14 ต.ค. 2022 เวลา 03:30 • ประวัติศาสตร์

สามก๊กชวนรู้ (4) : ตั๋งโต๊ะและดาบฌ้อปาอ๋อง

.
สำหรับผู้ที่ได้ศึกษาวรรณกรรมสามก๊ก คงคุ้นชื่ออาวุธที่มีชื่อเสียงหลายชิ้น เช่น ง้าวมังกรเขียวของกวนอู, มีดสั้นเจ็ดดาวของอ้องอุ้น, กระบี่กีเทนเกี้ยมที่จูล่งไปยึดมาจากแฮหัวอิ๋นในศึกสะพานเตียงปัน (ตามฉบับจีนเป็นกระบี่ชิงกัง ส่วนกระบี่อิงเทียนเจี้ยน หรือกีเทนเกี้ยม โจโฉพกติดตัว)
ส่วนใหญ่ของอาวุธเหล่านี้มักจะถูกเพิ่มเติมลงในฉบับวรรณกรรมอิงประวัติศาสตร์ของหลอกว้านจง ที่เขียนขึ้นในคริสตศตวรรษที่ 13-14 หลังสมัยสามก๊ก (ค.ศ.220-280) นับพันปี
บทความนี้จะขอเสนออาวุธชิ้นหนึ่งที่ปรากฏในบันทึกกู่จิ้นเต้าเจี้ยนลู่ (古今刀劍錄-บันทึกดาบกระบี่ยุคโบราณและปัจจุบัน) ของเถาหงจิ่ง (陶弘景) นักเขียนสมัยราชวงศ์เหนือใต้ (ค.ศ.420-589) ซึ่งอาวุธบางชิ้นยังปรากฏในบันทึกสมัยหลังจากนั้นด้วย
แต่อาวุธชิ้นนี้กลับไม่ปรากฏในวรรณกรรมสามก๊กฉบับที่รู้จักกันดี
ข้อความในบันทึกได้กล่าวเอาไว้สั้น ๆ พอสรุปว่า
ตั๋งโต๊ะ (董卓) สมัยที่อายุน้อยทำไร่ไถนาอยู่ที่บ้าน ระหว่างกำลังไถนาได้ไปพบดาบเล่มหนึ่งเข้า
เป็นดาบที่ไม่มีคำจารึกใด ๆ นอกจากลวดลาย ภูเขาและเมฆทั้งสองด้านของดาบ ฟันหยกขาดได้ง่ายดายราวหั่นผักผลไม้ เมื่อตั๋งโต๊ะนำไปให้ชัวหยง (蔡邕) นักปราชญ์ผู้หนึ่งดู ชัวหยงจึงบอกว่า ดาบเล่มนี้เป็นของเซี่ยงอวี่
ตั๋งโต๊ะ ที่มาภาพ Wikimedia Commons
เซี่ยงอวี่ (項羽) คือ ซีฉู่ปาหวัง หรือ ไซฌ้อปาอ๋อง (西楚霸王) ตามสำเนียงฮกเกี้ยนที่คนไทยคุ้นเคย เป็นทายาทขุนศึกของแคว้นฉู่หนึ่งใน 6 แคว้นที่ถูกแคว้นฉินภายใต้การนำของจิ๋นซีฮ่องเต้ผนวก
ต่อมาเมื่อจิ๋นซีฮ่องเต้สวรรคต เกิดเรื่องราวหลายอย่างขึ้น ชาวบ้านหกแคว้นเดิมต่างตั้งกองกำลังต่อต้านราชวงศ์ฉินขึ้นมา เซี่ยงอวี่กลายเป็นผู้นำของกองกำลังต่อต้านที่มาจากแคว้นฉู่ ร่วมกับเล่าปัง หัวหน้ากองกำลังเล็ก ๆ จากแคว้นฉู่อีกกลุ่ม
เซี่ยงอวี่ หรือ ฌ้อปาอ๋อง ที่มาภาพ Wikimedia Commons
หลังโค่นล้มราชวงศ์ฉินได้ ก็มีการแบ่งแคว้นใหม่เป็น 18 แคว้น หลายแคว้นก็ทำสงครามต่อสู้กันเอง มีเซี่ยงหวี่ แห่งแคว้นฉู่ตะวันตก (ซีฉู่) และเล่าปัง แห่งแคว้นฮั่น เป็นสองแคว้นที่มีอิทธิพลที่สุด
สุดท้ายเล่าปังชนะสงครามก่อตั้งราชวงศ์ฮั่น เซี่ยงอวี่ต้องเชือดคอตายหนีความอัปยศ
ค่อนข้างประหลาดที่ดาบของเซี่ยงอวี่ ชาวแคว้นฉู่ที่ตั้งอยู่ทางตอนใต้ไปจนถึงตะวันออกเฉียงใต้จรดทะเล กลับไปอยู่ที่บ้านเดิมของตั๋งโต๊ะ คือเมืองหลงเส มณฑลเลียงจิ๋ว ทางตะวันตกเฉียงเหนืออันเป็นดินแดนแคว้นฉินเดิม
เป็นไปได้ว่า ถ้าอยู่ที่เดิม อาจจะมีการนำมาใช้เพื่อก่อกบฏ ต้องย้ายไปที่อิทธิพลของเซี่ยงอวี่ไม่สามารถก่อปัญหาได้
อีกเรื่องที่น่าสนใจคือ ชัวหยง ไม่ได้มีบ้านหรือทำงานอยู่แถบนั้น ตั๋งโต๊ะไปรู้จักตั้งแต่เมื่อไหร่
อย่างไรก็ตามเรื่องนี้ไม่ปรากฏทั้งในจดหมายเหตุสามก๊กของเฉินโซ่ว, อรรถาธิบายของเผยซงจือ หรือจดหมายเหตุราชวงศ์ฮั่นยุคหลัง (โฮ่วฮั่นซู่) ทำให้ไม่สามารถจะตอบได้ว่าดาบของเซี่ยงอวี่นี้มีจริงหรือไม่
และไม่มีบันทึก, ตำนาน หรือวรรณกรรมฉบับไหนกล่าวถึงดาบของเซี่ยงอวี่อีกเลย
ปล.1 ตามจดหมายเหตุ ชัวหยง ถูกปลดออกจากราชการอย่างไม่เป็นธรรม เมื่อตั๋งโต๊ะเรืองอำนาจ ตั๋งโต๊ะเป็นคนเรียกแกมบังคับกลับมารับราชการ หลังจากที่ตั๋งโต๊ะถูกสังหาร ชัวหยงเป็นคนไปร้องไห้อาลัยตั๋งโต๊ะ จนถูกอ้องอุ้นที่มีอำนาจแทนนำไปประหาร
ปล.2 ชัวหยงเป็นนักปราชญ์ผู้มีความสามารถคนหนึ่งของยุคราชวงศ์ฮั่นตะวันออก หลังจากที่ตายไป ชัวบุ้นกีลูกสาวของชัวหยง ได้รวบรวมผลงานด้านประวัติศาสตร์ กวีนิพนธ์ และวิชาการต่าง ๆ ของชัวหยง มาให้โจโฉ ทำให้ตำราหลายอย่างไม่สูญหายไป
ดาบ หรือ เต้า (刀) ยุคราชวงศ์ฮั่น คืออันที่มีวงแหวนกลม ๆ อยู่ที่ด้าม ที่มาภาพ Wikimedia Commons
อ้างอิง

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา