14 ต.ค. 2022 เวลา 14:15 • การเมือง
[ อภิปรายตั้งแต่ปีที่แล้ว! มาช้าแต่ยังดีที่มา ประกาศราชกิจาเช่าซื้อรถยนต์ - จยย. คุมเพดานดอกเบี้ย คิดดอกเบี้ยลดต้นลดดอก ]
เมื่อปีที่แล้ว ผมอภิปรายในสภาถึงสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค หรือ สคบ. ในฐานะที่เป็นผู้รับผิดชอบต่อปัญหาสัญญาเช่าซื้อรถที่ไม่เป็นธรรม ผมไม่เห็นด้วยที่ สคบ. ปล่อยปะละเลยให้เกิดการขูดรีดลูกหนี้เช่าซื้อรถ ลูกหนี้เช่าซื้อรถเป็นหนี้ประเภทเดียวที่ถูกยึดทรัพย์ได้ง่ายที่สุด กล่าวคือ สิทธิของลูกหนี้นั้นน้อยมาก
หลายรายผ่อนมาจะครบแล้ว เหลืออีกแค่ไม่กี่งวด แต่พอเจอวิกฤตต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นโควิดเอย พอพลาดชำระไปสองสามงวด ก็ถูกยึดรถไปได้เลยง่าย ๆ ถ้ารถถูกยึด เค้าจะเอารายได้มาจากไหน นี่คือการที่ รัฐบาลปล่อยปะละเลยให้นายทุนทำร้ายลูกหนี้ให้ตายทั้งเป็น จากการยึดรถที่ไม่เป็นธรรมนี้
สิ่งที่มันควรจะเป็น ตามที่ผมได้อภิปรายเรียกร้องไปตั้งแต่ปีที่แล้วนั้น อย่างกรณีการให้พักชำระหนี้ แต่ยังคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระ บนดอกเบี้ยของค่างวดในอนาคตที่ยังไม่ถึงงวดชำระ ทั้ง ๆ ที่มี พ.ร.ก. แก้ไขประมวลแพ่ง 244/1 ที่บังคับใช้มาตั้งแต่ เดือน เม.ย. ที่ผ่านมา และ มีกำหนดชัดเจนว่า การคิดดอกเบี้ยผิดนัด
คิดได้เฉพาะเงินต้นในงวดที่ผิดนัดเท่านั้น หมายถึงว่า ถ้าลูกหนี้ผ่อนรถ แล้วขอพักชำระหนี้ 2 งวด การคิดดอกเบี้ยผิดนัดนั้น คิดได้เฉพาะส่วนของเงินต้น 2 งวดเท่านั้น ไม่ใช่ค่างวดทั้งหมด และห้ามคิดบนค่างวดเงินต้นที่ยังมาไม่ถึง แต่สคบ.ก็ปล่อยปะละเลย ไม่เข้มงวดกับการบังคับใช้กฎหมายนี้
และในกรณีเพดานดอกเบี้ย เพราะมีประกาศดอกเบี้ยเกินที่กฎหมายกำหนดแบบโจ่งแจ้งมาก โดยเฉพาะ ดอกเบี้ยเช่าซื้อรถมือสอง/รถจักรยานยนต์ ที่ปัจจุบันประกาศใช้มากกว่า 15% ที่ประมวลแพ่งกำหนดไว้ด้วยซ้ำ ผมเช็คจากหลายบริษัท ก็ใช้อัตราไม่ต่างกันคือ ต้องดูที่ช่องเมื่อคำนวนดอกเบี้ยแบบลดต้นลดดอก หรือ Effective rate เนี่ยจะเห็นเลยว่า บริษัทเช่าซื้อ คิดดอกเบี้ยเกิน 15% จนกลายเป็นเรื่องปกติไปแล้ว
รวมถึงการคิดดอกเบี้ยแบบอัตราดอกเบี้ยคงที่ หรือ flat rate คือการเอาเปรียบลูกหนี้อย่างมาก เมื่อถูกยึดรถและถูกขายทอดตลาด บริษัทลีซซิ่งเช่าซื้อ ก็จะเอา ส่วนของดอกเบี้ยของค่างวดในอนาคต ย้ำนะคับในอนาคต มารวมเป็นหนี้ของลูกหนี้ด้วย ตัวอย่างเช่น เงินต้น 880,000 ผ่อนไปแล้ว 95,000 ยึดรถไปแล้วขายได้ 855,000 ถึงตรงนี้ก็จะเข้าใจว่าบริษัทลีซซิ่งก็ไม่ขาดทุนแล้ว แต่บริษัทลีซซิ่งก็จะเอาดอกเบี้ยในอนาคตมารวมเป็นหนี้ที่ค้างอีกตั้ง 415,000 บาท มาเป็นภาระหนี้ของลูกหนี้เช่าซื้อ
โดยสรุปการอภิปรายของผมเมื่อปีที่ผ่านมานั้นคือการที่ สบค. และรัฐบาล ต้องเร่งการแก้ไข ควบคุมสัญญาเช่าซื้อให้เป็นธรรมกับลูกหนี้เร็วขึ้น และต้องบังคับใช้กฎหมายคุ้มครองสิทธิลูกหนี้เช่าซื้อให้ได้ ไม่ใช่ปล่อยปะละเลย ให้กลุ่มทุนลิซซิ่ง ขูดรีด ทำร้ายลูกหนี้ให้ตายทั้งเป็น จากการคิดดอกเบี้ยและยึดรถที่ไม่เป็นธรรมอย่างที่เป็นอยู่นี้
อย่างไรก็ตาม วันที่ 12 ตุลาคม ที่ผ่านมา มีราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่องให้ธุรกิจให้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา ฉบับใหม่ โดยมีใจความสำคัญที่ว่า
ให้ธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์นั้นคิดอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงต่อปี หรือ Effective Interest Rate หรือที่เรียกว่าแบบลดต้นลดดอก โดยคิดดอกเบี้ยจากเงินต้นคงเหลือในแต่ละงวด ไม่ใช่คิดดอกเบี้ยแบบเงินต้นคงที่ (Flat rate) แบบเดิม ทำให้ลูกค้าหรือผู้ที่เช่าซื้อเสียเปรียบบริษัทเช่าซื้อหรือลิสซิ่ง ซึ่งจะมีลักษณะคล้ายกับการผ่อนกู้ซื้อบ้าน-ที่อยู่อาศัย ที่การผ่อนชำระจะลดลงจากเงินต้นที่ลดลงไปด้วย
รวมถึงการกำหนดเพดานดอกเบี้ยจากเดิมเฉลี่ยประมาณ 30% ลดลงมาเหลือ 23% โดยรถยนต์ใหม่ ไม่เกิน 10% ต่อปี ส่วนรถยนต์มือสอง ไม่เกิน 15% ต่อปี และรถจักรยานยนต์ ไม่เกิน 23% ต่อปี
อีกทั้งเมื่อผู้เช่าซื้อจะขอชำระเงินค่าเช่าซื้อทั้งหมดพื่อปิดบัญชีค่าเช่าซื้อ โดยไม่ผ่อนชำระค่าเช่าซื้อเป็นรายงวดตามสัญญาเช่าซื้อ ผู้ให้เช่าซื้อจะต้องให้ส่วนลดแก่ผู้เช่าซื้อด้วย
ถึงจะมาไม่ครบตามที่ผมอภิปรายเรียกร้องไป แต่อย่างไรก็ดี นี่คือหน้าที่ของผู้มีอำนาจ หน้าที่ของรัฐบาลที่จะต้องฟังเสียงความเดือดร้อนของประชาชน กฎหมายไหนที่ไม่ยุติธรรมก็ควรที่จะแก้ไข อย่างในกรณีคือการแก้เพื่อคืนสิทธิคืนความยุติธรรมให้กับลูกหนี้เช่าซื้อ ผมอภิปรายไปตั้งแต่ปีที่แล้ว มาช้าแต่ยังดีที่มาแต่คราวหน้าอยากให้มาเร็วกว่านี้นะครับ 🙂
ผลิตโดย : วรภพ วิริยะโรจน์
ที่อยู่ ผู้ผลิต พรรคก้าวไกล เลขที่ 167 ชั้น 4 ซอยรามคำแหง 42 แขวงหัวหมาก เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร 10240 จำนวนที่ผลิต 1 ชิ้น ผลิตตามวันและเวลาที่ปรากฏ
โฆษณา