9 ต.ค. 2022 เวลา 00:38 • ไลฟ์สไตล์
ในห้องเรียน ครูให้แบ่งกลุ่มเพื่อทำการแสดงเรื่องลูกหมู 3 ตัว โดยมีเงื่อนไขง่าย ๆ ว่า ต้องแสดงทั้งเรื่องภายใน 5 ภาพเท่านั้น นั่นหมายความถึง ต้องแสดงแบบยืนนิ่ง ๆ
ทั้งหมด โดยไม่ขยับให้ครบ 5 ภาพ
การทำแบบนี้ ช่วยดึงการคิดหลักใจความสำคัญของเรื่องออกมา ให้คนที่ดูเข้าใจได้ ประติประต่อเรื่องได้
ใช้ความคิดอีกสักหน่อย ตั้งคำถามอีกสักนิด ถ้าเราเลือกตรงนี้มา ทุกคนจะเข้าใจใช่ไหม?
สิ่งต่อไปที่ครูให้ทำคือ การแสดงลูกหมู 3 ตัว โดยสะท้อนสังคมไปในตัวด้วย ต้องบอกให้ได้ว่า การแสดงนี้ กำลังสะท้อนอะไรในมุมมองด้านไหนของสังคม
ตอนนี้เริ่มใช้ความคิดมากกว่าเดิม ทุกคนรวมหัวกันมองหน้า บางคนกอดเข่า บางคนหลังผิงกำแพง บางคนถ่ายรูป บางคนนั่งเฉย ๆ และส่วนใหญ่คุยเรื่องนี้กัน จนภายในห้องไม่เงียบ มีเสียงถกเถียงกันอย่างสนุกปาก
เสียงเพื่อนตะโกนบอกว่า หมดเวลาแล้ว ถึงเวลาทำการแสดงสักที ทุกคนมารวมตัวกันในห้อง ๆ เดียว จากตอนแรกที่ขอแยกห้อง เพราะพื้นที่น้อย และคุยกันไม่ได้ยิน
แต่ละกลุ่มงัดไม้เด็ดออกมาอย่างไม่เบามือ
สู้สุดใจ แสดงสุดปัง เสียงปรบมือ เสียงโห่ร้องดีใจ
ที่แต่ละกลุ่มสามารถสร้างสรรค์ขึ้นมาได้ขนาดนี้
ส่วนตัวชอบอยู่กลุ่มหนึ่งคือ การแสดงบ้าน 3 หลังของลูกหมู 3 ตัว ที่บอกถึงระดับฐานะของแต่ละคน ความเหลื่อมล้ำในสังคม
บ้านหลังแรกทำจากฝาง คือคนจน ที่เมื่อเจออุปสรรค ทุกอย่างก็ล่มสลายลง
บ้านหลังที่สองทำจากกิ่งไม้ คือฐานะปานกลาง ที่เมื่อเจออุปสรรคก็ต้านไว้ได้เดี๋ยวเดียว
บ้านหลังที่สามทำจากอิฐ คือคนรวย มีเงิน ที่เมื่อเจออุปสรรคก็สามารถผ่านมาได้สบาย ๆ
นอกจากนี้ยังสะท้อนอีกว่า คนรวยที่ดี คือคนรวยที่คอยช่วยเหลือคนอื่น เมื่อคนอื่นที่ด้อยกว่าในด้านต่าง ๆ เดือดร้อน เหมือนลูกหมูตัวที่ 3 ให้ที่พักพิง ป้องกันเจ้าหมาป่า
ครูถามต่อว่า ลูกหมูตัวไหนเก่งที่สุด?
และถามอีกว่า ทำไมหมาป่าต้องเป่าบ้านด้วย?
เกิดคำตอบที่หลากหลายมากเกินกว่าที่จะเขียนลงไป
ขอยกตัวอย่าง เช่น ลูกหมูตัวแรกเก่งสุด เพราะหนีหมาป่าได้ตลอดจนถึงบ้านหมูตัวที่ 3 ต่างจากที่หลาย ๆ คนคิดว่า หมูตัวที่ 3 เก่งที่สุด เพราะสร้างบ้านแกร่งที่สุด
ซึ่งความจริง อาจไม่เก่งอะไรเลย แต่เป็นมรดกแค่นั้น
ทำไมหมาป่าต้องเป่าด้วยล่ะ เป็นการตั้งคำถามสะท้อนว่า ทำไมเราต้องทำแบบเดิม ๆ ทั้ง ๆ ที่เราสามารถทำวิธีใหม่ ๆ เพื่อให้บรรลุผล การที่ใช้พลังเป่าบ้านทั้ง 3 หลังอาจได้ผลแค่บ้านหลังแรก พอบ้านหลังต่อ ๆ ไปจะเริ่มยากขึ้น
ถอยกลับมามองที่ตัวเอง สะท้อนว่า การมีความยืดหยุ่นกับปัญหาที่ต่างกัน ปรับเปลี่ยนวิธี รับฟังคำแนะนำ ไม่คิดว่าตัวเองเก่งทุกอย่าง เพราะมั่นใจว่าผ่านมาแล้วเหมือนบ้านหลังแรก แบบนี้หลังที่สองจะต้องได้สิ แต่บ้านมันไม่เหมือนกัน ปัญหาก็เช่นเดียวกัน
สอนให้ถ่อมตัว ละทิ้งวิธีที่ใช้มาตลอด
หยิบอาวุธวิธีขึ้นมาใหม่ และทิ้งอีกครั้ง อีกรอบ
...
จากการแสดงภาพถ่าย สู่คำถาม สู่คำตอบ สู่ความรู้
และสู่ปัญญา
หลังจากห้องเรียนในวันนั้น เมื่อตัวเองได้มองภาพต่าง ๆ หรืออะไรก็ตามแต่ สิ่งนั้นย่อมมีเรื่องราวบางอย่างให้คิดต่อเสมอ ทำไมต้องเป็นแบบนี้ ถ้าเป็นแบบอื่นละได้ไหม
หรือดีกว่านี้ได้หรือไม่
สอนตัวเองเสมอว่า เมื่อมองอะไรแล้ว อย่ามองเพียงผิวเผิน เพราะอาจพลาดสิ่งที่ซ่อนอยู่ในนั้นได้ ให้ลองสังเกตสิ่งเล็ก ๆ อาจพบอะไรบางอย่างในภาพนั้น ยืนมองไปเรื่อย ๆ อยู่กับความน่าเบื่อ ความคิดอาจผุดขึ้นมา
แล้วร้องอ๋อ เชื่อมโยงอะไรบางอย่างในหัวได้
ขอปรบมือให้ครูคนนั้นเลยว่า สอนได้เฉียบขาด และสนุกจริง ๆ ได้อะไรติดไม้ติดมือออกมาเพียบเลย
ข้อดีของการถ่ายรูปไว้ นอกจากจะเก็บภาพในอดีต
ว่าคืออะไรแล้ว ยังเก็บความรู้สึก หรือเหตุการณ์ที่ต่อเนื่องหลังจากนั้น พอกลับมาดูอาจบอกเราบางอย่าง
ในแบบที่ไม่เคยคิดมาก่อน ต่างจากตอนยืนถ่ายก็ได้
โฆษณา