหากา) เพื่อเป็นเครื่องเจริญสติอย่างแพร่หลายอีกด้วย สำหรับแนวทางการสืบทอดพระพุทธศาสนานั้นหลวงพ่อจรัญยึดหลักจะใช้หนี้โลกมนุษย์ด้วยการเผยแพร่พระธรรมคำสั่งสอนพระพุทธเจ้า
“หลวงพ่อจรัญท่านเป็นพระนักปฏิบัติที่เน้นการปฏิบัติตามหลักสติปัฏฐาน ๔ และเน้นสอนให้เชื่อเรื่องกฎแห่งกรรม แต่พระเครื่อของท่านก็ไม่ธรรมดา โดยเฉพาะรุ่นแรกๆ มีการเช่าซื้อกันในหลักแสน เพราะผู้ใช้บูชาติดตัวล้วนสัมฤทธิผลเป็นที่ประจักษ์แก่สาธารณชน”
นี่เป็นความเห็นของนายสมภพ ไทยธีระเสถียร หรือ อั้ง เมืองชล อุปนายกสมาคมผู้นิยมพระเครื่องพระบูชาไทย ประธานชมรมอนุรักษ์พุทธศิลป์ไทย และหนึ่งในกรรมการตัดสินพระชุดเบญจภาคี ที่คร่ำหวอดในวงการพระเครื่องมากเกือบ ๔ ทศวรรษ
อั้ง เมืองชล บอกว่า วัตถุมงคลทุกรุ่นของพระธรรมสิงหบุราจารย์ หรือ หลวงพ่อจรัญ ฐิตธมฺโม อดีตเจ้าอาวาสวัดอัมพวัน อ.พรหมบุรี จ.สิงห์บุรี ได้รับความนิยมสูงมาก อาทิ พระพุทธนฤมิตโชค แบ่งออกเป็น ๒ พิมพ์ เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิอยู่ในรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าแบบหนึ่งและปางประทานพรแบบอินเดีย ยกมือขวาประทานพรอีกแบบหนึ่ง
นอกจากนี้ยังมีพระสมเด็จพิมพ์ขาโต๊ะ พระสมเด็จพิมพ์ ๓ ชั้น พระสมเด็จพิมพ์ ๗ ชั้น พระขุนแผน พระผงหลวงพ่อเพชร พิมพ์ใหญ่และพิมพ์เล็ก พ.ศ.๒๕๑๑ พระพุทธชโลทรและเหรียญพัฒนาวัดอัมพวัน พ.ศ.๒๕๑๓ (เนื้อทองแดงกะไหล่ทองและทองแดงรมดำ) พระเขี้ยวแก้ว สร้างในวาระที่หลวงพ่อไปเยือนศรีลังกา พ.ศ.๒๕๑๕ เหรียญกลม พ.ศ.๒๕๑๘ เหรียญดาว พ.ศ.๒๕๑๙ พระผงรุ่นครกแตก พ.ศ.๒๕๒๓ เหรียญที่ระลึกสร้างหอประชุมสงฆ์ พ.ศ.๒๕๒๔ พระผงรุ่นยุวพุทธ พ.ศ.๒๕๒๕ เป็นต้น
สติปัฏฐาน ๔ คือ มีสติรู้ใน ๔ อิริยาบถ
นอกจากขึ้นชื่อว่าเป็นเซียนพระชุดเบญจภาคีแล้ว อีกมุมหนึ่งที่น้อยคนนักจะรู้ว่า อั้ง เมืองชล เป็นนักปฏิบัติธรรมตัวยง ทั้งนี้เมื่อว่างเว้นจากงานประจำก็เขาจะไปปฏิบัติธรรมกับหลวงพ่อจรัญ โดยไปนั่งฝึกกรรมฐาน ตามหลักสติปัฏฐาน ๔ คือ มีสติรู้ใน ๔ อิริยาบถอยู่ตลอดเวลา คือ เดิน ยืน นั่ง และนอน ขณะเดียวกันทุกวันพระจะไปสวดมนต์ที่วัดยานนาวา วัดมหรรณพาราม รวมทั้งสวดมนต์ที่วัดใกล้บ้าน เพราะการสวดมนต์เป็นจิตภาวนาอย่างหนึ่งที่ทำให้เกิดสร้างสมาธิและสร้างปัญญา
“สติปัฏฐาน ๔ ทำให้เรามีความจำดี สามารถนำมาใช้ในการส่องดูพระได้เป็นอย่างดี นอกจากช่วยให้จำพิมพ์ได้แม่นยำแล้ว ยังลึกในเนื้อหาและมวลสารของพระแต่ละองค์ ทำให้เราไม่ประมาทในการเช่าซื้อพระแต่ละองค์ โดยจะมองข้ามเรื่องเงินที่จะได้ว่าเท่าไร และลึกไปกว่านั้น คือ คำสอนของพระสงฆ์ผู้สร้างพระองค์นั้นๆ ว่ามีหลักคำสอนอะไรบ้าง เช่นถ้าส่องพระสมเด็จ เราต้องนึกถึงคาถาชินบัญชรที่สมเด็จพุฒาจารย์ (โต) รจนาไว้” อั้ง เมืองชล กล่าว
อย่างไรก็ตามตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา อั้ง เมืองชล เคยชักชวนพรรคพวกในวงการพระไปปฏิบัติธรรมด้วยกัน แต่เวลาว่างไม่ตรงกันจึงไม่มีโอกาสได้ปฏิบัติธรรมร่วมกัน ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย คนวงการพระรู้คุณค่าพระเครื่องแต่ไม่เห็นคุณค่าพระธรรมที่ซ่อนไว้ในพระเครื่อง อย่างที่ว่าเราเห็นน้ำแต่ไม่ได้กินน้ำ หรือผู้ปฏิบัติธรรมย่อมที่รู้ว่าปฏิบัติธรรมนั้นดีอย่างไร คนอื่นจะมาเล่าอย่างไรคงเปรียบไม่ได้กับลองได้กินน้ำแล้วช่วยดับกระหาย หรือมีความสุขได้จากการปฏิบัติธรรมเอง
ทั้งนี้ อั้ง เมืองชล พูดทิ้งท้ายไว้อย่างน่าคิดว่า “ผมสวดมนต์พุทธชัยมงคลคาถา หรือ คาถาพาหุงมหากา วันละ ๒ ครั้ง คือ เช้าก่อนออกจากบ้าน และตอนกลางคืนก่อนเข้านอน คาถาบทนี้มีพุทธคุณสุดวิเศษ ครบเครื่องครอบจักรวาลทั้งเมตตามหานิยม แคล้วคลาด ปลอดภัย เงินทองไหลมาเทมา เกื้อหนุนวาสนาบารมีให้เจริญรุ่งเรืองก้าวหน้าในธุรกิจการงานต่างๆ”
Cr.ข้อมูลและภาพจากนสพ.คมชัดลึก
โฆษณา