22 ต.ค. 2022 เวลา 06:06 • หุ้น & เศรษฐกิจ
การเดิมพันของ Kuroda
คนที่รอไปเที่ยวญี่ปุ่น จะสังเกตว่าค่าเงินเยนญี่ปุ่นอ่อนค่าลงอย่างมาก เพิ่งจะทะลุ 150 เยนต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ไปแล้ว
1
ตั้งแต่ต้นปีอ่อนค่าไปแล้วกว่า 23% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ และเริ่มมีการพูดถึงการเข้าแทรกแซงทั้งทางวาจาและการใช้เงินสำรองเข้า #แทรกแซงค่าเงิน ของกระทรวงการคลังญี่ปุ่น
แต่การแทรกแซงคงไม่ได้ผลอะไรมากนัก ถ้าปัจจัยพื้นฐานเรื่องนโยบายไม่ได้เปลี่ยน อย่างเมื่อเดือนที่แล้วที่ญี่ปุ่นเข้าแทรกแซงค่าเงิน ใช้เงินไปสองหมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ค่าเงินแข็งขึ้นมา 3 เยน แล้วก็ไหลพรวดพราดกลับมา
3
และล่าสุดก็เห็นเงินเยนแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็วซึ่งคนคิดว่ามีการแทรกแซงแน่ๆ เพื่อไม่ทำให้เกิด one way bet อย่างที่ผ่านมา
แต่ประเด็นหลักใหญ่สำคัญคือ ความไม่สอดคล้องกันของนโยบายการเงินประเทศใหญ่อย่างสหรัฐ ที่กำลังมุ่งมั่นขึ้นดอกเบี้ยสู้กับเงินเฟ้อ ในขณะที่ญี่ปุ่นเถียงว่า การดำเนินนโยบายการเงินต้องคำนึงถึงบริบทภายในประเทศ ไม่ต้องขึ้นดอกเบี้ยตามเข้าหรอก
ญี่ปุ่นยังเชื่อว่าภาวะเศรษฐกิจในประเทศยังต้องการกระตุ้นอยู่ และเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นเป็นปัญหาจากเรื่องต้นทุน เดี๋ยวสักพักก็หายไป
1
(คุ้นๆ ไหมครับ)
และญี่ปุ่นกำลังเดิมพันว่า เงินเฟ้อที่เกิดขึ้นเป็นโอกาสครั้งสำคัญของเศรษฐกิจญี่ปุ่น ที่จะหลุดออกจากกับดักเงินฝืด ที่สร้างปัญหามายี่สิบปี เงินเฟ้อที่สูงขึ้น จะนำไปสู่ค่าจ้างแรงงานที่สูงขึ้น การจ้างงานและการลงทุน
5
ในขณะที่คนอื่นขึ้นดอกเบี้ยกันใหญ่ ญี่ปุ่นจึงคงนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจครบเลย ทั้งดอกเบี้ยนโยบายติดลบ นโยบายควบคุมเส้นผลตอบแทน (Yield Curve Control — #YCC) ที่ประกาศรักษาระดับดอกเบี้ยพันธบัตรอายุสิบปี ให้ไม่เกิน 0.25%
ในขณะที่ดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอยู่ที่ 4% กว่าๆ จึงมีคนหากำไร โดยการ short พันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่น เอาเงินเยนไปแลกเป็นดอลลาร์แล้วไปซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ เวลาเอาเงินมาคืน ก็กำไรทั้งส่วนต่างดอกเบี้ย และค่าเงินเยนที่อ่อนค่าแทบจะเป็น OneWayBet
2
ยิ่งมีคนทำแบบนี้เยอะๆ ดอกเบี้ยควรจะขึ้น แต่ BoJ มารับประกันไว้อีก คนยิ่งกระหน่ำโจมตีจนดอกเบี้ยแช่อยู่ที่ขอบบนของเป้าหมาย ปริ่มจนต้องมี emergency bond buying program ออกมาอยู่เนืองๆ
2
ในอีกทาง BoJ ต้องรับซื้อพันธบัตรที่มีคนเอามา short และพิมพ์เงินเข้าไปในระบบต่อเนื่อง จนตอนนี้ BoJ ถือพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นเกิดกว่าครึ่งหนึ่ง และซื้อพันธบัตรอายุสิบปีกว่า 90% ของปริมาณที่ขายออกมา เกือบจะเรียกได้ว่า BoJ พิมพ์เงินให้รัฐบาลใช้แล้ว
2
ปัญหาคือยิ่งทำแบบนี้เงินยิ่งอ่อน และมีความเสี่ยงที่จะเกิดเงินเฟ้อจากสินค้านำเข้า ถ้าเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นไม่ได้กลายเป็นตัวเร่งให้เศรษฐกิจดีขึ้น ประชาชนก็จะเดือดร้อนและอาจจะทำให้กลายเป็นปัญหาการเมืองได้ง่ายๆ
4
นอกจากนี้ ระดับหนี้สาธารณะ ที่ 260% ของ GDP กำลังจะเป็นอีกปัญหาที่ญี่ปุ่นอาจจะปล่อยให้ดอกเบี้ยขึ้นแรงๆ ไม่ได้ เพราะถ้าดอกเบี้ยขึ้นไป ภาระดอกเบี้ยและภาระหนี้ของรัฐบาลระเบิดแน่ๆ
1
อาจจะเรียกได้ว่า เป็นการเดิมพันที่ “กลับตัวก็ไม่ได้ จะไปก็ไปไม่ถึง” และถ้าสหรัฐไม่หยุดขึ้นดอกเบี้ยเร็วๆนี้ เดิมพันจะใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ เพราะนโยบายกำลังสร้างความบิดเบี้ยวอย่างมหาศาลให้กับตลาดการเงิน และตลาดอัตราแลกเปลี่ยน
คุณ Kuroda ผู้ว่าแบงก์ชาติญี่ปุ่น กำลังจะหมดเทอมในเดือนเมษายนปีหน้า หลายฝ่ายเชื่อว่า ญี่ปุ่นจะคงนโยบายแบบนี้ไปก่อนจนคุณ Kuroda เกษียณ
1
แต่คำถามคือ เวลานโยบายไปกั้นอะไรไว้สักอย่างนานๆ ความบิดเบี้ยวและแรงกดดันที่เกิดขึ้นก็พร้อมจะระเบิดได้ทุกเมื่อ
หน้าหนาวนี้คงหนาวจริงๆ
1
โฆษณา