12 ต.ค. 2022 เวลา 08:00
📌 นับ 1 ให้ถึงล้าน…ซีรีส์นี้เดินทางมาถึงตอนสุดท้าย “รายได้เท่านี้ เสียภาษีเท่าไหร่?” หลายครั้งหากคุณไม่เคยลองคำนวณภาษี คุณอาจไม่ทราบว่าภาษีที่คุณจ่าย อาจเท่ากับเงินเดือนหลายเดือนของคุณ Ep. นี้เลยอยากชวนคุณลองวางแผนภาษีของตัวเองไปด้วยกันครับ 🙂
“รายได้เท่านี้ เสียภาษีเท่าไหร่?”
จากภาพเป็นตัวอย่างข้อมูลส่วนตัวของชายคนหนึ่งซึ่งวางแผนภาษีของตนเองในปี 2565
โดยเขาวางแผนเป็น 2 กรณี ดังนี้
- กรณีที่ 1 : ไม่มีการออมและลงทุนเพิ่มเพื่อลดหย่อนภาษี
- กรณีที่ 2 : มีการออมและลงทุนเพิ่มเพื่อลดหย่อนภาษี
เริ่มจากกรณีที่ 1 : ไม่มีการออมและลงทุนเพิ่มเพื่อลดหย่อนภาษี
จากรายได้รวมตลอดปีของชายคนนี้อยู่ที่ 1,600,000 บาท (เงินเดือน + โบนัส) หักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนพื้นฐานที่เขาได้รับ เช่น ค่าลดหย่อนส่วนตัว ค่าลดหย่อนบุตร
หักประกันสังคม(มาตรา 33) ของปี 2565 ที่ 6,300 บาท
สามารถอัพเดทอัตราเงินสมทบประกันสังคมได้ที่ คลิก : https://bit.ly/3CZJOZz
หักเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่ 5% รวมแล้วเหลือเป็นรายได้สุทธิของชายคนนี้ที่ 1,343,700 บาท
เมื่อนำไปคำนวณภาษี พบว่าชายคนนี้เสียภาษีฐานสูงสุดที่ 25% คิดเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 200,925 บาท หรือคิดเป็นเงินเดือน 2 เดือนของเขาเลยทีเดียวครับ!!!
และเมื่อเห็นจำนวนเงินที่จะต้องจ่ายภาษี ชายคนนี้เลยลองวางแผนภาษีใหม่ในกรณีที่ 2 ดังนี้ครับ
กรณีที่ 2 : มีการออมและลงทุนเพิ่มเพื่อลดหย่อนภาษี
เริ่มจากปรับสัดส่วนการออมเงินในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) โดยเพิ่มสัดส่วนสะสมจาก 5% เป็น 15% หรือ จากปีละ 60,000 บาท เป็นปีละ 180,000 บาท เพราะเป็นแหล่งเงินออมไว้ใช้หลังเกษียณที่สำคัญ
จากนั้นลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) จำนวน 200,000 บาท และลงทุนในกองทุนส่งเสริมการออมระยะยาว (SSF) อีกจำนวน 120,000 บาท
และเมื่อนำไปคำนวณภาษีอีกครั้ง พบว่าชายคนนี้จะเหลือฐานภาษีสูงสุดที่ต้องจ่ายอยู่ที่ 20% คิดเป็นจำนวนเงิน 95,740 บาท และเขาสามารถประหยัดภาษีไปได้ถึง 105,185 บาท!!
สำหรับความแตกต่าง เงื่อนไข และรายละเอียดกองทุนรวม SSF และ RMF ว่ามีความเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร ผมมีข้อมูลมาฝากเพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจลงทุน ดังภาพครับ
หลังจากทดลองวางแผนภาษีทั้ง 2 กรณีแล้ว…แน่นอนครับว่าชายคนนี้เลือกกรณีที่ 2 เป็นการลงทุนเพื่อลดหย่อน โดยเงินภาษีที่ชายคนนี้ได้คืนมา เขาสามารถนำไป re-investment ต่อได้
เช่น อาจนำไปซื้อหน่วยลงทุนเพื่อลดหย่อนภาษีในปีถัดไป หรืออาจนำไปลงทุนต่อ ตามเป้าหมายการเงินอื่นๆ โดยไม่จำเป็นต้องใช้เงินเก็บของตัวเองเลย
แต่ทั้งนี้ก็ควรต้องคำนึงถึงความคุ้มค่าเงินที่ใช้ลงทุนในการลดหย่อนภาษีด้วยนะครับ อย่างกรณีชายคนนี้ใช้เงินลงทุนเพื่อลดหย่อนภาษีไป 500,000 บาท ซึ่งไม่น้อยเลยทีเดียว หากคุณไม่ได้มีฐานภาษีที่สูงมาก การลงทุนตรงนี้อาจจะไปกระทบสภาพคล่องทางการเงินของคุณได้
หรือคุณอาจไปเลือกลงทุนในกองทุนรวมประเภทอื่นๆ (ที่ไม่ใช่ RMF/SSF) ซึ่งไม่ติดเงื่อนไขระยะเวลาถือครองและสามารถขายทำกำไรได้ในระยะเวลาไม่นานมากนัก
แต่หากคุณสามารถบริหารการลงทุนของตัวเองได้ การลงทุนเพื่อลดหย่อนภาษีก็มีข้อดีตรงเป็นการบังคับตัวคุณให้เก็บออมไว้ใช้หลังเกษียณที่ดีอย่างหนึ่งเลยครับ
ลองไปวางแผนภาษีให้เหมาะสมกับไลฟ์สไตล์การลงทุนของคุณดูนะครับ!!
จะเห็นนะครับว่า การวางแผนภาษี ไม่ใช่การเลี่ยงภาษี แต่เป็นการวางแผนให้เราเสียภาษีอย่างคุ้มค่ามากที่สุด
ดังนั้น การศึกษาทำความเข้าใจเรื่องวางแผนภาษีจึงเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็น แม้คุณจะมีรายได้หลักล้าน คุณก็สามารถวางแผนภาษีได้อย่างคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุดครับ
สุดท้ายนี้…อย่าลืมลองไปวางแผนภาษีด้วยการทำ To do list กันนะครับ
โฆษณา