13 พ.ย. 2022 เวลา 12:51 • หนังสือ
อุโมงค์ยักษ์รับน้ำของชาว กทม. ตั้งอยู่ตรงไหนกันบ้าง ⁉️
กทม. มี "อุโมงค์ยักษ์" เอาไว้ช่วยระบายน้ำตอนฝนตกหนัก💦💦 แต่สิ่งที่หลายคนอาจไม่รู้ ก็คือ... อุโมงค์พวกนี้อยู่ตรงไหน? ระบายน้ำตรงไหนบ้าง? มีกี่แห่ง? สร้างเสร็จใช้งานได้จริงๆ หรือยัง?
วันนี้เราเลยขอมารวบรวมสรุปเป็นภาพแผนที่ให้เพื่อนๆ ได้รู้จัก
สำหรับอุโมงค์ระบายน้ำ หรือ "อุโมงค์ยักษ์" ที่ กทม. สร้างนั้น จัดว่าเป็นระบบ "เส้นเลือดใหญ่" ที่จะนำพามวลน้ำจากน้ำฝนที่ตกลงมาในพื้นที่ต่างๆ ส่งตรงออกสู่แม่น้ำสายหลักอย่างแม่น้ำเจ้าพระยา หรือส่งลงสู่ทะเลให้เร็วที่สุด ถ้าเปรียบคลองต่างๆ เหมือนถนนใหญ่ ที่รับรถมาจากซอยย่อยๆ หรือบ้านคนริมถนน ตัวอุโมงค์ยักษ์นี้ก็จะเหมือนทางด่วนที่ช่วยให้รถวิ่งตัดตรงสู่จุดหมายปลายทางได้แบบไม่ติดไฟแดงนั่นเอง
โดยตอนนี้ กทม. มีโครงการจะสร้างระบบอุโมงค์ระบายน้ำทั้งหมด 10 โครงการด้วยกัน ปัจจุบันมีการเปิดใช้งานไปแล้ว 4 โครงการ ก็คือ
สำหรับอุโมงค์ระบายน้ำของ กทม. หรือที่เรียกกันว่า "อุโมงค์ยักษ์" นั้น ปัจจุบันมีที่สร้างเสร็จและใช้งานแล้ว 4 โครงการ
อุโมงค์ที่ 1💧 ระบบผันน้ำเปรมประชากร ขีดความสามารถระบายน้ำ 30 ลบ.ม.ต่อวินาที ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 3.40 เมตร -- แนวเส้นทางจะเริ่มจากข้างโลตัสเตาปูน วิ่งไปใต้ถนนประชาราษฎร์สาย 2 ไปออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยาที่ท่าเรือบางโพ ระยะทางประมาณ 1.88 กิโลเมตร
อุโมงค์ที่ 2💧 อุโมงค์ระบายน้ำบึงมักกะสันลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ขีดความสามารถระบายน้ำ 45 ลบ.ม.ต่อวินาที มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 4.60 เมตร -- แนวเส้นทางจะเริ่มจากใต้ทางด่วนบึงมักกะสัน วิ่งมาตามแนวทางด่วนดินแดง ถึงคลองเตยแล้วออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณย่านสถานีแม่น้ำของการรถไฟฯ ระยะทางประมาณ 5.98 กิโลเมตร
อุโมงค์ที่ 3💧 อุโมงค์ระบายน้ำคลองแสนแสบและคลองลาดพร้าวลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ขีดความสามารถระบายน้ำ 60 ลบ.ม.ต่อวินาที มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 5.00 เมตร -- แนวเส้นทางจะเริ่มจากท้ายบึงพระราม 9 ที่เป็นจุดบรรจบของคลองแสนแสบและคลองลาดพร้าว มุดมาใต้คลองแสนแสบจนถึงคลองตัน แล้ววิ่งไปใต้ถนนสุขุมวิท 71 มาปล่อยน้ำออกที่สถานีสูบน้ำคลองพระโขนง ระยะทางประมาณ 5.11 กิโลเมตร
อุโมงค์ที่ 4💧 อุโมงค์ระบายน้ำใต้คลองบางซื่อ จากคลองลาดพร้าวถึงแม่น้ำเจ้าพระยา ขีดความสามารถระบายน้ำ 60 ลบ.ม.ต่อวินาที มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 5.00 เมตร -- แนวเส้นทางจะเริ่มจากจุดที่คลองบางซื่อตัดกับถนนรัชดา (แถวบุญถาวร) วิ่งไปใต้แนวคลองบางซื่อ จนออกแม่น้ำเจ้าพระยาที่เกียกกาย ระยะทางประมาณ 6.40 กิโลเมตร
และนอกจากนี้ ยังมี 4 โครงการ ที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง
อุโมงค์ที่ 5💧 อุโมงค์ระบายน้ำจากบึงหนองบอนลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ขีดความสามารถระบายน้ำ 60 ลบ.ม.ต่อวินาที มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 5.00 เมตร
[โดยโครงการนี้เมื่อช่วงต้นปี 2565 ได้เกิดเหตุน้ำใต้ดินพัดทรายเข้าอาคารรับน้ำและไหลเข้าอุโมงค์ทำให้ชั้นดินบริเวณด้านบนทรุดตัว ทำให้อุโมงค์เสียหาย ทำให้ต้องมีการวางแนวอุโมงค์ใหม่ จากเดิมที่จะต้องเสร็จปีนี้ ก็จะต้องล่าช้าออกไปอีกอย่างน้อย 1-2 ปี]
อุโมงค์ที่ 6💧 อุโมงค์ระบายน้ำคลองเปรมประชากรจากคลองบางบัวลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ขีดความสามารถระบายน้ำ 60 ลบ.ม.ต่อวินาที มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 5.70 เมตร จะเสร็จปี 2569
อุโมงค์ที่ 7💧 ต่อขยายอุโมงค์ระบายน้ำคลองแสนแสบและคลองลาดพร้าว ถึงบริเวณซอยลาดพร้าว 130 ขีดความสามารถระบายน้ำ 30 ลบ.ม.ต่อวินาที มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 3.60 เมตร จะเสร็จปี 2567
อุโมงค์ที่ 8💧 อุโมงค์ระบายน้ำคลองทวีวัฒนาบริเวณคอขวด (ช่วงปากซอยถนนเพชรเกษม 69 ถึงคลองภาษีเจริญ) ขีดความสามารถระบายน้ำ 32 ลบ.ม.ต่อวินาที มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 3.70 เมตร จะเสร็จปี 2567
ขอบคุณ LivingPop
โฆษณา