14 ต.ค. 2022 เวลา 05:27 • ข่าวรอบโลก
เยนญี่ปุ่นอ่อนค่าสุดในรอบ 32 ปี
เทียบกับดอลลาร์สหรัฐ
ล่าสุด 1 ดอลลาร์ แลกได้ 147 เยน
หรือ 100 เยน = 25 บาท
เงินเยน ที่ไม่เย็นเหมือนชื่อ เพราะอัตราแลกเปลี่ยนล่าสุดตอนนี้ (14 ตุลาคม 2565) อยู่ที่ 147.25 เยน ต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเกือบจะเทียบเท่าในช่วงเดือนสิงหาคมปี 1990 ที่อัตราแลกเปลี่ยนในเวลานั้น อยู่ที่ 147.67 เยน ต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ แต่หากเทียบเป็นบาทต่อเย็นแล้ว 100 เยน แลกได้ 25.82 เยน
หากเทียบกับตั้งแต่ต้นปีถึงตอนนี้ค่าเงินเยน ณ วันที่ 1 มกราคม ปีนี้ 1 ดอลลาร์จะสามารถเสกเงินเยนได้ถึง 115.11 เยน แต่ตอนนี้ด้วยปัจจัยที่ทางธนาคารกลางญี่ปุ่นใช้อัตราดอกเบี้ยติดลบ 0.1% คงที่ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภายในญี่ปุ่น โดยไม่ได้มีการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายล้อตาม ธนาคารกลางสหรัฐ (FED) จึงทำให้ ณ ตอนนี้ค่าเงินเยน ก็ได้อ่อนค่าหนักขึ้นเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ ถึง 27.9%
ในความค่าเงินที่อ่อนค่าถึง 27.9% หมายถึงโอกาสส่งออกที่ง่ายขึ้น ทั้งสินค้ายานยนต์และแผงวงจรที่ติดอันดับ 1 ใน 5 สินค้าส่งออกสำคัญในช่วง 2 ปีที่แล้ว แต่สิ่งที่ตามมาก็คือต้นทุนสินค้านำเข้าสำคัญก็แพงขึ้นในเวลาเดียวกัน โดยเฉพาะสินค้าพลังงานที่ญี่ปุ่นนำเข้ามากเป็นอันดับ 1
แต่จุดสำคัญที่ทำให้เงินเยนได้อ่อนค่าจนทำสถิติในรอบ 32 ปี เนื่องจาก ดัชนีเงินเฟ้อของสหรัฐ หรือ ตัวเลข CPI ที่มีการประกาศออกมาในกันยายนที่ผ่านมา อยู่ในระดับ 8.2% ซึ่งมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ ทำให้สิ่งที่เกิดขึ้นอาจเป็นสัญญาณที่ FED ยังขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเพื่อสู้กับเงินเฟ้ออย่างไม่ย่อท้อ
ตัวเลขเงินเฟ้อที่ประกาศออกมานั้น ก็ได้มีแรงสั่นสะเทือนไปถึงเงินเยนจากแดนอาทิตย์อุทัย จึงทำให้นักลงทุนเตรียมโยกย้ายเงิน ไปลงทุนในสหรัฐเพราะคาดว่า FED ยังพร้อมอัดฉีดด้วยการเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อไป
คำถาม กลับมาต่อว่า แล้วถ้า FED เตรียมขึ้นดอกเบี้ยไปไกลสุดลูกหูลูกตาจากตัวเลขเงินเฟ้อที่ประกาศออกมาล่าสุดขนาดนี้ แล้วทาง ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) จะขึ้นดอกเบี้ยสู้กลับเพื่อรักษาอัตราแลกเปลี่ยนหรือยังคงใช้นโยบายการเงินแบบอัตราดอกเบี้ยคงที่ต่อไปเพื่อให้เป็นปัจจัยสนับสนุนในการเปิดประเทศ
ต้องย้อนกลับไปในเดือนที่ผ่านมา ที่ญี่ปุ่นได้เสกเงินเกือบ 20,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐหายไปกับตา จากการใช้เงินก้อนนี้เข้าไปแทรกแทรงค่าเงิน เพื่อพยุงค่าเงินเยนไม่ให้อ่อนค่ามากไปกว่านี้ เพราะถ้ายิ่งอ่อนค่า จะกระทบต่อราคาพลังงานที่เป็นสินค้านำเข้าอันดับ 1 และจะส่งผลต่อค่าครองชีพในที่สุด
แต่กระสุนจากการอัดฉีดเม็ดเงินมหาศาลถึง 20,000 ล้านดอลลาร์ก็ไม่สามารถต้านทานการขึ้นดอกเบี้ยของ FED ไว้ได้ เพราะไม่ใช่แค่สหรัฐอเมริกาเท่านั้นที่ขึ้นดอกเบี้ย แต่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ก็ยังขึ้นดอกเบี้ยล้อตาม FED จึงทำให้ญี่ปุ่นต้องถอยกลับมาตั้งหลักอีกรอบว่าจะแทรกแทรงเงินเยนต่อ หรือจะพอแค่ตรงนี่
กลับมาที่คำถามว่า ญี่ปุ่น จะเอาอย่างไรต่อกับเรื่องของเงินเยน คำตอบที่ได้จากผู้มีอำนาจในการตัดสินใจก็ไม่ได้ออกมาในทิศทางเดียวกัน เพราะ ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น ฮารุฮิโกะ คุโรดะ ยังยืนยันที่จะใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายต่อไป แต่สัญญาณจากรัฐมนตรีคลังของญี่ปุ่น อย่าง ชุนอิจิ ซูซูกิ เตรียมพร้อมถ้าค่าเงินเยนยังผันผวน โดยเฉพาะถ้ายังอ่อนค่าขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ
จากคำตอบของผู้มีอำนาจในการตัดสินใจ ก็ไม่ได้ไปในทางเดียวกัน จึงทำให้อนาคตของค่าเงินเยนยังไม่แน่นอน หรือถ้าพูดแบบบ้าน ก็ยังลูกผีลูกคน จากนโยบายการเงินที่ยังมีความคิดเห็นไม่ตรงกัน
เพราะตอนนี้เศรษฐกิจของญี่ปุ่นยังอยู่ในโจทย์ใหญ่ที่การเติบโตทางเศรษฐกิจในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาไม่ถึง 2% ประกอบกับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของญี่ปุ่น และต้องหาทางกระตุ้นเศรษฐกิจจากโรคระบาด ที่ญี่ปุ่นเองมีผู้ติดเชื้อสะสมกว่า 21 ล้านคน
เพราะฉะนั้นการที่ญี่ปุ่นเปิดประเทศโดยอาศัยจังหวะเงินเยนที่อ่อนหนักขนาดนี้ ก็ยังเป็นความหวังสำคัญที่ทำให้ประเทศเดินต่อไปได้ โดยสถิติช่วงก่อนโรคระบาดพบว่า การท่องเที่ยวของญี่ปุ่นสามารถสร้างรายได้เข้าประเทศคิดเป็น 7% ของรายได้ทั้งหมด
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ยังต้องติดตามการประชุมของ FED ต่อไป ในอีก 2 ครั้งของปี คือ ในวันที่ 1-2 พฤศจิกายน และ 13-14 ธันวาคม ว่าจะขึ้นดอกเบี้ยมากน้อยขนาดไหน และในขณะเดียวกัน การประชุมของธนาคารกลางญี่ปุ่น ก็ยังเหลืออีก 2 ครั้งเช่นกัน ในวันที่ 27-28 ตุลาคม และ วันที่ 19-20 ธันวาคม ว่าจะตัดสินใจแก้เกมอัตราแลกเปลี่ยนโดยการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายหรือไม่
ซึ่งสำหรับญี่ปุ่นเองแล้ว ทุกการตัดสินใจ ย่อมหมายถึงอนาคตของซามูไร ว่าจะไปอย่างไร?
╔═══════════╗
ไม่พลาดบทความสาระดีๆ ที่ Reporter Journey ตั้งใจสร้างสรรเพื่อผู้ติดตามทุกท่าน อย่าลืมกดติดตามเพจ ติดตาม Reporter Journey ได้ทุกช่องทางที่
╚═══════════╝
.
ติดตาม Reporter Journey ได้ทุกช่องทางที่
Line : @reporterjourney
โฆษณา