20 ต.ค. 2022 เวลา 12:00 • ธุรกิจ
กลยุทธ์ Lay’s เติบโตด้วยการ ซื้อกิจการคนอื่น
รู้หรือไม่ว่า Lay’s มันฝรั่งทอดกรอบ ที่เราคุ้นเคยกันดี มีรสชาติมากกว่า 200 รสชาติ
ซึ่งมีที่มาจากวัตถุดิบ และอาหารชื่อดังต่าง ๆ ทั่วโลก
นอกจากนั้น กลยุทธ์การเติบโตของแบรนด์นี้ ก็น่าสนใจ
เพราะ Lay’s สร้างการเติบโตด้วยการ ไล่ซื้อกิจการบริษัททำมันฝรั่งทอดกรอบทั่วโลก
เรื่องนี้น่าสนใจอย่างไร ?
BrandCase จะสรุปเรื่องราวมุมนี้ที่หลายคนยังไม่รู้ ให้อ่านกัน
Lay’s มีจุดเริ่มต้นจาก ผู้ชายที่ชื่อ Herman W. Lay
โดยในตอนแรกได้เปิดเป็นบริษัทตัวแทนจำหน่ายมันฝรั่งทอดกรอบ ให้กับบริษัท Barrett Food Company ในปี 1932 ในสหรัฐอเมริกา
ทำไปเรื่อย ๆ กิจการของเขาก็ใหญ่โตขึ้น
ใหญ่จนต่อมาในปี 1938 เขาก็สามารถซื้อ Barrett Food Company ที่เขาเคยเป็นตัวแทนจำหน่ายได้เลย
และได้ขายมันฝรั่งทอดกรอบ Lay’s ซึ่งมีมันฝรั่งทอดกรอบโรยเกลือ เป็นรสชาติแรก ในนามของตัวเอง
จุดสำคัญต่อมา คือในปี 1961 Lay’s ไปควบรวมกับบริษัท Frito ซึ่งเป็นบริษัทคู่แข่ง
จนกลายเป็นบริษัท “Frito-Lay” ครองตลาดมันฝรั่งทอดกรอบ ในสหรัฐอเมริกา
จุดเปลี่ยนอีกครั้ง ที่ทำให้มันฝรั่งทอดกรอบแบรนด์นี้ ทรงอิทธิพลมาจนถึงปัจจุบัน
คือในปี 1965 Frito-Lay ไปควบรวมกิจการกับ PepsiCo เจ้าของน้ำอัดลม Pepsi
ขนมชื่อดังอย่าง Lay’s ก็เลยกลายเป็นอยู่ในเครือของ PepsiCo ตั้งแต่ตอนนั้นเป็นต้นมา
ทีนี้หลังจากการควบรวมกิจการกับ PepsiCo มหากาพย์การซื้อกิจการขนมมันฝรั่งทอดกรอบแบรนด์อื่น จึงเริ่มต้นขึ้น
- เริ่มต้นจาก ปี 1966 PepsiCo ซื้อบริษัทขนมในเม็กซิโก ชื่อ Sabritas และใช้บริษัท Sabritas เพื่อตีตลาดแบรนด์ขนมขบเคี้ยว ในประเทศเม็กซิโก
- ปี 1989 บริษัท PepsiCo ซื้อกิจการของ Walkers ซึ่งเป็นมันฝรั่งทอดกรอบแบรนด์ดังของอังกฤษ
1
Walkers ก่อตั้งบริษัทขึ้นในปี 1948 ที่เมืองเลสเตอร์ และพัฒนารสชาติของมันฝรั่งทอดกรอบ โดยการประยุกต์จากอาหารประจำชาติตะวันตก เข้าไปเป็นรสชาติของ Walkers
เช่น รสชีสและหัวหอม รสเบคอนรมควัน และรสซอสมะเขือเทศ
และด้วยความที่ Walkers เป็นแบรนด์ที่แข็งแกร่งมากในประเทศอังกฤษ จึงทำให้หลังจากที่ PepsiCo เข้าไปซื้อกิจการของ Walkers แล้ว
ก็ยังคงเลือกใช้ชื่อแบรนด์ว่า Walkers ต่อไป
แต่ใช้แบบโลโกของ Lay’s มาใส่คำว่า Walkers เข้าไปแทน เพื่อตีตลาดมันฝรั่งทอดกรอบในประเทศอังกฤษต่อไป
- ต่อมาในปี 1998 PepsiCo ก็ซื้อกิจการขนมมันฝรั่งทอดกรอบในออสเตรเลีย ชื่อ “The Smith’s”
ซึ่งก่อนหน้านั้น The Smith’s เป็นอันดับ 1 ในตลาดขนมขบเคี้ยวของชาวออสเตรเลีย ที่ Lay’s ก็ยังเอาชนะไม่ได้
และหลังจาก PepsiCo เข้าซื้อกิจการมา ก็ยังคงใช้ชื่อแบรนด์ว่า The Smith’s เพื่อตีตลาดในออสเตรเลียตามเดิม
2
นอกจากดีลสำคัญที่ว่ามา PepsiCo บริษัทแม่ของ Lay’s ก็ยังไล่ควบรวมกิจการ หรือไม่ก็ไปร่วมทุนกับบริษัทที่อยู่ในประเทศนั้น ๆ เพื่อทำตลาด โดยใช้ชื่อต่างกันไป เช่น
- ประเทศอียิปต์ ใช้ชื่อแบรนด์ว่า “Chipsy”
- ประเทศโคลอมเบีย ใช้ชื่อแบรนด์ว่า “Margarita”
- ประเทศเม็กซิโก ใช้ชื่อแบรนด์ว่า “Sabritas”
- ประเทศอิสราเอล ใช้ชื่อแบรนด์ว่า “Tapuchips”
- ประเทศเวียดนาม ใช้ชื่อแบรนด์ว่า “Poca” จนกระทั่งรีแบรนด์เป็น Lay’s ในปี 2019
แม้แต่ประเทศไทยเอง ก็เคยเกิดดีลลักษณะนี้
คือ PepsiCo บริษัทแม่ของ Lay’s ก็ได้ซื้อแบรนด์มันฝรั่งทอดกรอบไทย ชื่อ “มั้นมัน” เมื่อประมาณ 30 ปีก่อน
นอกจากการเลือกชื่อแบรนด์ เพื่อทำการตลาดในพื้นที่ต่าง ๆ ของ Lay’s แล้ว
อีกเรื่องที่สำคัญ คือ รสชาติของ Lay’s ในแต่ละประเทศนั้น ก็มีความแตกต่างกัน
ซึ่งทาง PepsiCo เองก็ได้ทำการวิจัย เพื่อศึกษาตลาด และพฤติกรรมการบริโภคของผู้คนที่อยู่ในพื้นที่นั้น ๆ หรือที่เรียกว่า Hyper-Localization
เพื่อให้ Lay’s มีรสชาติใหม่ ๆ ที่ถูกปากคนในพื้นที่
โดย Lay’s จะใช้วิธีการทำ Localization ง่าย ๆ ก็คือการใช้เมนูขึ้นชื่อประจำประเทศนั้น ๆ และเข้ากันได้กับมันฝรั่งของ Lay’s มาเป็นต้นแบบในการพัฒนารสชาติใหม่ ๆ
1
ซึ่งแน่นอนว่าในแต่ละประเทศทั่วโลก ก็จะมีรสชาติของ Lay’s ที่แตกต่างกัน ตัวอย่างเช่น
1
- ในประเทศฝรั่งเศส มี Lay’s รสชีส และหัวหอมใหญ่ โดยได้ต้นแบบจาก Walkers ประเทศอังกฤษ
แต่ปรับให้มีรสชาติเหมือนฝรั่งเศส
- ในประเทศจีน มี Lay’s รสปลาย่าง โดยใช้ปลาจากมณฑลเสฉวน
- ในประเทศอินเดีย มี Lay’s รสมาซาลา ซึ่งมาซาลาก็เป็นเครื่องเทศหลักที่ใช้ในอาหารอินเดีย
ในประเทศไทย ก็มีการนำอาหารไทยชื่อดัง มาพัฒนาเป็นรสชาติของ Lay’s เช่นเดียวกัน
ตัวอย่างรสชาติแปลก ๆ ที่เคยทำออกมา ก็เช่น
รสไก่ทอดหาดใหญ่, รสลาบแซ่บนัว, รสแกงเขียวหวาน, รสข้าวผัดปู
ทั้งหมดนี้ก็คือเรื่องราว กลยุทธ์การเติบโตของ Lay’s ที่เลือกเติบโตด้วยการ ไล่ซื้อกิจการของคนอื่น
จนกลายเป็นอาณาจักรขนมมันฝรั่งทอดกรอบ ที่ยิ่งใหญ่มาก ในวันนี้..
ปิดท้ายด้วยข้อมูลที่น่าสนใจ
อ้างอิงจากเว็บไซต์ Laysaroundtheworld ปัจจุบัน ประเทศไทย ได้คิดค้นรสชาติใหม่ ๆ ของ Lay’s ออกมามากถึง 58 รสชาติ
ซึ่งเป็นจำนวนที่ มากที่สุดในโลก..
1
โฆษณา