8 ต.ค. 2022 เวลา 03:21 • ประวัติศาสตร์
นิยามความงามของสาวแดนซากุระ (3)
เครดิตภาพ : https://www.fashion-press.net/news/85646
หลังจากมีการดำเนินนโยบายเปิดประเทศในยุคเมจิ ทำให้ญี่ปุ่นเกิดการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่เพื่อให้ทัดเทียมกับนานาอารยประเทศ ตั้งแต่การส่งผู้มีความรู้ความสามารถออกไปศึกษาวิทยาการแขนงใหม่ ก่อตั้งไปรษณีย์และโทรเลข การรถไฟ สร้างถนนหนทาง และไฟฟ้า
เครดิตภาพ : https://3dkyoto.blog.fc2.com/blog-entry-168.html
ด้านชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนก็เกิดการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่เช่นกัน ตั้งแต่อาคารสิ่งปลูกสร้างที่เปลี่ยนจากการใช้ไม้เป็นการก่อด้วยอิฐและปูน ผู้ชายหันมาแต่งกายด้วยเสื้อเชิ้ตและกางเกงกันมากขึ้น ผู้หญิงเองก็หันมาสวมชุดกระโปรงตามแบบตะวันตก
1
ค่านิยมที่เปลี่ยนแปลงไป
เมื่อรัฐบาลต้องการขับเคลื่อนประเทศชาติให้ทันสมัย จึงได้มีการตราข้อกำหนดออกมามากมาย หนึ่งในนั้นก็คือ “ข้อกำหนดการตัดผมสั้นสำหรับบุรุษเพศ - 散髪脱刀令” เพื่อยกเลิกการไว้จุกกลางศีรษะแบบซามูไรที่เรียกกันว่า “ชนมาเกะ”
1
หนึ่งในต้นแบบของผู้ที่หันมาตัดผมสั้น, ฟุคุซาวะ ยูคิจิ บิดาแห่งการศึกษาญี่ปุ่น เครดิตภาพ : https://hugkum.sho.jp/286606
นอกจากนี้ยังมีการโฆษณาคำขวัญเพื่อจูงใจให้พลเมืองชายหันมาตัดผมสันที่ว่า “散切り頭を叩いてみれば、文明開化音がする – ซังกิริอะตะมะโวะไทเตะมิเรบะ บุนเมไคขะโอโตะงะซุรุ” มีหมายความว่า ลองเคาะศีรษะที่ตัดผมจนสั้นเกรียน จะได้ยินเสียงแห่งอารยะ
ยุคเฟื่องฟูของแดนอาทิตย์อุทัย – ไทโช
หากเปรียบเมจิเป็นยุคแห่งการเติบโต ไทโชก็คงเป็นยุคที่เริ่มผลิดอกบาน ญี่ปุ่น ณ เวลานี้ได้ปีนขึ้นสู่แทนผู้นำระดับโลก มีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง แม้ว่าในช่วงแรกของการเลือกตั้งจะสงวนสิทธิ์เฉพาะพลเมืองชายอายุ 25 ปีขึ้นไปเท่านั้นก็ตาม (ผู้หญิงได้รับสิทธิ์ให้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งได้ในปี 1945)
1
การประชุมจัดตั้งองค์การสันนิบาตชาติเพื่อต่อต้านการเหยียดชาติพันธุ์ เครดิตภาพ : https://3dkyoto.blog.fc2.com/blog-entry-168.html
นอกจากการค้าระหว่างประเทศที่ทำให้ญี่ปุ่นมั่งคั่งแล้ว ชนชาติลูกพระอาทิตย์แห่งนี้ยังเป็นประเทศเดียวในเอเชียที่ได้เข้าร่วมการก่อตั้งองค์การสันนิบาตชาติร่วมกับฝรั่งเศส ราชอาณาจักร และอิตาลี
1
สาว ๆ ยุคไทโชเรียกกันว่า "โมเดิร์นเกิร์ล"
สภาพสังคมที่เริ่มเปิดกว้างและการเข้าถึงการศึกษาที่ไม่มีการแบ่งเพศและชนชั้น เป็นสิ่งที่ส่งเสริมให้สาว ๆ ในยุคไทโชเริ่มออกไปทำงานนอกบ้านกันมากขึ้น นอกจากบรรดาผู้ชายพนักงานบริษัทที่เป็นซาลารี่แมนแล้ว ยังมี OL – ออฟฟิศเลดี้ค่อย ๆ เพิ่มขึ้นตามบริษัทต่าง ๆ สาว ๆ ในยุคนี้มีความกระฉับกระเฉงและกล้าที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเอง โดยเอกลักษณะเฉพาะของสาว ๆ ในยุคนี้คือ การตัดผมสั้น
1
【สามสาวงามแห่งยุค】
ยานางิวาระ เบียคุเร็น (柳原白蓮) กวีสาวชื่อดังที่ชีวิตต้องเข้าไปพัวพันกับเรื่องราวความรักถึงสามรูปแบบ เธอเป็นตัวแทนของความอิสระที่หาได้ยากยิ่งในสังคมที่ชายเป็นใหญ่ แม้จะเกิดในตระกูลชนชั้นสูง เพรียบพร้อมไปด้วยรูปโฉม ความรู้ความสามารถ และทรัพย์สินเงินทอง ทว่าเบียคุเร็นกลับให้คุณค่าและซื่อตรงกับ ความรัก เหนือสิ่งอื่นใด
1
เครดิตภาพ : https://ja.wikipedia.org/wiki/%E6%9F%B3%E5%8E%9F%E7%99%BD%E8%93%AE
ชีวิตรักสุดดราม่าของกวีสาวพราวเสน่ห์ได้กลายมาเป็นภาพยนตร์และบทละครในเวลาต่อ ภายใต้ชื่อเรื่อง “คุณนายไข่มุก – 真珠婦人”
1
เองิ คินคิน (江木欣々) ชื่อเดิม “เอโกะ” สาวสวยที่มีชีวิตราวกับละคร
โชคชะตาเล่นตลกให้เธอเกิดมาเป็นลูกนอกสมรส เนื่องจากพ่อผู้เป็นคนมีหน้ามีตาในสังคมและมีครอบครัวอยู่ก่อนแล้ว มาพบรักกับแม่ซึ่งเป็นสาวใช้วัยใส ทำให้แม่ต้องนำเธอไปฝากเลี้ยงกับเจ้าของร้านขายของเก่าตั้งแต่เธอยังจำความไม่ได้ และไม่ได้พบกับผู้เป็นแม่อีกเลย
1
เอโกะถูกเลี้ยงดูเป็นอย่างดีด้วยความรักและเอาใจใส่จากพ่อเลี้ยงที่อุ้มชูเธอมา จนกระทั่งอายุได้ 13 ปี เกิดการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ พ่อเลี้ยงที่ดูแลเธออย่างลูกแท้ ๆ เสียชีวิตลงอย่างกะทันหันจากอาการป่วย เอโกะตัดสินใจไปเป็นเกอิชาเพื่อช่วยเหลือครอบครัวที่ขาดเสาหลักไป
1
เครดิตภาพ : https://ameblo.jp/bth58672/entry-12004724861.html
ด้วยความที่เป็นคนหน้าตาสะสวยและปราดเปรื่อง เอโกะจึงมีความสามารถที่หลากหลายทั้งร้อง เล่น เต้น วาด จะหยิบจับอะไรก็ทำได้ดีไปเสียทุกอย่าง จนกลายเป็นเกอิชาเลื่องชื่อ ต่อมาเอโกะในวัย 16 ปีได้แต่งงานกับผู้ดูแลตระกูลโฮโซคาวะซึ่งมีอายุห่างกันเกือบสามรอบ ทว่าใช้ชีวิตฉันสามีภรรยาได้เพียงหนึ่งปี สามีก็จากโลกนี้ไป
1
เอโกะได้กลับมาเป็นเกอิชาร่ำเรียนศิลปะนานาชนิด และมีโอกาสได้พบกับรักครั้งใหม่ซึ่งเป็นนักกฎหมายมีชื่อแห่งยุค, เองิ มาโคโตะ ยามที่สามีพาเพื่อนนักกฎหมายมาพูดคุยกันที่บ้าน หรือมีงานสังสรรค์กันตามประสาผู้รู้ในแวดวงดังกล่าว เอโกะมักคอยดูแลและสร้างความบันเทิงให้แก่ผู้คนอยู่เสมอ ถือเป็นสาวสังคมที่ครบเครื่องทั้งรูปร่างหน้าตาและความรอบรู้ต่าง ๆ
1
ทว่าความสุขกลับอยู่กับเธอไม่นาน เมื่อสามีนักกฎหมายที่รักสุดหัวใจจบชีวิตลง เอโกะ หรือ เองิ คินคิน ก็กลายเป็นคนเก็บตัว ท้ายที่สุดเธอตัดสินใจทำอัตวินิบาตกรรม ปลิดชีพตามสามีไปในวัย 54 ปี
1
อีกหนึ่งสาวงามที่ไม่ได้มีดีแค่ความสวย แต่เธอคนนี้ยังสร้างคุณาปการแก่สังคมอีกด้วย “คุโจ ทาเคโกะ”(九条武子)
เครดิตภาพ : https://chinchiko.blog.ss-blog.jp/2016-02-18
ทาเคโกะ เกิดมาในตระกูลผู้ดีเก่าในเกียวโต ได้รับการศึกษาทัดเทียมบุรุษเพศ พูดได้หลายภาษา แม้ว่าจะมีชีวิตที่สะดวกสบาย และมีความรู้มากมายเพียงใด เธอกลับยิ่งอ่อนน้อมถ่อมตนพอ ๆ กับความสามารถที่มีอย่างเปี่ยมล้น และเป็นหญิงสาวผู้มีความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก
1
เมื่ออายุได้ 22 ปี ทาเคโกะแต่งงานกับคุโจ โยชิมุเนะ นายธนาคารผู้มากความสามารถแล้วยังเป็นราชนิกูลอีกด้วย ทว่าหลังจากแต่งงานไม่นานโยชิมุเนะผู้เป็นสามี ได้ตัดสินใจเดินทางไปศึกษาต่อด้านดาราศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ โดยให้สัญญาไว้กับทาเคโกะว่าจะกลับมาภายใน 3 ปี ทว่าเขาก็ไม่กลับมาหาเธออีกเลย
1
ระหว่างที่สามีไปเรียนต่อต่างประเทศ เธอหันมาให้ความสนใจเรื่องการแต่งกลอน รวมทั้งยังเป็นนักเคลื่อนไหวโดยเฉพาะในด้านการศึกษา ทาเคโกะก่อตั้งมหาวิทยาลัยสตรีเกียวโตขึ้นโดยมีความตั้งใจที่จะมอบอิสระทางการศึกษาให้แก่ผู้หญิง เพื่อให้พวกเธอมีความรู้เท่าเทียมกับเพศชาย โดยเฉพาะความรู้ด้านการเมือง การศึกษา ประวัติศาสตร์ วรรณกรรม และภาษาต่างประเทศ
1
มหาวิทยาลัยสตรีเกียวโต เครดิตภาพ : https://shingakunet.com/gakko/SC000208/
นอกจากนี้เธอยังอุทิศชีวิตเพื่อช่วยเหลือผู้คนที่เดือดร้อน ตกทุกข์ได้ยาก โดยเฉพาะในเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่คันโต ในปี ค.ศ. 1923 ทาเคโกะได้บูรณะวัดสึคิจิโฮงกังจิที่พังทลายจากแผ่นดินไหวขึ้นมาใหม่ และใช้สถานที่นั้นดูแลผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ หรือสูญเสียที่อยู่อาศัยจากแผ่นดินไหว
1
ทาเคโกะทุ่มเทกำลังเพื่อฟื้นฟูชุมชนให้กลับมามีชีวิตชีวาเหมือนก่อนเกิดแผ่นดินไหว ทว่าการทำงานอย่างหนักทำให้เธอล้มหมอนนอนเสื่อ เกิดโรคโลหิตเป็นพิษ และสิ้นชีวิตลงอย่างสงบในโรงพยาบาลด้วยวัยเพียง 42 ปี
1
แม้ว่าไทโชจะเป็นยุคสมัยที่แสนสั้นเพียงแค่ 15 ปี แต่เป็นยุคที่เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างสุดขั้วซึ่งส่งผลต่าง ๆ มากมายต่อญี่ปุ่นในเวลาต่อมา อย่างการเปลี่ยนแนวคิดที่ว่า “ผู้ชายทำงานนอกบ้าน ผู้หญิงทำงานในบ้าน” เป็นโมเดิร์นเกิร์ล สาว ๆ ไทโชเริ่มออกมาทำงานตามบริษัทต่าง ๆ มากขึ้น จนกระทั่งมีการบัญญัติศัพท์ OL (Office Lady) ขึ้นในสังคมญี่ปุ่น เป็นต้น
1
Office Lady ขึ้นรถรางไปทำงานตอนเช้า เครดิตภาพ : https://twitter.com/polipofawysu/status/869361246650290176
แม้กระทั่งความงามในอุดมคติของสาว ๆ ยุคนี้ก็เปลี่ยนแปลงไป จากในอดีตที่มักนิยมชมชอบสาวเจ้าเนื้อ หน้ากลม ตาเรียว ความงามแบบฉบับยุคไทโชกลายเป็น
  • เครื่องหน้าชัดเจนอย่าง ตาคม จมูกเป็นสัน ปากกระจับได้รูป กรอบหน้าชัด
  • ผิวละเอียด เนียน ขาว ว่ากันว่าเครื่องประทินผิว สกินแคร์ ต่าง ๆ เริ่มเป็นที่นิยมกันมากตั้งแต่ยุคไทโชเรื่อยมา นอกจากนี้ยังนิยมแต่งแต้มเครื่องสำอางค์อ่อน ๆ แทนการโบกจนมองไม่เห็นผิว
  • ความสามารถยิ่งหลากหลาย ยิ่งกลายเป็นสาวสวยจากการเปลี่ยนแปลงทางสภาพสังคมที่ผู้หญิงหันมาทำงานนอกบ้านกันมากขึ้น ทำให้ผู้คนเริ่มให้ความสำคัญกับความสามารถพอ ๆ กับความสวย ผู้หญิงเองก็หันมาใส่ใจกับการพัฒนาความสามารถโดยเฉพาะการศึกษาในระดับสูงมากขึ้น
1
แฟชั่นของสาว ๆ ยุคไทโช เครดิตภาพ : https://instagrammernews.com/detail/972854968738540367
เรียกได้ว่าความงามของหญิงสาวในยุคไทโชเป็นต้นแบบของความงามใน “ปัจจุบัน” การเปลี่ยนแปลงทางสังคมทำให้เจตคติด้านความงามไม่ได้ยึดติดอยู่แค่เปลือกที่เคลือบคน ๆ นั้นแค่ภายนอก แต่ความงดงามที่แท้จริงคือความรู้ความสามารถที่จะช่วยยกระดับผู้หญิงให้สามารถดูแลตัวเองได้ตั้งแต่ภายในจนปรากฏให้เห็นที่ภายนอกได้นั่นเอง
1
โฆษณา