22 ต.ค. 2022 เวลา 03:00
ลดต้น ลดดอก กับการเช่าซื้อรถยนต์
รถยนต์และจักรยานยนต์กลายเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับใครหลายคนในปัจจุบัน และการเข้าถึงแหล่งเงินกู้เพื่อให้ได้รถยนต์หรือจักรยานยนต์มาใช้สักคันก็เป็นเรื่องที่ง่ายดาย เพียงแต่ต้องแลกมาด้วยภาระหนี้รวมถึงค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษา รวมทั้งต้องยอมรับเงื่อนไขการเช่าซื้อที่ผู้ให้กู้กำหนดขึ้นในสัญญาเช่าซื้อ
Credit : Pexels.com
สถาบันการเงินและผู้ประกอบการมักให้บริการเช่าซื้อรถยนต์และจักรยานยนต์โดยคิดดอกเบี้ยเช่าซื้อแบบอัตราดอกเบี้ยคงที่ ซึ่งเป็นวิธีการคิดอัตราดอกเบี้ยจากยอดเงินกู้ที่เราได้รับจากผู้ให้กู้ตลอดสัญญาเช่าซื้อ อัตราดอกเบี้ยที่ผู้กู้แต่ละรายได้รับยังเกี่ยวกับความยากง่ายของการกู้อีกด้วย การเช่าซื้อแบบเงินดาวน์น้อยที่ผู้ประกอบการหลายรายใช้เร่งการตัดสินใจซื้อของลูกค้าจักรยานยนต์หรือรถยนต์ใช้แล้วมักมีอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่ากรณีเงินดาวน์สูง เพราะความเสี่ยงที่สูงกว่าจากเงินดาวน์ที่ต่ำ เป็นต้น
ล่าสุดราชกิจจานุเบกษาได้ประกาศควบคุมสัญญาธุรกิจให้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ฉบับใหม่ พ.ศ. 2565 มีผลบังคับใช้ในอีก 90 วันหลังจากประกาศ โดยประเด็นที่ถูกนำมาพูดถึงค่อนข้างมากคือการเปลี่ยนมาใช้อัตราดอกเบี้ยแบบลดต้นลดดอก หรือที่เรียกว่าอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง
อัตราดอกเบี้ยแบบลดต้นลดดอก หรือ อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง (Effetive interest rate) เป็นอัตราดอกเบี้ยที่ใช้กับการคิดดอกเบี้ยจากจำนวนเงินกู้คงเหลือในเวลานั้น โดยนำเงินค่างวดมาหักค่าดอกเบี้ยที่คำนวณได้ จากนั้นนำไปหักยอดเงินกู้ ทำให้เงินกู้คงเหลือหลังการจ่ายค่างวดมีจำนวนลดลง ซึ่งเป็นวิธีการคิดดอกเบี้ยพื้นฐานที่คนส่วนใหญ่คุ้นเคยกันดี และธนาคารต่างๆ ใช้วิธีคิดดอกเบี้ยแบบนี้กับเงินกู้ที่ให้กับเรา เช่นสินเชื่อบ้าน เป็นต้น
Credit : Upsplash.com
หากพิจารณาวัตถุประสงค์หลักของการออกประกาศฉบับนี้ก็คือการสร้างความเป็นธรรมให้กับผู้บริโภค ดังนั้นประเด็นสำคัญของร่างจะอยู่ในส่วนของการปรับปรุงเงื่อนไขและข้อกำหนดต่างๆ ที่ช่วยเพิ่มความเป็นธรรมแก่ผู้เช่าซื้อ สำหรับประเด็นการเปลี่ยนการแสดงอัตราดอกเบี้ยของธุรกิจเช่าซื้อนั้นเรื่องสำคัญจะอยู่ที่การกำหนดเพดานสูงสุดของอัตราดอกเบี้ย
เพจการเงินก็ต้องพูดเรื่องเกี่ยวกับการเงิน บทความนี้เลยขอพูดถึง 3 เรื่องของดอกเบี้ยตามประกาศใหม่นะครับ
1. คนส่วนใหญ่มีความรู้ด้านการเงินในระดับพื้นฐาน การคิดดอกเบี้ยในแบบลดต้นลดดอกเป็นวิธีการคิดดอกเบี้ยที่คนคุ้นเคย ประกาศใหม่ที่เพิ่งออกมา เปลี่ยนวิธีคำนวณดอกเบี้ยเป็นอัตราดอกเบี้ยแท้จริง (ลดต้นลดดอก) จากที่ประกาศเดิมปี 2561ไม่ได้กำหนดวิธีคำนวณเฉพาะเจาะจง เพียงแต่กำหนดให้สัญญาเช่าซื้อต้องแสดงอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงควบคู่ไปกับอัตราดอกเบี้ยคงที่ด้วย
การประกาศให้ใช้อัตราดอกเบี้ยลดต้นลดดอก ทำให้สถาบันการเงินและผู้ประกอบการต้องแสดงตัวเลขอัตราดอกเบี้ยที่เปลี่ยนแปลงจากเดิม เนื่องจากฐานคำนวณดอกเบี้ยที่แตกต่างกันอัตราดอกเบี้ยคงที่มักแสดงตัวเลขอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงแม้จะมีต้นทุนเท่ากัน (ตัวอย่างในภาพ) การแสดงอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นอาจส่งผลต่อการตัดสินใจของผู้ที่กำลังคิดจะเปลี่ยนรถหรือจักรยานยนต์ให้ชะลอการตัดสินใจเปลี่ยนเพราะไม่ได้รู้สึกจูงใจจากอัตราดอกเบี้ยที่ดูเหมือนต่ำอย่างที่เคย
2. การเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยแบบคงที่เป็นแบบลดต้นลดดอก จะไม่มีผลแตกต่างในช่วงแรกที่ประกาศ เนื่องจากปัจจุบันมีการแสดงอัตราดอกเบี้ยแท้จริงให้เห็นอยู่แล้ว คงต้องดูกันต่อไปว่าเมื่อการเช่าซื้อต้องใช้อัตราดอกเบี้ยแท้จริง จะปรับแนวทางการเช่าซื้อให้เหมือนกันการคิดดอกเบี้ยเงินกู้ที่สามารถปรับอัตราดอกเบี้ยตามสถานการณ์ของดอกเบี้ยที่เปลี่ยนแปลงในแต่ละเวลาอย่างไร ในมุมของผู้กู้ การลดต้นลดดอก มีผลดีให้เราสามารถเลือกปลดให้ไวได้ด้วยการจ่ายเงินชำระมากขึ้นเพื่อลดยอดเงินกู้
3. ประกาศใหม่กำหนดเพดานดอกเบี้ยสูงสุดไว้ด้วย ซึ่งในประกาศเดิมไม่ได้มีการระบุเพดานดอกเบี้ยสำหรับการเช่าซื้อ ฉะนั้นการกำหนดเพดานขั้นสูงจะเป็นประโยชน์โดยตรงต่อผู้เช่าซื้อหลังประกาศมีผล เนื่องจากปัจจุบันอาจมีการคิดอัตราดอกเบี้ยที่สูงเกินเพดานในบางกรณี (ตัวอย่างตามภาพประกอบทั้งสองภาพ) แต่ต้องรอดูเช่นกันว่าธุรกิจจะปรับวิธีการเช่าซื้ออย่างไร โดยธุรกิจอาจจำเป็นต้องลดความเสี่ยงในกรณีจ่ายดาวน์ต่ำเพื่อแลกกับอัตราดอกเบี้ยที่ลดลงหรือการคิดค่าธรรมเนียมและรายจ่ายอื่นๆ เพิ่มเติม เป็นต้น
ทัายนี้มีคำแนะนำสำหรับผู้เช่าซื้อคือควรพิจารณาความสามารถในการสร้างหนี้ของตนเองก่อนตัดสินใจซื้อรถยนต์หรือจักรยานยนต์คันใหม่ที่มาพร้อมกับหนี้ก้อนใหม่
วิธีการง่ายๆ ในการดูความสามารถในการเป็นหนี้ คือ การดูภาระหนี้ที่ต้องชำระเทียบกับรายได้ต่อเดือน ซึ่งปกติสถาบันการเงินมักกำหนดไว้ให้เงินค่างวดของการกู้ไม่เกิน 40% ของรายได้ต่อเดือน (รวมหนี้ทั้งหมด) แต่หากเป็นไปได้เราควรกำหนดเงินค่างวดไม่ให้เกิน 30% ของรายได้ เนื่องจากรถยนต์และจักรยานยนต์มักมีค่าใช้จ่ายอื่นๆ ด้วย เช่นค่าประกันฯ ค่าซ่อมบำรุง ด้วย
ก่อนตัดสินใจเลือกเช่าซื้อรถยนต์หรือจักรยานยนต์สักคน คำนวณค่างวดเปรียบเทียบกับรุ่นรถยนต์ที่เราเลือกด้วย เช่นหากมีรายได้เดือนละ 30,000 บาท อาจสามารถผ่อนได้เดือนละ 9,000 บาท (ไม่มีภาระหนี้อื่น) ซึ่งวงเงินเช่าซื้อจะอยู่ระหว่าง 4-5 แสนบาท สำหรับการผ่อน 60 เดือน เป็นต้น
นอกจากนี้ยังควรมองถึงความมั่นคงของรายได้ รวมทั้งเป้าหมายการเงินด้านอื่นๆ ประกอบด้วย เพื่อให้เราสามารถบรรลุเป้าหมายการเงินสำคัญๆ ของเราได้
Crefit : Pexels.com
โฆษณา