6 ต.ค. 2022 เวลา 04:18 • การศึกษา
เรื่องของกฎหมายที่คนมักเข้าใจผิด (ตอนที่ 1)
1. หนี้ขาดอายุความไม่ได้ทำให้หนี้ระงับ เจ้าหนี้อาจทวงถามให้ลูกหนี้ชำระหนี้หรือฟ้องศาลได้ แต่ลูกหนี้ก็มีสิทธิยกเรื่องอายุความขึ้นต่อสู้เพื่อปฏิเสธการชำระหนี้ได้เช่นกัน
2. การกู้ยืมเงินไม่ได้มีอายุความ 10 ปีเสมอไป การกู้ยืมเงินบางประเภท เช่น การกู้สินเชื่อบ้านจากธนาคารที่จะต้องผ่อนชำระคืนเป็นงวด ๆ หนี้ดังกล่าวจะมีอายุความ 5 ปี
3. ถ้าได้จำนองทรัพย์สินเพื่อประกันหนี้ไว้ แม้หนี้ประธานจะขาดอายุความไปแล้ว เจ้าหนี้ยังมีสิทธิบังคับเอากับทรัพย์สินที่จำนองได้ แต่จะบังคับเอาดอกเบี้ยที่ค้างชำระในการจำนองเกิน 5 ปีไม่ได้
1
4. ในเรื่องซื้อขายนั้น ถ้าในสัญญาซื้อขายไม่ได้กำหนดเรื่องการโอนกรรมสิทธิ์ของทรัพย์สินเอาไว้ เช่น ให้กรรมสิทธิ์ในสินค้าเป็นของผู้ซื้อก็ต่อเมื่อผู้ขายได้รับโอนเงินค่าสินค้าจนครบถ้วนแล้ว หรือมีกฎหมายกำหนดให้ต้องไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ เช่น การซื้อขายที่ดิน
แบบนี้เมื่อผู้ซื้อและผู้ขายได้ตกลงกันชัดเจนแล้วว่าจะซื้อขายทรัพย์สินอะไร ประเภทใด กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินจะถูกโอนเป็นของผู้ซื้อทันทีแม้จะยังไม่ได้ส่งมอบทรัพย์สินก็ตาม ส่วนการชำระราคาถือเป็นหน้าที่ของผู้ซื้อจะต้องปฏิบัติตามสัญญา
5. ภริยา กับ ภรรยา มีความหมายเหมือนกัน คือ เมีย หญิงที่เป็นคู่ครองของชาย คู่กับสามี (ที่มา: พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน) แต่นักกฎหมายมักจะใช้คำว่า ภริยา เนื่องจากเป็นคำที่ถูกใช้ในประมวลกฎหมายของไทย
1
6. ทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างสมรส ไม่จำเป็นต้องเป็นสินสมรสเสมอไป เช่น ภริยาได้รับมรดกจากคุณยายที่เสียชีวิต หรือสามีทำงานถูกใจเจ้านาย เจ้านายจึงซื้อนาฬิกาโรเล็กซ์ให้เป็นการส่วนตัว แบบนี้ถ้าไม่มีพินัยกรรมหรือหนังสือยกให้ระบุว่าเพื่อเป็นสินสมรส ทรัพย์สินที่แต่ละฝ่ายได้รับมาย่อมถือว่าเป็นสินส่วนตัวของแต่ละฝ่าย
1
7. ส่วนหนี้สินที่เกิดขึ้นระหว่างสมรสก็ไม่จำเป็นต้องเป็นหนี้ร่วมกันระหว่างสามีภริยาเช่นเดียวกัน (สามารถอ่านเพิ่มเติมที่บทความนี้ https://www.blockdit.com/posts/5da6df1730fafb2a215ba520)
2
8. เราสามารถทำพินัยกรรมด้วยตัวเองได้และไม่ต้องมีพยาน ซึ่งเรียกว่า พินัยกรรมแบบเขียนเองทั้งฉบับ (ย้ำว่าต้อง “เขียน” เท่านั้น พิมพ์ไม่ได้) โดยผู้เขียนจะต้องลงวันเดือนปีที่ทำและลายมือชื่อให้ครบถ้วน
9. อันนี้ต้องระวัง ถ้าคิดจะทำพินัยกรรมและจะยกมรดกให้ใคร อย่าเผลอเอาคนที่คิดจะยกมรดกให้มาเซ็นชื่อเป็นพยานหรือเป็นผู้เขียน (หรือพิมพ์) พินัยกรรม เพราะผู้เขียนหรือพยานในพินัยกรรม (รวมถึงคู่สมรส) จะเป็นผู้รับทรัพย์ตามพินัยกรรมไม่ได้
1
10. เคยได้ยินไหมว่า “ขอชกหน้าซักที เดี๋ยวค่อยไปเสียค่าปรับ 1,000 นึง” ความเชื่อนี้อันตรายนะ ก่อนอื่น การชกคนอื่นเป็นการทำร้ายร่างกาย ถ้าผู้ถูกทำร้ายไม่บาดเจ็บหรือบาดเจ็บเล็กน้อยมาก ก็อาจเป็นความผิดลหุโทษ ซึ่งปัจจุบันกฎหมายได้แก้โทษปรับสูงสุดอยู่ที่ 10,000 บาท ไม่ใช่ 1,000 บาทแล้ว (ส่วนโทษจำคุกเหมือนเดิมคือไม่เกิน 1 เดือน) และถ้าเกิดซวยไปชกเค้าบาดเจ็บสาหัส เช่น ตาบอด อันนี้จะไม่เข้าความผิดลหุโทษละ แต่จะเป็นข้อหาทำร้ายผู้อื่นจนได้รับอันตรายสาหัส ซึ่งโทษหนักและไม่จบแค่ปรับแค่ 10,000 บาทแน่นอน
วันนี้นึกออกแค่นี้ 😂 ถ้านึกอะไรออกเพิ่มเติมเดี๋ยวจะรวบรวมไว้ทำเป็นตอนที่ 2 ครับ
1
โฆษณา