6 ต.ค. 2022 เวลา 09:25 • การเกษตร
การเลือกระบบการให้น้ำที่เหมาะสมกับชนิดของพืช
พืชไร่
  • ระบบน้ำหยด เหมาะสำหรับการให้น้ำกับพืชไร่ที่มีการปลูกเป็นแถวชิด เช่น มันสำปะหลัง อ้อย ข้าวโพด สับปะรด ที่มีระยะการปลูกระหว่างแถว 1-2 เมตร สามารถใช้เทปน้ำหยดวางตามแถวปลูกทุกแถว โดยใช้เทปน้ำหยดที่มีอัตรา 2-4 ลิตรต่อชั่วโมง ทุกช่องทางออกระยะ 30-50 เซนติเมตร ลักษณะการติดตั้งสำหรับขนาดพื้นที่กว้าง 40 เมตร ยาว 80 เมตร ดังภาพ
แสดงลักษณะการติดตั้งระบบการให้น้ำแบบน้ำหยด
  • ระบบสปริงเกลอร์ เหมาะสำหรับพืชไร่ ที่มีระยะปลูกทั้งแถวชิด เช่น พืชไร่ พืชผัก มันสำปะหลัง อ้อย ข้าวโพด สับปะรด ที่มีระยะการปลูกระหว่างแถว 1-2 เมตร การติดตั้งไม่ต้องวางท่อย่อยทุกแถวพืช แต่ใช้ระยะห่างระหว่างแนว ท่อย่อยและระหว่างหัวตั้งแต่ 10 เมตร ขึ้นไป เช่น ติดตั้งหัวสปริงเกลอร์ อัตราการไหล 1 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง รัศมีการกระจายน้ำ 10-12 เมตร ทุกระยะ 10x10 เมตร สามารถติดตั้งระบบสปริงเกลอร์ ในการให้น้ำ ลักษณะการติดตั้งสำหรับขนาดพื้นที่กว้าง 40 เมตร ยาว 80 เมตร ดังภาพ
แสดงลักษณะการติดตั้งระบบการให้น้ำแบบสปริงเกลอร์
พืชผัก
  • ระบบน้ำหยด เหมาะสำหรับพืชผักที่ปลูกเป็นแถวเป็นแนว เช่น มันสำปะหลัง อ้อย ข้าวโพด สับปะรด ที่มีระยะการปลูกระหว่างแถว 0.5-1 เมตร สามารถใช้เทปน้ำหยดวางตามแถวปลูกทุกแถว โดยใช้เทปน้ำหยดที่มีอัตรา 1-8 ลิตรต่อชั่วโมง ทุกช่องทางออกระยะ 10-100 เซนติเมตร
  • ระบบมินิสปริงเกลอร์ เหมาะสำหรับพืชผักที่ปลูกเป็นแปลงแบบหว่าน หรือแบบต้นกล้า เช่น ผักกินใบ ผักหวาน การติดตั้งสามารถวางระยะห่างระหว่างแนวท่อย่อยและระหว่างหัวประมาณ 2-4 เมตร อัตราการไหล 60-120 ลิตรต่อชั่วโมง รัศมีการกระจายน้ำ 2-3 เมตร
ไม้ผล
  • ระบบมินิสปริงเกลอร์ เหมาะสำหรับไม้ผลที่มีระยะปลูก ตั้งแต่ 4 เมตรขึ้นไป เช่น ระยะปลูก 5x5, 6x6, 8x8, เมตรสามารถวางท่อย่อยตามแถวของไม้ผลทุกแถวและติดตั้งหัวมินิสปริงเกลอร์ต้นละ 1-2 หัว
  • ระบบไมโครสเปรย์และเจ็ท เหมาะสำหรับไม้ผลที่มีระยะปลูกไม่เกิน 4 เมตร เช่น ไม้ผล ระยะปลูก 4x4 เมตร สามารถวางท่อย่อยตามแถวของไม้ผลทุกแถวและติดตั้ง หัวไมโครสเปรย์และเจ็ท ต้นละ 1-2 หัว
  • ระบบควบคุมการให้น้ำอัตโนมัติ (Controllers) เครื่องควบคุมการให้น้ำอัตโนมัติ เป็นการให้น้ำตามที่พืชต้องการได้อย่างถูกต้อง เครื่องควบคุมสามารถสั่งการไปยังวาล์วไฟฟ้า สามารถใช้ Sensor ความชื้นเพื่อควบคุมการเริ่มต้นจ่ายน้ำและช่วงของการหยุดจ่ายน้ำ ตามความต้องการน้ำของพืชในแต่ละวัน
เครื่องควบคุมการให้น้ำอัตโนมัติ (Controllers)
ประโยชน์ของระบบอัตโนมัติ
1. ประหยัดน้ำ เป็นสิ่งที่แสดงถึงประสิทธิภาพของระบบอัตโนมัติ เนื่องจากมีความแน่นอนในระบบการสั่งการ สามารถควบคุมปริมาณน้ำได้อย่างถูกต้องตามต้องการ ซึ่งสามารถใช้ประกอบกับ Sensor ความชื้น ทำให้ประหยัดน้ำได้ถึง 12-22% (Motorola, 1982)
2. ประหยัดพลังงาน เนื่องมาจากประหยัดน้ำจึงทำให้ประหยัดพลังงานไปด้วย
3. ประหยัดแรงงาน ระบบอัตโนมัตินี้ไม่ต้องอาศัยคนคอยควบคุม การใช้ไฟฟ้าจะประหยัดกว่าโดยเฉพาะกับต้นไม้ที่ยังเล็ก และต้องการให้น้ำสัปดาห์ละหลายครั้ง
4. ช่วยเพิ่มผลผลิต เนื่องจากการควบคุมความชื้นและปริมาณน้ำถูกต้อง แม่นยำ ดังนั้น ต้นไม้จะไม่เกิดความเครียดจากการได้รับน้ำไม่เพียงพอและสม่ำเสมอก่อนที่ผู้ให้น้ำจะตัดสินใจใช้ระบบอัตโนมัติหรือไม่ ควรพิจารณาจากความต้องการและโครงการว่าคุ้มกับการลงทุนหรือไม่
การควบคุมการให้น้ำพืชโดยใช้เครื่องมือวัดความชื้นในดิน (Tensiometer Control)
เนื่องจากการให้น้ำต้องให้ตามความต้องการของพืช โดยไม่ทิ้งไปโดยเปล่าประโยชน์ จึงจำเป็นต้องให้น้ำพืชตามสภาพความชื้นที่อยู่ในดิน หากมีการให้น้ำมากเกินไปน้ำจะไหลซึมเลยเขตรากพืช ซึ่งเป็นการสูญเสียน้ำและพลังงานไปโดยเปล่าประโยชน์ ในทางกลับกันการให้น้ำน้อยเกินไป ก็จะทำให้ผลผลิตต่ำกว่าปกติ ดังนั้น การควบคุมการให้น้ำพืชโดยใช้เครื่องมือวัดความชื้นในดินในการควบคุมการให้น้ำ จะทำให้การใช้น้ำของพืชมีประสิทธิภาพสูงสุด การติดตั้งจะใช้แบบควบคุมปั้มน้ำโดยตรงหรือร่วมกับปั้มน้ำแบบอัตโนมัติก็ได้
Sensor วัดความชื้นในดิน
  • ทั้งนี้ รูปแบบการสั่งการหรือการแสดงผล อาจใช้สั่งด้วยโทรศํพท์มือถือ Smart Phone หรือ ไมโครคอมพิวเตอร์ ก็ได้ ซึ่งในปัจจุบันมีอุปกรณ์ และ Sensor ต่าง ๆ ที่มีการผลิตเพื่อการค้าอยู่หลายรูปแบบ
วาล์วไฟฟ้า (Solenoid Valve)
เป็นวาล์วที่ใช้ควบคุมการเปิด-ปิดน้ำ ด้วยระบบไฟฟ้า ใช้ร่วมกับระบบควบคุมการให้น้ำแบบอัตโนมัติ หรือใช้ร่วม Sensor ความชื้น ซึ่งการเลือกใช้แต่ละแบบขึ้นอยู่กับความต้องการใช้งาน
วาล์วควบคุมอัตโนมัติแบบใช้ไฟฟ้า (Solenoid Valve)
เรียบเรียง : กองส่งเสริมโครงการพระราชดำริ การจัดการพื้นที่และวิศวกรรมเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม หมายเลขโทรศัพท์ : 02 579 3804

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา