20 ต.ค. 2022 เวลา 12:00 • ปรัชญา
บางคนมีรสนิยมแปลก ๆ ซึ่งการมีรสนิยมแบบนี้ย่อมเป็นเรื่องที่มักถูกพูดถึงกันอยู่บ่อยครั้ง หากว่าคน ๆ นั้นเปิดใจเล่าให้ฟัง แต่ถ้าจะบอกว่าอะไรมันแปลก เราก็คงจะต้องรู้ว่าอะไรมันธรรมดา แน่นอนว่าอะไรที่มันแปลกหรือพิสดารย่อมเป็นเรื่องที่น่าสนใจไม่น้อย และเป็นหัวข้อในวงสนทนาได้ดี แต่ผมกลับชอบอะไรที่มันธรรมดามากกว่า
แว่นทรงธรรมดา ๆ
รสนิยมที่ชอบอะไรที่มันธรรมดา ๆ กลับกลายเป็นเรื่องแปลกในมุมมองของใครหลาย ๆ คน ซึ่งผมเองเป็นหนึ่งในคนที่คนอื่นมองว่าแปลก สิ่งที่ธรรมดาก็ธรรมดาในแบบของมัน แต่ความชอบในความธรรมดากลับแปลก ซึ่งผมมองว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจ
วันก่อนเข้าห้างไปพร้อมกับแม่ ตัวผมสายตาแย่ลงจนเริ่มปวดหัว เลยอยากจะไปวัดค่าสายตาใหม่ที่ร้านแว่นตาประจำ พบว่าสายตาแย่ลงจริง แต่หากจะเปลี่ยนแว่นก็คงไม่ได้ความ เพราะว่าไม่ได้แก้นิสัยนั่งหน้าคอมพิวเตอร์นาน ๆ ผมจึงไม่ได้เปลี่ยนแว่นตาแต่อย่างใด แต่กลายเป็นคุณแม่ที่อยากได้แว่นใหม่แทน คุณแม่จับแว่นทรงคล้าย ๆ กันมาสามสี่กรอบ ที่เป็นทรงเหลี่ยม ๆ แบบแฟชั่นที่ผมคิดว่าน่าจะฮิทกันอยู่ในเวลานี้
คุณแม่ถามผมว่าผมชอบอันไหนมากกว่า ด้วยความที่เป็นคนไม่มีรสนิยม หรือ เทส ในเรื่องของแฟชั่นแม้แต่น้อย ผมจึงแนะนำให้เลือกแว่นที่ใส่สบายและเบาจะดีกว่า คุณแม่บอกผมว่าผมควรจะเปลี่ยนแว่นให้วัยรุ่นขึ้นมาหน่อย เพราะผมใส่แว่นทรงกลมมาตั้งนาน ซึ่งตอนที่ผมเริ่มมาใส่แว่นกลมก็คิดว่ามันสวยดี แต่ก่อนหน้านั้นก็ใส่แว่นทรงสี่เหลี่ยมมากก่อน ซึ่งตอนนี้ก็คิดว่ามันเฉย กลายเป็นว่าแว่นกลม ๆ ของผมมันเฉยแล้วเหรอ?
เลยนั่งถามตัวเองว่า ที่ใส่แว่นกลมมันเพราะอะไรกันแน่ แล้วทำไมไม่เปลี่ยนไปใส่แว่นทรงอื่นที่วัยรุ่นมากกว่า เพราะแว่นทรงนี้กับทรงหน้าผมที่ก็กลมพอ ๆ กันมันทำให้ดูมีอายุพอสมควรจนเพื่อน ๆ แซ็วว่าเป็นอาจารย์ ซึ่งผมก็ไม่ได้ว่าอะไรเพราะอยากจะเป็นอาจารย์อยู่แล้ว หรือทำไมไม่ใส่คอนแทคเลนส์ ทั้ง ๆ ที่เพื่อนผมเกือบทุกคนที่สายตาสั่นก็ใส่กันทั้งนั้น จนเหลือแต่ผมคนเดียวที่ใส่แว่น
เหตุผลสั้น ๆ ที่ไม่เปลี่ยนไปใส่คอนแทคเลนส์มีสองอย่าง หนึ่ง ตอนม.ปลายเคยซื้อมาลองใส่แล้ว แต่ใส่ไม่ได้ เพราะกลัว ซึ่งกลัวอะไรก็ไม่รู้ คนเขาก็ใส่กันได้ แล้วเขาก็บอกว่า ใส่ได้ครั้งหนึ่งแล้วก็จะใส่ได้เรื่อย ๆ ก็ไอครั้งแรกมันใส่ไม่ได้นี่ ก็เลยยอมแพ้ไปแล้วทิ้งไปทั้งกล่อง สอง เมื่อใส่แว่นมานาน ๆ คนอื่น ๆ ก็มีภาพจำว่าผมใส่แว่น เหมือนเป็นเอกลักษณ์หรือเป็นส่วนหนึ่งของตัวเองไปแล้ว ซึ่งผมเองก็ไม่ค่อยถอดด้วย ใส่ตั้งแต่ตื่นจนนอน
ไอแว่นทรงกลม ๆ ของผมก็กลายเป็นเอกลักษณ์เหมือนกัน ผมมีแว่นทรงนี้สี่อัน อันที่สองกับสามเป็นอันเดียวกันเพราะอันหนึ่งทำหักเลยซื้ออันใหม่ แต่ก็ซื้อแบบเดียวกันเป๊ะ ๆ อันที่สี่ซื้อก่อนไปเรียนต่อต่างประเทศ แต่ตอนอยู่ที่นู่นก็ทำกรอบเบี้ยวเลยใส่อันก่อนกลับไทย พอซ่อมอันใหม่เสร็จเอามาใส่ คนอื่น ๆ ก็ไม่ได้ทักแต่อย่างใด (มีแต่แม่ที่ทัก) เลยไม่แน่ใจว่า แว่นกลมมันเหมือนกันจนคนแยกไม่ออก หรือเพราะไม่มีใครสนใจกันแน่ ฮาฮ่า
จริง ๆ ไอแว่นกลม ๆ นี้ที่ชอบก็เพราะมันธรรมดาดี ในแง่นี้คือธรรมดาเมื่อเทียบกับตัวเองแล้ว ถ้าผมเปลี่ยนไปใส่แว่นหกเหลี่ยม หรือรูปดาวก็คงเป็นเรื่องแปลก วันก่อนนั่งรถไปกับเพื่อน มีแว่นแฟชั้นอยู่ในรถมัน ก็เลยหยิบมาใส่ มันเป็นแว่นสี่เหลี่ยมใหญ่ ๆ มันก็แปลกมากบนหน้ากลม ๆ ของผม ซึ่ง หากจะกล่าวโดยสรุป ที่ชอบแว่นกลม ๆ ก็เพราะว่ามัน “ธรรมดา”
ตอนอยู่ร้านแว่นก็เลยคิดได้ว่า จริง ๆ ผมชอบอะไรที่มันธรรมดา ๆ เฉย ๆ ไม่มีอะไรพิเศษ กลายเป็นรสนิยมไปแล้ว เทียบกับรสไอติม ก็คงชอบวนิลา (แต่จริง ๆ แล้วไม่ได้ชอบ) แต่ก็คงเทียบแล้วเห็นภาพ ผมยกตัวอย่างรสนิยมธรรมดา ๆ ของผมให้ฟังก็แล้วกัน อาจจะเห็นภาพมากขึ้น
การแต่งตัวของผมที่หากไม่ได้ใส่เชิ้ตด้วยความจำเป็นเพราะไปงาน ก็จะใส่เสื้อยืดสีเดียวไม่มีลายโทนมืด และเก็บเสื้อสีอื่น ๆ ที่มีลวดลายไว้ใส่อยู่บ้านหรือใส่นอน เสื้อยืดจึงมีอยู่ทรงเดียว หากไม่จำเป็นจริง ๆ จะไม่ใส่เสื้อโปโลเพราะรำคาญปกเสื้อและแขนเสื้อที่ชอบรัดต้นแขนทำให้รู้สึกขยับแขนลำบาก กางเกงก็มาจากร้านเดียวกันกับเสื้อ เป็นกางเกงสแล็คสีมืด ๆ ไม่ใส่ยีนส์ กับรองเท้าผ้าใบสีขาว และไม่ใส่เครื่องประดับสักชิ้นยกเว้นนาฬิกา
นอกจากการแต่งกายแล้ว เครื่องใช้ส่วนตัวโดยทั่วไปก็ทักจะธรรมดา คือไม่มีสีสันต์หรือไม่ตกแต่งอะไรใด ๆ มือถือที่ใช้อยู่ก็เป็นรุ่นเก่าเครื่องเล็ก ๆ ที่เน้นเล็กไว้ก่อนก็เพราะว่ามันกินที่น้อยกว่ากับถือในมือถนัดกว่า อีกทั้งยังเพื่อลดเวลาใช้มือถืออีกด้วย เพราะถ้าหน้าจอมันใหญ่มันก็ยิ่งสะดวกสายตาในการจ้องมือถือนาน ๆ เคสก็สีดำธรรมดาไม่มีลายอะไรใด ๆ ทั้งสิ้น
รสนิยมในเรื่องอื่น ๆ ก็ธรรมดาเหมือนกัน ส่วนตัวแล้วเพื่อน โดยเฉพาะแม่ ชอบบอกว่ารสนิยมในผู้หญิงของผมก็แปลก ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องส่วนตัวมาก แต่ก็เป็นตัวอย่างที่อาจจะทำให้เห็นภาพมากขึ้น แน่นอนว่าผู้หญิงสวยย่อมเป็นที่น่าสนใจ แต่ที่ชอบจริง ๆ มักจะเป็นผู้หญิงธรรมดาที่ไม่ได้ห่วงสวยอะไรขนาดนั้น กล่าวคือ มีรสนิยมชอบผู้หญิงธรรมดา ๆ มากกว่า อาจจะบรรยายได้ว่า ชอบผู้หญิงที่มองนาน ๆ แล้วไม่เบื่อ
นั่นอาจจะเป็นประเด็นสำคัญ เพราะความธรรมดาไม่ใช่ว่ามันจะน่าเบื่อ แน่นอนว่าผมไม่ชอบอะไรที่น่าเบื่อ ถึงแม้ว่าการใช้ชีวิตของผมอาจจะดูน่าเบื่อที่อยู่กับตัวหนังสือเป็นหลัก แต่ความธรรมดาก็มีเสน่ห์ของมัน ความเห็นนี้อาจจะเป็นเหตุผลที่ทำให้ผมมีรสนิยมอนิเมะ Slice-of-life ที่เล่าถึงชีวิตธรรมดา ๆ ของตัวละคร
มันอาจจะเป็นการกล่าวเกินจริงที่จะบอกว่าผมเห็นความสวยงามของสิ่งเล็ก ๆ ในชีวิตธรรมดา ๆ แต่ก็อาจจะเป็นคำบรรยายที่ตรงตัวในการอธิบายว่าทำไมผมถึงหลงใหลในความธรรมดา อนิเมะดี ๆ ที่เล่าถึงความธรรมดามักจะสามารถดึงสิ่งที่น่าสนใจในชีวิตธรรมดา ๆ เหล่านั้นออกมาได้ ไม่ว่าจะเป็นลายละเอียดเล็ก ๆ บางอย่างที่เรามองข้ามไป แต่เมื่อมองอีกมุมหนึ่งแล้วกลับพบว่ามันเป็นเรื่องที่พิเศษ
จึงคงจะกล่าวได้ว่ามันคือความพิเศษในความธรรมดา มันไม่ต้องมีเรื่องราวฉูดฉาดแบบการต่อสู้กันหรือการใช้เวทย์มนต์เพื่อทำให้เรื่องราวมันสนุกขึ้น บางทีอาจจะเป็นภาพบางมุมของสิ่งธรรมดา ๆ ประจำวันที่ทำให้มันพิเศษเมื่อเชื่อมโยงกับเรื่องราวแล้ว หรือคำพูดบางคำหรือบางประโยคที่คิดไม่ถึง คำพูดไม่ใช่สิ่งพิเศษอะไร แต่มันกลับพิเศษมากเมื่อมีองค์ประกอบธรรมดา ๆ อื่น ๆ อยู่ด้วย
Kelsen ผู้เขียน Society and Nature
ประโยคหนึ่งในหนังสือเรื่อง Society and Nature โดย Hans Kelsen ติดใจผมมาก ขออนุญาตแปลมาให้อ่านกันครับ Kelsen กล่าวต่อเรื่องความสามารถในการคิดบนหลักความสัมพันธ์ระหว่างเหตุและผลว่า “จริงอยู่ บุคคลหนึ่งต้องเป็นนิวตันเพื่อที่จะสามารถค้นพบกฎแห่งแรงโน้มถ่วงได้เพียงสังเกตุการตกหล่นของแอปเปิลจากต้นไม้ลงสู่พื้นดิน”
Newton กับ Apple
การล่วงหล่นของแอปเบิลจากต้นไม้สู่พื้นไม่ใช่เรื่องอะไรพิเศษเลย มันเป็นเพียงเรื่องธรรมดา แต่ต้องใช้มันสมองระดับนิวตันในการเห็น สังเกต คิดวิเคราะห์มากกว่าเพื่อคิดเรื่องของแรงโน้มถ่วงได้ เพราะมันเป็นเรื่องที่ธรรมดาเหลือเกินจนคนมองข้าม ผมพบว่า โดยปกติทั่วไปแล้ว คนเรามีความสนใจในสิ่งที่พิเศษ ไม่ธรรมดา เหนือธรรมชาติมากกว่า และเกิดความสงสัย เกิดความสนใจในความเหลือเชื่อเหล่านั้น
การสร้างนิทานปรัมปรา เทพนิยาย หรือตำนานต่าง ๆ ของคนยุคก่อนก็เกิดขึ้นจากความสงสัยที่ยากที่จะหาคำตอบได้เนื่องจากวิวัฒนาการทางความคิดและเครื่องมือมีไม่เพียงพอ ต่อเรื่องน่าเหลือเชื่อต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการขึ้นมาของพระอาทิตย์และพระจันทร์ คลื่นในทะเล แผ่นดินไหว หรือฟ้าผ่า ต่างเป็นเรื่องน่าอัศจรรย์ ทำให้ต้องสร้างเรื่องราวอื่น ๆ มาอธิบาย เช่นเทพเจ้าต่าง ๆ ที่ควบคุมเหตุการณ์ทางธรรมชาติเหล่านั้น
Zeus de Smyrne
ผมก็เป็นคนหนึ่งที่ชอบเรื่องราวน่าเหลือเชื่อหรือน่าสนใจเหมือนกับคนอื่น ๆ เช่นเรื่องของสัตว์ประหลาดใต้น้ำอย่างเนสซี่ คราเก็น หรือการพบเจอของ UFO หรือสิ่งอื่น ๆ ไม่ได้เหนือธรรมชาติแบบอธิบายไม่ได้ แต่ผิดปกติไปเช่นเรื่องราวของฆาตกรต่อเนื่องที่จิตใจไม่ปกติ อะไรก็ตามที่ไม่ตรงตามความปกติแบบที่เราเข้าใจกันมักจะได้รับความสนใจไปมากกว่าสิ่งปกติหรือเรื่องธรรมดา
แอปเปิลตกจากต้นไม้ไม่ใช่เรื่องพิเศษอะไร มนุษย์เราไม่ได้ตั้งคำถามกับเรื่องปกติธรรมดา แต่สนใจกับเรื่องที่เกินกว่าความสามารถของคนเราที่จะเข้าใจได้โดยทันทีมากกว่าเรื่องที่ความนึกคิดของเรามองว่า มันก็ปกตินี่ คำที่ Kelsen เขียนสะท้อนความสามารถทางความคิดของมนุษย์ในการสังเกตสิ่งที่ธรรมดาและตั้งคำถามเกี่ยวกับมัน
แต่เมื่อคิดแบบนั้น เราพบว่า สิ่งที่พิเศษกับสิ่งที่ธรรมดามันไม่มีอะไรที่แตกต่างกัน เพราะสิ่งที่พิเศษมันพิเศษก็เพราะว่าเราไม่เข้าใจมัน แต่เมื่อเราเข้าใจมันแล้วมันก็ไม่พิเศษ มันก็ธรรมดา แต่ความธรรมดาก็พิเศษได้เหมือนกัน เมื่อเราตั้งใจตั้งคำถามเกี่ยวกับมันและเมื่อเข้าใจมันแล้ว มันก็ไม่พิเศษ Sherlock Holmes พูดในเรื่อง A Red-Headed League ว่า Omne ignotum pro magnifico อะไรที่เราไม่รู้มักถูกมองว่าพิเศษ
Sherlock Holmes เล่นโดย Jeremy Brett ในซีรีส์ของ Granada
David Hume นักวิมตินิยมตัวพ่อมักตั้งคำถามกับเรื่องปกติธรรมดาเหล่านี้จนเป็นเรื่องเล่น หนึ่งในความคิดของเขาคือการตั้งคำถามกับสามัญสำนึก หรือ Common sense คำว่าสามัญสำนึก เวลาแปลออกมาแล้วเหมือนกับว่าเป็นเรื่องธรรมดาทางศีลธรรมที่มนุษย์ควรจะมีก่อนจะตัดสินใจทำอะไรที่อาจจะมีผลร้าย แต่ในกรณีนี้พูดถึงความธรรมดาทางความคิดของคนทั่วไป
David Hume, oil on canvas by Allan Ramsay, 1766; in the Scottish National Portrait Gallery, Edinburgh.
Hume บอกว่า คนเราเห็นอย่างนั้นอย่างนี้แล้วบอกว่ามันก็เป็นธรรมดาของมัน แต่ความธรรมดานั้นมันขึ้นอยู่กับมุมมองของมนุษย์ที่มองว่ามันธรรมดา เช่น ผมยกตัวอย่าง ทำไมคนเราต้องกินข้าว การกินข้าวเป็นเรื่องธรรมดามาก เรากินเช้า กลางวัน และเย็นเป็นเรื่องปกติ เป็น “สามัญสำนึก” การกินไม่ตรงตามเช้า กลางวัน เย็น ดูเป็นเรื่องผิดปกติ หรือการตื่นต่อเช้าและนอนตอนกลางคืน
ทั้งหมดเป็นเรื่อง “ปกติ” เป็นเรื่อง “ธรรมดา” จน หากว่าเราไม่ใช้ความคิด เราคงไม่ได้ตั้งคำถามอะไรกับมัน มันดูจะเป็นเรื่องธรรมดามาตั้งแต่แรกจนกระทั่งเราตั้งคำถามว่าทำไมมันถึงเป็นแบบนั้น นี่คือการโจมตีของ Hume ต่อเรื่องสามัญสำนึก ซึ่งรวมถึงเรื่องของศีลธรรมด้วยเช่นกัน ทำไมเราไม่ฆ่าคนอื่น เพราะเป็นเรื่องธรรมดาที่เราไม่ควรจะฆ่าคนอื่น การที่มีคนหนึ่งฆ่าอีกคนหนึ่งกลายเป็นเรื่องไม่ธรรมดา ไม่ปกติไป
แต่จงอย่าเข้าใจผิดกัน Hume ไม่ได้บอกว่าเราไม่ควรมีสามัญสำนึกแต่อย่างใด มันยังเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ๆ ต่อมนุษย์ คนเราต้องใช้และต้องพึ่งสามัญสำนึกในการดำรงอยู่ แต่สิ่งที่เขาทำคือแค่ตั้งคำถามเกี่ยวกับความธรรมดาเหล่านั้น พูดกันอย่างง่าย ๆ เลยก็คือ เรื่องธรรมดามันถูกมองข้ามเพราะเรื่องไม่ธรรมดามันน่าสนใจกว่า ซึ่งก็เป็นเรื่องจริง
แม้ว่าผมเองก็ชอบเรื่องราวน่าตื่นเต้นหรือไม่ธรรมดา แต่ทำไมผมจึงต้องย้อนกลับมาสู่เรื่องธรรมดาประจำวัน หนึ่งคือ เพราะมันคือความเป็นจริงที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เราใช้ชีวิตอยู่ในความธรรมดาเหล่านั้น เราทุกคนก็ธรรมดาเหมือนกันหมด ไม่ว่าใครจะเป็นอะไร มีตำแหน่งอะไรก็ตาม ก็เป็นคนธรรมดาเหมือนกัน ซึ่งเป็นแก่นหลักของปรัชญาอัตภิภาวะนิยมที่ตามหาความหมายของชีวิตธรรมดา ๆ
ในหลาย ๆ ครั้งที่คนเราไม่สามารถรับความไม่พิเศษอะไรของตัวตนของตัวเองได้ ย่อมทำให้เกินคำถามตามมาว่าเราเกิดมาทำไม เพราะเหตุผลหรือความหมายของชีวิตเป็นสิ่งที่ทำให้ชีวิตของแต่ละคนพิเศษ เมื่อค้นพบว่าแท้จริงแล้วชีวิตไม่มีความหมาย มันย่อมทำให้วิตกกับความไม่พิเศษของตัวเอง สิ่งที่ตามมาย่อมเป็นสูญนิยม หากชีวิตไม่มีความหมาย ก็ไม่มีอะไรมีความหมาย ไม่มีอะไรมีคุณค่า
นั่นคือแก่นของเรื่อง Suzumiya Haruhi ที่ได้เขียนไว้แล้ว เธอไม่สามารถใช้ชีวิตแบบธรรมดา ๆ ได้จึงใฝ่หาความพิเศษ และพระเอกของเขาก็ไม่ต้องการอะไรที่มันพิเศษ เพียงแต่อยากใช้ชีวิตธรรมดา ๆ แต่เมื่อเราดูเรื่องนี้จนจบ และดูหนัง Masterpiece ที่เป็นภาคต่อ เราสามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจนว่า แม้ว่าเธอจะมีความคิดแบบนั้น แต่ก็สามารถมีความสุขในความธรรมดาได้ เขาที่แม้จะมีความคิดแบบนั้น ก็ชอบความพิเศษพิศดาลของโลกนั้นอยู่
Suzumiya Haruhi
มันคือความสมดุลระหว่างความธรรมดาและความพิเศษ เหมือนเวลาต้มมาม่า ที่ห่อเดียวไม่อิ่ม แต่สองห่อก็กินไม่หมด ฟังดูแล้วก็เหมือนกับแนวคิดพุทธเรื่องมัชฌิมา ปฏิปทา หรือทางสายกลาย หรือความคิดของ Aristotle เรื่อง Mesotes ซึ่งก็แปลว่าตรงกลางเหมือนกัน จริงอยู่ว่ามันก็เป็นความคิดที่ดี แต่มันก็เป็นเรื่องที่ยากเหมือนกัน ซึ่งผมเคยกล่าวเอาไว้แล้วตอนพูดถึงนิติปรัชญาของ Aristotle
Aristotle, โดย Lysippos, 330 BC
อย่างไรก็ตาม คนเราต้องมีทั้งเรื่องธรรมดาและเรื่องพิเศษ แต่ย่อมต้องเข้าใจความแตกต่างของสองโลกนั้น หนังอีกเรื่องที่ถ่ายทอดเรื่องนี้ได้อย่างดีเยี่ยมคือ Paprika ของคง ซาโตชิ ที่พูดถึงความจริงและความฝัน ความจริงและเรื่องราวในหนัง เราอยู่ในความฝันหรือดูสื่อบรรเทิงก็เพื่อหลีกหนีจากความจริงที่ธรรมดาและโหดร้าย อย่างไรก็ตาม เรายังต้องแยกแยะให้ออก
แม้ว่าจะอยู่ในความฝันมากเกินไปก็ย่อมไม่ดี เพราะมันจะตัดขาดจากความเป็นจริง ทำให้เราไม่อาจให้ความสนใจกับความจริงที่อยู่ตรงหน้า ไม่ว่าจะเป็นงานหรือความสัมพันธ์ที่เรามีอยู่ ระว่างครอบครัว เพื่อน หรือแฟน แต่เราก็ไม่อาจจมอยู่ในความเป็นจริงได้ตลอดเวลา ตอนจบของ Paprika จึงให้หนึ่งในตัวละครเดินเข้าโรงหนัง มันคือความสมดุลระหว่างความจริงและความฝัน
Paprika, กำกับโดย Kon Satoshi
กลับมาที่ความหมาย มนุษย์เราไม่สามารถใช้ชีวิตโดยไม่มีมันได้ สิ่งหนึ่งที่เป็นแก่นของการดำรงอยู่ของมนุษย์คือความหมาย Sartre จึงบอกว่าเราถูกสาปให้เป็นอิสระ นั่นคือ เป็นอิสระจากความหมาย และเป็นอิสระที่จะตามหาหรือสร้างความหมายนั้นของตนเอง เราใช้ชีวิตแบบสูญนิยมไม่ได้เพราะว่าคนเราไม่แกร่งพอที่จะใช้ชีวิตอย่างไร้ความหมาย จริงอยู่ว่า Camus ให้เราแกร่งพอที่จะรับความไม่มีความหมายนั้นได้ แต่มันก็เป็นเรื่องที่ยากมาก ๆ
Albert Camus
แต่หากทำได้ก็ดี แต่หากทำไม่ได้ ก็มีสองทางให้ไป หนึ่งคือสูญนิยมเต็มที่ สองคือสิ่งที่ Camus กล่าวว่าเป็นการฆ่าตัวตายทางสติปัญญา ในทางแรกนั้นไม่มีอะไรดีเกิดขึ้นมา มันคือการปฏิเสธคุณค่าซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้มนุษย์เป็นมนุษย์ นอกจากจะเป็นแก่นเพื่อดำรงอยู่ของชีวิตแล้ว คุณค่ายังเป็นสิ่งที่ทำให้ชีวิตพัฒนาได้ ไม่ว่าจะในทางปัจเจกหรือในทางสังคม แต่ความเป็นมนุษย์นั้นไม่สามารถใช้ชีวิตอยู่แบบนั้นได้ จึงทำให้เกิดสองทางเลือกขึ้นมา
หนึ่งคือฆ่าตัวตายจริง ๆ สองคือฆ่าตัวตายทางความคิด แบบที่หนึ่งคงไม่ต้องพูดถึงมาก แต่การฆ่าตัวตายทางความคิดเป็นสิ่งที่ปกติมากเมื่อสูญนิยมไม่สามารถเกิดขึ้นจริงได้ มนุษย์เราจึงเข้าร่วมกับกลุ่มความคิดอะไรบางอย่าง และใช้แก่นของกลุ่มความคิดนั้นเป็นความหมายหรือคุณค่าของชีวิต นั่นคือ การเข้าร่วมอุดมการณ์อะไรสักอย่าง ซึ่งจะเป็นการเข้าร่วมอย่างเต็มที่แบบกู่ไม่กลับ
มันจะกลับกลายเป็นว่า ไม่มีอะไรอย่างอื่นมีความหมายนอกจากความหมายที่คน ๆ นั้นอาศัยอยู่ ดังนั้น สิ่งอื่น ๆ นอกเหนือจากความหมายนั้นจะไม่มีคุณค่าอะไรทั้งสิ้น ดังนั้น ทุกสิ่งที่อย่างที่อยู่นอกกรอบของความหมายนั้นย่อมต้องถูกกำจัดหากมันเป็นอุปสรรค์ต่อความหมายแก่นกลางนั้น สิ่งที่ตามมาคือการฆ่าล้างกัน การจับเป็นกลุ่มเป็นก้อนสู้กันเองในหมู่มนุษย์
ทำไมจึงเป็นแบบนั้น เพราะหากบอกว่าอะไรสักอย่างมีความหมาย สิ่งนั้นเป็นคุณค่าอย่างหนึ่ง และเป็นคุณค่าที่สูงที่สุด กลายเป็นคุณค่าเด็ดขาด กลายเป็นความจริงที่จริงยิ่งกว่าจริง และเป็นความจริงเพียงหนึ่งเดียว ดังนั้น ความหมาย คุณค่า หรือความจริงอื่นที่ไม่ตรงกันหรือขัดแย้ง ย่อมเป็นสิ่งที่ต้องถูกกำจัดเพื่อให้คุณค่านั้นเป็นอันเด็ดขาด แต่มันเป็นแบบนั้นได้จริงเหรอ
ในประวัติศาสตร์ความคิดของมนุษย์ช่วงหนึ่งถึงสองศตวรรษที่ผ่านมาเป็นหลักฐานถึงเหตุการณ์แบบนี้ ในเยอรมันก่อนสงครามโลก Nietzsche เขียนถึงความตายของพระเจ้า และเขียนถึงบุคคลเหนือมนุษย์ การอ่านและตีความที่ผิดพลาดในงานของเขาทำให้เกิดความคิดทางด้านสูญนิยมที่รุนแรง เขาไม่ได้เขียนว่าพระเจ้าได้ตายไปแล้วเพราะว่าพระเจ้า ซึ่งเป็นแก่นของคุณค่า ไม่มีจริงตั้งแต่แรก
Friedrich Nietzsche
สิ่งที่เขาหมายถึงคือมนุษย์ฆ่าพระเจ้า หรือก็คือมนุษย์ได้ทำลายคุณค่าไป ทำให้มนุษย์ไม่มีคุณค่า ดังนั้น แท้ที่จริงแล้ว ความคิดของเขาไม่ใช่สูญนิยม แต่เป็นตรงกันข้าม มนุษย์ไม่สามารถอยู่อย่างสูญนิยมได้ แต่เมื่อคนตีความผิด และพยายามใช้ชีวิตแบบนั้น มันย่อมตีกลับเพราะมนุษย์ไม่แกร่งพอ จึงต้องยึดติดอุดมการณ์อะไรบางอย่าง เช่นความคิดของนาซี สิ่งแบบเดียวกันเกิดขึ้นที่สหภาพโซเวียตด้วยเช่นกัน ซึ่ง Dostoevsky พยายามเตือนเอาไว้แล้วใน Notes from Underground
Fyodor Dostoevsky, ภาพโดย Vasily
เมื่อเราคิดกันดูแล้ว ความพิเศษกับความธรรมดา หรือความมีคุณค่าหรือความไม่มีคุณค่า มีความหมายหกับไม่มีความหมายมันไม่ต่างกัน เอาตามความคิดของประจักษ์นิยมหรือประสบการณ์นิยม มันก็เป็นเรื่องของมุมมอง เราสามารถมองเรื่องที่พิเศษให้ไม่พิเศษได้เมื่อเราสามารถอธิบายมันได้ แต่เราก็สามารถทำเรื่องธรรมดาให้พิเศษได้เมื่อเราสนใจสังเกตมัน
ในหนังสือ Astrophysics for People in a Hurry DeGrasse Tyson เขียนเกี่ยวกับ Cosmic Perspective ว่า แท้จริงแล้ว คนเรานั้นพิเศษอาจจะไม่ใช่เพราะว่าเราแตกต่างกัน แต่เราพิเศษก็เพราะว่าเราเหมือนกัน เราทุกคนมีองค์ประกอบชีวิตเหมือนกัน ซึ่งองค์ประกอบเหล่านั้นมาจากดวงดาว เราพิเศษเพราะว่าเราเหมือนกัน เราพิเศษเพราะว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งเดียวกัน เราพิเศษเพราะว่าเราเป็นอย่างหนึ่งอย่างเดียวกันกับจักรวาล
Neil deGrasse Tyson
แต่ผมมองว่าสิ่งที่พิเศษมันก็พิเศษในตัวของมันอยู่แล้ว จนกว่ามันจะถูกอธิบายได้ มันก็จะพิเศษของมันอยู่แบบนั้น แต่สิ่งที่ถูกมองข้าม เช่นความธรรมดา จะพิเศษก็ต่อเมื่อเราให้คุณค่ามัน มันจะไม่พิเศษจนกว่ามันจะมีคุณค่าอะไรบางอย่าง ดังนั้น อะไรก็ตามก็พิเศษได้ แม้ว่ามันจะเป็นเรื่องปกติธรรมดาก็ตาม ซึ่งผมมองว่ามันมีเสน่ห์มากกว่า มันมีขั้นตอนและกระบวนการมากกว่า และมันทำให้เห็นถึงคุณค่าอะไรบางอย่างได้ชัดเจนยิ่งกว่า
โฆษณา