11 ต.ค. 2022 เวลา 09:17 • ความคิดเห็น
ทำไมถึงต้อง "อกหัก"
เมื่อพูดถึงการ “อกหัก” แล้ว หลายๆคนคงรู้สึกแย่ หรืออาจทำให้หวนรำลึกถึงห้วงความทรงจำที่เคยได้เผชิญกับเหตุการณ์นี้
เรารู้จักกับคำว่า อกหัก กันตั้งแต่เมื่อไหร่?
ลองมองย้อนกลับไปในสิ่งที่เราเคยผ่านมากันดีกว่า..
1. จากบทละคร/ภาพยนตร์
เราถูกปลูกฝังกันมาตั้งแต่เด็กแล้ว จากสื่อต่างๆ ที่เราได้เจอมา เมื่อเราดูละครโทรทัศน์ ในสมัยนั้น มันไม่ได้หลากหลายเหมือนในสมัยนี้ ละครหรือภาพยนตร์ที่ฉายให้เราดู เกือบ 100% จะเป็นเรื่องเกี่ยวกับความรักแทบทั้งสิ้น
ละครหรือภาพยนตร์แทบทุกเรื่อง (ในยุคก่อน) จะมีรูปแบบเดียวกันคือ เมื่อเนื้อเรื่องได้ดำเนินไปถึงตอนจบ คู่รักทั้งสองก็จะได้รักกันสมปรารถนา มีชีวิตที่แสนปีติสุข ราวกับว่า ได้บรรลุเป้าหมายสูงสุดของชีวิต
เราดูละคร/หนัง ในรูปแบบนี้ซ้ำแล้ว ซ้ำเล่า จนสามารถคาดเดาตอนจบได้ว่าสุดท้าย ตัวเอกทั้งสองของเรื่อง จะได้สมหวังกันอย่างแน่นอน
เราดูละคร/หนัง พวกนี้บ่อย จนมันกลายมาเป็น “ต้นแบบของชีวิตเรา" เป็นชีวิตที่สมบูรณ์ ในอุดมคติ ทำให้เกิดการเปรียบเทียบ ระหว่าง ตัวละครหลักในเรื่อง กับชีวิตจริงของเรา เมื่อชีวิตที่เราเป็นอยู่มันไม่ได้ตรงกับ pattern บทละครที่เราเคยดู มันไม่ได้สมหวังดังภาพในอุดมคติ(ความเชื่อ) ที่เราคาดหวังไว้ เราก็ตีความหมายไปว่า ชีวิตเรามันกำลัง “ผิดพลาด”
(ความผิดพลาดที่เราคิดว่าเกิดขึ้นกับชีวิตนี้ มาจากการเปรียบเทียบจากฉากจบที่สุขสมหวังของบทละคร เราเอาบทละครกับรูปแบบชีวิตจริง มาปะปนกันโดยไม่รู้ตัว)
2. จากบทเพลง
เสียงเพลงค่อนข้างกระตุ้นอารมณ์ และเข้าไปถึงความรู้สึกเราได้ง่าย แถมยังดังก้องในหัวเราอยู่บ่อยๆ ในระหว่างที่เรากำลังอินกับเพลงนั้น แน่นอนว่าเพลงรัก จะมีอยู่สองฝั่งใหญ่ๆ คือเพลงที่อินเลิฟ (สมหวัง) กับเพลงอกหัก (ผิดหวัง)
เพลงอินเลิฟ (สมหวัง) จะพรรณนาถึงความสุขสมอย่างที่สุด ปีติสุข ราวกับว่าตนเองเป็นคนที่โชคดีที่สุดในโลก ราวกับว่าตนเองได้สิ่งที่ดีที่สุดมาครอบครอง ไม่มีสิ่งในเทียบได้ (ทั้งๆที่ในความเป็นจริงแล้ว เราอาจจะไม่ต้องรู้สึกแบบนั้นก็ได้)
เพลงอกหัก (ผิดหวัง) จะพรรณนาถึงความเจ็บปวดอย่างถึงที่สุด ทรมานอย่างถึงที่สุด ราวกับว่าตนเองได้สูญเสียสิ่งที่มีค่าที่สุดในชีวิตไป ไม่เห็นค่าในตัวเอง จนถึงกับว่า ไม่อยากจะมีชีวิตอยู่อีกต่อไปแล้ว (ทั้งๆที่ในความเป็นจริงแล้ว เราอาจจะไม่ต้องรู้สึกแบบนั้นก็ได้)
ในยุคสมัยนี้ เนื้อความของเพลงรักค่อนข้างหลากหลาย ไม่ได้คลั่งรักแบบสุดโต่งมากเหมือนสมัยก่อน
ผู้เขียน
เราได้โตมากับสื่อหลักๆคือ หนัง/ละคร กับเพลง เป็นเสียส่วนใหญ่ เมื่อเราได้เสพสื่อพวกนี้เข้าไปบ่อยๆแล้ว มันจะกลายไปเป็นรูปแบบ “ความเชื่อ” ของชีวิตเราไปโดยปริยาย
ในที่นี้.. ผู้เขียนไม่ได้จะบอกว่าสื่อพวกนี้ไม่ดี แต่คนเรามักจะไม่ใช้ “สติ” แยกเยอะว่า สื่อพวกนี้ทำมาเพื่อ “ขาย” ไม่ใช่ทำมาเพื่อให้เป็น “แบบอย่าง”
บทหนัง/บทละคร และบทเพลง เขาได้เพิ่มความ “เล่นใหญ่” เพื่อให้สร้าง อรรถรส สำหรับคนดูหรือคนฟัง เพื่อให้ดึงอารมณ์คนดู/คนฟัง ออกมาให้มากที่สุด เพื่อให้คนดู/คนฟัง ชื่นชมและติดตามผลงานของเขาต่อไป
ในเนื้อเพลง ผู้แต่งอาจเขียนเพลงที่ถ่ายทอดมาจากมุมมองความเชื่อของเขา โดยอาจมาจากชีวิตจริงของตัวเอง หรือคนรอบข้าง เมื่อ "ความเชื่อส่วนบุคคล" ของเขาที่ถ่ายทอดลงในเพลงนั้น บวกกับบทกวีคลุกเคล้ากับห้วงทำนองจากเสียงดนตรี ที่ช่วยปรุงแต่งและเพิ่มความเจ็บปวดจนถึงขีดสุด
แล้วเมื่อเพลงนั้นโด่งดังขึ้นมา จนคนแห่ฟังกันทั่วบ้านทั่วเมือง ผู้คนส่วนใหญ่ ก็จะรับเอามุมมองความเชื่อในเพลงนั้น มาเป็นความเชื่อของตัวเองโดยไม่รู้ตัว จนความเชื่อนั้น ก็กลายเป็นความเชื่อของคนหมู่มากในสังคม ไปโดยปริยาย
เมื่อดำเนินมาถึงปัจจุบัน สื่อในยุคสมัยนี้ก็ได้เปลี่ยนไปตามกาลเวลา เรื่องราวและมุมมองของความรัก มีความหลากหลายมากขึ้น สื่อละคร/ซีรี่ย์ มีการเขียนบทที่ชาญฉลาดขึ้น โดยไม่ได้มุ่งเน้นไปที่ความรักเพียงอย่างเดียว มีการใส่ความเป็นเหตุเป็นผลที่มากขึ้น มีเรื่องราวของความผิดหวังเพิ่มเข้ามา และทำให้มุมมองความรักที่ไม่สมหวังนั้นเป็นเรื่องธรรมดาไปในที่สุด
เด็กรุ่นใหม่ที่เติบโตมาในยุคสมัยนี้ จะโตมากับสื่อสมัยใหม่ ที่ถ่ายทอดมุมมองของความรักในหลากหลายรูปแบบ ซึ่งจะทำให้พวกเขามีมุมมองความรักที่กว้างขึ้น และปลูกฝังแนวความเชื่อใหม่ ที่จะทำให้มุมมองของคำว่า “อกหัก” เปลี่ยนไป ด้วยการ “เปลี่ยนความเชื่อ” ของพวกเขา
3. จากจิตวิญญาณ (ความรู้สึก)
ในทางพุทธศาสนา ความรู้สึกหรือ เวทนา แบ่งเป็น 3 ส่วนใหญ่ๆ คือ
- พอใจ (สุข, ดึงเข้าหาตัว)
- ไม่พอใจ (ทุกข์, ผลักออกจากตัว)
- เฉยๆ (ยังไม่แน่ใจ, ยังลังเลสงสัย)
**ในสื่ออื่นๆอาจจะตีความหมายโดยใช้คำอีกแบบ ในที่นี้ผู้เขียนใช้คำเพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้น
เมื่อพิจารณาในที่นี้ การอกหัก จัดอยู่ในความ ทุกข์ หรือความไม่พอใจ ซึ่งเป็นสิ่งที่มีมาโดยธรรมชาติของจิตวิญญาณ ซึ่งรู้สึกเองได้โดยที่ไม่ต้องมีใครสอน
หากว่าโลกนี้ไม่มีสื่อที่กล่าวมาข้างต้นนี้ เราคงจะไม่ได้มีแบบแผนของคำว่า “อกหัก” ในรูปแบบที่เฉพาะเจาะจง ในทางธรรมชาติ เราก็คงจะตีความหมายของอาการหรือความรู้สึกนี้ว่าเป็น “ความผิดหวัง” เหมือนกับการผิดหวังทั่วไป เช่น ผิดหวังที่ประกอบธุรกิจแล้วไม่ประสบผลสำเร็จ, ผิดหวังที่สร้างบ้านแล้วไม่เหมือนตามแบบ, ผิดหวังที่ปลูกพืชแล้วไม่ได้ผลผลิตเท่าที่ควร, ผิดหวังที่ดูแลตัวเองอย่างดีแล้วก็ยังกลับมาป่วยเป็นโรคอีก ฯลฯ
ทำไมเราถึงไม่ตีค่าความผิดหวังเหล่านี้ไว้เท่ากันล่ะ เพราะแก่นแท้ของความรู้สึกเหล่านี้ มันก็คือการ "ไม่สมหวัง" เท่านั้นเอง มิใช่หรือ?
ผู้เขียน
แต่โลกมายาที่เราอยู่นี้ มันไม่ได้เป็นแบบนั้น แทนที่การอกหัก จะเป็นความผิดหวังที่เป็นเรื่อง “ธรรมดา” กลับโดน “ปรุงแต่ง” (จากสื่อ - จนกลายเป็นความเชื่อของคนหมู่มาก)ให้มีพิษสงแสนสาหัส เจ็บปวดเหลือประมาณ จนตายไปพร้อมกับมันได้
ส่วนเปลือกความรู้สึกที่นอกเหนือจากความผิดหวัง ที่พ่วงมาจากคำว่า อกหัก เช่น การรู้สึกว่าชีวิตต่อจากนี้จะไม่มีความสุขอีกแล้ว, การรู้สึกว่าชีวิตนี้ไม่มีค่าอีกแล้ว, การรู้สึกว่าชีวิตนี้จะไม่เจอสิ่งที่ดีกว่านี้อีกแล้ว ความรู้สึกเหล่านี้ล้วนมาจากความเชื่อที่เราเคยได้รับมาเท่านั้น และความเชื่อเหล่านั้น “เปลี่ยนแปลงได้เสมอ”
การสมหวัง กับ การผิดหวัง เป็นของคู่กัน เราไม่สามารถสมหวัง โดยที่ไม่เคยรู้จักความผิดหวังได้ และเราก็ไม่สามารถผิดหวัง โดยที่ไม่เคยสมหวังได้ เพราะสองสิ่งนี้ คือเงาสะท้อนของกันและกัน
“ถ้าไม่เคยผิดหวัง เราก็จะไม่เห็นค่าของการสมหวัง”
โฆษณา