10 ต.ค. 2022 เวลา 16:19 • ธุรกิจ
3 ประเด็นที่ประชาชนควรจับตามองในการพิจารณาควบรวม ทรู-ดีแทค ของ กสทช.
1
การควบรวมระหว่างทรูและดีแทคน่าจะเข้าสู่การพิจารณาของกสทช. ในวันที่ 12 ตุลาคมนี้ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่สื่อมวลชนและประชาชนควรจับตามองอย่างใกล้ชิด เพราะหากเกิดการควบรวมแล้ว โครงสร้างตลาด โทรศัพท์มือถือและตลาดโทรคมนาคมไทยก็จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างยากที่จะย้อนกลับคืนมาได้อีก
> การวิเคราะห์ด้านเศรษฐศาสตร์ชี้ชัดว่าการควบรวมก่อให้เกิดผลเสีย <
1
การควบรวมครั้งนี้เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์มหาศาลและเกี่ยวข้องกับกลุ่มทุนใหญ่ ผู้สนับสนุนการควบรวมจึงพยายามโฆษณาชวนเชื่อ โดยอาศัย “นักวิชาการ” จำนวนหนึ่งให้พูดสนับสนุนการควบรวม โดยอ้างถึงประโยชน์ต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นต่อประชาชน
อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ติดตามข่าวจะพบว่า คำกล่าวอ้างดังกล่าวเป็นเพียงคำกล่าวอ้างที่เลื่อนลอย เนื่องจากไม่มีผลการศึกษาวิจัยหรือหลักฐานเชิงประจักษ์ใดๆ รองรับเลย นอกจากนี้ยังไม่เคยปรากฏว่า นักวิชาการเหล่านี้ได้เคยศึกษาวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์ หรือศึกษาการแข่งขันในตลาดโทรคมนาคมมาก่อนเลย
ในทางตรงกันข้าม ผลการศึกษาวิจัยที่ได้จัดทำอย่างเป็นระบบ โดยใช้แบบจำลองทางเศรษฐศาสตร์หลายชิ้นไม่ว่าจะเป็นผลการศึกษาของคณะอนุกรรมการด้านเศรษฐศาสตร์ของ กสทช. เอง ผลการศึกษาของที่ปรึกษาด้านเศรษฐศาสตร์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่ กสทช.ว่าจ้าง และผลการศึกษาของ 101Pub คลังสมองอิสระน้องใหม่ ต่างชี้ชัดว่า การควบรวมนี้จะทำให้เกิดผลเสียต่อผู้บริโภค
โดยผลการศึกษาในภาพรวมชี้ว่าราคาค่าบริการหลังควบรวมอาจสูงขึ้น 2-23% ในกรณีที่ไม่มีการสมคบราคากัน (ฮั้ว) ระหว่างผู้ประกอบการ 2 รายที่เหลืออยู่ แต่หากมีการฮั้วราคากัน อัตราค่าบริการอาจสูงขึ้นถึง 120-244% และ GDP ของประเทศจะหดตัวลง 0.5-0.6%
3
ผลการศึกษาที่หนักแน่นและตรงกันในทุกชุดจึงทำให้ความพยายาม “เล่นกลทางเศรษฐศาสตร์” ว่าการควบรวมมีประโยชน์นั้นไม่ได้รับความเชื่อถือเลย ไม่ว่าจะใช้ “นักวิชาการ” กี่คนออกมาให้ความเห็น กลุ่มผลประโยชน์ที่สนับสนุนการควบรวมจึงต้องหันไป “เล่นกล” ทางอื่น
สื่อมวลชนและประชาชนจึงควรจับตามองการประชุมของ กสทช. ใน 3 ประเด็นดังต่อไปนี้อย่างใกล้ชิด โดยระวังว่าจะมีการ “เล่นกล” ในด้านต่างๆ หรือไม่
:: ประเด็นจับตามอง 1 “การเล่นกลทางกฎหมายว่า กสทช. ไม่มีอำนาจห้ามควบรวม”::
2
ที่ผ่านมา ผู้บริหารสำนักงาน กสทช. และ กสทช. บางคน มีท่าทีที่พยายามชี้นำสังคมให้เกิดความเข้าใจว่า กสทช. ไม่มีอำนาจตามกฎหมายในการพิจารณาอนุญาตให้ควบรวมหรือไม่ให้ควบรวม ต้องปล่อยให้เกิดการควบรวมอย่างเดียวเท่านั้น โดย กสทช. ทำได้เพียงกำหนดเงื่อนไขและมาตรการออกมาเพื่อลดผลกระทบด้านลบที่เกิดขึ้นจากการควบรวม
4
การเล่นกลทางกฎหมายครั้งนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายนัก เนื่องจากศาลปกครองกลางได้เคยพิจารณาในคดีที่เกี่ยวข้องแล้วว่า กสทช. มีอำนาจที่จะพิจารณาให้ควบรวมหรือไม่ให้ควบรวมก็ได้
นอกจากนี้ คณะอนุกรรมการด้านกฎหมายของ กสทช. เองก็เคยยืนยันชัดเจนต่ออำนาจของ กสทช. ในเรื่องดังกล่าวด้วย
กระนั้นก็ตาม ยังมีความพยายามในการส่งเรื่องให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความว่า กสทช. มีอำนาจในการพิจารณาเพียงใด ทั้งที่กฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันการผูกขาดและการควบรวมกิจการโทรคมนาคมล้วนเป็นกฎระเบียบที่ กสทช. ประกาศออกมาเอง ผลปรากฏว่าคณะกรรมการกฤษฎีกาก็ชี้ไปในทางเดียวกันว่า กสทช. มีอำนาจพิจารณาตามกฎหมายของตน
ประชาชนจึงควรจับตามองดูว่า ในการประชุมของ กสทช. จะมีการหยิบยกประเด็นดังกล่าวขึ้นมา “เล่นกล” โดยอ้างว่าตนไม่มีอำนาจพิจารณา เพื่อให้การควบรวมเกิดขึ้นได้อย่างสะดวกอีกหรือไม่
ทั้งนี้ นักเล่นกลทางกฎหมายน่าจะอ้างว่า การควบรวมแบบการรวมธุรกิจ (merger) จนรวมเป็นบริษัทเดียว (amalgamation) แบบที่ทรูและดีแทคดำเนินการ ต้องใช้ประกาศ กสทช. ปี 2561 ซึ่งมีบทบัญญัติที่เข้มงวดน้อยกว่าประกาศ กสทช. ปี 2549
1
ซึ่งจะถูกอ้างว่าใช้ได้เฉพาะการซื้อกิจการ (acquisition) เท่านั้น ทั้งที่ประกาศ กสทช. ปี 2549 บัญญัติไว้ชัดเจนว่า รวมถึงการถือครองธุรกิจในบริการเดียวกัน เพื่อควบคุมการบริหาร (control) ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม ซึ่งครอบคลุมการควบรวมระหว่างทรูและดีแทคอย่างแน่นอน เพราะบริษัทใหม่ที่จะเกิดขึ้นย่อมต้องสามารถควบคุมผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่เดิมทั้งสองราย ไม่โดย “ทางตรง” ก็โดย “ทางอ้อม” มิฉะนั้นก็คงจะไม่มีประโยชน์ที่จะควบรวมกัน
:: ประเด็นจับตามอง 2 “การเล่นกลกำหนดเงื่อนไขเพื่อให้ควบรวมได้” ::
ดังที่กล่าวมาข้างต้นแล้วว่า การควบรวมครั้งนี้จะส่งผลกระทบในด้านลบต่อผู้บริโภคและระบบเศรษฐกิจไทยอย่างมาก
เนื่องจากจะทำให้ตลาดโทรศัพท์เคลื่อนที่ของไทยมีโครงสร้างผูกขาดมากขึ้น จากการที่จำนวนผู้ประกอบการรายใหญ่ลดลงจาก 3 รายเหลือเพียง 2 ราย
และยากที่จะแก้ไขให้ตลาดกลับมามีผู้ประกอบการ 3 ราย และมีระดับการแข่งขันเช่นเดิมได้อีกในอนาคต เพราะตลาดดังกล่าวเข้าสู่ภาวะอิ่มตัวแล้ว ไม่น่าจะมีรายใหม่สนใจเข้ามาให้บริการได้อีก
และแทบเป็นไปไม่ได้เลยที่ในอนาคต กสทช. จะสั่งให้มีการแยกกิจการที่ควบรวมไปแล้ว แม้จะเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นจากการผูกขาด เพราะตนได้ให้อนุญาตควบรวมไปเอง
แม้การควบรวมนี้จะก่อให้เกิดความเสียหายที่ไม่สามารถแก้ไขกลับมาได้ก็ตาม
1
ก็ปรากฏว่ามีความพยายามที่จะสร้าง “ทางสายกลาง” ซึ่งหมายถึงการอนุญาตให้ควบรวมได้ แต่กำหนดเงื่อนไขควบคุมไว้ ดังปรากฏตามข่าวว่าสำนักงาน กสทช. ได้เตรียมเสนอเงื่อนไขและมาตรการเฉพาะไว้ 14 มาตรการ เพื่อป้องกันผลกระทบในด้านลบที่จะเกิดขึ้นจากการควบรวม
เมื่อวิเคราะห์มาตรการต่างๆ ดังกล่าวดูแล้วจะพบว่า มาตรการส่วนหนึ่งมุ่งหวังให้เกิดผู้ให้บริการรายใหม่ในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นผู้ให้บริการที่มีโครงข่ายเป็นของตนเองหรือไม่ แต่เมื่อตลาดโทรศัพท์เคลื่อนที่ในประเทศไทยอิ่มตัวแล้ว
มาตรการนี้จึงไม่สามารถทำให้ตลาดกลับไปมีผู้ประกอบการ 3 รายได้อีก หากปล่อยให้มีการควบรวมครั้งนี้
มาตรการอีกส่วนหนึ่งมุ่งควบคุมราคาค่าบริการไม่ให้สูงขึ้น คุณภาพบริการไม่ให้แย่ลง และสัญญาให้บริการที่ไม่ทำให้ผู้บริโภคเสียเปรียบมากขึ้น ซึ่งเป็นมาตรการที่ กสทช. ก็ประกาศใช้อยู่แล้ว
แต่ไม่ปรากฏว่าสามารถกำกับดูแลได้จริง เราจึงไม่สามารถคาดหวังได้ว่า เมื่อตลาดผูกขาดมากขึ้น ซึ่งยิ่งทำให้การกำกับดูแลยากขึ้นไปด้วย จู่ๆ กสทช. จะเก่งขึ้นทันที จนสามารถกำกับดูแลตลาดผูกขาดนี้สำเร็จได้อย่างไร
2
มาตรการอีกกลุ่มหนึ่งเช่น การห้ามผู้ประกอบการที่ควบรวมกันใช้คลื่นร่วมกันในการให้บริการ หรือห้ามใช้แบรนด์เดียวกันในการทำตลาด ยิ่งสร้างผลเสียจากการควบรวม เพราะทำให้ประโยชน์อันน้อยนิดต่อผู้บริโภคที่อาจเกิดขึ้นจากการควบรวมไม่เกิดขึ้นเลย เพราะผู้ประกอบการไม่สามารถลดต้นทุนได้
3
ดังนั้น การกำหนดมาตรการ 14 ข้อออกมาจึงไม่มีประโยชน์ต่อประชาชนอย่างจับต้องได้ และน่าจะกลายเป็นเพียง “การเล่นกล” เพื่อแสดงให้เห็นให้ว่า การควบรวมจะไม่ก่อให้เกิดผลเสียต่อผู้บริโภค เพื่อปล่อยให้ผู้ประกอบการสามารถควบรวมได้ตามที่ต้องการเท่านั้น
1
:: ประเด็นจับตามอง 3 “การเล่นกลในการลงมติในประเด็นต่างๆ ของกสทช.” ::
ที่สำคัญที่สุด ประชาชนควรจับตาดูการลงมติในประเด็นต่างๆ ของกสทช. ทั้งการลงมติของทั้งองค์คณะและการลงมติรายบุคคล
คนแรกที่ประชาชนควรจับตามองเป็นพิเศษคือ ประธาน กสทช. เนื่องจากการลงมติของประธานจะบอกทิศทางว่า กสทช. จะถูกนำโดยผู้ที่ยืนอยู่เคียงข้างผู้บริโภคหรืออยู่ใต้อิทธิพลของกลุ่มทุน
เนื่องจากประธานจะมีบทบาทอย่างมากในการกำหนดวาระ (agenda) ในการประชุม ตลอดจนมีส่วนสำคัญในการกำหนดวัฒนธรรมองค์กร
ที่ผ่านมาไม่ปรากฏว่าประธาน กสทช. มีประวัติในการทำงานที่มีเรื่องมัวหมองใดๆ จึงต้องจับตาดูว่า ท่านจะสามารถรักษาเกียรติประวัติไว้ได้ต่อไปหรือไม่ และจะสามารถนำพาให้ กสทช. เป็นองค์กรที่ได้รับความเชื่อถือจากประชาชนได้หรือไม่
อีกคนหนึ่งที่ประชาชนควรจับตามองดูเป็นพิเศษคือ กสทช. ที่มาจากตัวแทนของผู้บริโภคว่าได้ทำหน้าที่ในฐานะตัวแทนของผู้บริโภคสมกับที่ได้รับคัดเลือกมาหรือไม่ หรือเข้ามาในนามผู้บริโภค แต่มีพฤติกรรมที่ทำให้ผู้บริโภคถูกเอาเปรียบ
นอกจากนี้ ควรจับตาดูด้วยว่า กสทช. ทั้งองค์คณะซึ่งเคยมีมติ 3-2 ว่า กสทช. มีอำนาจในการพิจารณาอนุญาตให้ควบรวมหรือไม่ก็ได้ เมื่อครั้งไปชี้แจงต่อศาลปกครองกลางในคดีที่เกี่ยวข้อง จะมีการ “เล่นกล” กลับมติของตนที่เคยมีก่อนหน้าหรือไม่ และใครเป็นผู้ที่กลับมติ
คงมีแต่สำนึกของ กสทช. และพลังการตรวจสอบของประชาชนและสื่อมวลชนเท่านั้นที่จะทำให้ประเทศไทยรอดพ้นจากการผูกขาดในตลาดโทรคมนาคมในครั้งนี้ไปได้
4
โดย ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์
เมื่อ 10 ตุลาคม 2565
1
โฆษณา