20 ต.ค. 2022 เวลา 03:00 • กีฬา
" เอล กลาสิโก้ ทิ้งทวนยุคกาลาคติกอส "
"เอล กลาสิโก้" ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานแค่ไหนแต่การเจอกันของสองมหาอำนาจลูกหนังสเปน ยังเป็นเกมที่ได้รับการจับตามองจากทั้งโลกอยู่เสมอ
สองทีมที่ประสบความสำเร็จมากมาย สองทีมที่เต็มไปด้วยนักเตะซูเปอร์สตาร์ สองทีมที่มีบัลลง ดอร์ รวมกันมากที่สุดถึง 13 คน รวมทั้งสิ้น 23 ใบ
มี เอล กลาสิโก้ หลายนัดที่ถูกยกขึ้นหิ้งเป็นเกมคลาสสิกสมชื่อ หลายเกมที่แฟนบอลยังจำได้ และยกย่องว่าเป็น "ที่สุด" แห่ง เอล กลาสิโก้
บางครั้งเมื่อทีมหนึ่งอยู่ในสถานะที่ดีกว่า มันก็ไม่ได้การันตีว่าจะชนะอีกทีมได้เสมอไป มันเป็นเรื่องของศักดิ์ศรีเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย นอกเหนือจากเรื่องฟุตบอล
บ่อยครั้งที่การเจอกันเอง มันเสมือนเกมตัดสินแชมป์ และอีกเช่นกันที่เป็นเวทีใหญ่ ให้เหล่าสตาร์ของทั้งสองทีมได้โชว์ฝีเท้า
หากคุณทำผลงานได้ดีใน กลาสิโก้ ชื่อของคุณจะเป็นที่จดจำของแฟนบอลตลอดไป ในทางตรงกันข้าม หากคุณทำพลาด เล่นแย่จนเกินรับไหว ชื่อของคุณจะโดนหมายหัวจากแฟนบอล
มันเป็นเรื่องธรรมดา เพราะนี่คือเกมที่ 2 ทีมมีดาวดังมารวมตัวกันมากที่สุดในโลก
กาลาคติกอส หรือทีมรวมดาวจากทั่วฟากฟ้า คือสมญาที่ถูกใช้เรียก เรอัล มาดริด ภายใต้การนำของประธาน ฟลอเรนติโน่ เปเรซ
กาลาคติกอส เวอร์ชั่นแรก เกิดขึ้นในยุคที่ เปเรซ นั่งเก้าอี้ทรงเกียรตินี้เป็นสมัยแรกในปี 2000 มันพีคถึงขีดสุด จากนั้นก็ค่อยๆ โรยลับดับแสงไปเมื่อเปเรซ พ้นจากตำแหน่งในปี 2006
ช่วงต้น-กลาง 2000s เป็นช่วงที่ บาร์เซโลน่า กำลังกลับมาตั้งหลักใหม่อีกครั้ง
ในปี 2003 พวกเขาก็มีคนเก่งมาบริหาร ให้บังเอิญ ว่านั่นก็คือคนที่กำลังต้องดวลกับ เปเรซ อยู่ในปัจจุบันอย่าง โจน ลาปอร์ต้า นั่นเอง
ลาปอร์ต้า พลิกโฉมของบาร์ซ่าอีกครั้ง ด้วยการแต่งตั้ง แฟรงค์ ไรจ์การ์ด เข้ามาคุมทีม และเสริมทัพนักเตะชุดใหม่ที่จะเป็นผู้นำของบาร์ซ่ายุคใหม่อย่างแท้จริง นั่นก็คือ โรนัลดินโญ่
รวมถึงการดันดาวรุ่งจาก ลา มาเซีย ขึ้นมาอย่างต่อเนื่องและจริงจัง ส่งผลให้ บาร์ซ่า ค่อยๆ ยกระดับขึ้นมาทาบ มาดริด ได้อีกครั้งเช่นกัน
ฤดูกาลที่ดาวดังมาบรรจบกันมากที่สุดในยุคนั้น คือปี 2004/05
เรอัล มาดริด ยังมีดาวดังระดับกาลาคติกอส ทั้ง ราอูล กอนซาเลซ, โรแบร์โต้ คาร์ลอส, หลุยส์ ฟิโก้, ซีเนดีน ซีดาน, โรนัลโด้, เดวิด เบ็คแฮม รวมถึงกระแสฮิตนักเตะจากอังกฤษอย่าง ไมเคิ่ล โอเว่น และ โธมัส กราเวอเซ่น ด้วย
ส่วน บาร์เซโลน่าที่มี โรนัลดินโญ่ เป็นสตาร์อันดับ 1 พวกเขายังมี ซามูแอล เอโต้, เดโก้, เฮนริค ลาร์สสัน, ลูโดวิช ชูลี่และสองเด็กปั้นที่กำลังเติมโตขึ้นมาเรื่อยๆ อย่าง อันเดรส อิเนียสต้า และ ชาบี เอร์นานเดซ
ฤดูกาล 2003/04 นั้นจบลงด้วยการที่ บาเลนเซีย ของกุนซือ ราฟา เบนิเตซ คว้าแชมป์ และเขาก็อำลาไปคุมลิเวอร์พูล
ปี 2004/05 มันเลยกลับกลายมาเป็นม้าแข่ง 2 ตัวอีกครั้ง เนื่องจาก ลา กอรุนญ่า เสียนักเตะตัวหลักออกไปเยอะ
นั่นหมายความว่า "เอล กลาสิโก้" ทั้งสองนัด แทบเป็นเกมตัดสินแชมป์
บาร์ซ่า นั้นมีทีมที่เสถียรกว่า พวกเขาลงตัวกว่าภายใต้การคุมทีมของ แฟรงค์ ไรจ์การ์ด
ส่วน มาดริด นั้นเป็นอีกเรื่อง เพราะการที่ เปเรซ ตัดสินใจปลด บิเซนเต้ เดล บอสเก้ ทำให้ความสงบนิ่งไม่เคยเกิดขึ้นที่ เบร์นาเบวเลย
แม้ขุมกำลังของพวกเขาจะแข็งแกร่งสุดๆ แต่ความไม่ต่อเนื่อง การไม่มีโค้ชที่เหมาะสมจริงๆ ก็ทำให้ทีมไม่ประสบความสำเร็จอย่างที่คิดเอาไว้
คาร์ลอส เคยรอช, โฆเซ่ อันโตนิโอ กามาโช่, มาเรียโน่ การ์เซีย เรม่อน จนมาถึง วันแดร์เลย ลุกชอมบูร์โก้
ต้นซีซั่น 2004/05 กุนซือของพวกเขาคือ โฆเซ่ อันโตนิโอ กามาโช่ แต่คุมทีมไปได้แค่ 4 สัปดาห์ หลังจากฤดูกาลเปิด เขาก็โดนปลดออกจากตำแหน่ง
ผลงานคือดันแพ้ เลเวอร์คูเซ่น 0-3 ในเกมแรกของ ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก และแพ้ เอสปันญ่อล 0-1 ในเกมที่ 3 ของ ลา ลีกา
มาเรียโน่ การ์เซีย เรม่อน ซึ่งขณะนั้นเป็นมือขวา เลยโดนดันขึ้นมาคุมทีมแทนไปก่อน เรียกว่าเค้าลางหายนะมีมาตั้งแต่ต้นซีซั่นแล้ว
ผลงานของ เรม่อน คือคุมทีมแพ้ 2 นัดติดในลา ลีกา จากนั้นเสมออีก 1 นัด ก่อนจะมาช่วยชีวิตตัวเองและทีมด้วยการคว้าชัย 4 เกมรวด
ดูเหมือนว่า เรอัล มาดริด จะกลับเข้าสู่เส้นทางเสียที นั่นคือก่อนวันที่ 20 พฤศจิกายน 2004 ที่พวกเขาจะเจอกับ บาร์เซโลน่า
ด้าน บาร์ซ่า พวกเขาผลงานยอดเยี่ยมมากๆ 10 นัด ชนะ 8 เสมอ 2 ไม่แพ้ใครเลย แต่แล้วก่อนเจอ มาดริด แค่เกมเดียว พวกเขาดันออกไปแพ้ เรอัล เบติส 1-2
ณ เวลานั้น มองกันว่าหรืออาจเป็นจุดเปลี่ยน บาร์ซ่าเริ่มสะดุดให้เห็น ขณะที่ มาดริด เริ่มเข้าที่เข้าทาง
ทว่าเกมที่ คัมป์ นู พิสูจน์ให้เห็นว่าทีมที่พร้อมกว่า ลงตัวกว่า เป็นเช่นไร
1
ซามูแอล เอโต้, โจวานนี่ ฟราน บรองค์ฮอร์สท์ และ โรนัลดินโญ่ ทำคนละประตูให้ บาร์ซ่า เอาชนะ เรอัล มาดริด ไปได้ 3-0
เกมนี้ ลิโอเนล เมสซี่ ในวัย 17 ปี มีชื่ออยู่บนม้านั่งสำรองด้วย
มันเป็นเกมที่ ชาบี, เดโก้, โรนัลดินโญ่, เอโต้ และ ลาร์สสัน ออกสตาร์ทเป็นตัวจริงและโชว์ฟอร์มได้เหนือกว่ามาดริด
ทั้งที่ตัวผู้เล่นแนวรุกมาดริด เต็มไปด้วยสตาร์ทั้ง ซีดาน, กูตี, เบ็คแฮม, ฟิโก้, ราอูล และ โรนัลโด้
หนึ่งในความผิดพลาดของ มาเรียโน่ การ์เซีย เรม่อน ก็คือการไม่มีมิดฟิลด์ตัวรับธรรมชาติในทีมเลยแม้แต่คนเดียว จะว่าไป นับตั้งแต่สโมสรขาย โคล้ด มาเกเลเล่ พวกเขาก็ไม่มีกลางรับที่ไว้ใจได้เลย
ยกแรก บาร์ซ่า ชนะ มันทำให้ความกดดันถาโถมมาใส่ เรม่อน และเมื่อเขาพาทีมแพ้คาบ้านต่อเซบีย่า 0-1 เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม ซึ่งเป็นนัดสุดท้ายของปี ก่อนเบรกหนีหนาว ก็ทำให้เขาโดนปลดออกจากตำแหน่งไปอีกราย
ทางออกของ เรอัล มาดริด ตอนนั้นคือ 1 สัปดาห์ต่อมาพวกเขาก็เซ็นสัญญา วันแดร์เลย ลุกเซมบูร์โก้ เทรนเนอร์ชาวบราซิลเข้ามาคุมทีม
ลุกชอมบูร์โก้ เป็นโค้ชชาวบราซิลที่กำลังดังในตอนนั้น เขาคุมทีมชาติบราซิลช่วงปี 1998-2000 พาทีมได้แชมป์โกปา อเมริกา ปี 1999
1
ผลงานการคุมทีมระดับสโมสรก็โชกโชน เขานำทั้ง พัลไมรัส, ซานโต๊ส, โครินเธียนส์, ครูไซโร่ คว้าแชมป์นับไม่ถ้วน
หนึ่งในการขยับในตลาดหน้าหนาวของ เรอัล มาดริด คือการแก้ปัญหามิดฟิลด์ตัวรับ พวกเขาเร่งคว้าตัว โธมัส กราเวอเซ่น มาจากเอฟเวอร์ตัน แม้ชื่อนี้จะเซอร์ไพรส์ แต่ต้องบอกว่าฟอร์มของ กราเวอเซ่น ในเวลานั้นมันร้อนแรงจริงๆ เป็นเหมือนไดนาโม ผู้นำ ที่ขับเคลื่อนทีมท็อฟฟี่ของ เดวิด มอยส์ จริงๆ
เมื่อเข้ามาคุมทีม ลุกชอมบูร์โก้ ก็มาพร้อมกับระบบการเล่น 4-2-2-2 สี่เหลี่ยมมหัศจรรย์ คล้ายกับทีมชาติฝรั่งเศสยุค มิเชล พลาตินี่ หรืออาจเรียกว่า 4-4-2 แบบข้าวหลามตัด (ไดมอนด์) ที่เรารู้จักกันในทุกวันนี้
แม้จะมีดาวดังแนวรุกเต็มทีม แต่ ลุกชอมบูร์โก้ เลือกสมดุลของทีมมาก่อน
1
เขาจัดให้ กราเวอเซ่น ยืนห้อยต่ำคอยปัดกวาด ขนาบข้างด้วย เดวิด เบ็คแฮม และ ซีเนดีน ซีดาน โดยมี ราอูล กอนซาเลซ ยืนเป็นหน้าต่ำ สนับสนุนคู่หอกอย่าง โรนัลโด้ และ โอเว่น
บางครั้ง ราอูล จะขึ้นไปยืนหน้ากับ โรนัลโด้ แทนที่ของ โอเว่น และให้ ฟิโก้ ลงมาทำหน้าที่เป็นเพลย์เมกเกอร์
มันคือการหาสมดุลให้ทีม และนี่คือเรื่องสำคัญอย่างมาก ไม่ใช่แค่การยัดสตาร์ลงไปให้ครบๆ
เขาพาทีมชนะรวด 7 นัดติดต่อกัน แต่ก็มาเจอปัญหา แพ้ให้ บิลเบา กับ ลา กอรุนญ่า เพราะช่วงนั้น ราอูล กับ โรนัลโด้ สองกองหน้าคนสำคัญดันไม่ฟิตสมบูรณ์
แต่ ลุกชอมบูร์โก้ ยังได้รับการสนับสนุนจากนักเตะ เขาพาทีมกลับมาคืนฟอร์ม เมื่อตัวหลักๆ กลับมาครบ
กระทั่งวันที่ 10 เมษายน 2005 โอกาสล้างแค้นก็มาถึง "เอล กลาสิโก้" ที่ เบร์นาเบว
ผู้มาเยือน ซึ่งเวลานั้นยังนำเป็นจ่าฝูง มาแบบเต็มพิกัดในระบบ 4-3-3
ราฟาเอล มาร์เกซ เป็นตัวโฮลดิ้ง ให้ ชาบี กับ อิเนียสต้า ทำเกม ส่วนแนวรุก ลูโดวิช ชูลี่, ซามูแอล เอโต้ และ โรนัลดินโญ่ เล่นด้วยกัน นี่คือทีมที่ดีที่สุดในเวลานั้น
แนวรับนำโดยกัปตันทีม การ์เลส ปูโยล เล่นร่วมกับ โอเลเกร์ เปรซาส โดยมี 2 แบ็กจอมบุกอย่าง ฟราน บรองค์ฮอร์สท์ และ เบลเล็ตติ ขนาบข้าง
เจ้าบ้าน เรอัล มาดริด พวกเขาเรียนรู้แล้ว ว่าความแน่นอนแดนกลาง การช่วยเกมรับให้แบ็กโฟร์มันสำคัญ
โรแบร์โต้ คาร์ลอส, ฟรานซิสโก้ ปาบอน, อิบัน เอลเกร่า และ มิเชล ซัลกาโด้
แดนกลาง กราเวอเซ่น ยืนต่ำ มี ซีดาน กับ เบ็คแฮม อยู่ข้างๆ และทั้งคู่ก็ช่วยเกมรับด้วย ข้างบนมี ราอูล หนุนหลัง โรนัลโด้ กับ โอเว่น โดยที่ ฟิโก้ เป็นสำรอง
1
ดูจากไลน์อัพ นี่คือ "เอล กลาสิโก้" ที่คลาสสิกที่สุดก่อนยุครุ่งเรืองของ กาลาคติกอส เวอร์ชั่นแรกจะล่มสลายไป
มาดริด เริ่มด้วยความมั่นใจ พวกเขานำไปก่อนถึง 2-0 จาก ซีเนดีน ซีดาน และ โรนัลโด้ ภายใน 20 นาที
จากนั้น บาร์ซ่า เริ่มกระเตื้อง เอโต้ ยิงไล่มา 1-2 และพวกเขามีโอกาสตีเสมอเช่นกันแต่ อีเกร์ กาซียาส ยังยอดเยี่ยม แนวรับ มาดริด ช่วยกันเต็มที่
ก่อนที่ ราอูล จะยิงเป็น 3-1 ก่อนหมดครึ่งแรกแค่ไม่กี่วินาที
ในครึ่งหลัง บาร์ซ่า ดูเป็นฝ่ายบุกได้น้ำได้เนื้อกว่า แต่ในนาทีที่ 65 สองอิงลิชเมน ก็สร้างโมเมนต์เหมือนใน ฟร้องซ์ 98
1
เดวิด เบ็คแฮม ตักบอลเร็วจากกลางสนามให้ ไมเคิ่ล โอเว่น สปีดผ่านกองหลังไปเกี่ยวบอลลงด้วยข้างเท้าด้านนอก แล้วยิงผ่านบิคตอร์ บัลเดส เข้าไปเป็น 4-1
โรนัลดินโญ่ มาปั่นฟรีคิกสุดสวยให้ บาร์ซ่า ไล่มา 2-4 แต่ก็ได้เพียงแค่นั้น จบเกม เรอัล มาดริด ล้างตาได้สำเร็จ และมันคือการปิดฉาก เอล กลาสิโก้ ยุคกาลาคติกอส ลงได้อย่างสวยงามสำหรับ เรอัล มาดริด
ฤดูกาลนั้น บาร์ซ่า ยังเอาตัวรอด ประคองตัวเข้าป้ายเป็นแชมป์ได้สำเร็จ มีแต้มเหนือ เรอัล มาดริด 4 แต้ม
ส่วน มาดริด พวกเขาทำเต็มที่แล้ว 10 นัดสุดท้ายพวกเขาชนะ 8 เสมอ 2 แต่ก็ไล่ไม่ทัน
น่าเสียดายที่ความต่อเนื่องมันไม่เกิดขึ้นในฤดูกาล 2005/06
ปีนั้น บาร์ซ่า ยกระดับขึ้นมาอีกขั้น พวกเขาไปจนถึงแชมป์ ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก
ส่วน มาดริด พวกเขาปล่อย หลุยส์ ฟิโก้ ออกไป ปล่อย โอเว่น ออกไป
ซีดาน ก็เข้าสู่ปีสุดท้ายในฐานะนักเตะอาชีพ ขณะที่ โรนัลโด้ ก็ผ่านพ้นจุดสูงสุด และความฟิตก็ดร็อปลงเรื่อยๆ
วันแดร์เลย์ ลุกชอมบูร์โก้ คุมทีมได้จนถึงเดือนธันวาคม 2005 ก็โดนปลดไปอีกคน
มันเป็นช่วงที่ เรอัล มาดริด หาความสม่ำเสมอ หาความนิ่ง และสมดุลไม่เจอ น่าเสียดายทั้งที่ดูจากขุมกำลัง และเหล่า กาลาคติกอส พวกเขาควรประสบความสำเร็จมากกว่านั้น
ฤดูกาล 2004/05 จึงเป็นฤดูกาลสุดท้ายที่ "เอล กลาสิโก้" ยุค กาลาคติกอส ของ มาดริด ได้ปะทะกับ บาร์เซโลน่า ยุคใหม่อย่างเต็มรูปแบบที่สุด
ร่วมรับชมคลิปน่าสนใจกับ เอล กลาสิโก้ ได้ที่ :: https://cutt.ly/KBHG07w
.
ทุกท่านสามารถติดตามอ่านบทความย้อนหลังได้ที่ ..
.
และเพิ่มเพื่อนไลน์แอด "เพื่อเด้งเตือน" ให้คุณได้อ่านก่อนใคร กดที่ลิงค์นี้ครับ
ขอบคุณครับ
โฆษณา