13 ต.ค. 2022 เวลา 16:00 • ยานยนต์
ตลาดรถยนต์ปี 2565 ลุ้นยอดขายทะลุเป้า 9 แสนคัน
ตลาดรถยนต์ผ่านมา 3 ไตรมาสของปี 2565 ทำยอดขายได้กว่า 6.3 แสนคัน เติบโต 19% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว แม้หลายค่ายยังเผชิญปัญหาด้านการผลิต แต่ปีนี้มีโอกาสได้เห็นตัวเลขตลาดรวมกลับไปถึง 9 แสนคัน ซึ่งมากกว่าที่หลายค่ายคาดการณ์เอาไว้ตอนต้นปี
ตลาดรถยนต์เข้าสู่ช่วงโค้งสุดท้ายปลายปี หลายค่ายเร่งผลักดันยอดขายหลังสัญญาณเศรษฐกิจมีความชัดเจน (ปัจจัยลบ ปัจจัยบวก) กิจกรรมหรืออีเวนต์ต่างๆ ดำเนินการได้เป็นปกติ ตลอดจนประเมินกำลังการผลิต และความสามารถในการส่งมอบรถให้แก่ลูกค้าว่าภายในปีนี้จะทำได้เท่าไหร่
ทั้งนี้ จากช่วงต้นปี 2565 บรรดาบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ต่างมองว่าตลาดรถยนต์รวมปี 2565 จะอยู่ในระดับ 8.0-8.5 แสนคัน หรือขายได้มากกว่า 2 ปีก่อนที่ต้องเผชิญสถานการณ์โควิด-19 ขณะที่ “โตโยต้า” ประเมินเบื้องต้นว่าตลาดนี้จะถึง 8.6 แสนคัน จากนั้นผ่านมาครึ่งปี “โนริอากิ ยามาชิตะ” ประธานใหญ่ทีเอ็มที ออกมาปรับเป้าหมายใหม่ทั้งตลาดรวม และยอดผลิต ยอดขายของตนเอง
ในส่วนตลาดรวมนั้น กรรมการผู้จัดการใหญ่ โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย คาดว่าปี 2565 ยอดขายจะไปได้ถึง 8.8 แสนคัน ในจำนวนนี้เป็นของโตโยต้า 2.9 แสนคัน (เดิมคาดว่าจะขาย 2.84 แสนคัน) เพิ่มขึ้น 21% จากปี 2564 ที่สำคัญโปรดักต์ใหม่ทั้ง โตโยต้า เวลอซ (นำเข้าจากอินโดนีเซีย) และ โตโยต้า ยาริส เอทีฟ อีโคคาร์ตัวถังซีดานรุ่นใหม่ ต่างได้การตอบรับเป็นอย่างดี มียอดขายต่อเดือนกว่า 1,000 คัน และกว่า 3,000 คัน ตามลำดับ ตลอดจนปิกอัพ ไฮลักซ์ รีโว่ ยังมีอัตราเติบโตกว่า 20%
1
สำหรับโตโยต้า ยาริส เอทีฟ ตั้งเป้าหมายการขายไว้ 3,500 คันต่อเดือน ซึ่งลูกค้าที่เพิ่งตัดสินใจจองรถวันนี้ ต้องรอรถนานพอสมควร โดยเฉพาะ 2 รุ่นย่อย Premium (6.59 แสนบาท) และตัวท็อป Premium Luxury (6.89 แสนบาท) รอการส่งมอบถึงไตรมาสแรกปี 2566 หรือบางดีลเลอร์แจ้งลูกค้าเป็นช่วงไตรมาสที่สอง
สำหรับยอดขายรวมทุกรุ่นของโตโยต้า หลังผ่าน 9 เดือน (ม.ค.-ก.ย.) ปี 2565 ทำได้ 208,619 คัน โต 25.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว และมีอัตราเติบโตสูงกว่าตลาด ที่ขายได้กว่า 6.3 แสนคัน เพิ่มขึ้น 19.2% นั่นทำให้โตโยต้าขยับส่วนแบ่งการตลาดขึ้นไปถึง 33%
ขณะที่ค่ายอื่นๆ มียอดขายรถยนต์เพิ่มขึ้นถ้วนหน้า เช่น อีซูซุ 163,627 คัน เพิ่มขึ้น 24.4% มิตซูบิชิ 39,310 คัน เพิ่มขึ้น 19.4% ฟอร์ด 28,226 คัน เพิ่มขึ้น 25.0% มาสด้า 27,995 คัน เพิ่มขึ้น 8.4%
นายธีร์ เพิ่มพงศ์พันธ์ รองประธานบริหารอาวุโส บริษัท มาสด้า เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ตลอดระยะเวลา 9 เดือน นับตั้งแต่เดือนมกราคม-กันยายน 2565 เป็นต้นมา ตลาดรถยนต์ต้องเผชิญกับปัจจัยลบรอบด้านที่ส่งผลลบต่ออุตสาหกรรมรถยนต์ไทย แต่ทั้งนี้แล้ว ด้วยมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในด้านต่างๆ จากภาครัฐ การเปิดตัวรถรุ่น ใหม่จากหลากหลายค่ายรถ รวมถึงแคมเปญ และงานจัดแสดงรถยนต์ต่างๆ จึงทำให้อุตสาหกรรมรถยนต์เริ่มกลับฟื้นตัวดีขึ้น และเดินหน้าต่อไปได้
“ท่ามกลางสถานการณ์ความไม่แน่นอน โดยเฉพาะในช่วงท้ายของไตรมาสที่สาม ที่สถานการณ์ทางด้านเศรษฐกิจในประเทศไทยได้ปรับตัวไปในทิศทางบวก อันเนื่องมาจากการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว การส่งออกที่เติบโตและปัจจัยทางด้านการขาดแคลนเซมิคอนดัคเตอร์ที่ปรับตัวดีขึ้น จึงทำให้เริ่มเห็นทิศทางการเติบโตของยอดขายรถยนต์ในประเทศไทยตามมา” นายธีร์ กล่าว
ขณะที่ซูซูกิขายได้ 15,505 คัน เพิ่มขึ้น 5.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยเส้นเลือดใหญ่ยังอยู่ที่อีโคคาร์รุ่นยอดนิยม SUZUKI SWIFT ล่าสุดจัดแคมเปญ SUPER FLASH DEAL ลูกค้าเลือกรับข้อเสนอออกรถวันนี้ผ่อนปีหน้า ขับฟรี 90 วัน พร้อมดอกเบี้ยพิเศษ 0.49% หรือเลือกโปรแกรม My Way ผ่อนเริ่มต้นเดือนละ 3,333 บาท (คำนวณจากราคาของรถรุ่น GL)
พร้อมส่วนลดอุปกรณ์ตกแต่งมูลค่ารวมสูงสุด 30,000 บาท สำหรับรุ่น GL และ GLX พร้อมฟรีประกันภัยชั้นหนึ่งปีแรก และบริการช่วยเหลือฉุกเฉิน 24 ชั่วโมง ระยะเวลา 3 ปี สำหรับลูกค้าที่จองและรับรถระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม-31 ธันวาคม 65
อย่างไรก็ตาม ยังมีค่ายที่ยอดขายสะสมติดลบคือเอ็มจี และ นิสสัน ที่ร่วงไป 2.6% และ 18.4% ตามลำดับ ในส่วนนิสสันยอมรับว่า สถานการณ์ขาดแคลนชิปสำหรับการผลิตรถยนต์นิสสันในไทยยังมีปัญหา ทำให้บริษัทไม่สามารถส่งมอบรถให้แก่ดีลเลอร์ได้ ซึ่งกระทบกับยอดขายในเดือนกันยายน และไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ ซึ่งโมเดลอย่างนิสสัน คิกส์ ต้องรอรถนานถึง 4-5 เดือน
ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาจากสถานการณ์ตลาดโดยรวมที่ผ่านมา 9 เดือน ทุกยี่ห้อขายรวมกันได้เกิน 6.3 แสนคันแล้ว ดังนั้นคาดว่าตัวเลข 8.8 แสนคัน ที่โตโยต้าประเมินไว้ไม่น่าจะมีปัญหาด้วยการผลักดันโปรโมชันของทุกค่าย และสภาพแวดล้อมการขายช่วงปลายปี มีโอกาสที่ตลาดรถยนต์เมืองไทยปี 2565 จะขยับไปถึงระดับ 9 แสนคันได้เช่นกัน
โฆษณา