18 ต.ค. 2022 เวลา 03:30 • หุ้น & เศรษฐกิจ
เฮติ และ โดมินิกัน อยู่เกาะเดียวกัน แต่รวยต่างกัน 5 เท่า
หลาย ๆ คนอาจจะเคยได้ยินชื่อ ประเทศ “เฮติ” อยู่บ้าง
จากข่าวแผ่นดินไหว และพายุเฮอริเคน หรือจากบทความ
ที่แสดงให้เห็นถึงความยากจน ซึ่งรุนแรงมาก
จนทำให้ชาวเฮติ ต้องนำดินมาอบเป็นคุกกี้ ไว้กินเพื่อประทังชีวิต
2
แต่เชื่อหรือไม่ว่า เพียงแค่ข้ามชายแดน ไปยังอีกฝั่งของเกาะที่ประเทศเฮติตั้งอยู่
ซึ่งเป็นดินแดนของ “สาธารณรัฐโดมินิกัน” คุณภาพชีวิตความเป็นอยู่
ของประชาชนที่นั่น ต่างกับเฮติราวฟ้ากับเหว จากรายได้ต่อหัวที่มากกว่า เกือบ 5 เท่า
และถ้าหากคุณสงสัย ว่าเพราะอะไร ถึงทำให้ 2 ประเทศร่วมเกาะ แตกต่างกันมากถึงเพียงนี้ ?
BillionMoney จะย่อยให้เข้าใจ
ทั้ง 2 ประเทศ ตั้งอยู่บนเกาะฮิสปานิโอลา ซึ่งเป็นเกาะที่ใหญ่ที่สุด
ในทะเลแคริบเบียน รองจากเกาะคิวบา โดยประเทศเฮตินั้น
จะตั้งอยู่ ทางตะวันตกของเกาะ ที่มีภูมิประเทศเป็นภูเขาสูง
ในขณะที่โดมินิกัน จะอยู่ทางตะวันออก ซึ่งมีที่ราบมากกว่า
 
เกาะแห่งนี้ถูกค้นพบโดย Christopher Columbus ในปี 1492
หลังจากนั้น ในปี 1496 พื้นที่ของประเทศโดมินิกันในปัจจุบัน ก็ได้กลายเป็น อาณานิคมแห่งแรกของสเปน
และมีการตั้งเมืองซานโตโดมิงโกขึ้น จนกลายเป็นศูนย์กลาง ในการขยายดินแดนของชาวสเปน
ทว่าข่าวของการค้นพบแร่เงินจำนวนมาก ในพื้นที่เม็กซิโก และการค้นพบทองคำ ในทวีปอเมริกาใต้
ก็ได้ทำให้ความสำคัญของอาณานิคมแห่งนี้ ลดลงไป จนไม่ค่อยได้รับการเหลียวแล และพัฒนา
จนกระทั่งปี 1660 พ่อค้าชาวฝรั่งเศส ก็ได้เดินทางมาถึง
และได้ทำการตั้งอาณานิคม ในทางตะวันตกของเกาะ
พร้อมกับนำทาสชาวแอฟริกาจำนวนมาก เข้ามาทำการเพาะปลูก
และในปี 1697 สงคราม 9 ปี ระหว่างฝรั่งเศส กับกลุ่มประเทศพันธมิตร
ที่มีสเปนอยู่ด้วย ก็จบลงด้วยการเซ็นสัญญาสงบศึก โดยสเปน
ได้ยกดินแดนฝั่งตะวันตก ที่จะกลายเป็นเฮติในปัจจุบัน ให้กับฝรั่งเศส
หลังจากนั้นเป็นต้นมา เฮติ ก็กลายเป็นอาณานิคม ที่ร่ำรวยที่สุดของฝรั่งเศส
จากการส่งออกสินค้าเกษตรที่สำคัญ เช่น กาแฟ, โกโก้, คราม และฝ้าย
โดยในปี 1780 นั้น จำนวน 2 ใน 3 ของเงินลงทุนในต่างประเทศของฝรั่งเศส ได้ไหลมายังเฮติ
จนทำให้เฮติถูกพัฒนาจนเป็นเมืองท่าที่สำคัญ ซึ่งมีเรือสินค้าเข้าออก มากกว่า 700 ลำต่อปี
อย่างไรก็ตาม ความมั่งคั่งนี้ ก็มาจากการใช้งาน แรงงานทาสชาวแอฟริกาอย่างกดขี่
ทำให้ในที่สุด แรงงานทาสก็ได้ลุกฮือขึ้นก่อกบฏ จนสามารถขับไล่ชาวยุโรปออกไปได้สำเร็จ
พร้อมประกาศเอกราช ในปี 1804
แต่กว่าประเทศในยุโรป จะยอมรับเฮติเป็นประเทศ ก็ต้องรอนานกว่า 20 ปี
1
และในปี 1822 เฮติ ก็ได้บุกยึด โดมินิกัน ที่เพิ่งได้รับเอกราชจากสเปน
ก่อนจะปกครองโดมินิกัน นานกว่า 22 ปี
จนกระทั่งชาวโดมินิกัน ได้ทำสงคราม ประกาศอิสรภาพจากเฮติจนสำเร็จ
และ 2 ประเทศนี้ ก็ได้แยกกันอยู่มาโดยตลอดจนถึงปัจจุบัน
โดยปัจจัยที่ส่งผลให้ ความเจริญของทั้ง 2 ประเทศนี้ มีความแตกต่างกันอย่างมาก
ก็ประกอบไปด้วย 3 ปัจจัยหลัก ดังนี้
- สภาพภูมิประเทศ
จากการที่ประเทศเฮติ มีภูมิประเทศเป็นภูเขาสูง ก็ส่งผลให้
ลมที่หอบเอาความชื้นมาจากทะเล โดนบังไว้ ก่อนที่จะถึงเฮติ
ความชื้นเหล่านั้น จึงกลั่นตัวเป็นฝน และตกลงที่โดมินิกัน ซึ่งอยู่หน้าภูเขา
มากกว่าเฮติที่อยู่ข้างหลัง ส่งผลให้การเพาะปลูกในเฮติ ไม่ค่อยได้ผลผลิตนัก
นอกจากนี้ การที่เฮติ มีการถางป่าเพื่อทำการเกษตรมาตลอด ตั้งแต่ยุคอาณานิคม
ก็ได้ทำให้ ผืนดินของเฮติ เสื่อมโทรมเป็นอย่างมาก และยังทำให้ เวลาที่พายุเฮอริเคนเข้า
ชาวเฮติ จะประสบกับภัยพิบัติ อย่างเช่น น้ำท่วมที่รุนแรงกว่า เนื่องจากไม่มีผืนป่า
ไว้ชะลอมวลน้ำจำนวนมาก ที่ไหลหลากลงมาจากภูเขา
- เสถียรภาพของการเมืองภายใน
เฮติ เป็นประเทศที่แทบจะไม่เคยมีเสถียรภาพทางการเมืองเลย
นับตั้งแต่ก่อตั้งประเทศ โดยตั้งแต่ก่อตั้งประเทศ เฮติมีการรัฐประหาร
มากถึง 27 ครั้ง เนื่องจากเฮติมีปัญหาทั้งจากภายในประเทศ ที่มีความเหลื่อมล้ำสูง
และปัญหาเรื่องเชื้อชาติ ประกอบกับถูกแทรกแซง จากประเทศมหาอำนาจอยู่ตลอดเวลา
ทำให้ผู้นำประเทศเฮติ มักจะอยู่ในตำแหน่งได้ไม่นาน เนื่องจากต้องเอาใจคนหลายกลุ่ม
ทั้งกลุ่มชนชั้นนำ ที่เป็นลูกผสมชาวยุโรปและแอฟริกา, ประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศ ที่มีเชื้อสายแอฟริกา และประเทศมหาอำนาจอย่าง สหรัฐอเมริกา ที่ถึงขั้นเคยเข้ามายึดครอง ทั้งเฮติและโดมินิกัน ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 เพื่อป้องกันการบุกของเยอรมนี
ต่างกันกับโดมินิกัน ที่ไม่ได้มีกลุ่มการเมือง หลากหลายกลุ่มอย่างเฮติ
เนื่องจากตั้งแต่ยุคอาณานิคม ชาวสเปนมีนโยบายกลืนชนพื้นเมือง มากกว่าการนำทาสเข้ามาทำงาน
ทำให้ไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องเชื้อชาติ และส่งผลให้การเมืองภายในประเทศ มีเสถียรภาพมากกว่า
โดยโดมินิกัน ถูกปกครองด้วยรัฐบาลทหาร อยู่ราว 30 ปี เท่านั้น
2
- โครงสร้างเศรษฐกิจ
เมื่อประเทศเฮติ ได้รับเอกราช สิ่งที่พวกเขาต้องแลก กับการทำให้ฝรั่งเศส
ยอมรับสถานะเป็นประเทศ เมื่อปี 1825 คือการจ่ายค่าเสียหาย จากสงครามประกาศอิสรภาพ
ซึ่งมากถึง 100 ล้านฟรังก์ หรือคิดเป็นเงินกว่า 20,000 ล้านบาท ในปัจจุบัน
1
ส่งผลให้ภาษีที่เก็บได้แทบทั้งหมด ต้องถูกนำไปใช้หนี้
จนทำให้เฮติ ไม่มีเงินเหลือไว้พัฒนาเศรษฐกิจ ในช่วงเริ่มแรก
นอกจากนี้ การที่เฮติ มักจะถูกปกครอง โดยผู้นำเผด็จการอยู่บ่อย ๆ
ก็ส่งผลให้เฮติ ถูกคว่ำบาตร จากนานาประเทศหลายครั้ง
จนทำให้การค้าขายกับต่างประเทศ เป็นไปอย่างยากลำบาก
ส่งผลให้เฮติ ต้องอาศัยเพียงแค่ ค่าแรงที่ถูกมาก ในการดึงดูด
การลงทุนจากต่างประเทศ ซึ่งก็ดึงดูดได้เพียงแค่อุตสาหกรรมพื้นฐาน
เช่น โรงงานเย็บผ้า เท่านั้น สะท้อนจากมูลค่าการส่งออกเสื้อผ้าของเฮติ ในปี 2021
ที่คิดเป็น 69% ของการส่งออกทั้งหมด เศรษฐกิจจึงไม่ได้เกิดการพัฒนามากนัก
ในขณะที่โดมินิกันนั้น ไม่ได้มีหนี้ก้อนโต ตั้งแต่ก่อตั้งประเทศ แบบเฮติ
จึงทำให้โดมินิกัน สามารถนำภาษีที่เก็บได้ ไปพัฒนาเศรษฐกิจ
และยังกระจายการพัฒนา ไปยังภาคเศรษฐกิจอื่น ๆ นอกจากปลูกอ้อยเพียงอย่างเดียว
เช่น ยาสูบ, การทำเหมืองแร่, อุตสาหกรรม และการท่องเที่ยว
ทำให้สินค้าส่งออกของโดมินิกัน ค่อนข้างหลากหลาย สะท้อนจากมูลค่าสินค้าส่งออก
50% ของโดมินิกัน ในปี 2021 ที่ประกอบไปด้วย โลหะมีค่า, ยาสูบ, เครื่องใช้ไฟฟ้า และอุปกรณ์ทางการแพทย์
นอกจากนี้สถานการณ์ในประเทศ ที่ค่อนข้างปลอดภัยของโดมินิกัน
ก็ได้ช่วยให้การท่องเที่ยว สามารถขึ้นเป็นแหล่งรายได้หลักของประเทศ
แทนการส่งออกอ้อย มาตั้งแต่ปี 1984
2
และโดมินิกัน ยังได้รับเงินลงทุนจากต่างประเทศจำนวนมาก
พร้อมทั้งการเข้าร่วมเขตการค้าเสรีกับประเทศในอเมริกากลาง
ก็ได้ทำให้การส่งออกของโดมินิกัน ขยายตัวอย่างรวดเร็วอีกด้วย
จากปัจจัยทั้งหมด ที่กล่าวไปข้างต้นนี้เอง ส่งผลให้เศรษฐกิจของทั้ง 2 ประเทศ ต่างก็เติบโตสวนทางกัน
โดยในปี 2021
รายได้ต่อหัวของเฮติ อยู่ที่ 68,000 บาท
รายได้ต่อหัวของโดมินิกัน อยู่ที่ 326,000 บาท
และเมื่อดูจากอัตราการเติบโตของ GDP ของเฮติ ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา จะพบว่า
ปี 2017 GDP ของเฮติ เติบโต 2.5%
ปี 2018 GDP ของเฮติ เติบโต 1.7%
ปี 2019 GDP ของเฮติ เติบโต -1.7%
ปี 2020 GDP ของเฮติ เติบโต -3.3%
ปี 2021 GDP ของเฮติ เติบโต -1.8%
ก็จะเห็นได้ว่า เฮติมีการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ค่อนข้างช้า
ในขณะที่ อัตราการเติบโตของ GDP ของโดมินิกัน กลับเติบโตอย่างรวดเร็ว
ปี 2017 GDP ของโดมินิกัน เติบโต 4.7%
ปี 2018 GDP ของโดมินิกัน เติบโต 7%
ปี 2019 GDP ของโดมินิกัน เติบโต 5.1%
ปี 2020 GDP ของโดมินิกัน เติบโต -6.7%
ปี 2021 GDP ของโดมินิกัน เติบโต 12.3%
3
เรื่องนี้เองก็ได้แสดงให้เห็นว่า แม้จะเป็นประเทศที่อยู่ใกล้กัน
แต่ด้วยภูมิศาสตร์, ประวัติศาสตร์ และโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่ต่างกัน
ก็สามารถทำให้ ความเจริญรุ่งเรืองของเศรษฐกิจ แตกต่างกันได้มากขนาดนี้
ซึ่งก็เป็นที่น่าสนใจว่า อีกนานแค่ไหน ประเทศเฮติ จะสามารถหลุดพ้นจากความยากจน
และสามารถกลับมาเป็นเมืองท่าที่สำคัญ อย่างในอดีตได้อีกครั้ง เช่นเดียวกับโดมินิกัน
เพื่อนบ้านของพวกเขา..
โฆษณา