21 ต.ค. 2022 เวลา 04:52 • การศึกษา
รู้จักกับเบรกเกอร์กันไฟดูด-ไฟรั่ว ชนิด RCBO และ RCCB
RCBO และ RCCB
เบรกเกอร์กันไฟรั่วทั้ง 2 ตัวนี้ ถ้าเพื่อนๆดูจากรูปร่างของเบรกเกอร์ก็จะมีลักษณะที่คล้ายกันครับ ซึ่งที่ตัวเบรกเกอร์ทั้ง 2 ตัวนี้ก็จะมีปุ่ม Test RCD เหมือนกันครับ แล้วแล้วเบรกเกอร์ทั้ง 2 ตัวนี้แตกต่างกันอย่างไร และเบรกเกอร์กันไฟรั่วตัวไหนคือ ชนิด RCBO และเบรกเกอร์ตัวไหนคือชนิด RCCB ครับ ???
คุณสมบัติพื้นฐานของเบรกเกอร์กันไฟรั่ว คือ เบรกเกอร์จะตัดวงจรเมื่อวงจรไฟฟ้าที่เบรกเกอร์กันไฟรั่วควบคุมอยู่นั้น มีกระแสไฟฟ้าที่ไหลเข้าและไหลออกจากเบรกเกอร์แตกต่างกันถึงค่าพิกัดกระแสรั่วที่กำหนดไว้ในสเปคของเบรกเกอร์ เบรกเกอร์ก็จะตัดการทำงานครับ
รูปที่ 1 สภาวะปกติที่ไม่เกิดกระแสไฟฟ้ารั่ว
จากรูปที่ 1 เบรกเกอร์กันไฟรั่วตัวนี้ควบคุมวงจรไฟฟ้าของตู้เย็นอยู่ครับ ในสภาวะปกติตู้เย็นตู้นี้กินกระแสไฟฟ้าที่ 5 แอมแปร์ ก็จะมีกระแสไฟฟ้าที่ไหลเข้าเบรกเกอร์กันไฟรั่วผ่านทางสายเฟส ( สาย L ) 5 แอมแปร์ และไหลต่อไปยังตู้เย็นครับ เช่นกันครับที่สายนิวทรัล ( สาย N ) ก็จะมีกระแสไหลกลับจากตู้เย็นไปยังเบรกเกอร์กันไฟรั่ว 5 แอมแปร์ เพื่อไหลกลับไปยังแหล่งจ่ายไฟ ซึ่งก็คือ หม้อแปลงของการไฟฟ้าครับ
รูปที่ 2 สภาวะผิดปกติเกิดกระแสไฟฟ้ารั่วผ่านคนลงดิน
จากรูปที่ 2 หากตู้เย็นตู้นี้เกิดไฟรั่วอยู่ที่โครงของเครื่องแล้วเกิดมีคนไปสัมผัสกับตู้เย็นแล้วครบวงจรลงสู่ดิน สมมติว่ามีกระแสไฟรั่วที่ 50 มิลลิแอมแปร์ ( 0.05 A = 50 mA ) ไหลผ่านร่างกายคนลงสู่ดิน ที่สายนิวทรัล ( สาย N ) ก็จะมีกระแสไหลกลับไปยังเบรกเกอร์กันไฟรั่ว 4.95 แอมแปร์ครับ เมื่อกระแสไหลเข้าและกระแสไหลออกที่เบรกเกอร์มีค่าแตกต่างกันถึงค่าพิกัดที่ระบุไว้ในสเปคของเบรกเกอร์ กลไกภายในเบรกเกอร์ก็จะสั่งตัดวงจร , สั่งทริป ( Trip ) เพื่อตัดวงจรไฟฟ้าออกเพื่อให้คนปลอดภัยครับ
รูปที่ 3 เบรกเกอร์กันไฟรั่วทริปเพื่อตัดวงจรไฟฟ้าออก (คนปลอดภัย)
ซึ่งขนาดกระแสไฟฟ้าที่มีผลต่อร่างกายที่เฉลี่ยมากกว่า 40 มิลลิแอมแปร์ ( 40 mA ) ขึ้นไป ก็จะส่งผลต่อการควบคุมกล้ามเนื้อและทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะได้ครับ ดังนั้นมาตรฐานจึงกำหนดให้เบรกเกอร์กันไฟรั่วที่ใช้ในการป้องกันชีวิตคน จะต้องมีค่า I delta n ไม่เกิน 30 มิลลิแอมแปร์ ( 0.03 A = 30 mA ) และจะต้องตัดวงจรภายใน 0.3 วินาที เบรกเกอร์ตัวนั้นจึงได้ผ่านการรับรองมาตรฐานครับ
เรามาทำความรู้จักกับข้อมูลพื้นฐานของเบรกเกอร์กันไฟรั่วกันครับ เบรกเกอร์กันดูดหรือเบรกเกอร์กันไฟรั่วหรือเครื่องตัดไฟรั่วหรือเครื่องตัดวงจรกระแสเหลือ RCD ( Residual-Current Device ) ก็จะแยกออกเป็น 2 ประเภทครับ คือ RCCB (Residual Current Circuit Breakers) และ RCBO (Residual Current Circuit Breakers with Overload protection) ครับ
ชนิดของเบรกเกอร์กันไฟรั่ว
เบรกเกอร์กันไฟรั่ว ชนิด RCCB จะเป็นเบรกเกอร์ที่มีคุณสมบัติในการตัดวงจรเมื่อเกิดกระแสไฟฟ้ารั่วเพียงอย่างเดียวครับ
ส่วนเบรกเกอร์กันไฟรั่ว ชนิด RCBO จะมีคุณสมบัติของเซอร์กิตเบรกเกอร์ที่เพิ่มเข้ามาในเบรกเกอร์ด้วยครับ จะทำให้เบรกเกอร์ชนิด RCBO มีคุณสมบัติในการตัดวงจรเมื่อเกิดกระแสไฟฟ้ารั่วได้ , ตัดวงจรเมื่อเกิดไฟฟ้าลัดวงจรได้ (Short circuit) และตัดวงจรเมื่อกระแสไฟฟ้าเกินได้ (Over load) ได้ครับ
คุณสมบัติการตัดวงจรของ RCCB และ RCBO
หากเพื่อนๆใช้งานเบรกเกอร์กันไฟรั่ว ชนิด RCCB เพื่อนๆจึงควรใช้งานคู่กับเซอร์กิตเบรกเกอร์เสมอ เพื่อให้มีคุณสมบัติในการตัดวงจรครบทั้ง 3 อย่างเหมือนเบรกเกอร์ RCBO ครับ ซึ่งข้อดีของการติดตั้งเซอร์กิตเบรกเกอร์คู่กับเบรกเกอร์กันไฟรั่ว RCCB ก็คือ หากวงจรที่ควบคุมอยู่นั้นเกิดไฟฟ้าลัดวงจรหรือเกิดกระแสไฟฟ้าเกิน เซอร์กิตเบรกเกอร์ก็จะเป็นอุปกรณ์ที่ใช้ตัดวงจรครับ หรือวงจรนั้นเกิดกระแสไฟฟ้ารั่ว เบรกเกอร์ RCCB ก็จะเป็นอุปกรณ์ที่ตัดวงจรครับ
ทำให้การตรวจเช็คง่ายขึ้นครับ แต่ข้อเสียก็คือจะเปลืองพื้นที่ที่ใช้ติดตั้งภายในตู้ไฟฟ้าครับและเนื่องจากเบรกเกอร์กันไฟรั่ว RCCB จะไม่มีฟังก์ชั่นของเซอร์กิตเบรกเกอร์ติดตั้งมาภายในตัวเหมือนกับเบรกเกอร์กันไฟรั่ว RCBO ครับ
ดังนั้นในการใช้งานเบรกเกอร์ RCCB จึงต้องเลือกค่า AT ของเซอร์กิตเบรกเกอร์ให้มีค่าเท่ากันหรือค่า AT ของเซอร์กิตเบรกเกอร์น้อยกว่าค่า A ของเบรกเกอร์ RCCB ครับ
มาตรฐาน IEC และมาตรฐาน มอก. ของ RCCB และ RCBO
มาตรฐานของเบรกเกอร์ถ้าเพื่อนๆสามารถจดจำเลขมาตรฐานได้ เพื่อนๆก็จะแยกได้ว่าเบรกเกอร์ตัวนั้นเป็นชนิด RCCB หรือ RCBO ครับ
เนื่องจากเบรกเกอร์ RCCB ที่ระบุมาตรฐาน มอก.2425-2552 ปัจจุบันยังคงพบเจอได้อยู่ หากเพื่อนๆ เห็นเลขมาตรฐาน มอก. เก่า 2425-2552 แสดงว่าเบรกเกอร์ตัวนั้นเป็นชนิด RCCB ครับ
มาตรฐานใหม่ของ RCCB จะระบุมาตรฐาน มอก.2425-2560
เบรกเกอร์กันไฟรั่ว RCBO เพื่อนๆจะสังเกตเห็นตัวอักษร C ที่ระบุอยู่บนเบรกเกอร์ซึ่งตัวอักษร C ตัวนี้หมายถึง Trapping Type ของฟังก์ชั่นเซอร์กิตเบรกเกอร์ที่จะตัดวงจรเมื่อเกิดไฟฟ้าลัดวงจรหรือเกิดกระแสไฟฟ้าเกิน แบบ Type C ที่ถูกรวมเข้ามาอยู่ในตัวเบรกเกอร์กันไฟรั่ว ชนิด RCBO ครับ ( แต่ที่เบรกเกอร์ RCCB จะไม่มีการระบุค่า Trapping Type C ที่เบรกเกอร์ครับ )
ตัวอย่างเบรกเกอร์กันไฟรั่ว RCBO
เบรกเกอร์ที่นิยมใช้งานในประเทศไทยที่พบเห็นได้มากที่สุดจะเป็นเบรกเกอร์ที่ผลิตตามมาตรฐ IEC แบบ Type C ครับ
ซึ่งเบรกเกอร์ที่ผลิตตามมาตรฐานนี้จะเริ่มตัดวงจรเมื่อมีกระแสไหลเกินพิกัดค่า AT ของเบรกเกอร์ตั้งแต่ 1.13 เท่าและแปรผันถึง 1.45 เท่าของพิกัดเบรกเกอร์ครับ เช่น เบรกเกอร์ขนาด 10 AT เมื่อมีกระแสไหลผ่านเบรกเกอร์ตั้งแต่ 11.30 แอมแปร์ ถึง 14.50 แอมแปร์ ก็จะเกิดความร้อนสะสมที่หน้าสัมผัสภายในเบรกเกอร์ จะส่งผลให้แผ่นไบเมทัลโก่งตัวและผลักกลไกภายในทำให้เบรกเกอร์ตัดวงจร คือ เบรกเกอร์ทริปนั่นเองครับ ลักษณะการปลดวงจรแบบนี้จะเรี่ยกว่า Thermal Trip ครับ
Curve Breaker
เบรกเกอร์ Type C จะมีฟังก์ชั่นการตัดวงจรเมื่อเกิดการกระแสลัดวงจรที่ 5-10 เท่าของพิกัด AT ของเบรกเกอร์ครับ เช่น เบรกเกอร์ขนาด 10AT จะเริ่มตัดวงจรเมื่อมีกระแสลัดวงจรที่ไหลผ่านเบรกเกอร์ตั้งแต่ 50 แอมแปร์ ถึง 100 แอมแปร์ ซึ่งกระแสที่สูงนี้จะทำให้เกิดสนามแม่เหล็กรอบๆ ขดลวดชุดคอยด์ ทำให้แกนเหล็กถูกดูดและปลดกลไกภายใน เบรกเกอร์ก็จะสั่งปลดวงจรเบรกเกอร์ทริปครับ ลักษณะการปลดเมื่อเกิดกระแสไฟฟ้าวงจรนี้จะเรี่ยกว่า Magnetic Trip ครับ
ตัวอย่างเบรกเกอร์กันไฟรั่ว RCCB
เบรกเกอร์กันไฟรั่วชนิด RCCB เพื่อนๆจะสังเกตที่เบรกเกอร์จะระบุข้อความตัวอักษร In = 40A ข้อความที่ระบุนี้หมายถึง เบรกเกอร์ตัวนี้สามารถใช้งานที่กระแสไฟฟ้าต่อเนื่องสูงสุด 40 แอมแปร์ (40A) ครับ หากใช้งานที่กระแสมากกว่านี้จะทำให้เบรกเกอร์เสียหายครับ ดังนั้นหากใช้งานเบรกเกอร์ RCCB คู่กับเซอร์กิตเบรกเกอร์ เซอร์กิตเบรกเกอร์ที่ใช้ควรมีค่าเท่ากับ 40AT หรือน้อยกว่า เช่น 32AT หรือ 25AT เป็นต้น ทั้งนี้ต้องพิจารณาว่าโหลดที่ต่อใช้งานอยู่ใช้กระแสไฟฟ้าอยู่ที่กี่แอมแปร์มาประกอบด้วยครับ
เงื่อนไขการตัดวงจรและไม่ตัดวงจรของเบรกเกอร์กันไฟรั่วชนิด RCCB และ RCBO
เงื่อนไขการตัดวงจรและไม่ตัดวงจรของเบรกเกอร์กันไฟรั่วชนิด RCCB และ RCBO ก็จะเหมือนกันครับ ยกตัวอย่างรูปเบรกเกอร์กันไฟรั่วตัวนี้จะระบุค่าการตัดวงจรเมื่อเกิดกระแสรั่ว I delta n ที่ 0.03 แอมแปร์ ( 0.03 A ) ก็คือ 30 มิลลิแอมแปร์ ( 30 mA ) ซึ่งเป็นค่ามาตรฐานขั้นต่ำทัวไป จะมีเงื่อนไขดังนี้ครับ
(1) กรณีที่มีกระแสไฟรั่วน้อยกว่า 0.5 เท่าของค่าพิกัด I delta n คือ กระแสไฟรั่วมีค่าน้อยกว่าครี่งนึงของ 30 mA ก็คือกระแสไฟรั่วมีค่าน้อยกว่า 15mA เบรกเกอร์ตัวนี้จะไม่ตัดการทำงานครับ แต่เบรกเกอร์ตัวนี้จะเริ่มตัดวงจรเมื่อมีกระแสไฟรั่วตั้งแต่ 0.5 เท่าของพิกัด I delta n ขึ้นไป นั่นก็หมายความว่า ถ้ามีกระแสไฟฟ้ารั่วตั้งแต่ 15mA ขึ้นไปเบรกเกอร์ตัวนี้จะตัดการทำงานครับ
(2) ถ้ากระแสไฟรั่วมีค่าเท่ากับพิกัด I delta n คือ มีกระแสรั่ว 30mA เบรกเกอร์ตัวนี้จะตัดการทำงานภายใน 0.3 วินาทีครับ
(3) ถ้ากระแสไฟรั่ว มีค่า 2 เท่าของพิกัด I delta n คือ มีกระแสรั่ว 60mA เบรกเกอร์ตัวนี้จะตัดการทำงานภายใน 0.15 วินาทีครับ
(4) ถ้ากระแสไฟรั่ว มีค่า 5 เท่าของพิกัด I delta n คือ มีกระแสรั่ว 150mA เบรกเกอร์ตัวนี้จะตัดการทำงานภายใน 0.04 วินาทีครับ
ซึ่งเงื่อนไขทั้ง 4 ข้อนี้เป็นไปตามมาตรฐาน มอก. ที่ใช้ทดสอบเบรกเกอร์กันไฟรั่วครับ
ตารางค่ามาตรฐานของเวลาการตัดวงจรและไม่ตัดวงจร (มอก.)
รับชมคลิปเต็มจาก https://youtu.be/LlaJB7USudw
ช่องทางติดต่อเรา
🎯LINE ID : @thekopengineer
🎯LINE จากลิ้งค์ : https://lin.ee/aPpVIUY
ร่วมเป็นผู้สนับสนุนช่องและรีวิวสินค้า ติดต่อ Line ID : @thekopengineer
ติดต่อสอบถามข้อมูลเทคนิค Eaton Electric Thailand
Website : www.eaton.co.th
Facebook: EatonThailand
โทร. 02-511-5300
โฆษณา