20 ต.ค. 2022 เวลา 23:50 • การศึกษา
เรื่องของกฎหมายที่คนมักเข้าใจผิด (ตอนที่ 2)
1. คำว่าทดลองงาน ผ่านโปรหรือไม่ผ่านโปร ไม่มีในกฎหมายแรงงาน การทดลองงานก็คือการทำงานตามสัญญาจ้างแรงงานแล้ว ถ้าทดลองงานไม่ผ่านและนายจ้างไม่ให้ทำงานต่อก็ถือว่าเป็นการเลิกจ้าง ซึ่งลูกจ้างย่อมมีสิทธิได้รับเงินต่าง ๆ ตามกฎหมายเช่นเดียวกัน หากเข้าเงื่อนไขที่กำหนด
2. การเกษียณ ถือว่าเป็นการเลิกจ้าง ลูกจ้างที่เกษียณจึงมีสิทธิได้รับค่าชดเชยตามอายุงาน และเงินอื่น ๆ ตามกฎหมาย (ขึ้นอยู่กับข้อบังคับการทำงานของแต่ละบริษัทที่กำหนดให้ลูกจ้างเกษียณที่อายุเท่าไหร่)
3. เรื่องการค้ำประกันการทำงาน จริง ๆ แล้ว กฎหมายแรงงานห้ามนายจ้าง เรียกหรือรับหลักประกันในการทำงานหรือหลักประกันความเสียหายในการทำงาน (ไม่ว่าจะเป็น เงิน ทรัพย์สินอื่น หรือด้วยบุคคล) เว้นแต่ ลักษณะของงานหรือสภาพของงานที่ทำนั้น ลูกจ้างจะต้องรับผิดชอบเกี่ยวกับการเงินหรือทรัพย์สินของนายจ้าง ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่นายจ้างได้
เช่น งานที่เกี่ยวข้องกับการเก็บหรือจ่ายเงิน งานควบคุมหรือรับผิดชอบวัตถุมีค่า งานที่มีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับคลังสินค้า ซื้อขาย แลกเปลี่ยนสินค้า เฉพาะลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ควบคุมเงินหรือทรัพย์สินนั้น เป็นต้น
4. ในเรื่องการชดใช้ค่าเสียหายทางแพ่งนั้น ในบางครั้งคนที่ไม่ได้ทำผิดก็อาจต้องร่วมชดใช้ค่าเสียหายด้วย
เช่น นายจ้างต้องคอยควบคุมและระมังระวังการทำงานของลูกจ้างให้ดี เพราะถ้าลูกจ้างไปทำความเสียหายให้คนอื่นในระหว่างทำงานที่จ้าง เช่น ลูกจ้างมีหน้าที่ขับรถส่งของ ขับรถไปชนคนข้ามถนนเสียชีวิต แบบนี้ นายจ้างจะต้องร่วมรับผิดกับลูกจ้างในการชดใช้ค่าเสียหายด้วย
5. พ่อแม่ก็ต้องใช้ความระวัง คอยดูแลไม่ให้ลูกไปก่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้อื่น เพราะถ้าลูกยังเป็นผู้เยาว์และไปสร้างความเสียหาย พ่อแม่ก็ต้องร่วมรับผิดชดใช้ค่าเสียหายด้วย
6. คนเลี้ยงหมา เลี้ยงแมวหรือสัตว์อื่น ๆ ก็เช่นเดียวกัน ถ้าสัตว์เลี้ยงของเราไปสร้างความเสียหายให้คนอื่น เจ้าของหรือผู้ที่รับเลี้ยงก็ต้องชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดจากสัตว์เช่นกัน
7. มาที่เรื่องครอบครัวบ้าง เมื่อการสมรสสิ้นสุดลง (หมายถึง การจดทะเบียนสมรสตามกฎหมาย) ไม่ว่าจะด้วยการหย่า ตาย หรือโดยคำพิพากษาของศาล ผู้ชายจะสามารถสมรสใหม่ได้ทันที แต่สำหรับผู้หญิงจะสมรสใหม่ได้ก็ต่อเมื่อการสิ้นสุดการสมรสนั้น ผ่านพ้นไปแล้วไม่น้อยกว่า 310 วัน เหตุผลก็เพื่อป้องกันการเกิดข้อพิพาทในอนาคต
3
เพราะหากยอมให้ผู้หญิงสมรสใหม่ได้ทันทีและเกิดตั้งครรภ์ขึ้นมา ก็อาจเกิดความสับสนว่าเด็กเป็นลูกของใครระหว่างสามีเก่ากับสามีใหม่ แต่ก็มีข้อยกเว้น.. (อ่านเพิ่มเติมที่ https://www.blockdit.com/posts/5df0a326f648250cfd66dae5 )
8. เราซื้อประกันภัยก็เพื่อลดความเสี่ยงจากความเสียหาย แต่ถ้าความเสี่ยงเกิดขึ้นจากผู้เอาประกันมีส่วนทำให้เกิดขึ้นเอง แบบนี้ บริษัทประกันก็อาจปฏิเสธความรับผิดได้
เคยมีคดีตัวอย่าง เมื่อผู้เอาประกันภัยจอดรถยนต์ไว้ข้างทางโดยไม่ได้ดับเครื่องเพื่อลงไปซื้อของ ซึ่งร้านห่างจากรถยนต์ประมาณ 2 เมตร และใช้เวลารอประมาณ 10 นาที ในระหว่างนั้น คนร้ายได้ฉวยโอกาสขับรถออกไป
ซึ่งคดีนี้ ศาลฎีกาได้วินิจฉัยว่า ถ้าเจ้าของรถดับเครื่องและล็อกประตูให้เรียบร้อย คนร้ายก็คงไม่สามารถขโมยรถไปได้โดยง่าย เป็นการขาดความระมัดระวังในการใช้ทรัพย์ สาเหตุที่คนร้ายขโมยรถยนต์ เกิดขึ้นเพราะความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของเจ้าของรถยนต์ผู้เอาประกันภัย บริษัทประกันจึงไม่ต้องรับผิดในความสูญหาย
9. ความเชื่อที่ว่ารถใหญ่ชนรถเล็ก รถใหญ่เป็นฝ่ายผิด เป็นความเชื่อที่ไม่ถูกต้อง เพราะการที่จะตัดสินว่าใครผิดนั้นไม่ได้อยู่ที่ขนาดของรถ แต่ต้องดูจากบริบท เจตนา หรือความประมาทเลินเล่อของคู่กรณีมาประกอบการพิจารณา
ตัวอย่างที่เห็นชัดเจน คือ รถมอเตอร์ไซค์ขี่ย้อนศรมาชนรถยนต์ ทั้งที่ผู้ขับรถยนต์ได้ใช้ความระมัดระวังดีแล้ว แบบนี้ถ้าใช้ตรรกะที่ว่ารถใหญ่ต้องเป็นฝ่ายผิดก็คงวุ่นวายน่าดู
10. คนที่อยู่คอนโดหรือหมู่บ้านจัดสรรที่มีการเก็บเงินค่าส่วนกลาง บางคนอาจมีคำถามว่าถ้าซื้อไว้แล้วไม่ค่อยได้ไปอยู่ จะไม่จ่ายค่าส่วนกลางได้มั้ย มันเปลือง..
คำตอบก็คือ ไม่ได้ เพราะการจ่ายค่าส่วนกลางถือเป็นหน้าที่ตามกฎหมาย (พ.ร.บ. อาคารชุดฯ มาตรา 18) ซึ่งกำหนดให้เจ้าของรวมมีหน้าที่ร่วมกันออกค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการดูแลรักษาและดำเนินการเกี่ยวกับส่วนกลาง..
1
วัตถุประสงค์เพื่อนำเงินที่เก็บมาบำรุงรักษา หรือเป็นค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องกับการดูแลรักษาทรัพย์สินส่วนกลาง เช่น ค่าจ้าง รปภ. ค่าซ่อมลิฟท์ เป็นต้น
ถ้าไม่จ่ายค่าส่วนกลางจะมีผลอย่างไร.. (อ่านเพิ่มเติมที่ https://www.blockdit.com/posts/5faa44ed13a95c056d9eb4e3 )
1
โฆษณา